การสร้างธรรมนูญครอบครัวกับการจัดการธุรกิจกงสี แบบเลือดข้นแต่คนไม่จาง | Techsauce

การสร้างธรรมนูญครอบครัวกับการจัดการธุรกิจกงสี แบบเลือดข้นแต่คนไม่จาง

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกวด Tech Saucier of The Year 2018 ในระดับ Professional เขียนโดย กิตติศักดิ์ โภคา

Image credit : Shutterstock

ธุรกิจครอบครัว หรือ ธุรกิจกงสี หมายถึง ธุรกิจที่คนในครอบครัวทำร่วมกัน ครอบครัวที่ว่าอาจจะเริ่มจากเล็กขนาดมีเพียงแค่ 2 คน ลามไปจนถึงมีวงศาคณาญาติเกาะเกี่ยวกันไปเยอะแยะยุ่บยั่บไปหมดก็เป็นได้ ปัญหาหลักของธุรกิจครอบครัวคือความเป็นครอบครัวนี่แหละ พอมีความเป็นครอบครัวมาค้ำไว้ ลักษณะการแบ่งผลประโยชน์จึงไม่ชัดเจน กลายเป็นภาระน้ำท่วมปาก ใครพูดมากก็จะกลายเป็นเห็นแก่ได้ สนใจแต่เรื่องเงิน

สาเหตุของปัญหาธุรกิจครอบครัวมักเกิดเพราะจุดเริ่มต้นมีเพียงหนึ่ง แต่เติบโตและขยายสาขาออกไปเป็นจำนวนมาก ในวันแรกของธุรกิจ ธุรกิจครอบครัวมักเริ่มจากคนๆ เดียว อาจจะเป็นคุณปู่ อากง นายแม่ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งมักจะเป็นผู้ครองอำนาจใหญ่สุดแบบสิทธิ์ขาด หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นดึงญาติๆ เข้ามาช่วยกันในกงสี หากนายใหญ่ที่ว่าเป็นคนยุติธรรม จัดการผลประโยชน์อย่างเฉียบขาด ปัญหาก็จะเริ่มมาก่อตัวหลังจากนายใหญ่ตัดสินใจจะลงจากบัลลังก์แล้ว (ทั้งแบบภาคสมัครใจและภาคบังคับจากกฎธรรมชาติ) แต่หากนายใหญ่เป็นคนเอนเอียงตั้งแต่ต้น มีลูกรักลูกชัง มีหลานหัวแก้วหัวแหวนหลานนอกคอก ความบิดเบี้ยวของแผนผังการแบ่งผลประโยชน์ในวงศ์ตระกูลก็จะเริ่มต้นขึ้น และลุกลามจนใหญ่โต กรณีศึกษาที่มีให้เห็นโด่งดังก็มีมากมาย สินค้าอะไรที่มีชื่อคล้ายชื่อเกือบจะเหมือน และต่างฝ่ายต่างออกมาอ้างว่าเป็นต้นตำรับทั้งคู่ จุดเริ่มต้นของความแตกแยกก็มักจะมาจากความไม่ลงรอยของปัญหาในม่านในมุ้งในยุ้งกงสีทั้งสิ้น

แล้วจะจัดการโครงสร้างธุรกิจครอบครัวและกงสีอย่างไรให้สมเหตุสมผล หากวันนี้มีโอกาสได้โฮมสเตย์ (สิงร่าง) นายแม่สักวันหนึ่ง เราจะเขียนโครงสร้างและแผนผังองค์กรอย่างไรให้ธุรกิจของเราอยู่เย็นเป็นสุข ไร้ปัญหาเลือดข้นคนจาง ปราศจากการจ้างวานฆ่าให้อาอี๊และอากู๋มาผิดใจกันในอนาคต?

แยกเงินองค์กรออกจากเงินครอบครัว

การปฏิวัติองค์กรอย่างแรกที่ธุรกิจครอบครัว ธุรกิจกงสี รวมไปถึงธุรกิจ SMEs ทั้งหลายทั้งแหล่ต้องทำ คือแยกกระเป๋าเงินของธุรกิจออกจากกระเป๋าเงินครอบครัวซะ แยกบัญชีธนาคารกัน ใช้หลักการง่ายๆ คือต้องมีบัญชีของบริษัทอีกฉบับหนึ่ง รายได้ของธุรกิจเป็นของธุรกิจ ค่าใช้จ่ายของธุรกิจเป็นของธุรกิจ หักลบกลบหนี้เหลือเท่าไหร่ให้นำกำไรมาแบ่งกันเข้ากระเป๋าเงินส่วนตัว ถึงตรงนั้นแหละ ใครจะนำไปใช้จ่ายอะไรก็ตัวใครตัวมัน ไม่ใช่ว่าใครอยากซื้อบ้านก็มาเบิกกงสี ใครอยากมีซื้อรถก็มาเบิกกงสี ค่าเทอมลูกค่าเรียนพิเศษหลานก็มาเบิกกงสี ขั้นตอนแรกของความชัดเจนคือความเด็ดขาด แยกออกจากกันให้หมด ต่างคนต่างเก็บ ต่างคนต่างใช้

แบ่งสันปันส่วนความเป็นเจ้าของให้ชัดเจน

ปัญหาที่สำคัญรองลงมาจากการใช้เงินมั่วกันในบัญชี คือ ปัญหาสัดส่วนความเป็นเจ้าของไม่ชัดเจน ธุรกิจครอบครัวธุรกิจกงสีมักจะเป็นธุรกิจที่ผูกกันไว้ด้วยใจ ทุกคนทุ่มเทแรงทุ่มเทใจ แล้วสุดท้ายก็ไปลุ้นกันเอาตอนเป็นมรดกพินัยกรรม ปัญหาตรงนี้แก้ง่ายคือผู้เป็นใหญ่สุดต้องจัดการแบ่งหุ้นในบริษัทออกตามความเหมาะสม แน่นอนว่าตรงนี้ถือเป็นสิทธิ์ขาดของนายใหญ่ผู้กุมบังเหียน ต่างฝ่ายในครอบครัวต่างต้องออกมาช่วยกันหาวิธีการแบ่งที่ทุกฝ่ายจะเห็นด้วยและยังคงมองหน้ากันติด วิธีการยอดนิยมคือแบ่งสัดส่วนให้รุ่นลูกในปริมาณที่เท่ากัน เช่น คุณปู่มีหุ้นอยู่ 100 ส่วน อาจเก็บไว้เอง 20 ส่วน 80 ส่วนที่เหลือแบ่งให้ลูก 4 คนเท่าๆ กัน และลูก 4 คนของคุณปู่ก็ไปแบ่งกันต่อเองในครอบครัวว่าแต่ละครอบครัวมีลูกหลานกันกี่คน แบบนี้ก็จะดูยุติธรรมสุด ตัดปัญหาเรื่องบ้านนั้นลูกเยอะบ้านนี้ลูกน้อย แบ่งที่ต้นสายให้เท่ากัน ส่วนที่เหลือก็ไปจัดการกันต่อเอง

แยกประเด็นเรื่องค่าแรงกับความเป็นเจ้าของออกจากกัน

ข้อนี้สำคัญมากและต้องเอาทุกคนในตระกูลมานั่งทำความเข้าใจร่วมกันว่า ผู้ถือหุ้นกับคนทำงานถือเป็นสถานะที่แยกออกจากกัน หากถือหุ้นอย่างเดียวไม่ทำงานในธุรกิจครอบครัว สิ่งที่จะได้คือส่วนความเป็นเจ้าของและเงินปันผลที่ปันออกมาจากกำไรในแต่ละรอบปี แต่จะไม่ได้ค่าแรงประจำ หากทำงานอย่างเดียวไม่ได้ถือหุ้นในธุรกิจครอบครัว สิ่งที่จะได้คือค่าแรงรวมไปถึงผลตอบแทนอื่นในฐานะลูกจ้าง แต่จะไม่ได้เงินปันผลหรือสิทธิ์ในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในกรณีที่ทำควบทั้งสองอย่างก็ต้องได้รับทั้งสองอย่าง ในกรณีที่ไม่ทำอะไรเลยก็ต้องไม่ได้รับอะไรเลย ความวุ่นวายของธุรกิจครอบครัวมักเกิดมาจากความไม่เข้าใจระหว่างบทบาทผู้ถือหุ้นกับคนทำงาน ทำไมหลานบ้านโน้นได้เงินเดือน ทำไมหลานบ้านเราไม่ได้เงินเดือน หลักการง่ายๆ คือตัดสินทุกคนในฐานะลูกจ้างองค์กรและผู้ถือหุ้น โยนประเด็นความเข้มข้นของสายเลือดและความเกี่ยวพันกันในพงศาวลีทิ้งไป ใครถือหุ้นได้ปันผล ใครทำงานได้ค่าแรง เอามือปิดชื่อนามสกุลทุกคนไว้ และตัดสินตามความเป็นจริง

จัดสรรค่าแรงและผลตอบแทนตามความเหมาะสม

นอกจากปัญหาความขัดแย้งในเรื่องผู้ถือหุ้นกับคนทำงานจะเป็นปัญหาที่เจอบ่อย ปัญหาต่อมาที่เจอบ่อยไม่แพ้กันก็คือการจัดสรรค่าแรงให้ผู้ทำงานอย่างไม่เป็นธรรม ทำไมหลานบ้านโน้นเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตดูแลทุกอย่าง หลานบ้านนี้เป็นเซลล์ขายสินค้าให้บริษัท แต่กลับได้เงินเดือนเท่ากัน ปัญหานี้มักเกิดขึ้นจากนายใหญ่ของตระกูลเลือกที่จะแบ่งค่าแรงให้ทุกคนเท่ากันตามสาแหรกในตระกูล แต่ไม่แบ่งให้ตามความสามารถที่แท้จริง ความผิดพลาดตรงนี้จะส่งผลให้คนทำงานเกิดความรู้สึกอยุติธรรมจนนำไปถึงการหมดไฟในการทำงานได้ ทางออกคือลืมเรื่องความเกี่ยวข้องทางโครโมโซมกันไปก่อน และพิจารณาให้ค่าแรงตามความเหมาะสม เช่น ผู้จัดการฝ่ายผลิตรับผิดชอบเยอะ ค่าแรงสูง จ่ายโอทีตามจริง เซลล์ขายของเดินทางบ่อย ได้เงินเดือนไม่มากแต่ได้ค่าคอมมิชชันตามยอดขาย ได้ค่าน้ำมันรถและค่าเสี่ยงภัย เป็นต้น หากพิจารณาไม่ได้ก็ลองคิดง่ายๆ ก็ได้ว่าถ้าคนในครอบครัวไม่ทำและต้องจ้างคนอื่นมาทำต้องจ่ายเขาเท่าไหร่ ลองยกค่าแรงตรงนั้นมาเป็นหลักในการจัดสรรดู

วาดแผนผังองค์กรให้ชัดเจน

แบ่งเรื่องเงิน เรื่องผลประโยชน์กันลงตัวแล้ว สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำคือวาดแผนผังการกำกับดูภายในองค์กรให้ชัดเจนและสมเหตุสมผล ภายในองค์กรต้องมีการระบุอย่างชัดเจนเลยว่าใครคือหัวหน้าใคร สายงานมีกี่สาย ใครเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาและใครไม่ใช่ การมีผังองค์กรจะช่วยเป็นเหมือนไบเบิ้ลในการกำจัดความขัดแย้ง สุดท้ายก็ปล่อยให้องค์กรหมุนไปตามโครงสร้างที่สร้างไว้อย่างสมเหตุสมผล หลานต้องมอบหมายงานอาได้ หากแผนผังองค์กรบอกว่าทำได้ หากอยากแข่งขันก็ต้องเล่นในเกม สร้างความก้าวหน้าในองค์กรจนได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งอย่างมีกติกา

สิ่งที่ยากที่สุดของการจัดการธุรกิจครอบครัวและกงสีคือความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจของคนที่อยู่บนสุดซึ่งมักจะเป็นรุ่นที่หนึ่งของกิจการ หากนายใหญ่ยอมรับระบบ องค์กรมักจะเติบโตไปอย่างมีระบบ แต่หากนายใหญ่ยังไม่ยอมรับในเรื่องการจัดสรรองค์กรแบบเป็นรูปธรรม ธุรกิจกงสีก็ยากที่จะเติบโตไปอย่างไม่มีความขัดแย้งภายในได้ การหาวิธีให้นายใหญ่ยอมรับจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก หากเริ่มเห็นเค้ารางแห่งปัญหา การที่คนในครอบครัวจะต้องหันมาคุยและวางแผนสร้างเส้นทางไปสู่การมีหลักปกครองและแบ่งผลประโยชน์ในกงสีหรือที่มักเรียกกันว่า “ธรรมนูญครอบครัว” จึงเป็นเรื่องสำคัญ

หากรู้ว่าตระกูลตัวเองมีธุรกิจครอบครัวและทรัพย์สมบัติในกงสีที่อาจจะนำมาซึ่งปัญหาในอนาคตก็ควรรีบวางแผนจัดการเสีย เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ใฝ่ฝันอาจจะไม่ได้มาในเร็ววัน บางครั้งอาจต้องใช้เวลาเป็นหลักปีหรือไล่ยาวไปถึงสิบปีได้ แต่แน่นอนว่าผลสัมฤทธิ์ของความพยายามนั้นคุ้มค่า เพราะปลายทางคือการได้มาซึ่งความมั่งคั่งอย่างยุติธรรมที่ยังคงรักษาสายสัมพันธ์ของครอบครัวเอาไว้

อย่ารอให้ถึงวันที่ยากเกินกว่าจะแก้ไขก่อนแล้วค่อยตัดสินใจขยับตัว

ลงทุนศาสตร์ - Investerest

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก เหลียง เหวินเฟิง CEO และผู้ก่อตั้ง Deepseek จากอดีตเฮดจ์ฟันด์ สู่ผู้ท้าทายยักษ์ใหญ่ AI โลก

รู้จัก เหลียง เหวินเฟิง ผู้อยู่เบื้องหลังของ DeepSeek จากอดีตผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ สู่ CEO และผู้ก่อตั้ง Deepseek ที่พกความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งส...

Responsive image

เปิดลิสต์ 3 ประเภท AI Startup ที่นักลงทุน VC สนใจมากที่สุดในปี 2025

ค้นพบ 3 ประเภท AI Startup ที่นักลงทุน VC ให้ความสนใจในปี 2025 ตั้งแต่โซลูชัน AI เฉพาะด้าน โครงสร้างพื้นฐาน AI ไปจนถึงระบบที่น่าเชื่อถือและยืดหยุ่น พร้อมโอกาสใหม่ในการสร้างธุรกิจที่...

Responsive image

วิเคราะห์บทบาท AI ด้านเศรษฐกิจและสังคม ผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญจาก AI House ที่ดาวอส

ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่จัดขึ้นที่ Davos นั้นหัวข้อสำคัญที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือบทบาทของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาร่วมพูดคุยถึง...