"Indonesia Startup Ecosystem" พาชมอินโดนีเซีย ดินแดนที่มี “Unicorn” มากที่สุดใน Southeast Asia | Techsauce

"Indonesia Startup Ecosystem" พาชมอินโดนีเซีย ดินแดนที่มี “Unicorn” มากที่สุดใน Southeast Asia

หากพูดถึง Startup Ecosystem ที่น่าสนใจที่สุดในเวลานี้คงหนีไม่พ้น อินโดนีเซีย ที่เผยให้เห็นการเติบโตที่มั่นคงอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งจากการเกิด 'Unicorn' และการบุกตลาดต่างประเทศของ Startup ด้าน E-Commerce อย่างแข็งขัน ซึ่งหลายคนคงอยากรู้ว่าอินโดนีเซียมีองค์ประกอบอะไรที่ผลักดันให้ Startup ในประเทศแข็งแรงขนาดนี้

Techsauce ได้รับเชิญจาก True Incube ร่วมทริปเดินทางไปประเทศอินโดนีเซีย ร่วมกับ 5 Startup ไทยในโครงการ True Incube Incubation & ScaleUp Program Batch 5 – Startup Grand Prix ประกอบด้วย ChangTrixget, DRX, Fling, Kooup และ ShopJJ เพื่อสำรวจองค์ประกอบและ Insight ใน Startup Ecosystem ของประเทศอินโดนีเซียด้วยการเยี่ยมชมสำนักงานและพบปะกับผู้บริหาร aCommerce Indonesia, East Ventures, True Money Indonesia, CP Indonesia และ Wework Indonesia

Introduction

อินโดนีเซียเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ 1.9 ล้านตารางกิโลเมตร โดยภูมิประเทศเป็นเกาะที่มีจำนวนมากถึง 13,000 เกาะ แต่มีเกาะหลักทั้งหมด 5 เกาะ ได้แก่ นิวกินีชวากาลีมันตันซูลาเวซี และสุมาตรา มีประชากร 261 ล้านคน ปกครองแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและทำหน้าที่ปกครองประเทศ

สถานการณ์ Startup Ecosystem ในอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเริ่มต้นมี Tech Company ตั้งแต่ปี 1997 ช่วงเดียวกับการเฟื่องฟูของธุรกิจอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ก่อนจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติดอทคอมซึ่งทำให้ Tech Company หลายรายปิดกิจการไป การพัฒนาด้านเทคโนโลยีในประเทศจึงช้าลง หลังจากนั้นในปี 2007 กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่ฟื้นตัวมาจากวิกฤติดอทคอมได้กลับสู่การแข่งขันอีกครั้งทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

Startup Ecosystem ของอินโดนีเซียเริ่มต้นช่วงปี 2010 ช่วงเดียวกับการเริ่มต้นของ Tech Startup ชั้นนำในประเทศอย่าง Tokopedia, Bukalapak, Go-Jek และ Traveloka การเติบโตของ Startup เหล่านี้เป็นตัวจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ของอินโดนีเซียที่เดินทางไปศึกษาและทำงานในต่างประเทศกลับมาทำ Startup ในประเทศอย่างจริงจัง และทำให้ Startup Ecosystem ของอินโดนีเซียเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งส่งให้เกิด Unicorn ในเวลาต่อมา

ด้านตัวเลขลงทุนนับว่ามหาศาลและเป็นไปตามเทรนด์ โดยจากปี 2012 ถึงปี 2017 เพิ่มขึ้นจาก 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 68 เท่าภายใน 5 ปี โดยปีที่เพิ่มก้าวกระโดดที่สุดคือปี 2016 ถึงปี 2017 ซึ่งเพิ่มจาก 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปีเดียว

จุดแข็งของ Indonesia Tech Startup Ecosystem

  • มี Unicorn เยอะที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียนับเป็นประเทศที่มี Tech Startup เป็น Unicorn เยอะที่สุดถึง 4 ราย ได้แก่ Tokopedia, Bukalapak, Go-Jek และ Traveloka โดย 2 ใน 4 ได้เริ่มขยายบริการออกไปยังต่างประเทศแล้ว ซึ่งทั้ง 2 รายก็เปิดตัวในไทยเป็นที่เรียบร้อย
  • ประชากรจำนวนมหาศาลและพร้อมใช้เทคโนโลยี นอกจากจำนวนประชากรมากถึง 261 ล้านคนแล้ว ชาวอินโดนีเซียมีอัตราส่วนการใช้ Smartphone ถึง 2 เครื่องต่อคน และยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินอย่าง E-Wallet ได้
  • ศูนย์รวมการลงทุนโดย Ventures Capital ในภูมิภาค อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางการลงทุนของ VC ระดับเอเชียหลายราย โดยครอบคลุมเกือบทุกอุตสาหกรรมตั้งแต่ Fintech, E-Commerce, Logistic ไปจนถึงอุตสาหกรรมใหม่อย่าง AgriTech ด้วย

Indonesian Insight พฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องรู้

  • ปัจจุบันเป็นประเทศที่ใช้เงินสดเป็นอันดับ 2 ของโลก อินโดนีเซียยังคงนิยมใช้เงินสดมากกว่าบัตรเครดิตและ Digital Payment อีกทั้งยังนิยมจ่ายเงินผ่านช่องทาง Offline มากกว่า Online ด้วยประชากรจำนวนมหาศาล ทำให้มีสัดส่วนการใช้เงินสดมากเป็นอันดับสองของโลก
  • รายได้ต่อประชากรต่ำกว่าไทยราวครึ่งหนึ่ง อินโดนีเซียมี GDP Per Capita อยู่ที่ 3,570 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนไทยอยู่ที่ 5,907 ดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าครองชีพที่ถูกอาจหมายถึงตลาดแรงงานที่น่าสนใจ แต่ก็สะท้อนถึงระดับตลาดที่อาจไม่สูงมากนัก
  • นิยมใช้ Global Media Platform ชาวอินโดนีเซียนิยมใช้ Social Network และ Media ระดับ Global มากกว่า Platform ในประเทศ ซึ่ง Social Network ที่นิยมกันคือ Facebook ส่วน Media Platform ที่นิยมกันคือ YouTube และแอปพลิเคชันแชทยอดนิยมคือ WhatsApp
  • ประชากรนับถืออิสลามและยอมรับความหลากหลาย ประชาชนเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของประเทศอินโดนีเซียนับถือศาสนาอิสลาม โดยมีชาวจีนและชาวอินโดนีเซียรุ่นใหม่ที่รับวัฒนธรรมตะวันตกผ่านการศึกษาอยู่ร่วมด้วยอย่างดี ทำให้เกิดรูปแบบการตลาดเฉพาะในบางธุรกิจ เช่น อาหาร และแฟชั่น ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
  • FinTech และ Roadmap สู่ Cashless Society แม้จะมีสัดส่วนการใช้เงินสดเป็นจำนวนมาก แต่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีการเงินในอินโดนีเซียกลับเบ่งบานมากผ่านการสนับสนุนจากรัฐบาลและธนาคารขนาดใหญ่ โดยธนาคารเหล่านี้ลงทุนเพื่อพัฒนา Digital Platform สำหรับการเงินรวมหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • E-Wallet และ P2P Lending เป็น Fintech ยอดนิยม อินโดนีเซียมีผู้ให้บริการการเงินส่วนบุคคลจำนวนมาก โดยเฉพาะ E-Wallet ซึ่งมีมากกว่า 30 ราย และเริ่มทดลองการกู้ยืมเงินระหว่างรายย่อยหรือ Peer-to-Peer Lending ซึ่งมี Startup ในประเทศพัฒนาระบบนี้มากมาย
  • Logistic เป็นอุปสรรคสำคัญของ E-Commerce ด้วยภูมิศาสตร์ของประเทศที่มีเกาะจำนวนมากและมีความยาวเกือบเท่าทวีปยุโรป ทำให้การขนส่งสินค้าเป็น Pain Point สำคัญในการพัฒนาธุรกิจ ผู้ที่จะเข้าตลาดอินโดนีเซียควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย โดยเฉพาะด้าน E-Commerce และ Marketplace

Tech Company & Startup สัญชาติอินโดนีเซียที่น่าจับตามอง

Tokopedia Marketplace Platform สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ถือเป็น Unicorn รายแรกของอินโดนีเซีย โดยมีผู้ลงทุนรายใหญ่คือ Alibaba บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน

Bukalapak อีกหนึ่ง E-Commerce Startup ที่พัฒนา Marketplace Platform ปัจจุบันเป็น Unicorn ที่เติบโตจากภายในประเทศผ่านการลงทุนที่นำโดย Emtek Group บริษัทสื่อและโทรคมนาคมในอินโดนีเซียและ 500 Startup

Go-Jek Unicorn Startup ผู้พัฒนา Ride-Hailing, Logistic และ Digital Payment ที่กำลังเดินหน้าบุกตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผู้นำการลงทุนใน Go-Jek คือ Tencent อีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน

Traveloka Startup ด้าน TravelTech ระดับ Unicorn ให้บริการค้นหาที่พักและสายการบินทั่วโลกรองรับลูกค้า 6 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผู้นำการลงทุนรอบล่าสุดคือ Expedia บริษัท Travel Agency และ Media ชั้นนำของโลก

IDN Media Startup ด้าน Online Media แบบ Multi-Platform ครอบคลุมเนื้อหาทั้งข่าวประจำวันและไลฟ์สไตล์ จับกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ ปัจจุบันกำลังเปิดระดมทุน Series B โดยมีผู้นำการลงทุนได้แก่ East Ventures และ Central Exchange

HappyFresh E-Commerce Startup ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคโดยร่วมกับ Super Market ชั้นนำในแต่ละประเทศ เป็นหนึ่งใน Startup ที่เกิดในประเทศอินโดนีเซียและขยายการบริการไปยังประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย

VC, CVC และ Angel Investor

อินโดนีเซียนับเป็นประเทศที่มีการระดมทุนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็น VC ที่ได้รับการลงทุนโดยกลุ่มทุนในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ แต่ก็มี VC ที่เกิดจากกลุ่มทุนในประเทศ Active อยู่ไม่น้อย ส่วน CVC นั้นมาจากบริษัทขนาดใหญ่ที่ประกอบธุรกิจหลายอุตสาหกรรม และนี่คือตัวอย่างของ CVC และ VC ที่นั่น

East Ventures VC ระดับภูมิภาคที่มีสัดส่วนการลงทุนกับ Startup อินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก โดยเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนรายแรกๆ ของ Unicorn อย่าง Tokopedia, Go-Jek และ Traveloka

GDP Ventures CVC จาก Djarum Group บริษัทในประเทศอินโดนีเซียที่มุ่งเน้น Startup ด้าน Media และ Digital Community เคยลงทุนใน SEA (บริษัทแม่ของ Garena) และ IDN Media

Venturra Capital CVC  ที่เน้นลงทุนกับ Tech Startup ระดับ Early Stage ในอุตสาหกรรม E-Commerce, Fintech, HealthTech และ EdTech โดย Venturra Capital มีผู้บริหารที่เป็นคนไทยด้วยนั่นคือ คุณเพลิน สุรพงษ์ชัย

SMDV (Sinar Mars Digital Ventures) CVC ในเครือ Sinar Mars บริษัทผลิตกระดาษและน้ำมันปาล์มที่หันมาลงทุนใน Tech Startup ซึ่งเคยลงทุนร่วมใน Omise และ HappyFresh

Angin (Angel Investment Network Indonesia) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมประสานระหว่าง Startup และ Angel Investor ใน Community ปัจจุบันมีความร่วมมือกับ UNDP และรัฐบาลแคนาดาเพื่อส่งเสริมด้าน Social Finance และ Social Entrepernuer

Convergence Ventures อีกหนึ่ง VC ที่เน้นลงทุนตั้งแต่ Early Stage ใน Startup และ Tech Company ซึ่งใน Portfolio มี Qraved แอปพลิเคชันด้านอาหารชั้นนำของอินโดนีเซีย

Central Capital Ventura  CVC ในเครือ BCA ธนาคารเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย เน้นลงทุนใน Fintech Startup ระดับ Early Stage

Indogen Capital VC ที่เน้นการลงทุนใน Startup ที่หลากหลาย มี Startup ใน Portfolio ที่น่าสนใจได้แก่ Carsome กับ HijUp E-Commerce ด้านเสื้อผ้าแฟชั่นสำหรับมุสลิม

Kejora Ventures VC ที่ลงทุนในสายธุรกิจที่หลากหลาย อาทิ FinTech, Ecommerce, Logistic ไม่ได้ลงทุนแค่ในอินโดนีเซียเท่านั้น ยังมีลงทุนใน  Startup ที่ไทยด้วย และมีคุณ ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ เป็น Advisory Committee

GruparaVentures VC ที่ลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย เน้นระดับ Seed และ Series A โดยมี Coworking Space ของตัวเองอย่าง Freeware Spaces

นอกจากนี้ยังมี VC ชื่อดังจากต่างประเทศอื่นๆ ที่สนใจลงทุนในอินโดนีเซีย อาทิ Monk’s Hill Ventures, CyberAgent Ventures เป็นต้น

Accelerator ที่น่าสนใจ

Digitaraya - Google ให้ความสนใจกับตลาดอินโดนีเซียเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นหนึ่งในศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหนึ่งในโครงการความร่วมมือที่น่าสนใจของ Google Developers Launchpad กับ Kibar ซึ่งเป็น Startup Ecosystem Builder เปิดตัว Accelerator  ที่ชื่อว่า Digitaraya 

Plug and Play Accelerator อีกหนึ่งโครงการ Accelerator โดย VC ชั้นนำระดับโลกที่ได้รับเชิญจากประธานาธิบดีโจโค วิโดโดให้มาเปิดโครงการในปี 2016

GnB Accelerator เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทไอทีญี่ปุ่น Infocom Corporation และ Fenox Venture Capital จาก Silicon Valley โดยมีพาร์ทเนอร์เด่นๆ ที่ร่วมสนับสนุนอย่าง Deloitte, Microsoft และ aws

ยังมีอีกหลายโครงการที่เป็น Incubator และ Accelerator ในพื้นที่อีกจำนวนมาก​ ซึ่งเคยมีคนรวบรวมไว้ที่นี่

Co-working Space ที่น่าจับตามอง

Wework Co-Working Space ระดับโลกที่เข้ามาด้วยการควบรวมกิจการกับ Spacemob ซึ่งเป็น Co-Working Space ในอินโดนีเซีย

Cocowork Co-Working Space ที่มีเครือข่ายแข็งแรงมากในอินโดนีเซีย Rebrand มาจาก EV Hive เพื่อเตรียมขยายกิจการไปยังต่างประเทศ

Menara by kibar Co-working Space ที่มีความร่วมมือกับ Google Entrepreneur เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการ Tech Startup โดยเฉพาะ

Block71 jakarta ชื่อน่าจะคุ้นๆ ใครหลายคน ใช่แล้วคือ Block71 เดียวกับที่สิงคโปร์แหล่งรวม Startup นั่นเอง เป็นโครงการความร่วมมือของ NUS enterprise จากสิงคโปร์ และ Salim Group เป็นการเชื่อมโยงระหว่าง Startup จากสิงคโปร์ที่ต้องการไปขยายที่อินโดนีเซีย และ Startup อินโดนีเซียที่ต้องการมีเครือข่ายในต่างประเทศด้วย

ภาครัฐฯ ที่ส่งเสริม Ecosystem

Bekraf (Badan Ekonomi Kreatif : Creative Economy Agency) สนับสนุน Creative Economy Ecosystem ของประเทศอินโดนีเซียโดยรวมถึงการบ่มเพาะธุรกิจ Startup

Ministry of Cooperatives and SMEs เป็นกระทรวงใหม่ที่จัดตั้งขึ้น ทำหน้าที่ดูแลกิจการขนาดเล็กภายในประเทศซึ่งรวมถึง Tech Startup ด้วย

BKPM (Badan Koordinasi Penanaman Modal : Indonesia Investment Coordinating Board) หน่วยงานสนับสนุนการลงทุนสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ เป็นตัวกลางเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกระหว่างนักลงทุนและภาครัฐฯ

Event ที่น่าสนใจ

MeetMagento งานสัมมนาด้าน E-Commerce และ RetailTech ที่กรุงจาการ์ตา รวมเอาผู้ประกอบการ นักพัฒนา และผู้ให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce มาไว้ในที่เดียว

Starthub Connect งาน Tech Conference ที่รวมเอา Indonesia Startup Community ไว้ในที่เดียว จัดที่เมือง Banten ทางตะวันตกของกรุงจาการ์ตา

Tech in Asia Jakarta งาน Tech Conference ระดับเอเชียที่เลือกกรุงจาการ์ตาเป็นหนึ่งในสถานที่จัดงาน ตั้งเป้าอัพเดทเทรนด์ใหม่และเชื่อมโยง Community ของอินโดนีเซียสู่ระดับโลก

ข้อแนะนำเพื่อการเข้าร่วม Indonesia Startup Ecosystem

  • ศึกษากฎการตั้งบริษัทและดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซีย เริ่มต้นด้วยการตรวจสอบประเภทธุรกิจที่รัฐอนุญาตให้ดำเนินการซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทุก 3 ปี และควรเลือกที่ตั้งของกิจการก่อนเดินทางเข้าไปประกอบธุรกิจ
  • มองหา Talent และ Expert ด้านต่างๆ การมี Talent และ Expert ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรการภายในช่วยให้การตั้งธุรกิจทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะที่ปรึกษาเกี่ยวกับมาตรการของภาครัฐ ส่วนด้านการตลาด อินโดนีเซียถือว่ามี Talent ทางด้านนี้มากและค่อนข้างเชี่ยวชาญในพื้นที่ของตัวเองเป็นอย่างดี
  • ให้ความสำคัญกับ Offline การเติบโตของตลาดอินโดนีเซียในปัจจุบัน เริ่มย้ายจาก Online มาสู่การสร้างประสบการณ์ผ่านช่องทาง Offline มากขึ้น นับเป็นโอกาสที่ดีหากสามารถเข้าถึง Partner ที่ช่วยเหลือด้านการตลาด Offline เช่น Event และ Physical Store ได้
  • ศึกษาภาษาราชการของอินโดนีเซีย เนื่องจากชาวอินโดนีเซียไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ดังนั้นหากมองถึงการเติบโตในอนาคต นอกจากการจ้าง Talent ในประเทศแล้ว ยังควรศึกษาภาษาบาฮาซา อินโดนีเซียด้วยตัวเองไว้ด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก aCommerce Indonesia, East Ventures, True Money Indonesia, CP Indonesia และ Wework Indonesia

ขอขอบคุณ True Incube ที่เอื้อเฟื้อการเดินทางเพื่อเก็บข้อมูลในครั้งนี้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สงครามห้างไทย: ใครจะครองตำแหน่ง Landmark แห่งกรุงเทพ?

ห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยนั้นกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว บทความนี้ Techsauce จึงอยากชวนมาจับตามองสงครามห้างใหญ่ใจกลางเมืองของไทยจาก 4 ผู้เล่นหลักอย่าง Siam Piwat , Central, เครือ TCC ...

Responsive image

จาง อีหมิง เจ้าของ TikTok ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งในจีน!

ปี 2024 ดูเหมือนเศรษฐกิจจีนจะไม่สู้ดีนัก ส่งผลให้จำนวนมหาเศรษฐีจีนเติบโตช้าที่สุดในรอบ 20 ปี รายงานจากสถาบันวิจัย Hurun เผยว่าในปีนี้มีเศรษฐีหน้าใหม่เพียง 54 คนที่ได้เข้าสู่รายชื่อ...

Responsive image

PwC นำประสบการณ์ผสานเทคโนโลยี SAP สร้างเครื่องมือ ‘ESG Solution’ ช่วยลูกค้าเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน

PwC ร่วมมือกับ SAP สร้างโซลูชันด้าน ESG เพื่อช่วยลูกค้าองค์กรเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน ชื่อว่า ‘SAP Sustainability Control Tower’...