Self-made ที่งอกงามจาก Innovation สู่การสร้างชื่อ Sakun C | Techsauce

Self-made ที่งอกงามจาก Innovation สู่การสร้างชื่อ Sakun C

Innovation คือเมล็ดพันธ์ที่งอกงามขึ้นเป็นกิจการ Self-made อย่างกลุ่มบริษัท โชคนำชัย แห่ง จ.สุพรรณบุรี ที่สร้างโดยนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย อดีตช่างซ่อมรถยนต์ผู้จบเพียงป.4 ผู้ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่หยุดฝันใหญ่เดินหน้าปั้น Sakun C ให้เป็นแบรนด์ไทยที่เลื่องชื่อ โดยแจ้งเกิดจากผลิตภัณฑ์เรืออลูมิเนียมก่อนต่อยอดสู่รถโดยสาร และตู้รถไฟระบบรางคู่ พร้อมมองการณ์ไกลนำบริษัทสู่กิจการมหาชน

นำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกลุ่มบริษัท โชคนำชัย จ.สุพรรณบุรี

นำชัย เล่าถึงที่มาก่อนเข้าสู่เส้นทาง Self-made อย่างเต็มตัวว่า ตัวเขาเริ่มหาเลี้ยงตัวเองด้วยการทำงานที่อู่ซ่อมรถ (เคาะ พ่นสี) แถวสุทธิสารตั้งแต่วัย 13 ปี กระทั่งวันหนึ่งพบว่าวิชาชีพที่ทำอยู่เป็นงานซ่อมแซมไม่มีโอกาสได้เป็นผู้ผลิต จึงลาออกและสมัครเข้าทำงานกับบริษัทศรีไทย ซึ่งเป็นบริษัทเคาะ พ่นสี ปะผุ และชิ้นส่วนรถแท็กซี่ โดยเริ่มต้นจากตำแหน่งพนักงานในกระบวนการผลิต

ทั้งนี้ด้วยความที่เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน และหมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ จึงทำให้เป็นที่รักของเจ้านาย และได้รับโอกาสให้ทำงานในตำหน่งที่สูงขึ้น จนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่ง General Manager ของบริษัทตั้งแต่อายุ 25 ปี ต่อมาในปี 2537 ด้วยสถานะทางการเงินที่มีรายได้ราว 10,000 บาทเท่านั้น จึงเริ่มมีความคิดที่อยากจะทำธุรกิจของตนเอง เพื่อให้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัวที่มีลูกถึง 5 คน

แต่ด้วยการขาดแคลนเงินทุนและไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ทำให้ยังไม่สามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อเจ้าของบริษัทศรีไทยทราบข่าวเรื่องการลาออก จึงยื่นข้อเสนอให้ตัวเขาทำงานต่ออีก 2 ปี แล้วจะให้เงินทุนไปตั้งตัว 1 ล้านบาท เขาจึงเลือกที่จะอยู่ช่วยงานต่อ กระทั่งนำชัยได้อบรมและสอนงานให้ผู้ที่จะมาทำหน้าที่แทนได้แล้ว จึงได้ลาออกจากบริษัทศรีไทย เมื่ออายุ 39 ปี

“นอกจากนี้ยังมีเจ้านายอีกคนที่เห็นว่าผมเป็นคนดีเลยให้เงินช่วยมาอีก 1 ล้านบาท ทำให้มีเงินมาตั้งตัว 2 ล้านบาท”

ดังนั้นในปี 2541 นำชัยจึงนำเงินทุนที่ได้รับความช่วยเหลือนั้นมาลงทุนซื้อที่ดินที่จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 6 ไร่ เพื่อสร้างโรงงาน และลงทุนเครื่องจักรสำหรับทำแม่พิมพ์รถยนต์ตามที่ตั้งใจไว้ โดยใช้ชื่อว่าบริษัท โชคนำชัย ออโต้เพรสซิ่ง จำกัด ที่ในช่วงปีแรกยังเน้นผลิตสินค้าให้แก่บริษัทเดิมที่เคยทำงานด้วย

OEM คือจุดเปลี่ยน

ด้วยเป้าหมายที่ต้องการสร้างให้กิจการเติบโตกว่าที่เป็นอยู่ นำชัยจึงมุ่งมั่นที่จะปั้นให้บริษัทมีศักยภาพเพียงพอที่จะมีสถานะเป็นผู้รับจ้างผลิตในแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) ให้ได้

โดยครั้งนี้ก็เช่นเคย คือต้องติดกับดักเงินทุนไม่เพียงพอ เขาจึงโทรศัพท์ไปขอปรึกษากับผู้ใหญ่ในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่หลังจากได้ฟังเรื่องราวแล้วก็บอกให้นำชัยมาพบที่สำนักงานในกรุงเทพฯ เพราะต้องการเจอตัวจริงและสัมภาษณ์เพิ่มเติมว่าหากได้เงินทุนแล้วจะนำไปใช้เพื่อฝ่าวิกฤตได้อย่างไร แล้วจึงจะอนุมัติให้สามารถไปขอสินเชื่อกับ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ โดยให้เวลาพูดคุยเพียง 15 นาทีเท่านั้น

แต่หนทางที่จะคว้าเงินทุน 16 ล้านบาทมาได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยอุปสรรคที่จบเพียงชั้น ป.4 ตัวเขาจึงไม่สามารถเขียนหนังสือเพื่อยื่นใบสมัครขอสินเชื่อกับบสย.ได้ จึงต้องร้องขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยเขียนให้แทนจากคำอธิบายที่บอกเล่าโดยตัวเขา แต่ใช้เวลาเพียง 5 วันก็ได้รับการติดต่อให้มาทำสัญญาเงินกู้

“หลังจากเริ่มกิจการของตัวเอง ผมบอกกับลูก ๆ ว่าตอนนี้เป้าหมายชีวิตเราเปลี่ยนแล้ว ยิ่งยืมเงินคนอื่นมาด้วย ทุกคนต้องตั้งใจและไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อให้ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี”

สำหรับจุดกำเนิดที่ทำให้กลุ่มบริษัท โชคนำชัยฯ ได้เป็น OEM ดังที่ปักธงไว้นั้นเกิดขึ้นเมื่อ 18 ปีก่อน ซึ่งมาจากทั้งความตั้งใจที่ไม่ย่อท้อและจากโชคที่มาแบบไม่คาดคิด นั่นคือมีบริษัทต่างชาติลืมทำชิ้นงานหนึ่งที่ต้องนำไปใช้ทั่วโลก ซึ่งปกติต้องใช้เวลาผลิต 6-8 เดือน แต่ในครั้งนี้ต้องผลิตให้ทันภายใน 2 เดือน

ดังนั้นตัวแทนของบริษัทดังกล่าวที่รู้จักชื่อเสียงของโชคนำชัยว่าผลิตงานได้เร็วจึงติดต่อมาสอบถามว่าทำได้ทันหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วสามารถทำได้จึงเสนอราคาที่ 1.2 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีกำไรแล้ว แต่ทางลูกค้ามองว่าเสนอต่ำเกินไป จึงใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะตกลงกันได้จนไปจบที่ 3.5 ล้านบาท (มูลค่างานจริงตามปกติสูงถึง 16 ล้านบาท) แต่ทุกคนในบริษัทและแม้แต่ตัวลูกค้าเองก็ต้องทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมงจนสำเร็จ

ลูกค้าเห็นว่าเรามีความตั้งใจสูง จนทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริงได้ และคุณภาพงานดีมาก ต่อมาจึงส่งงานให้เรื่อย ๆ พร้อมกับมีลูกค้าจากค่ายรถยนต์อื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก

หลังจากที่บริษัทเริ่มมีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักในกลุ่มบริษัทรถยนต์ต่าง ๆ มากขึ้น จนทำให้ต้องมีการขยายโรงงาน เพิ่มเครื่องจักร และเพิ่มจำนวนพนักงาน เพื่อรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนค่ายรถยนต์ ทั้ง Honda Nissan และ GM ต่างก็มีการนำแม่พิมพ์ต่างประเทศมาให้ทางบริษัทด้วย จึงทำให้มียอดส่งออกต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นตามมา

จากจุดเปลี่ยนดังกล่าว กิจการจึงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันกลุ่มบริษัท โชคนำชัย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านรถยนต์ประกอบด้วย 5 บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท โชคนำชัย ออโต้บอดี้ จำกัด บริษัท ซีเอ็นซี อินเตอร์เนชั่น ออโต้เท็คซ์ จำกัด บริษัท โชคนำชัย แมชชีนนิ่ง จำกัด บริษัท ซีเอ็นซี ดีเท็คซ์ จำกัด และบริษัท โชคนำชัย ไฮ-เทค เพรสซิ่ง จำกัด

innovation-self-made-sakun

Innovation ปั้นโชคนำชัย

ด้วยความมุ่งมั่นที่ต้องการสร้างธุรกิจให้บริษัทเติบโต 100% ต่อปี และจากศรัทธาที่มีต่อ Innovation ในแง่มุมที่จะทำให้งานของมนุษย์ง่ายขึ้นและสามารถขยายขีดความสามารถในการผลิตได้เหนือกว่า นำชัยจึงให้พนักงานทุกคนที่แต่เดิมต่างก็จบการศึกษากันไม่สูงนัก เริ่มเรียนภาษาอังกฤษจนถึงขั้นที่สามารถอ่านออกเขียนได้ก่อน นอกจากนี้ยังให้พนักงานเรียนรู้การใช้งานคอมพิวเตอร์และให้สามารถเขียนแบบด้วยโปรแกรม AutoCAD ซึ่งทำให้สามารถผลิตงานได้เร็วขึ้น แม้ในช่วงยุคนั้นถือว่าเป็นการใช้งบประมาณสูงมากก็ตาม

“สวรรค์ไม่ได้ส่งเทคโนโลยีมาให้ แต่เกิดจากที่มนุษย์พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้เราสบายขึ้นและสามารถพัฒนาได้เร็วกว่า”

จากแนวคิดดังกล่าวช่วยให้บริษัทมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการนำซอฟต์แวร์สมัยใหม่เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ ปรับปรุง และพัฒนาเทคนิคในการทำงานใหม่ เช่น โปรแกรมการตรวจเช็คคุณภาพชั้นสูงโดยใช้ CMM Table Camera Scan 3D Printing โปรแกรมออกแบบ และ Simulation

ทำให้นำไปสู่การมีเทคโนโลยีที่โดดเด่นซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของธุรกิจ ได้แก่ การขึ้นรูปโลหะ (แม่พิมพ์) โดยใช้การออกแบบคอมพิวเตอร์ และด้วยโปรแกรมต่าง ๆ ที่ปัจจุบันใช้มุมมองแบบ 3D เต็มรูปแบบ ผสมผสานกับเทคนิคในการขึ้นรูปโลหะที่เป็น Advance Material และเหล็ก Super steel

รวมถึงสามารถพัฒนาการขึ้นรูปอลูมิเนียมที่เป็น High Strength Aluminum forming 5083 H116 spec นอกจากนี้ยังพัฒนาวัสดุอลูมิเนียมเพื่อทำให้มีความแข็งแรงใกล้เคียงและสามารถทดแทนโครงสร้างเดิมที่เป็นเหล็กได้ จึงสามารถนำไปพัฒนาและสร้างเป็น Innovation ในการผลิตเรือและรถโครงสร้างอลูมิเนียมแบบปั๊มขึ้นรูป ที่มีน้ำหนักเบา คงทนแข็งแรง ได้มาตรฐานสากล และสามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศได้

ผมสอนให้ทุกคนคิดใหม่ทำใหม่ ถ้าหยุดก็เท่ากับถอยหลัง ต้องติดตามเทคโนโลยีเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตามนำชัยเชื่อว่า ทรัพยากรบุคคลเป็นอีกหนึ่งตัวแปร เพราะความสำเร็จของทุกกิจการอยู่ที่คนเป็นหัวใจสำคัญ เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน แต่ถ้าคนขาดศักยภาพองค์กรก็ไม่สามารถพัฒนาไปได้ ด้วยเหตุนี้จึงพยายามปลูกฝังเรื่องการเรียนรู้และการสร้างเป้าหมายในชีวิตให้แก่พนักงานด้วย เพื่อที่จะเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร

innovation-self-made-sakun-c

แจ้งเกิดแบรนด์ Sakun C

จนเมื่อ 3 ปีก่อน ที่การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมซึ่งภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง จึงเป็นประกายแรกที่จุดความคิดให้นำชัยเริ่มหาลู่ทางสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งทำให้สามารถสร้างแบรนด์ของบริษัท ไปพร้อมกับได้มีส่วนเกี่ยวข้องและรับประโยชน์จากการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวได้

“ถึงจุดที่ต้องสร้างแบรนด์ของเราเอง ในเมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ใช้ชื่อเจ้าของที่สร้างกิจการขึ้น แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้”

จึงนำไปสู่การก่อตั้ง บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัดขึ้นเมื่อปี 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม โดยใช้วัสดุและเทคโนโลยีสมัยใหม่และนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเป้าหมาย คือยานพาหนะสมัยใหม่ (Modern Vehicle)

นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการออกแบบ วิจัย และพัฒนา รวมถึงการผลิตแบบครบวงจรแล้ว ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวและคมนาคมเชิงคุณภาพ ตลอดจนยกระดับความปลอดภัยด้านคมนาคม ซึ่งทุกยานพาหนะที่ผลิตโดยแบรนด์ Sakun C ไม่ว่าจะเป็น เรือ หรือรถโดยสาร จะถูกพัฒนาโดยนำเรื่องความปลอดภัยมาเป็นตัวตั้งเสมอ ตลอดจนยานพาหนะประเภทอื่น ๆ ที่ประเทศมีความต้องการใช้ในอนาคต

เรืออลูมิเนียมแทบไม่มีคู่แข่ง เพราะเราทำได้เร็วกว่า นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่ยากและคนอื่นยังทำไม่ได้ และยังเป็นจุดที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักเราได้ดีที่สุด

นอกจากนี้การสร้าง Sakun C ยังแสดงให้เห็นความสามารถของผู้ประกอบการไทย ว่าไปได้ไกลกว่าการเป็นเพียงบริษัทที่ได้รับแต่ค่าแรงเพียงอย่างเดียว แต่มีศักยภาพเพียงพอพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปสร้าง Innovation ตามมาตรฐานสากล

Sakun C จึงถือเป็นบริษัทที่รวมประสบการณ์ซึ่งถ่ายทอดจากบริษัทแม่อย่างกลุ่มบริษัทโชคนำชัย ทั้งในแง่การผลิต การออกแบบผลิตภัณที่มีความซับซ้อน ความรู้ในการขึ้นรูปโลหะ น้ำหนักเบาและทันสมัย ความเข้าใจกระบวนการผลิตต่าง ๆ รวมถึงระบบ Automation และฐาน Supply chain โดยระหว่างนี้ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เรืออลูมิเนียมที่ขับเคลื่อนด้วยระบบพลังงานไฟฟ้า ที่คาดว่าจะเริ่มมีลูกค้านำมาใช้งานจริงได้อย่างน้อย 3 ลำภายในสิ้นปีนี้

“นับจากวันแรกที่คิดว่า Sakun C จะผลิตเรืออลูมิเนียม ใช้เวลาเพียง 6 เดือนก็สามารถสร้างได้สำเร็จ ซึ่งที่จำหน่ายอยู่ตอนนี้มีราคาตั้งแต่ 70,000 จนถึง 150 ล้านบาท ขึ้นกับขนาดของเรือ”

อีกทั้งอยู่ระหว่างการพัฒนารถมินิบัสอลูมิเนียมที่ใช้พลังงานน้ำมันดีเซล ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนปรับปรุงบางส่วนเพื่อให้ได้คุณภาพ 100% จึงคาดว่าจะผลิตรถต้นแบบเสร็จราวต้นปี 2563 เพื่อให้ทางกรมขนส่งทางบกตรวจสอบก่อน และจะเริ่มผลิตจริงได้วันละ 2-3 คันในช่วงแรก

นอกจากนี้เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Sakun C เป็นที่ยอมรับจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงช่วยสร้างแต้มต่อในฝั่งการวิจัยและพัฒนาความแข็งแรง และการขึ้นรูปแบบต่าง ๆ จึงร่วมมือจากสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่จะมาช่วยวิเคราะห์และให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้การวิจัยพัฒนามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

ทั้งนี้ Sakun C จึงร่วมกับ สวทช. นำร่องโครงการพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าดัดแปลง จากรถโดยสารประจำทางที่ใช้แล้วมีโครงการพัฒนาต้นแบบรถยนต์โดยสารปรับอากาศ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ให้เป็นรถยนต์โดยสารไฟฟ้าซึ่งประหยัดกว่าเติมน้ำมันถึง 7 เท่า

“ทาง สวทช. ให้เราพัฒนารถมินิบัสที่ใช้พลังงานไฟฟ้าไปพร้อมกันเลย ที่จะต้องส่งมอบต้นแบบให้ภายในไม่เกินเดือนสามหรือเดือนสี่ของปีหน้า”

อย่างไรก็ตาม ฝันที่ยิ่งใหญ่ของนำชัยยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ เพราะด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเรือและรถมินิบัสยังมีสามารถผลิตตู้รถไฟอลูมิเนียมที่วิ่งบนระบบรางคู่ได้ถึง 1 ตู้ต่อวัน หากปัจจัยต่าง ๆ พร้อมแล้วก็จะสามารถสร้างตู้รถไฟต้นแบบได้

ทว่า ด้วยจุดอ่อนทางด้านเงินทุน นำชัยจึงมองหาทางออกที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจใหม่ที่ก่อตั้งขึ้น จึงเกิดดีลเสนอขายหุ้นของ บริษัท สกุลฎ์ซี ฯ ให้แก่ บมจ. ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป หรือ CWT ในสัดส่วน 50.01% เมื่อปี 2561 ที่มี วีระพล ไชยธีรัตต์ เป็นผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ เพื่อให้มีพันธมิตรที่จะเป็นกำลังสำคัญทั้งในแง่เม็ดเงินสนับสนุนและการทำการตลาดที่เข้มแข็งกว่าเดิม

“ครอบครัวเราไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะผลักดันให้ Sakun C เติบโตได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้ ซึ่ง CWT เป็นพันธมิตรที่เหมาะสมคุยกันรู้เรื่อง ”

สำหรับก้าวสำคัญในอนาคตของ บริษัท สกุลฎ์ซี ฯ คือการนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า หลังจากผลิตตู้รถไฟอลูมิเนียมสำเร็จแล้ว

นำชัยฝากคำแนะนำถึงบรรดาผู้ที่ต้องการเป็นหนึ่งใน Self-made ที่ประสบความสำเร็จว่านอกจากไม่กลัวที่จะเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ แล้วยังต้องเตรียมเงินสำรองไว้ให้พร้อมอยู่เสมอ ตลอดจนการมีพันธมิตรที่ดีและมีมุมมองที่แตกต่างก็จะส่งเสริมให้กิจการที่เราสร้างไว้ไปได้ไกลยิ่งขึ้นได้

ผู้นำมีหน้าที่แก้ปัญหา อย่าไปเสียขวัญและสนุกที่จะได้แก้วิกฤตต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไปได้

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ญี่ปุ่นส่ง AI สุดล้ำ ปฏิวัติวงการแพทย์ แก้วิกฤตขาดแคลนหมอในไทย

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำไปไกล แต่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญของประเทศไทย ล่าสุด สตาร์ทอัพชั้นนำจากญี่ปุ่นได้นำเทคโนโลยี AI มาช่วยแก้ปัญหานี้ สร้างความ...

Responsive image

Gartner เผย! 10 เทรนด์เทคโนโลยี 2025 ที่ผู้นำต้องปรับตัวรับตามให้ทัน

โลกเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว องค์กรธุรกิจและผู้นำด้านไอทีจึงต้องปรับตัวให้ทัน Gartner บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ได้เผย 10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ (Strategic Technology T...

Responsive image

เจาะลึกอนาคต Data Center - Cloud Service ไทย อัพเดท ปี 2024 Big Tech ลงทุนในไทยแล้วกี่เจ้า ?

บทความนี้จะพาไปเจาะลึกบริษัทที่เข้ามาลงทุนในไทย พร้อมศักยภาพ แนวโน้ม และโอกาสในการลงทุน Data Center และ Cloud Service ในประเทศไทย ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมต่อยอดให้ไทยกลา...