บทบาทการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปของ HR ในยุค Digital | Techsauce

บทบาทการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปของ HR ในยุค Digital

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกวด Tech Saucier of The Year 2018 โดยคุณพันธุ์ทิพา สุขสิริสรณ์ 

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ The101.world ได้ร่วมกันจัดงาน Digital Dialogue : “Digital HR-กระบวนการ HR ใหม่ในโลกดิจิทัล” โดยมี ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโทบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติการจัดการสากล (Global Business Management) คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณกนกพรรณ ศรีวนาภิรมย์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และคุณพิน เกษมศิริ ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง CareerVisa Thailand เป็นผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ และดำเนินรายการโดย ดร.สุทธิกรณ์ กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษา CONC คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยใจความสำคัญของงานจะเน้นที่การทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคล (Human Resource) ในยุคดิจิทัล ที่ถูก Technology Disruption มุมมองความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปของบริษัทใหญ่ในการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ รวมทั้งการทำงานร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายของ Generation

บทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน HR

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เมื่อ 10 ปีที่แล้วหากพูดถึงงาน HR จะนึกถึงงาน Routine งานที่ต้องทำซ้ำๆกันในทุกๆวัน ดูแลเรื่องสวัสดิการ กฎระเบียบความเรียบร้อยในการทำงานของพนักงานในองค์การ คอยรับคำสั่งจากผู้บริหารแล้วนำมาปฏิบัติ แต่ในยุคดิจิทัลที่มี Talent ในองค์กร เป็นคนขับเคลื่อนบริษัท ดังนั้นคนในองค์กรจึงเป็นเรื่องที่ได้รับความสำคัญมากขึ้น ดังนั้นบทบาทของ HR จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเชิงธุรกิจ มีความคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) และสามารถเป็นที่ปรึกษา เป็น Partner (หรือ HR Business Partner: HRBP )ให้กับ CEO ได้ “ถ้าเรามัวแต่กอด Routine, AI ก็จะพามันไป”

ความท้าทายในการทำงาน HR ในการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลขององค์กรคือ “วัฒนธรรมองค์กร” (Organizational Culture) เนื่องจากบริษัทใหญ่ๆที่อยู่มานาน บุคลากรที่ทำงานกับองค์กรมาหลาย 10 ปี อาจตามไม่ทันการใช้เทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่ที่ใช้ได้คล่องแคล่ว อีกทั้งเด็กรุ่นใหม่มีอุปกรณ์ต่างๆในการเข้าถึงข้อมูลและแหล่งการเรียนรู้ได้ง่าย ดังนั้นสิ่งที่ HR ต้องทำคือการสร้างวิธีคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)ให้กับคนในองค์กร ให้พร้อมเรียนรู้จากสิ่งต่างๆรอบตัว และสมาชิกรุ่นใหม่ในองค์กรที่มีความคิดใหม่ๆที่สามารถพัฒนาองค์กรได้ รวมทั้งสามารถปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน เพราะถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติ (Mindset) ได้ นั่นแปลว่าเราทำให้เขาเข้าใจ Purpose เข้าใจว่าทำไมถึงต้องทำสิ่งนี้ได้จริงๆ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงแบบถาวร

ความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

จากกระแสทางนวัตกรรมในปี 2018 ส่งผลให้ในปี 2019 บริษัทขนาดใหญ่ (Corporate) จะหันมาร่วมมือกับ Startup มากขึ้น ดังนั้นสำคัญคือการอยู่เหนือความลำบาก ทำความเข้าใจเหตุการณ์ ร่วมกันเข้าใจปัญหา รู้ทางแก้ไข ร่วมมือร่วมใจในการหาทางไปต่อ ในองค์กรธุรกิจเองจะนำหลักการ Design Thinking เข้ามาใช้มากขึ้น โดยเรื่องที่ต้องมีแน่ๆคือ การออกแบบโดยยึดบุคคลเป็นศูนย์กลาง (Human-Centric Design) ดูว่าผู้บริโภคสินค้าหรือบริการมีประสบการณ์แบบใด (User Experience) แล้วนำเอาสิ่งที่ได้ทดลองทำ สิ่งที่คิด ออกมาสร้างสรรค์เป็นผลงานผ่านมือถือ (Mobilize) รวมทั้งเรื่อง “Phygital Advances” หรือ การทำให้ Physical และ Digital ไปด้วยกันได้ หาวิธีการส่งเสริมซึ่งกันและกัน (Combine) ในการทำงาน กระทั่งว่านักจิตวิทยาในยุคต่อจากนี้จะไม่ใช่แค่พูดคุย ให้คำปรึกษากับคน แต่นักจิตวิทยาจะมีบทบาทในการให้คำแนะนำกับบอท (Bot) ที่ต้องเข้ามาทำงานเป็น AI ให้มาเข้าใจคน

แนวโน้มของการทำงาน HR ในอนาคต

ผู้บริหารในองค์กรหลายๆคนเองก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) มากขึ้น เพราะทำให้คนไม่ติดกรอบความเชื่อเก่าๆและคิดหาหนทางแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่แฝงอยู่ในกระบวนการ Design Thinking อีกทั้งในองค์กรธุรกิจยังให้ความสำคัญกับเรื่องคนในการพัฒนาทักษะต่างๆทั้งในเชิง Upskill Reskill ทุกทักษะที่เคยเรียนรู้รวมทั้งทักษะใหม่ๆที่มีความจำเป็นในการทำงาน การทำงานในเรื่องของการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลากร จะมีการประเมินผลในการทำงานแบบ Gamification และ พื้นที่ในการเรียนรู้อย่าง Online Learning Platform เช่น SkillLane Skoodio ฯลฯ มาใช้ในองค์กรจริงๆมากขึ้น

เรื่องที่ต้องเรียนรู้เมื่อเป็น Digital HR

  • Design Thinking หลายคนคุ้นเคยกับ Design Thinking ในการทำความเข้าใจลูกค้า (Customer Insight) ซึ่งปกติผู้ที่ได้เรียนรู้เรื่องนี้จะเป็นฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย หรือฝ่ายผลิต หรือแม้จะเป็นเรื่องานงานทรัพยากรบุคคล (Marketing HR) ก็ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมไปจนถึงเรียนรู้กระบวนการ Lean Methodology ในการสร้าง-วัดผล-เรียนรู้ (Build-Measure-Learn) เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ช่วยแก้ปัญหาของลูกค้าได้ ทำนองเดียวกันกับงาน HR ลูกค้าในที่นี้คือพนักงานในองค์กร โดยการ Empathize ฟังให้ได้ยินถึงสิ่งที่พนักงานไม่ได้พูดออกมาด้วยว่า พนักงานต้องการอะไร แล้วเราสามารถปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน สวัสดิการ วิธีการทำงาน ฯลฯ ที่เอื้อให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้นได้
  • Growth Mindset เพราะ HR คือคนที่ต้องทำให้พนักงานสามารถปรับตัว เปิดรับและพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา เลยต้องมีความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) เชื่อว่าสิ่งต่างๆเป็นไปได้ เพราะวัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) เป็นเรื่องที่เปลี่ยนยาก เพราะมันคือสิ่งที่คนทุกคนในบริษัทที่ติดตัวมานาน HR ต้องทำให้พนักงานกล้าผิดพลาด (Fail Fast) กล้าลงมือทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้มากขึ้น และนำบทเรียนที่ได้ไปใช้ในการทำงาน แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน รวมทั้งเรื่องการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย เข้าใจว่าพนักงานต้องการอะไร
  • Future skill in 2020 องค์กรต่างๆหันมาแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น ทักษะสำคัญในยุค 2020 (Future skill 2020) คือ ทักษะการแก้ไขปัญหา (Problem Solving skill) ดังนั้นเรื่องการ Fail Fast จึงเป็นเรื่องที่ต้องเอามาใช้ในบริษัทจริงๆ แต่ต้องมีการวางแผน และบอกได้ว่าเรียนรู้อะไรบ้าง

การทำงานกับเด็กรุ่นใหม่

ในการทำงานระหว่าง Generation จะมีหลายๆเรื่องที่เราต้องปรับความเข้าใจกัน สำหรับผู้ใหญ่ สิ่งที่เราได้เปรียบคือ เรามีทรัพยากร (Resource) ประสบการณ์ในการทำงานสูงกว่า ถ้าเราจดจ่อแต่การทำงาน (Focus Execution) แต่ไม่มีวิสัยทัศน์ (Vision) ที่มองไกลไปข้างหน้า คุณค่าของงานมันก็ลดลง สำหรับเด็กรุ่นใหม่ในอนาคตเป็นเรื่องที่เราต้องคิด จะทำให้เขาอยู่ในองค์กรได้ยังไง โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่ที่ชอบคิดแต่ทำน้อย เขาไม่ได้มองว่าจบมาทำงานในบริษัทใหญ่ๆแล้วดูเท่ แต่เด็กอยากเป็นผู้ประกอบการ อยากมีธุรกิจของตัวเอง การทำงานร่วมกันต่างคนมีต่างมุมมอง หากเป็น UX/UI Designer ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นเด็กใหม่ในที่ทำงาน หลายครั้งที่เราพบข้อมูลเชิงลึกจากลูกค้า (Customer Insight) แล้วบางอย่างมันต้องเสนอให้ผู้บริหารซึ่งเป็นคนรุ่นเก่าในองค์กรปรับเพราะเรื่องนั้นมีผลกระทบจริงๆ สิ่งที่เราพอทำได้คือบอกว่าสิ่งที่เราทำ มันตอบโจทย์ลูกค้า ที่เราเจอมาคืออะไร แก้ปัญหาให้เขายังไง เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือการตอบโจทย์ของลูกค้า “ถ้าหัวหน้าทำสำเร็จ ลูกน้องก็สำเร็จ และสิ่งนั้นจะเป็นความสำเร็จร่วมกัน”

ความท้าทายในการทำงานยุคดิจิทัล

“ความอดทน” หลายๆคนอาจเคยได้ยินเรื่องนี้ในการทำงานและการใช้ชีวิตว่ากว่าจะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องใช้ความอดทน แต่ “ความอดทนในบริบทการทำงานในองค์กร คือ การผ่านเรื่องยากๆด้วยการคิดบวก” เรื่องที่พบในการทำงานคือเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยทนงาน เรื่องการสรรหา (Recruit) สุดท้ายก็กลับไปเรื่องของ Passion ว่าเราชอบสิ่งนั้นไหม เพราะ Passion จะช่วยปิดช่องว่างระหว่างวัย (Gen Gap) เป็นสื่อกลางที่บอกว่าเราทำอะไรที่ไปด้วยกันได้ ดังนั้นให้หาคนมี Passion พาพวกเขามาเจอกันแล้วเอาเรื่องพวกนี้เล่าให้องค์กรฟัง ให้เป็นทีมที่ทำงานไปด้วยกันได้ในแต่ละ Project

เราเลือกได้ว่า เราจะวิ่งหนีมันตลอดชีวิต หรือ เลือกที่จะวิ่งฝ่ามันไป

เนื้องาน หรือ แก่นของ HR ไมได้หายไป งานเริ่มตั้งแต่ Employee Branding จนเลิกจ้าง Digital HR จริงๆไม่ได้ทำแค่การประกาศรับสมัครงาน Online แต่รวมไปถึงการที่ HR มีความคิดเชิงกลยุทธ์ สามารถเป็นที่ปรึกษา เป็น Partner หรือเป็นอีกที่พึ่งของ CEO การจะเป็น Digital HR ได้นั้นไม่เพียงแต่เข้าใจคนหรือพนักงาน แต่ต้องเข้าใจถึงภาพรวมขององค์กร เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรต่อไปได้บนความเข้าใจคน เข้าใจลูกค้า เข้าใจหัวหน้าและเข้าใจองค์กร ให้ทุกคนมีความคิดที่เปิดกว้างยอมรับความคิดเห็นและความหลากหลาย ตลอดจนสามารถนำเครื่องมือ (Tools) ต่างๆในอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการทำงานได้ ตอนนี้ Digital HR ยังคงหายากในการทำงานในองค์กร เนื่องจากวัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง ทางด้าน HR ก็ต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถ Transform องค์กรที่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงจาก Digital Disruption ในอนาคต งาน HR จะมีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนธุรกิจและมีบทบาทมากขึ้นในการทำงาน ถึงแม้จะมีเรื่องของ AI เข้ามา แต่ความสำคัญของคนในองค์กรนั้นจึงมีมากขึ้น และ Digital HR จะเป็นได้มากกว่า HR ธรรมดาทั่วไป

 

ภาพ Cover โดย SoftwareSuggest

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ปลดล็อกศักยภาพท่องเที่ยวไทยสู่ Global Destination ยกระดับประเทศผ่านเอกลักษณ์และความร่วมมือ

ร่วมวิเคราะห์เชิงลึกจากการเสวนาของคุณชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ และ ดร. วิทวัส สิทธิเวคิน Moderator ใน session นี้ เกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายข...

Responsive image

ความท้าทาย โอกาส และการปรับตัวของประเทศไทย เจาะลึกยุทธศาสตร์นำทัพไทยในพายุภูมิรัฐศาสตร์ 2025

โลกกำลังเผชิญกับ Turbulent Times หรือยุคแห่งความผันผวนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยความผันผวนนี้ส่งผลกระทบต่อทุกมิติ ตั้งแต่เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไปจนถึงสิ่งแว...

Responsive image

ก้าวสู่สังคมสูงวัย เป็นโอกาสทองของไทยหรือความท้าทายที่ต้องเผชิญ ?

เพราะการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในปัจจุบัน ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ไปจนถึงการลดลงของประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ...