หลายคนที่มีโอกาสได้แวะเวียนมา HUBBA Co-Working Space หรือมาร่วมงาน StartupWeekend มักจะได้พบชายหนุ่ม บุคลิกยิ้มแย้ม เป็นกันเองมานั่งเป็นกรรมการตัดสินอยู่บ่อยๆ เขาเป็นตัวแทนจาก Venture Capital ญี่ปุ่นที่มาเปิดออฟฟิสในเมืองไทยนาม CyberAgent Venture โดยมีการลงทุนใน Startup ดังๆ ของไทยแล้ว อย่าง PriceZa และ StockRadars เขาคนนั้นไม่ใช่ใครอื่น ฉัตร ธนฉัตร ตั้งศรีวงศ์ Investment Manager แห่ง CyberAgent Ventures ประจำประเทศไทย แม้เขาจะงานยุ่ง คิวรัดตัวไม่ใช่น้อย แต่วันนี้ก็มีโอกาสให้ทีมงาน Techsauce ได้ไปพูดคุยและสัมภาษณ์ถึงแนวคิดการลงทุนของบริษัท Venture Capital ต่างแดนกัน พร้อมแล้วไปพูดคุยกับเขากันเลยดีกว่า
ขั้นตอนในการลงทุนกับ startups มีอะไรบ้าง?
อย่างแรกเลยเราก็ต้องมีการพูดคุยกันก่อน ซึ่งช่องทางการรู้จักกันก็จะมีหลายแบบเช่น เวลาที่ผมไปอบรม อีเว้นท์ วิทยากรรับเชิญหรือแม้แต่ไปเป็นผู้ตัดสินในงานอีเว้นท์ของ startups หลังจากนั้นก็จะมี startups เข้ามาคุยแลกเปลี่ยนนามบัตรกัน พอมีช่องทางการติดต่อกันก็จะมีส่งเมลมาว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่เราสนใจด้วยไหม ทางเราพยายามเปิดกว้างกับหลายๆ ไอเดีย แต่สิ่งที่ผมพยายามถามพวกเขาเป็นสิ่งแรกก็คือทางเราอยากจะทราบ stage ของ startups ว่าตอนนี้อยู่ในขั้น seed หรือว่า early เพราะว่าจริงๆ แล้วเราจะให้ความสนใจไปใน early stage มากกว่า แล้วถ้าเราเห็นพ้องต้องกันว่ามันอาจจะเป็นไปได้สำหรับทั้งสองฝ่าย ผมก็จะนัด Startups มาคุย โดยส่วนมากผมจะนัดไปคุยในที่ทำงานของ Startups หรือที่ๆ พวกเขาทำงานด้วยกัน เพราะนอกจากจะไปคุยงานแล้ว ผมอยากจะเห็น dynamic ในการทำงานของทีม และ culture ขององค์กรด้วย
บริษัทลงทุนอย่าง CyberAgent Ventures มองหา Startups แบบไหนอยู่ ?
จริงๆ แล้วก่อนที่เราจะลงทุนในตลาดใดๆ ก็ตาม อันนี้พูดในแง่ของประเทศ เราจะมีการทำวิจัยภายในองค์กรหรือภายในทีมว่าเราจะเจาะจงเข้าไปที่ประเภทไหนในแต่ละประเทศ เรามี framework ในการให้คะแนนกับ specific sector และก็จะมีการประเมินในหลายๆ แง่ ซึ่งก่อนที่เราจะลงทุนในประเทศนั้นๆ เราก็จะให้คะแนนก่อนว่า sector ไหนเป็น sector ที่เหมาะสมที่เราจะลงลึกไปกับการควานหา startup ที่อยู่ในตลาดที่เราให้ความสำคัญเอาไว้ ในแต่ละประเทศจะมีจุดแข็งจุดอ่อนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะฝืนทำอะไรที่เรารู้สึกว่ามันเป็นตลาดที่ไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่ามันจะเป็นความเชี่ยวชาญของเราก็ตาม ถ้าเรามอง CyberAgent ในประเทศอื่นๆ เราจะเห็นได้ว่าพวกเขาลงทุนในบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเกม ไม่ว่าจะเป็นโมบายเกม หรือออนไลน์เกม แต่พอเข้ามาในไทย สภาพตลาดมันแตกต่างกันพอสมควรไม่เหมือนที่ญี่ปุ่นหรือ จีน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไปเจาะตลาดอื่นแทน ก่อนที่เราจะลงทุนในประเทศไหนๆ เราจะทำการหาข้อมูลตรงนี้ก่อน นอกเหนือไปจากการตลาด สิ่งที่ CyberAgent กำลังมองหาอยู่ก็คือเรื่องของทีม เราให้ความสำคัญกับเรื่องตัวบุคคลมาก ถ้า startups ที่มาคุยกับเราขาด founder หรือหัวเรือที่ดี เราเชื่อว่าเรือลำนี้จะแล่นไปแบบไร้จุดหมาย นอกจาก founder ที่โดดเด่นแล้วจะต้องมีทีมที่ดีและมีทักษะที่สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ มากไปกว่านั้นพวกเขาต้องมี passion ที่สื่อออกมาจากภาพรวมรวมไปถึงการเข้าใจในผู้บริโภค
นักลงทุนให้ความสำคัญ (value) กับ startups อย่างไร
คือต้องบอกก่อนว่า valuation is an art not a science มันเป็นศิลป์มากกว่าที่มันจะเป็นศาสตร์ ถึงแม้ว่าเราจะมีกระบวนการหรือเครื่องมือที่ช่วยประเมินมูลค่าของบริษัท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาเพราะจริงๆ แนวคิดของนักลงทุนก็คือ มูลค่าไม่เท่ากับราคา เพราะฉะนั้น เรื่องมูลค่า (Valuation) มันจะมาจาก การประเมิน การพูดคุย ซึ่งมันจะมีปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่เป็น Subjective เข้ามาเกี่ยวข้องในการประเมิน มันอาจจะไม่ได้มีหลักการตายตัว
นักลงทุนมีวิธีตรวจสอบ startups ที่ไม่เหมาะสมจะลงทุนด้วยอย่างไร ?
อย่างแรกเลยต้องยอมรับว่าการลงทุนใน Tech Startups มันมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ก่อนที่เราจะตัดสินใจลงทุนเราต้องมีการทำ Due diligence ดีๆ ซะก่อน ในระหว่างที่เราทำความรู้จักกับ startups ถ้าเรามีข้อสงสัยใดๆ ก็ตาม เราจะไม่สามารถปล่อยมันผ่านไปได้ เรื่องของทีมก็มีส่วน ถึงแม้ว่าจะมีการรวมตัวของคนเก่งๆในทีม แต่พอเราไปเจอพวกเขาจริงๆ พวกเขาขาด Dynamic ในการทำงาน หรือแม้กระทั่งตัว founder บางทีเขาอาจจะเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ แต่ขาดความเข้าใจในตลาดหรือสินค้าที่เขาทำ ตรงนี้เราก็มองเป็น red flags หรือสิ่งที่ไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยว อีกประเด็นเกี่ยวกับทีม ถ้าคนในทีมรู้จักกันมาก่อนหรือเป็นเพื่อนกันมานาน เราจะมองจุดนี้ว่าดี เพราะว่าในการที่พวกเขารู้จักกันมานานและตกลงจะทำธุรกิจกัน มันแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถทำงานด้วยกันได้จริงๆ ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น สถานภาพทางการเงิน ถ้าเป็นไปได้เราจะลงทุนกับบริษัทที่ไม่มีหนี้สินเลย อีกเรื่องก็คือเรื่องของ Regulation เวลาเรามอง startups ที่มีศักยภาพในการเติบโต แต่พอมามองเรื่องของกรอบกฎหมายมันกลับไม่ช่วยอำนวยให้กับการทำธุรกิจ หรือบางทีธุรกิจอาจจะไม่เติบโตหรือทำไม่ได้เลยก็เป็นได้
มีวิธีเจรจาข้อตกลงยังไงให้เท่าเทียมกัน?
อย่างแรกที่จะยกมาก็คือความแฟร์ มันขึ้นอยู่กับการจำกัดความแฟร์ของแต่ละฝั่ง ซึ่ง startups อาจจะมองมุมหนึ่ง นักลงทุนก็จะมองอีกมุมหนึ่ง ในมุมของนักลงทุน การลงทุนใน startups ถือว่ามีความเสี่ยงสูง มีการเปลี่ยนแปลงเยอะ มีปัจจัยในความเสี่ยงค่อนข้างมาก เพราะว่าเราอยู่ในอุตสาหกรรมที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อีกอย่างที่ startups ควรจะทำความเข้าใจก็คือ access to capital ของ startups ที่มีจำกัด การเข้ามาของนักลงทุนอย่าง venture capital จริงๆ แล้วมันเป็นการเพิ่มโอกาสในการรับเงินทุน เพราะธุรกิจ tech startups ถ้าจะไปกู้เงินจากธนาคารก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ เรามองว่านอกจากเราจะลงทุนในธุรกิจอุตสหากรรมที่มีเสี่ยงมากๆ แล้ว เรายังลงทุนในตัวนักธุรกิจที่เสี่ยงอีกด้วย เพราะพวกเขาเป็น early stage ที่ยังไม่สามารถมี access to capital ในด้านอื่นๆ มันจะเป็น boom or bust scenario คือถ้าเขาไม่ประสบความสำเร็จเร็วก็เจ๊งเร็ว ถ้าตอบในมุมของนักลงทุน หลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเขาเรียกร้องเวลาเจรจาข้อตกลงก็จะค่อนข้างแฟร์ VC มีหลายประเภท ประเภทที่อะไรได้ก็จะเอาทุกเม็ดก็มี ในขณะเดียวกัน VC ที่แฟร์ก็มีเหมือนกัน การลงทุนที่มีความเสี่ยงมันก็ควรได้รับการคุ้มครองระดับหนึ่ง ถ้ามองในมุมนี้คือนักลงทุนไม่ควรจะมีความเสี่ยงเทียบเท่าเจ้าของบริษัท อยากจะให้ startups ช่วยมองในมุมกลับด้วยว่านักลงทุนให้เงินลงทุนกับ startups พวกเขาก็ต้องรับความเสี่ยงพอๆ กัน อีกอย่างก็คือแนวคิดของ Venture Capital จริงๆ แล้วเวลาเขาลงทุนไป เขาจะต้องเป็น Minority Share Holder เขาไม่ได้ต้องการจะเข้ามากอบโกย เพราะถ้าอย่างนั้นก็ไม่ควรจะเรียกว่า Venture Capital เราควรจะเรียกพวกเขาเป็น Strategic Buyers มากกว่า แล้วสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ควรจะต้องระวังก็คือเรื่องของสิทธิในการโต้แย้งความคิดเห็นเพราะส่วนมากเวลา VC ลงทุน พวกเขาจะขอที่นั่งในบอร์ดบริหาร เราก็ต้องดูว่าสิทธิที่เขามีนั้นมากกว่าบอร์ดบริหารคนอื่นๆ หรือเปล่า
CyberAgent Venture กำลังมองหา Startups แบบไหนที่จะลงทุนในเมืองไทย ?
ที่เรากำลังมองหาอยู่ก็จะเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และ Fintech อีกทั้งเราก็ยังมอง Job Listing เพราะเราคิดว่า job listing solution ในไทยยังไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีพอ นอกจากนี้ก็จะมี Tourism startups ที่ทำเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยส่วนมากเราจะเน้นไปที่ inbound tourism มากกว่า outbound และอีกสองอย่างสุดท้ายที่เราให้ความสนใจก็คือเรื่องของ Health Care Startups และ Education Technology
ได้อ่านบทความที่น่าสนใจกันไปแล้ว Startup ต่างๆ ในหมวดที่กล่าวมาข้างต้น คงตื่นเต้นกันไม่น้อย :) ก็หวังว่าทุกคนคงจะได้รับความรู้, เข้าใจมุมมองของ Venture Capital มากขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด