จับเข่าคุยกับ Startup รุ่นพี่ในโครงการ InVent ว่าการระดมทุนนั้นสำคัญอย่างไร? | Techsauce

จับเข่าคุยกับ Startup รุ่นพี่ในโครงการ InVent ว่าการระดมทุนนั้นสำคัญอย่างไร?

ในช่วง 2-3 ปีหลังกลุ่ม Startup ไทยได้รับการจับตาเป็นอย่างมาก หลายทีมมีศักยภาพและได้รับทุนการสนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี วันนี้ทีมงาน Techsauce ได้มีโอกาสพูดคุยกับ Startup ที่ได้รับการสนับสนุนจาก โครงการ InVent ของบริษัท อินทัชโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (Intouch) ซึ่งเป็น Corporate Venture Capital รายใหญ่ของไทย เราลองไปฟังมุมมองว่าแต่ละบริษัทมีความคิดเห็นกันอย่างไรต่อเรื่องการระดมทุน หลายท่านน่าจะเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากันบ้าง ไปพบกับพวกเขากันเลยดีกว่า

2015-10-12-12.22.28

ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ประกอบด้วย

  • นิกกี้ อัศวทร CEO Infinity Levels Studio
  • Robert Zepeda (Rob) CEO & Founder Playbasis
  • สร้างบุญ แสงมณี Marketing Director Ookbee
  • รัถภัทร์ โชติมงคล CEO & Co-Founder Sinoze
  • วัชระ เอมวัฒน์ Managing Director Computerlogy
  • ภูริชช์ อักษรทับ CEO & Co-Founder Golfdigg
  • ปิยะศักดิ์ บุญคมรัตน์ Managing Director Meditech Solution

Startups เหตุใดถึงต้องเติบโตแบบก้าวกระโดด ค่อยๆ เติบโตไปเรื่อยๆ แบบ SME ไม่ได้หรือ?

Startup ถือว่าเป็นธุรกิจที่ถูกจำกัดด้วยเวลา มีความเสี่ยงสูง แต่ด้วยศักยภาพของรูปแบบธุรกิจอย่าง Startup ทำให้มีโอกาสเติบโต (Scalable)สู่ ระดับภูมิภาค และระดับโลกได้ ดังนั้น Startups จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งการเติบโตของธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินทุน ฉะนั้นการได้รับการลงทุนจาก VC ใหญ่ๆ นอกเหนือจากได้รับเงินทุนเพื่อที่ให้พวกเขาสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู้ตลาดได้อย่างรวดเร็วแล้วยังช่วยในเรื่องของการขยายธุรกิจไปในวงกว้างอีกด้วย ซึ่งเสมือนเป็นช่องทางลัดในการทำธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดดนั้นเอง ซึ่งต่างจากรูปแบบของ SME ที่รูปแบบธุรกิจไม่ได้มีคุณลักษณะแบบ Scalable ได้อย่างนั้น

“ตลาด IT เป็นตลาดที่โตไวมาก เงินที่ได้มาจากธุรกิจของบริษัทส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ในการขยายตลาดเพื่อให้เข้าถึงตัวผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด แต่เนื่องจากเงินที่ได้มานั้น มันไม่มากเพียงพอที่จะจับกลุ่มตลาดเป้าหมายให้ได้ทันเวลา ดังนั้นการร่วมทุนกับ VC จึงเป็นหนึ่งในรูปแบบของการหาแหล่งเงินทุนของ Startup ที่ต้องการการเติบโต” - รัถภัทร์ CEO Sinoze 2015-10-12-12.51.13

แล้วเวลาไหนที่ควรต้องระดมทุนได้แล้ว?

หลายครั้งในงานสัมมนา หรือช่วง Networking ตามงานต่างๆ เรามักได้ยินข้อสงสัยว่า แล้วเวลาไหนดีที่ถึงเวลาต้องระดมทุนกัน ซึ่งแต่ละท่านมีจุดที่แตกต่างกัน

Rob CEO จาก Playbasis ให้มุมมองได้อย่างน่าสนใจ เขากล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องกลับมาถามใจตัวเอง ว่าถึงจุดที่ต้องการขยายธุรกิจแล้วหรือไม่ เมื่อ Product พร้อมแล้ว เริ่มมีผู้ใช้ แต่ถ้าต้องการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ถึงเวลานั้นก็ต้องควรขอระดมทุน เพื่อนำไปขยายในส่วนต่างๆ ยกตัวอย่าง เราอยากจะจ้างพนักงาน นักพัฒนาให้มากขึ้น เราจึงจะเริ่มระดมทุนแต่ถ้าเราอยากจะขยายธุรกิจไปให้ไกลและจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความสามารถ ซึ่งอาจจะมาจากต่างประเทศด้วย ค่าตัวของพวกเขาอาจจะสูง เราอาจจะหานักลงทุนอย่าง VC ที่มีขนาดใหญ่มาสนับสนุน

สำหรับปิยศักดิ์ Managing Director แห่ง Meditech กล่าวว่าสำหรับเขางานหลักๆ ของบริษัทนั้นเน้นเรื่องวิจัยและพัฒนาค่อนข้างเยอะซึ่งต้องใช้เงินทุนมาสนับสนุน จึงเป็นที่มาดังกล่าว

สำหรับภูริชช์ CEO แห่ง Golfdigg บอกว่าในตอนแรกๆ พวกเขาก็ต้องลงแรงกันเองก่อน สร้าง Product ที่ชัดเจนออกสู่ตลาด เมื่อดำเนินธุรกิจไปสักพัก ก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจัดการ ในขณะเดียวกันเราก็ต้อง Scale เพื่อขยายธุรกิจด้วย การใช้เงินตัวเองเพื่อขยายออกไปนั้น มันยากแน่ๆ ถึงเวลานั้นคือช่วงเวลาที่เราต้องการระดมทุน

Screen shot 2015-11-26 at 4.10.15 PM หลังจากที่ได้รับทุนจาก InVent มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?

คำถามนี้เราได้รับคำตอบและมุมมองที่หลากหลายเพราะมันไม่ใช่แค่เงินทุนเท่านั้น ระบบการจัดการภายในที่ดีขึ้น การได้รับเงินทุนก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่จุดสำคัญคือโอกาสและการเติบโตในรูปแบบของบริษัทจริงๆ

“นักลงทุนมีส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยเรื่องระบบการจัดการภายในค่ะ ยกตัวอย่างการทำบัญชี Startups ส่วนใหญ่จะไม่ได้สนใจเรื่องทำบัญชีให้ถูกต้องซักเท่าไหร่ เขาก็จะเข้ามาดูในส่วนนี้ให้ เหมือนเข้ามาช่วยวางระบบการทำงานให้เป็นแบบแผนมากยิ่งขึ้น ทุกๆ อย่างที่ทำจะต้องมีขั้นตอน แน่นอนแรกๆ Startup อาจจะไม่คุ้นชิน แต่การที่ Startup จะก้าวและเติบโตสู่ Enterprise ได้นั้น เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งสำคัญค่ะ” - นิกกี้ CEO แห่ง Infinity Levels Studio กล่าว

2015-10-12-12.48.28 2015-10-12-12.50.01 ความน่าเชื่อที่ได้จากลูกค้า และสื่อต่างๆ

ในฟากของ Rob แห่ง Playbasis บริษัทที่นำเสนอโซลูชั่นด้าน Gamification Platform ให้กับแบรนด์ต่างๆ ซึ่งเป็นธุรกิจแบบ B2B ดังนั้นภาพลักษณ์ของบริษัทนั้นสำคัญมากๆ Rob กล่าวว่า บริษัทได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามากขึ้น เพราะพวกเขาเห็นว่าบริษัทของเขาได้มีการสนับสนุนจาก VC ระดับใหญ่

อีกอย่างหนึ่งก็คือเราได้รับความสนใจจากพวกสื่อต่างๆ มากขึ้น มีหลายคนอยากจะมาร่วมงานกับบริษัทของเขา

การต่อยอดเป็น Strategic Partner

Rob เสริมอีกว่าสิ่งสำคัญที่จะแยกระหว่างบริษัทเงินทุนแบบ InVent กับบริษัทเงินทุนอื่นๆ ก็คือ InVent สามารถที่จะเป็นทั้งนายทุนและลูกค้าได้ในเวลาเดียวกัน สำหรับบริษัทเงินทุนทั่วไป พวกเขาจะช่วยสนับสนุนด้านการเงินเราแต่ส่วนที่เหลือจะปล่อยให้เราทำของเราเองทั้งหมด แต่ InVent จะช่วยเชื่อมโยงเราให้กับบริษัทในเครือเช่น AIS Thaicom และ CS Loxinfo เป็นต้น และ รวมถึง บริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างธุรกิจให้กับเราไปด้วย

2015-10-12-12.47.55 โอกาสการขยายธุรกิจสู่ภูมิภาค

สร้างบุญแห่ง Ookbee Digital Bookstore ที่ใหญ่ที่สุดของไทย และได้ขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ แล้วนั้น บอกกับ Techsauce ว่า InVent ช่วยเชื่อมโยงให้กับบริษัทต่างๆ ในเครือ Singtel ด้วยกัน ทำให้ง่ายขึ้นในการที่จะต่อยอดทางธุรกิจ ซึ่งถ้าไปลุยเดียวเองคงเสียเวลาไม่น้อย

เฉกเช่นเดียวกับวัชระ CEO แห่ง Computerlogy กล่าวว่า ธุรกิจของเขาเป็นรูปแบบ B2B ทาง InVent ช่วยเชื่อมโยงให้กับบริษัทต่างๆ ในเครืออีกหลายที่ และทำให้ธุรกิจได้เป็นพาร์ทเนอร์กับทาง AIS อีกด้วย

2015-10-12-12.23.57 แง่คิดดีๆ ต่อ Startup ไทย

เรียนรู้และปรับเปลี่ยนเพื่อการเติบโต

สำหรับรัถภัทร์แล้ว เขามองว่า Startups เป็นเสมือนการทดลองวิทยาศาสตร์ เราไม่สามารถจะตั้งสมมติฐานให้ถูกต้องตั้งแต่ครั้งแรกได้ ต้องปรับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ พอเรารู้ว่ามีวิธีในการเติบโตก็ค่อยไปขอระดมทุนจาก VC

เรียนรู้วิธีการทางเทคนิคจากต่างประเทศมาใช้

นิกกี้ แม้เธอจะเป็นนักธุรกิจที่ไม่ได้เติบโตมาจากการเป็นนักพัฒนาเองโดยตรง แต่จากประสบการณ์ด้านธุรกิจสายไอทีของเธอ ทำให้เธอเรียนรู้ว่า Coding practice เป็นเรื่องสำคัญ เธอกล่าวกับ Techsauce ว่า “พอดีว่าทำมาหลายบริษัทแล้วเห็นจุดอ่อนทางด้านนี้ของคนไทยเยอะค่ะ และตัวเองได้มีโอกาสไปร่วมงานกับต่างประเทศทำให้เห็นว่า code ของเขามีความเป็นระเบียบ จัดการง่าย ถ้าเป็นคนไทยเขียนจะไม่สามารถ scale ได้ หรือสามารถอ่านได้อยู่คนเดียว อยากให้ลองศึกษาจากโปรแกรมเมอร์เก่งๆ ในต่างประเทศว่าเขามีวิธีอย่างไร”

อย่าเอาแต่คิดให้ลงมือทำด้วย

ประโยคนี้ได้ยินกันบ่อยแล้ว แต่สร้างบุญจาก Ookbee ยังคงอยากย้ำเรื่องนี้ให้กับน้องๆ อีกครั้ง “ผมอยากให้คนที่สนใจด้าน startup กล้าตัดสินใจ และลงมือทำ อย่ามัวแต่คิด เพราะเวลาก็จะผ่านไปเรื่อยๆ เป้าหมายของเราคืออะไร วางแผนไว้เลยว่าต้องการจะไปอยู่ในจุดไหน ถ้าต้องการเงินทุนก็ให้ลองมา pitch กับเหล่า VC ดูครับ” สร้างบุญกล่าว

กล้าคิดเติบโตสู่ระดับภูมิภาค

เหนื่อยทั้งทีก็ต้องตั้งเป้าให้สูง และพิชิตมัน Rob แห่ง Playbasis อยากฝากให้ อยากให้คนไทยเริ่มคิดที่จะเติบโตไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ให้คิดว่าจะเติบโตออกไปในภูมิภาคอย่างไรด้วย แก้ไขปัญหาที่ไม่ใช่แค่ในท้องถิ่น อย่ากลัวที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ ญี่ปุ่นมี Line เกาหลี: Kakao talk อเมริกา: Facebook จีน: Wechat คนไทยใช้แอปต่างชาติเป็นจำนวนมาก ถ้าคนไทยร่วมมือกันสร้างอะไรขึ้นมาจริงๆ เขาเชื่อว่าจะสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างมากมายเช่นกัน

ใส่ใจเรื่องโมเดลธุรกิจให้มาก โมเดลธุรกิจ

(business model) เป็นเรื่องที่ต้องดูให้มากๆ เลยครับ ภูริชช์แห่ง Golfdigg กล่าว ผมอยากให้พยายามคิดวิเคราะห์ตั้งแต่ ปัญหาของลูกค้าจริงๆ คืออะไร เราเข้าไปช่วยแก้ปัญหาลูกค้าอย่างไร พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ตามต้องการ และวิธีการหารายได้มาจากไหน ตรงนี้เป็นพื้นฐานที่เราต้องตอบให้ได้ เพราะมันเป็นธุรกิจของเรา

2015-10-12-12.26.13 พาร์ทเนอร์ชิปสำหรับ Startup เป็นเรื่องสำคัญ

การเติบโตอย่างโดดเดี่ยวยุคนี้ไม่มีอีกแล้ว วัชระ แห่ง Computerlogy อยากฝากให้ Startup ไทยดูเรื่องของโอกาสและพาร์ทเนอร์ชิปเป็นหนึ่งในปัจจัยการเติบโตที่สำคัญเช่นกัน การได้ร่วมงานกับนักลงทุน หรือบริษัทพาร์ทเนอร์ใหญ่ๆ จะช่วยให้เราเติบโตอย่างที่เราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ปิดท้ายกันด้วย ใครมีอะไรดีๆ อยากฝากให้ผู้อ่านได้ทราบกัน?

รัถภัทร์ แห่ง Sinoze มาพร้อมรอยยิ้ม “ปีหน้ามีอะไรให้ดูสนุกๆ แน่นอน ตอนนี้เรากำลังพัฒนาเกมชิ้นใหม่อยู่ ถ้าได้เปิดตัวออกมาแล้วน่าจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการเกมเลยทีเดียว ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก Thapster แต่จะใส่ความแฟนซีเพิ่มเติมเข้าไป เราจะเป็นบริษัทเกมของไทยที่ได้โกอินเตอร์เป็นเจ้าแรกๆ”

นิกกี้ แห่ง Infinity Levels Studio สาวเก่งหนึ่งเดียวในนี้กล่าวกับเรา “ จะมีกิจกรรมให้ผู้ใช้ได้ร่วมสนุกกันมากยิ่งขึ้น และจะมีเกมใหม่ๆ ออกมาเจาะกลุ่มผู้เล่นที่เป็นผู้ชายโดยเฉพาะ ถือว่าป็นเกมที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน Graphic สวยแนว 3D และสนุกมากๆ เลยค่ะ”

เจ้าพ่อวงการ Digital Bookstore พี่ใหญ่สุด Ookbee สร้างบุญ กล่าวกับเราว่า “ปลายปีนี้เราพยายามขยายเนื้อหาให้เยอะขึ้น ไม่ใช่มีแต่แมกกาซีน มีหนังสือเล่มด้วย มี audio book ด้วย และเรากำลังจะมีเนื้อหาสำหรับเด็กๆ จากทางดิสนีย์เข้ามา ต้นปีหน้าเราตั้งเป้าที่จะให้ทางคนที่โพสต์เนื้อหาลง Ookbee ได้สามารถเรียกเก็บเงินบางส่วนจากที่เขาโพสต์ลงไป ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสร้างรายได้ให้กับคนเขียน และคนอ่านก็จะสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ดียิ่งขึ้น”

Rob แห่ง Playbasis มีแผนมาแชร์กับเรามากมาย “ในปี 2016 จะเป็นปีที่สำคัญต่อบริษัทของเรามาก เพราะจะเป็นปีแรกที่ Playbasis มีทีมงานและจำนวนเงินที่พร้อมจะออกเดินหน้าเต็มสูบ อีกอย่างที่เราอยากจะเริ่มทำในปี 2016 ก็คือการจับมือกับมหาลัยต่างๆ เราเริ่มเล็งเห็นว่ามหาลัยในประเทศไทยได้เริ่มมีการสอนเกี่ยวกับ Gamification เราอยากจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มาลองฝึกงานกับทางเรา เพื่อช่วยในการพัฒนาศักยภาพต่อไป สิงคโปร์จะเป็นเป้าหมายหลักของเราในอนาคต ตอนนี้เรามีฐานลูกค้าพอสมควรอย่าง Starhub หนึ่งใน Telco ของสิงคโปร์ เรามีพนักงานประจำที่ดูแลเรื่องธุรกิจให้เราอย่างต่อเนื่องที่นั่น”

ปิยศักดิ์ แห่ง Meditech แชร์ว่าพร้อมขยายสู่ตลาดต่างประเทศด้วยซอฟแวร์เวอร์ชั่นใหม่ “ปีหน้าเราจะทำตลาด SenzE V.4 เน้นที่ Tablet version เป็นหลัก โดยเป้าหมายคือกลุ่ม รพ.เอกชน ในกทม. และผู้ป่วยที่พักฟื้นตามบ้าน ก่อนจะขยายตลาดไปต่างประเทศต่อไปครับ”

เป็นการสัมภาษณ์ที่เป็นกันเอง แถมได้รับความรู้หลากหลายแง่มุม ในทุกๆ ช่วงของการสนทนา ตั้งแต่ก่อนระดมทุนจนถึงหลังระดมทุนกันเลยทีเดียว ว่าแล้วอ่านอย่างเดียวคงไม่พอ หลายคนคงกำลังสำรวจตัวเองกันอยู่ใช่ไหมว่าถึงเวลาที่บริษัทต้องการการระดมทุนแล้วหรือยัง? ถ้าคำตอบคือใช่! รีบเตรียมความพร้อมเพื่อนำเสนอแผนธุรกิจกับนักลงทุนกันได้เลย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก เหลียง เหวินเฟิง CEO และผู้ก่อตั้ง Deepseek จากอดีตเฮดจ์ฟันด์ สู่ผู้ท้าทายยักษ์ใหญ่ AI โลก

รู้จัก เหลียง เหวินเฟิง ผู้อยู่เบื้องหลังของ DeepSeek จากอดีตผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ สู่ CEO และผู้ก่อตั้ง Deepseek ที่พกความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งส...

Responsive image

เปิดลิสต์ 3 ประเภท AI Startup ที่นักลงทุน VC สนใจมากที่สุดในปี 2025

ค้นพบ 3 ประเภท AI Startup ที่นักลงทุน VC ให้ความสนใจในปี 2025 ตั้งแต่โซลูชัน AI เฉพาะด้าน โครงสร้างพื้นฐาน AI ไปจนถึงระบบที่น่าเชื่อถือและยืดหยุ่น พร้อมโอกาสใหม่ในการสร้างธุรกิจที่...

Responsive image

วิเคราะห์บทบาท AI ด้านเศรษฐกิจและสังคม ผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญจาก AI House ที่ดาวอส

ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่จัดขึ้นที่ Davos นั้นหัวข้อสำคัญที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือบทบาทของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาร่วมพูดคุยถึง...