Tech startup มีความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างไร? | Techsauce

Tech startup มีความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างไร?

Startup Community

จากโพสเดิมที่ผม (ธนาวัฒน์) เคยเขียนไว้เมื่อเกือบหนึ่งปีที่แล้วว่าด้วย “ดิจิตอลอีโคโนมี” สำคัญกับประเทศไทยอย่างไร? ผมพูดถึงหนึ่งในสามปัจจัยที่สำคัญในการสร้างดิจิตอลอีโคโนมี นั่นคือ การส่งเสริมให้เกิดการสร้างเทค สตาร์ตอัพ ในไทยให้เติบโตมากขึ้น โพสนี้ผมอยากลงลึกในหัวข้อนี้มากขึ้นว่า “เทค สตาร์ตอัพ” (Tech Startup) มีสำคัญกับระบบเศรษฐกิจอย่างไร? ทำไมต้องสนใจ? ทำไมถึงสำคัญ?

นี่คือบทความจาก คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา (ไว) CEO และ Co-founder Priceza ที่ให้เกียรติมาเขียนใน Guest Post พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนที่อยากจะเขียนหรืออยากถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ได้บอกเล่าอย่างเต็มที่ ข้อความทั้งหมดเป็นสิทธิของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว หากต้องการนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความ รบกวนแจ้งกลับมาที่ techsauce ด้วยนะครับ

ผมไปเจอรายงานฉบับนึงชื่อว่า The Global Startup Ecosystem Ranking 2015 ที่จัดทำโดยหน่วยงาน Compass.co ทำการสรุปสาระใจความไว้ได้อย่างดีมากๆ มีข้อมูลมาสนับสนุน ผมจึงขอสรุปและเรียบเรียงใจความสำคัญจากรายงานฉบับนี้มาเพื่อตอบคำถามดังกล่าวครับ

โลกเราในศตวรรษที่ 21 นี้เป็นโลกที่ปัจจุบันทันด่วนเอามากๆ การเปลี่ยนแปลงต่างๆเกิดขึ้นรวดเร็ว ผู้คนเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างง่ายดายด้วยเทคโนโลยีมากมายทั้งโทรศัพท์มือถือและสังคมออนไลน์ ในโลกธุรกิจ คู่แข่งเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมาจากทุกทิศทุกทางทั้งจากในประเทศเองและจากต่างชาติที่เหาะมาแข่งกับเราได้ง่ายๆจากทั่วโลก อินเทอร์เน็ตช่วยทำให้โลกเราทั้งใบใกล้กันมากขึ้น และก่อให้เกิดบริษัทไฮเทคโนโลยีที่เข้ามาก่อให้เกิดการปฏิวัติในตลาดต่างๆอย่างกว้างขวาง ทั้งในตลาดหนังสือพิมพ์ บันเทิง พลังงาน การสาธารณสุข การศึกษา ก่อสร้าง การคมนาคม ค้าปลีก การเงิน หรือแม้กระทั่งหน่วยงานรัฐบาลเองก็ตาม และการปฏิวัติครั้งใหญ่ในหลายๆวงการเหล่านี้ล้วนเกิดจากผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ไม่กลัวที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง (Disruption) ในทุกวงการที่เค้าอยากท้าทายความเชื่อเดิมๆหรือสิ่งเดิมๆที่ทำต่อๆกันมา

การเปลี่ยนผ่านครั้งมหึมาผ่านจากยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) มาเป็นยุคของการปฏิวัติของข้อมูลสารสนเทศ (Information Revolution)

ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานี้ การจ้างงานและการเติบโตของเศรษฐกิจปริมาณมหาศาลของ USA ล้วนเกิดจากธุรกิจไฮเทค เช่น Apple, Amazon, Google, Salesforce, VMware, Facebook, Twitter, Groupon, Zynga ลองนึกดูว่า GDP ของ USA เท่ากับ $15 trillion ถ้าลองนับเฉพาะเก้าบริษัทนี้ที่เพิ่งเกิดมาในช่วงไม่ถึง 15 ปีที่ผ่านมา แต่กลับสามารถสร้าง GDP ให้เกือบ $1 trillion! โลกเราเกิดอะไรขึ้น? ทำไมบริษัทที่เพิ่งแจ้งเกิดมาได้ไม่นานกลับเป็นตัวขับเคลื่นเศรษฐกิจของ USA ได้เยอะถึงขนาดนี้? คำตอบคือโลกเราตอนนี้กำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาสู่การปฏิวัติของข้อมูลสารสนเทศ โลกเราตอนนี้มีผู้ใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจำนวนมากกว่า 2,000 ล้านคน และมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนอีกหลายพันล้านคนและมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อให้เกิดการมาของยุคข้อมูลสารสนเทศอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญในยุคนี้เป็นอย่างมาก เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นคนที่สร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาเพื่อเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหลายๆอย่าง และนำมาซึ่งการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในหลายๆภาคธุรกิจ

ขาลงของบริษัทมหาอำนาจ

ทีนี้เราจะมาดูกันครับว่าทำไมบรรลังของบริษัทมหาอำนาจทั้งหลายถึงสั่นคลอน? ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1965 เทียบกับปี 2010  ประสิทธิภาพของแรงงานเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 100% แต่กลับกลายเป็นว่าผลตอบแทนจากสินทรัพย์ของธุรกิจ หรือก็คือ Return on Assets (ROA) ของบริษัทต่างๆกลับลดลง 75% และอายุเฉลี่ยของกิจการที่ได้การจัดอันดับอยู่ใน S&P 500 ลดลงถึง 80% เหลืออายุเฉลี่ยที่ 15 ปี

คำถามคือทำไมประสิทธิภาพของแรงงานดีขึ้นแต่กลับกลายเป็นว่าบริษัทใหญ่ๆเหล่านี้เจอปัญหาเข้าอย่างจัง?

ลองมาดูปัจจัยต่างๆที่ส่งผลให้เกิดเรื่องนี้กัน

  1. การแข่งขันที่สูงมากขึ้น – เทคโลโลยีปัจจุบันนี้ช่วยให้คู่แข่งเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเมื่อก่อน ด้วยการใช้ Cloud-based Server, Freelances, บริการต่างๆที่เป็น SaaS (Software as a Service)
  2. ความโปร่งใสของข้อมูลสารสนเทศ – ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆได้ง่ายดายทุกที่ทุกเวลา เวลาจะเดินไปเลือกซื้อสินค้าซักอย่างก็สามารถเช็คและเปรียบเทียบราคาได้ ทำให้บริษัทค้าปลีกต่างๆเริ่มตั้งราคาฟันกำไรผู้บริโภคได้ยากขึ้นทุกที ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งข้อมูลรีวิวร้านอาหารและบริการต่างๆได้ง่ายดายว่ามีบริการเป็นอย่างไร การสร้างแบรนด์เริ่มมีความสำคัญลดน้อยลงไป สิ่งที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆคือคุณภาพของสินค้าและบริการที่สร้างประสบการณ์ชั้นยอดให้กับผู้บริโภคได้จริงๆนั่นแหละที่ผู้บริโภคต้องการ
  3. การลดลงของการบริโภค – ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจของการแบ่งปันมากขึ้น โมเดลยุคก่อนที่ผู้ผลิตกับผู้บริโภคอยู่กันคนละฝั่งเปลี่ยนไปแล้ว บริษัทที่เติบโตได้ดีในยุคนี้ไม่จำเป็นต้องถือครองทรัพย์สินจริงๆแต่กลับเป็นตัวกลางที่ช่วยอำนวยให้ผู้บริโภคเข้าถึงทรัพย์สินที่จับต้องได้นั้นๆแทน

จาก 3 ปัจจัยหลักที่กล่าวมานี้ ทำให้บริษัทมหาอำนาจที่เชื่องช้าต้องพยายามรัดเข็มขัดโดยการลดต้นทุนมากขึ้น พยายามขึ้นราคาสินค้ามากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วก็ทำได้มากสุดระดับหนึ่งที่สูงที่สุดที่ผู้บริโภคจะรับได้ แล้วคำถามคือจะพัฒนาต่อไปอย่างไรล่ะถ้าถึงทางตันแล้ว? คำตอบคือต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดเดิมๆไปเลย และในยุคของการปฏิวัติข้อมูลสารสนเทศนี้เอง ผู้ที่จะสร้างนวัตกรรมได้คือผู้ที่ต้องใช้กรอบแนวคิดใหม่ วิธีการทำงานใหม่ เครื่องมือใหม่ เพื่อสร้างนวัตกรรมชั้นยอดได้

การมาของสตาร์ตอัพ

บริษัทไฮเทคโนโลยีล้วนเข้าไปแทรกแซงและแผ่กระจายแทบจะในทุกสังคมในยุคนี้ และถ้ามองให้ดีแล้วล่ะก็บริษัทที่ตกต่ำย่างแรงในยุคนี้ล้วนแล้วแต่มีบริษัทไฮเทคโลยีที่ประสบความสำเร็จเข้ามามดแทน เพราะสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าให้กับผู้บริโภคได้อย่างยอดเยี่ยม เช่น

  • Kodak > Instagram (Photography)
  • Borders Books > Amazon (Books)
  • Tower Records > Apple, Spotify (Music)
  • Hotel Chains > Airbnb (Travel)
  • Taxis > Uber/Lyft (Transportation)
  • Resumes & Recruiters > LinkedIn (Human Resources)
  • Newspapers > Social media (Information Consumption)
  • Retail stores > eCommerce (Shopping)

คุณ Steve Blank ซึ่งเป็นผู้ประกอบการมาแล้วด้วยตัวเอง และยังเป็นนักคิดและอาจารย์ที่ Stanford และ Berkeley ได้เสนอ 4 ปัจจัยที่ทำให้สตาร์ตอัพดังเป็นพลุแตกในยุคนี้

  1. สตาร์ตอัพสามารถสร้างได้ด้วยเงินที่น้อยกว่ายุคก่อนมาก – ต้นทุนในการสร้างสตาร์ตอัพลดลงมากกว่า 10 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
  2. แหล่งเงินทุนของสตาร์ตอัพมีมากมาย – การที่ต้นทุนในการเริ่มสตาร์ตอัพลดน้อยลง ทำให้เงินทุนตั้งต้นที่ใช้ในการลงทุนจาก VC น้อยลงไปด้วย คือตั้งแต่ราวๆ $10,000 – $500,000 ทำให้ VC สามารถลงทุนในสตาร์ตอัพได้หลายๆราย พร้อมกับมี Angel Investos และ Accelerators เกิดขึ้นมาสนันสนุนสตาร์ตอัพมากขึ้นด้วยเช่นกัน
  3. สตาร์ตอัพเรียนพัฒนาวิธีการสร้างธุรกิจใหม่ด้วยวิธีการที่แตกต่างและได้ผล – สตาร์ตอัพพัฒนาศาสตร์การสร้างสตาร์ตอัพที่เหมาะสมกับยุคนี้ซึ่งเรียกว่า Lean Startup
  4. ผู้บริโภคเปิดตัวเองสู่เทคโนโลยีมากขึ้น – ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมานี้ องค์กรธุรกิจต่างเปิดเปิดรับที่จะลองใช้บริษัทหน้าใหม่ที่มีบริการที่ดีๆและแตกต่าง แทนที่จะจ้างบริษัทเดิมด้วยงบเยอะๆ เช่น McKinsey/Accenture ทำให้สตาร์ตอัพมีโอกาสแจ้งเกิดได้ง่ายขึ้นถ้าพิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นได้ว่ามีสินค้าชั้นยอดที่แตกต่างมานำเสนอ ในขณะเดียวกันในมุมมองผู้บริโภค พวกเราๆก็เปิดรับเทคโนโลยีมากขึ้น ใครๆก็เริ่มมาใช้สมาร์ทโฟน โลกเชื่อมถึงกันด้วยเทคโนโลยี ใครไม่เข้ามาใช้ก็กลายเป็นคนที่ตามไม่ทันคนอื่น

สตาร์ตอัพมีบทบามต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการสร้างงานอย่างไร?

  • แม้ Google, Facebook, Amazon จะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน แต่มีโอกาสเป็นอย่างสูงมากๆเลยที่บริษัทที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใีปี 2025 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมาจากบริษัทที่คุณไม่เคยได้ยินมาก่อนในวันนี้ บริษัทสตาร์ตอัพเหล่านี้เกิดมาได้จากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย บราซิล สิงค์โปร หรือมาจากสตาร์ตอัพอีโคซิสเตมต่างๆที่ตื่นตัวในการสร้างสตาร์ตอัพ ด้วยประโยชน์มหาศาลของการสร้างสตาร์ตอัพที่มีโอกาสสร้าง GDP ให้ในระดับ Trillion USD (ล้านล้าน USD) ทำให้รัฐบาลตื่นตัวกับเรื่องนี้จริงจังมากขึ้นด้วย
  • นอกจากในแง่ของการสร้างงาน มีการศึกษาจาก Kauffman ว่าในช่วง 28 ปีที่ผ่านมานี้ การสร้างงานใหม่ใน USA ทั้งหมดล้วนมาจากสตาร์ตอัพทั้งสิ้น ส่วนบริษัทในยุคอุตสาหกรรมมีแต่ตัดตำแหน่งงานทิ้งลดจำนวนคนมากกว่าจ้างงานใหม่

โดยสรุปแล้ว ในทศวรรษที่กำลังมาถึงนี้ ประเทศใดๆก็ตามที่สามารถสร้างสตาร์ตอัพให้เกิดขึ้นได้สำเร็จจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้าอย่างมาก

บทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของสตาร์ตอัพอีโคซีสเทม (Startup Ecosystem)

คำถามสำคัญคือถ้าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกขึ้นอยู่กับการเติบโตของสตาร์ตอัพ แล้วเราจะสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ตอัพได้อย่างไร? คำตอบก็คือด้วยการสร้างสตาร์ตอัพอีโคซีสเตมที่เป็นแหล่งกำเนิดของมันนั่นเอง

สตาร์ตอัพอีโคซีสเตม ประกอบไปด้วยหลายๆส่วนที่สำคัญ เช่น

  • Venture Capital (VC) – สตาร์ตอัพต้องการเงินทุนตั้งต้นในการสร้างธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นได้ ธุรกิจสตาร์ตอัพโดยปกติแล้วเป็นธุรกิจที่ยากนักที่จะขอแหล่งเงินทุนจากธนาคาร เพราะธนาคารไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงสูงแบบสตาร์ตอัพได้ จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีนักลงทุนที่เข้าใจในธุรกิจสตาร์ตอัพเข้ามาสนับสนุนเงินทุน
  • Angel Investors และ Accelerators – นักลงทุนแบบ Angels และ Accelerators จะเข้ามาลงทุนในระดับแรกๆด้วยเงินทุนจำนวนน้อยกว่า VC แต่เน้นลงทุนในจำนวนมากๆหว่านไปกับหลายสตาร์ตอัพเพื่อคาดหวังว่าจะมีซักสตาร์ตอัพที่ดังเป็นพลุแตกและทำให้เกิดผลตอบแทนกลับมาชดเชยสตาร์ตอัพที่พลาดเป้าหมายไป
  • Talents – ทีมงานก่อตั้งเป็นเรื่องที่คัญมากอันหนึ่ง ถ้าไม่มีทีมที่เหมาะสมทั้งในแง่ของทัศนคติและทักษะแล้ว สตาร์ตอัพก็เกิดยาก

โดยสรุปแล้ว จากหลายๆปัจจัยที่กล่งถึงนี้ ทำให้มีบางที่ในบางประเทศที่เป็นแหล่งเหมาะสมอย่างยิ่งในการสร้างสตาร์ตอัพ และมีการรวมตัวกันของสตาร์ตอัพอย่างเข้มข้น เช่น Silicon Valley ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าการสร้างอีโคซีสเตมที่ประสบความสำเร็จจะเป็นการการันตีการขับเคลื่นของเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่แน่นอนคืออีโคซีสเตมเป็นโรงงานปั๊มสตาร์ตอัพออกมาปริมาณเยอะมากๆและช่วยเป็นเบ้าหล่อหลอมให้สตาร์ตอัพเหล่านั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จมาก หรือแม้กระทั่งประสบความสำเร็จอย่างบ้าคลั่ง!

บทความนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกที่ waiwaiworld blog

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...