ในละแวกเมือง Bangalore ที่แออัดไปด้วยผู้คน มีทั้งคนเก็บขยะ พ่อครัว แม่ครัว รวมถึงคนทําความสะอาดเข้าร่วมทดสอบ AI โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ประชากรบางส่วนที่ยากจนที่สุดในประเทศสามารถเข้าถึงเงินจากโครงการขจัดความยากจนของรัฐบาลทำให้หมดปัญหาเรื่องการทุจริตและความล่าช้าแบบระบบราชการที่ดำเนินการโดยรัฐบาลได้
ในประเทศอินเดีย การทุจริตเป็นปัญหาที่มีการพูดถึงมากที่สุด ซึ่งมักเป็นบ่อนทําลายการพัฒนาของเศรษฐกิจและความยุติธรรมทางสังคม
ระบบการเมืองในอินเดีย มีการใช้เงินนอกระบบ (Black Money) ที่มาจากธุรกิจใต้ดินหรือการทุจริต ในการหาเสียงเลือกตั้ง นําไปสู่ระบบทุนนิยมพวกพ้อง (Crony Capitalism) โดยองค์กรโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ระบุว่า อินเดียยังกระจายความมั่งคั่งไม่ทั่วถึง ซึ่งการทุจริตก็เป็นส่วนหนึ่งที่มาจากช่องว่างทางเศรษฐกิจในประเทศ
จากผลการสํารวจการทุจริตของอินเดียปี 2562 ร้อยละ 51 ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าจ่ายสินบน โดยสองรัฐที่มีจำนวนการจ่ายสินบนมากที่สุดเป็น รัฐราชสถาน (Rajasthan) ด้วยจำนวนร้อยละ 78 และรัฐพิหาร (Bihar) ร้อยละ 75 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด
ในขณะเดียวกัน ประชากรจำนวนมากในอินเดียไม่รู้หนังสือและยากจน ทำให้ไม่สามารถเข้าใจขั้นตอนที่ซับซ้อนของระบบราชการหรือข้อมูลจากรัฐบาลได้ ซึ่งง่ายต่อการทุจริตโดยที่ประชาชนรู้ไม่เท่าทัน
อินเดียมีระบบกฎหมายที่เป็นหนึ่งเดียว มีอํานาจอิสระ มีรัฐธรรมนูญศาลฎีกา (Supreme Court) เป็นศาลสูงสุดของประเทศ
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าระบบตุลาการของอินเดียจะเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ก็ยังมีปัญหาหลักคือ ความล่าช้าในการดำเนินการ ส่งผลให้ศาลไม่สามารถดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมให้แก่พลเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ
จากวิจัยในปี 2558 พบว่า มีตําแหน่งผู้พิพากษาว่างอยู่มากกว่า 400 ตําแหน่ง ในศาลสูง 24 แห่งของประเทศ ในขณะที่จํานวนคดีที่รอดําเนินการในศาลฎีกาเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ คดีจํานวนมากที่รอดําเนินการในศาลฎีกาและศาลผู้ใต้บังคับบัญชาอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การทดสอบ AI ในเมือง Bangalore และในเขต Mewat ทางตอนเหนือของอินเดียชี้ให้เห็นว่า AI ก็สามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยเหลือความเท่าเทียมทางสังคมได้เช่นเดียวกัน
เทคโนโลยีนั้นสามารถช่วยให้สื่อสารได้อย่างมืออาชีพ เพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ที่ไม่มีทักษะทางภาษาและช่วยเหลือผู้ทุพพลภาพ ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้แอพ BeMyEyes แอพที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวสําหรับผู้พิการทางสายตา
องค์การสหประชาชาติระบุว่า การกำจัดอุปสรรคด้านภาษาและด้านเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างยากจนโดยประมาณร้อยละ 16 กําลังเปิดกว้างต่อการพัฒนา AI อย่างเต็มที่ ต่างจากประเทศจีนที่ห้ามใช้ ChatGPT หรือสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรที่กําลังศึกษาวิธีการควบคุมการใช้ AI
รัฐมนตรีของอินเดียกล่าวว่า ประเทศตนยังไม่รีบร้อนที่จะนํากฎระเบียบควบคุม AI เข้ามาใช้ แต่อาจหาวิธีการใช้และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับความเท่าเทียมทางภาษา การศึกษา และวัฒนธรรมแทน
แชทบอท AI กำลังถูกผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศอินเดีย เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับความยุติธรรมทางกฎหมาย ให้คําแนะนําแก่เกษตรกร ช่วยแรงงานข้ามชาติ และให้ประชาชนที่ไม่รู้หนังสือเข้าถึงข้อมูลและบริการของรัฐบาลได้ทันที
Rahul Matthan หุ้นส่วนที่เป็นหัวหน้าแนวปฏิบัติด้านเทคโนโลยีของสํานักงานกฎหมาย Trilegal และเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังของอินเดียด้าน digital public infrastructure (DPI) กล่าวว่า "กว่าพันล้านชีวิตถูกเทคโนโลยีทิ้งไว้ข้างหลัง แต่ AI สามารถช่วยให้พวกเขาก้าวข้ามอุปสรรคการอ่านเขียนและความเข้าใจในเทคโนโลยีได้ การสั่งห้ามหรือออกกฎบังคับไม่ใช่วิธีสําหรับอินเดีย”
เมื่อต้นปี Satya Nadella ประธานกรรมการบริหารของไมโครซอฟท์ (Microsoft) และนักลงทุนรายใหญ่ของ OpenAI ได้หารือในที่ประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (the World Economic Forum) เกี่ยวกับความแตกต่างที่เทคโนโลยีสามารถสร้างให้กับชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลได้
“แบบจําลองพื้นฐานขนาดใหญ่พัฒนาชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่กี่เดือนก่อนที่จะไปถึงนักพัฒนาในอินเดีย” Nadella กล่าวว่า “ฉันไม่เคยเห็นการแพร่กระจายแบบนั้นมาก่อน พวกเรากําลังรอให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมเข้าถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกหลังจากผ่านไป 250 ปี”
ถึงกระนั้น การแพร่กระจายของเทคโนโลยีที่รวดเร็วปานสายฟ้าแลบก็เป็นสัญญาณเตือนภัยในหลายเรื่อง การทดลองใน Bangalore เกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่ Sam Altman ประธานกรรมการบริหารของ OpenAI เรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ ควบคุมการใช้ AI ด้วยความกังวลเกี่ยวกับการควบคุมทางการเมือง ข้อมูลด้านสุขภาพที่ผิด และการโฆษณาที่กําหนดเป้าหมายมากเกินไป
Altman รวมถึงผู้นําคนอื่น ๆ ของบริษัท AI ได้ออกมาเตือนถึงอันตรายของเทคโนโลยี และความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของมนุษย์
AI สามารถลดความเสี่ยงของการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการเล่นพรรคเล่นพวกทางการเมือง เนื่องจากหุ่นยนต์ไม่มีความต้องการแบบมนุษย์
การทดสอบที่ Bangalore นําโดย Saurabh Karn และทีมของเขาจาก OpenNyAI ที่ไม่แสวงหาผลกําไร ด้วยการป้อนชุดโครงสร้างประโยคคู่ขนานหลายล้านประโยคที่พูดในภาษาอินเดียหลากหลายภาษา ลงในซอฟต์แวร์เครื่องแปลภาษา (Machine translation) และเพิ่มบทสนทนาที่มีความยาวหลายพันชั่วโมงเพื่อสร้างระบบการรู้จําคำพูด (Speech recognition)
โดยบอทที่ชื่อ Jugalbandi จะแปลภาษาออกมาในรูปแบบข้อความ แล้วจึงสังเคราะห์ให้เป็นเสียงพูด หรือที่เรียกกันว่า การแปลงข้อความเป็นคำพูด (Text to-speech)
ตัวอย่างเช่น เกษตรกรในชนบทสามารถตั้งคําถามในภาษา Haryanvi หรือภาษาที่พูดนอกกรุงเดลี และเครื่องมือจะแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อไปค้นหาข้อมูลจากฐานข้อมูล แล้วหาคําตอบที่ถูกต้อง จากนั้นแปลคําตอบกลับไปเป็นภาษา Haryanvi พร้อมสังเคราะห์ออกมาเป็นเสียงพูดมนุษย์ด้วยโมเดลการอ่านออกเสียงข้อความและส่งกลับไปยัง WhatsApp ของบริษัท Meta Platforms
Jugalbandi ได้รับการฝึกให้กรองข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนบุคคลได้ก่อนที่จะแปลคําถามของผู้ใช้ เช่น หมายเลขบัตรประชาชนดิจิทัล หรือหมายเลขโทรศัพท์และตําแหน่งที่อยู่ อย่างไรก็ตาม Karn ยอมรับว่าปัญหาสังคมของอินเดียใหญ่เกินไปที่จะแก้ปัญหาด้วย AI เพียงอย่างเดียว
แต่สําหรับผู้หญิงที่เคยชินกับปัญหาจากระบบราชการและการทุจริตมองว่า มันคือการเริ่มต้น หนึ่งในกลุ่มแรงงานทำงานบ้านที่เข้าร่วมทดสอบ AI กล่าวว่า
"หุ่นยนต์ไม่ทิ้งใบคำร้อง (application) ของพวกเราลงถังขยะเหมือนที่เจ้าหน้าที่รัฐทําเวลาไม่พอใจกับจำนวนสินบน"
อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนเก็บขยะในย่าน Hebbal ได้สะท้อนให้เห็นความจริงในอีกด้าน พวกเขาใช้เวลาทั้งวันไปกับการกําจัดสิ่งสกปรกตามท้องถนนและรวบรวมขยะพลาสติก เศษโลหะ และกระดาษ หาเลี้ยงชีพด้วยการขายสิ่งที่เก็บได้ในแต่ละวันให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นผู้ดูแลการรีไซเคิล
ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีสมาร์ทโฟนใช้ นั่นหมายความว่า ในขณะที่ AI สามารถเชื่อมช่องว่างระหว่างภาษาและการอ่านออกเขียนได้ แต่ก็ทําให้เกิดช่องว่างของผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้เช่นกัน
อ้างอิง : bloomberg , linkedin , iasexpress , thelegallock
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด