การเริ่มลงทุนในบริษัท Startup สามารถทำได้อย่างไร | Techsauce

การเริ่มลงทุนในบริษัท Startup สามารถทำได้อย่างไร

ในช่วง 5-6 ปีหลังมานี้ วงการ Startup ไทยถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว มีข่าว Startup ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนและองค์กรขนาดใหญ่หันมาลงทุนสนับสนุนกลุ่มธุรกิจประเภทนี้กันมากขึ้น  นักลงทุนรายย่อยก็หันมามาสนใจดูธุรกิจประเภทนี้ด้วย รวมถึง Event มากมายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามความเข้าใจอย่างแท้จริงว่าธุรกิจ Startup นั้นคืออะไร ยังคงถูกจำกัดอยู่ในสังคมกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่นักลงทุนในรูปแบบขององค์กร และนักลงทุนรายย่อยควรทำความเข้าใจถึงคุณลักษณะของธุรกิจประเภทนี้ก่อน และดูว่าตรงกับจุดประสงค์ของการลงทุนหรือไม่ เพราะการลงทุนทุกประเภทนั้นย่อมมีความเสี่ยง และถ้าคุณคิดว่าเข้าใจและตรงกับเป้าหมายการลงทุนของคุณแล้ว เราจะมาดูกันว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร และใช้เกณฑ์อะไรในการพิจารณากันต่อไป

Startup คืออะไร?

ในบทความนี้ เราจะเน้นไปที่รูปแบบธุรกิจ Tech Startup ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ โดย Startup แตกต่างกับ SMEs ในแง่ของการมุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม และคิดหาโซลูชั่นมาแก้ปัญหาดังกล่าว โดยโมเดลธุรกิจนั้นมีคุณลักษณะที่สามารถเติบโตขยายฐานลูกค้าออกไปได้อย่างรวดเร็ว (Scalable) อาทิ โมเดลธุรกิจที่สามารถขยายไปยังต่างประเทศได้ หรือการเพิ่มบริการต่อยอด ก็ทำให้เข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ขึ้นได้ และอีกคุณสมบัติหนึ่งคือทำซ้ำได้ (Repeatable) เป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถทำซ้ำ ให้คนกลับมาใช้บริการต่อได้เรื่อยๆ

ตัวอย่างของ Startup ที่น่าสนใจในภูมิภาคนี้ และถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว จนตอนนี้องค์กรใหญ่จนแทบไม่เรียกว่า Startup แล้ว เช่น Grab บริษัทจากมาเลเซีย ผู้ให้บริการเรียกรถแท็กซี่ ซึ่งขยายธุรกิจออกไปมากมายทั้งบริการขนส่งสินค้า บริการส่งอาหาร เป็นต้น  โดยครอบคลุมหลายประเทศในภูมิภาคนี้

ตัวอย่าง Startup ที่น่าจับตาของไทย

Wongnai

ตัวอย่างแรก เป็น Startup ที่หลายคนน่าจะรู้จักกับดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะเวลาที่เรานึกไม่ออกว่าจะรับประทานอาหารร้านไหนดี เราก็จะนึกถึง Wongnai ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน Startup ไทยที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดแอปฯ​ หนึ่งของไทย ซึ่งเปิดให้คนเข้ามาร่วมรีวิวร้านอาหารที่เราได้เคยไปลิ้มลอง ปัจจุบันมีจำนวนรีวิว และภาพที่ถูกสร้างโดยผู้ใช้เป็นจำนวนมาก โมเดลการหารายได้นั้นมีทั้งการโฆษณาบนแพลตฟอร์ม และเนื่องด้วยเป็นแหล่งรวมฐานข้อมูลร้านอาหารที่อัพเดตและมีจำนวนมากที่สุดของไทย จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะได้พาร์ทเนอร์กับยักษ์ใหญ่อย่าง LINE เป็นการเพิ่มบริการ ให้สามารถสั่งซื้ออาหารผ่าน LINE MAN ได้ และล่าสุดลงทุนใน Startup อย่าง Food Story ร่วมกันสร้างระบบบริหารจัดการร้านอาหาร “Wongnai POS by FoodStory” ให้ร้านอาหารใช้งานได้ฟรี พร้อมเปิดตัวฟีเจอร์ Travel ในแอพ Wongnai เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาและรีวิวที่พักและสถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เพิ่มเติมนอกจากเรื่องการค้นหาร้านอาหารอีกด้วย

Jitta

Startup อีกรายเป็นสาย FinTech คือ Jitta ผู้พัฒนาเทคโนโลยีวิเคราะห์หุ้นตามหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า และได้พัฒนาสูตรจัดอันดับหุ้นตามหลัก “ลงทุนในบริษัทที่ยอดเยี่ยม ในราคาที่เหมาะสม” ในชื่อ Jitta Ranking และปัจจุบันขยายธุรกิจไปสู่ Jitta Wealth เพื่อช่วยบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนแบบอัตโนมัติ ช่วยประหยัดเวลาวิเคราะห์หุ้น เลือกหุ้น จัดพอร์ต กระจายความเสี่ยง และปรับพอร์ต ปัจจุบันบริการ Jiita สามารถวิเคราะห์หุ้นของตลาดหลัก 7 ประเทศ

Builk

อีก Startup เป็น Startup ที่ให้บริการในรูปแบบของ B2B และพึ่งได้รับรางวัล Digital Startup of The Year 2018 แม้เป็น Startup สายเฉพาะทางคือสายธุรกิจก่อสร้าง แต่มีการเติบโตที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ไผท ผดุงถิ่น ผู้ร่วมก่อตั้ง Builk นั้น มีความรู้ความเชี่ยวชาญในโลกธุรกิจผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นอย่างดี อันเกิดมาจากการคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้เข้าใจว่าปัญหาในภาคธุรกิจนี้คืออะไร เขาพบว่าซอฟต์แวร์บริหารจัดการที่มีอยู่ในท้องตลาดนั้นไม่ได้ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจก่อสร้างในไทยเท่าไหร่นัก และถ้ามีในต่างประเทศก็อาจจะราคาสุด และไม่เหมาะสมกับตลาดไทย เขาเริ่มต้นจากการพัฒนา Builk ขึ้นมา เป็นซอฟต์แวร์บริการจัดการสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้าง เปิดให้ใช้ฟรีเป็น Software as a Service

หลังจากนั้นมีการต่อย่อดเริ่มพัฒนาบริการเพื่อผู้ประกอบการอื่นๆในวงการก่อสร้างไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิต-ผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เช่น ขยายโมเดลธุรกิจพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แบบ Market Place เป็นร้านวัสดุก่อสร้างออนไลน์แบบ B2B จำหน่ายวัสดุก่อสร้างราคาถูกให้กับสมาชิก, มีข้อมูล Big Data ของวงการธุรกิจก่อสร้าง โดยมองเห็นข้อมูลต่างๆ แบบ Real Time เห็นความต้องการใช้งานวัสดุและวัตถุดิบต่างๆ ทั่วประเทศได้

ปัจจุบันได้ขยายธุรกิจไปยังประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย ลาว พม่า และ กัมพูชา และมีนักลงทุนจากองค์กรขนาดใหญ่ อาทิ AddVentures by SCG เข้าร่วมลงทุน

ความจริงของการลงทุนในธุรกิจ Startup

การลงทุนในธุรกิจ Startup นั้น สำหรับองค์กรขนาดใหญ่แล้ว เน้นการลงทุนในรูปแบบของ Strategic Investment คือการดูว่าธุรกิจดังกล่าว สามารถนำเทคโนโลยี หรือความรู้ที่มีสามารถนำมาต่อยอดธุรกิจเดิม หรือขยายสู่ธุรกิจใหม่ได้ กลุ่มบริษัทเหล่านี้จะตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา ที่เรียกกันว่า Corporate Venture Capital (CVC) เน้นลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีเชิงลึก และ Startup โดยตัวอย่างของ CVC ก็เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งบริษัทใหม่ Digital Ventures, ธนาคารกสิกรไทย ตั้งบริษัทใหม่ Beacon Ventures, ธนาคารกรุงศรี ตั้งบริษัทใหม่ Krungsri Finnovate บริษัท อินทัช (บริษัทแม่ของ AIS) ก็ตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า InVent บริษัท SCG ตั้งบริษัทที่ชื่อ AddVentures เป็นต้น โดยนักลงทุนกลุ่มนี้อาจจะเลือกลงทุนตรงในบริษัท Startup ซึ่งเติบโตแล้ว เพื่อลดความเสี่ยง หรือลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุน Startup อีกที เป็นต้น โดยสำหรับองค์กรใหญ่แล้ว เราจะเห็นเป้าหมายการลงทุนที่ค่อนข้างชัดเจน

แต่ถ้าผู้อ่านเป็นนักลงทุนรายย่อยถ้าสนใจลงทุนในธุรกิจ Startup จะเริ่มต้นอย่างไร? โดยกลุ่มนักลงทุนประเภทนี้เรียกว่า Angel Investor  ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่า รูปแบบการเติบโตของ Startup นั้น ไม่ได้เหมือนกับรูปแบบธุรกิจเดิมที่เราเห็นกัน และมีความเสี่ยงสูงมากที่จะล้มเลิกกิจการไป โดยจากสถิติมีสูงถึงกว่า 90% เลยทีเดียว ที่เติบโตอย่างมีคุณภาพและเหลืออยู่รอดได้นั้นมีไม่มากจริงๆ ทัศนคติของการทำธุรกิจก็แตกต่างกับธุรกิจแบบเดิมเป็นอย่างมาก เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product) เพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาตลาด ลองผิด ลองถูก และช่วงแรกๆ ของการทำธุรกิจ Startup อาจจะไม่มีรายได้เข้ามาเลย เพราะต้องคอยสร้างฐานลูกค้า หรือคอย subsidize เพื่อให้คนเข้ามาใช้บริการมากขึ้นก่อนที่จะเริ่มทํารายได้ จนกระทั่งสร้างฐานลูกค้าที่มั่นคง

ถ้าคิดจะลงทุนในธุรกิจ Startup คุณต้องเข้าใจคุณลักษณะการเติบโตแบบนี้ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า Startup ดังกล่าวดีจริง และถ้า Startup รายนั้นน่าสนใจ เขาจะเปิดรับนักลงทุนด้วยหรือ? เฉกเช่นเดียวกันตัว Startup เองก็อาจกังวลในตัวนักลงทุนด้วย เพราะทุกวงการย่อมมีทั้งคนดี และไม่ดี คนเข้าใจในธุรกิจ และไม่เข้าใจ

เพื่อป้องกันปัญหาทั้ง 2 ฝ่าย ปัจจุบันในไทยก็มีแพลตฟอร์มการลงทุนที่เชื่อมโยงสองฝั่งเข้าด้วยกัน อาทิ Live Platform ของทางตลาดหลักทรัพย์ ที่เปิดให้ Startup ที่ได้รับการคัดเลือกสามารถมาระดมทุนบนแพลตฟอร์มนี้ได้ ในขณะเดียวกันตัวนักลงทุนเอง ก็ไม่ต้องเสี่ยงมากเพราะมีคนกลางช่วยกรองคุณสมบัติมาระดับหนึ่ง และมีวงเงินในการลงทุนที่พอรับได้นั่นเอง

แต่ถ้าใครสนใจอยากลงทุนในธุรกิจ Startup โดยตรงเอง โดยที่รับความเสี่ยงได้ไม่สูง และไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจ Startup ดีพอนัก เราไม่แนะนำการเลือกลงทุนในลักษณะนี้

3 สิ่งสำคัญที่ใช้พิจารณาธุรกิจ Startup

  • การตรวจสอบประวัติของทีมผู้ก่อตั้ง (Founder) นั้นเป็นอย่างไร มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และเข้าใจในธุรกิจนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน มีประสบการณ์ทำอะไรมาก่อน และถึงแม้เก่งอย่างเดียวก็ไม่พอ ก็ต้องดูไปถึงนิสัยใจคอของทีมผู้ก่อตั้งด้วย  มีโฟกัสและตั้งใจในการทำธุรกิจหรือไม่ กลุ่มผู้ก่อตั้งรู้จักกันมามากน้อยแค่ไหน ในช่วง Early Stage ช่วงเริ่มต้นนั้น การดูความตั้งใจและคุณสมบัติของ Founder นั้นสำคัญมาก เพราะ Founder ที่มีทักษะ และโฟกัสตั้งใจทำงาน แม้ผลิตภัณฑ์ในช่วงแรกอาจยังไม่ดีพอ แต่พวกเขาจะหาวิธีต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อนำพาธุรกิจเติบโตไปให้ได้ เรียกง่ายๆ ว่ากัดไม่ปล่อยนั่นเอง นอกจากนี้กลุ่มผู้ก่อตั้งก็ต้องรู้จักในการใช้เงินอย่างชาญฉลาด แม้ระดมทุนมาแล้ว ก็ต้องวางแผนให้ดีว่าจะใช้เพื่อขยายธุรกิจอย่างไร เพราะ Startup หลายรายมักตกม้าตาย บริหารการเงินไม่ถูก จนเงินหมดไปเสียก่อน ไม่พอหล่อเลี้ยงธุรกิจ
  • ในแง่ผลิตภัณฑ์นั้น ก็ต้องมาดูว่าธุรกิจนั้นกำลังแก้ปัญหาอะไรของสังคม ปัญหาดังกล่าวมีอยู่จริงหรือไม่ หรือแค่คิดไปเอง แล้วโซลูชั่นที่คิดมานั้นตอบโจทย์แก้ปัญหาได้จริงไหม และขนาดของตลาดเล็กเกินไปด้วยหรือไม่ และเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสร้างรายได้ ได้จริงไหม
  • อีกจุดที่สำคัญถ้าผลิตภัณฑ์ดี แต่ถ้ามียักษ์ใหญ่กระโดดเข้ามาแข่งขัน Startup รายนั้นจะทำอย่างไร อะไรคือ Barrier to Entry ที่จะป้องกันให้พวกเขายังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากในการดำเนินธุรกิจระยะยาวต่อไป

นี่เป็นเพียง 3 สิ่งปัจจัยหลัก ที่เราหยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้พิจารณาเบื้องต้น อันที่จริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องลงลึกไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามเราขอเน้นย้ำว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง เฉกเช่นเดียวกับการลงทุนประเภทอื่นๆ ที่คุณควรมีความรู้ความเข้าใจในรูปแบบธุรกิจนั้นๆ ให้ดีพอก่อนจะเลือกลงทุน

สำหรับธุรกิจ Startup ยังสามารถศึกษาข้อมูล และติดตามข่าวสารเพิ่มเติมจากหน่วยงานภาครัฐอย่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเข้าไปได้ที่ http://www.depa.or.th

บทความนี้เป็น Advertorial

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...