จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งในประเทศไทยมีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในทุกวัน และมีการพูดถึงระยะของการแพร่ระบาดของของโรคที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นบทความนี้ Techsauce ได้ต่อสายตรงสัมภาษณ์แพทย์หญิงวรรณา หาญเชาว์วรกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าการแพร่ระบาดของแต่ละระยะเป็นอย่างไร ลักษณะการแพร่ระบาดแบบไหนจึงจะเข้าสู่ระยะ 3 พร้อมกับแนวทางการรับมือของภาคประชาชนว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

อยากให้คุณหมอช่วยอธิบายว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระยะ 3 คืออะไร และมีลักษณะการระบาดเป็นอย่างไร ?
จริงๆ ที่เราพยายามพูดถึงคำว่า ระยะหนึ่ง ระยะสอง ระยะสาม ที่ผ่านมา คือ
ระยะหนึ่ง หมายถึงว่า เราไม่มีผู้ป่วยในประเทศไทย ผู้ป่วยที่เราเจอมาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
ระยะที่สอง หมายถึง เราเจอคนไทยที่ไม่ได้เดินทางจากต่างประเทศมีอาการป่วย แต่ว่าคนไทยเหล่านี้ เวลาสอบสวนยังรู้ที่มาของเขา ว่าเขาติดมาจากไหน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะรู้ต้นตอ และสามารถจัดการได้เรียบร้อย
ระยะสาม หมายถึง เราเจอผู้ป่วย แล้วเราหาต้นตอที่มาของการติดเชื้อไม่ได้ พอหาไม่ได้เพิ่มมากขึ้น ตรงนี้เป็นสัญญาณว่าเป็นระยะสาม
สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยตอนนี้เข้าสู่ระยะสาม แล้วหรือยัง ?
ตอนนี้เราน่าจะใกล้สู่ระยะที่สามแล้ว โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเจอผู้ป่วยที่ตรวจแล้วพบเชื้อ COVID-19 ที่มาจากการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ไปเที่ยวผับ ไปดูมวย แล้วในกิจกรรมเหล่านั้นเรายังหารายแรกไม่ได้ หรือหาต้นกำเนิดที่มาของการแพร่เชื้อว่ายังไม่ชัดเจนตรงนี้เราเลยคิดว่ามันก็เป็นสัญญาณอันตรายอย่างหนึ่งว่าเรากำลังเข้าสู่ระยะที่สาม แต่ ณ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการสอบสวน ซึ่งตอนนี้เราเพิ่งจะทราบเหตุการณ์ ดังนั้นการสอบสวนต้องใช้เวลา ขณะนี้ทีมสอบสวนกำลังดำเนินการสอบสวนอยู่
ประชาชนต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร ในสถานการณ์เช่นนี้ ?
ต้องบอกว่าที่ผ่านมามาตรการต่าง ๆ ที่ได้ออกไป เช่น การขอให้ประชาชนพยายามสวมหน้ากากอนามัย 100% ล้างมือบ่อย ๆ ให้ผู้ที่มีอาการป่วย หรือสัมผัสกับผู้ป่วยกักตัวอยู่บ้าน มันคือมาตรการรับมือต่อการแพร่ระบาดระยะสาม แต่ถ้าเรารอให้ถึงเวลานั้นจริง ๆ มันก็ช้าเกินไป ดังนั้นเราจึงให้ทำตั้งแต่การแพร่ระบาดระยะสอง แต่สำหรับระยะสาม เมื่อถึงเวลานั้นจริง ๆ ต้องมีการทำอย่างจริงจังมากขึ้น โดยรัฐต้องสนับสนุนให้ประชาชนสามารถทำได้มากขึ้น เช่น การกักตัว 14 วัน ตอนนี้ก็ขอความร่วมมือกับภาคเอกชนให้ช่วยกัน
แต่ถ้าสมมติว่าการกักตัวทำได้น้อย เราก็อาจจะมีมาตรการกฎหมายอย่างจริงจังมากขึ้น เป็นแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ที่อาจจะมีทั้งมาตรการที่เป็นการลงโทษ และมาตรการที่เป็นรางวัลเป็นแรงจูงใจให้คนทำตาม
ตอนนี้ประชาชนต่างตื่นตระหนก และกักตุนสินค้า คุณหมอมองว่าจำเป็นแค่ไหน ?
เราคิดว่าในภาพรวมของประเทศไทย เรื่องของการกักตุนอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค มองว่ายังไม่จำเป็น จากลักษณะของการแพร่ระบาดในไทยจะเป็นการที่ค่อย ๆ เคลื่อนไป และยังไม่ใช่ทุกจังหวัดที่มีผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนพร้อมกัน โดยถ้าหากไปมองแถบยุโรป เหล่านี้หลายประเทศเป็นประเทศเล็ก ๆ และมี Supplier น้อย แต่ของไทยเป็นประเทศกลาง ๆ จึงไม่ต้องกังวลจนต้องกักตุนสินค้าว่าจะมีไม่เพียงพอ สินค้าเกษตรส่งจากต่างจังหวัดให้กรุงเทพใช้ ยังสามารถทำได้ โรงงานยังผลิตได้ โอกาสขาดแคลนสินค้าที่ใช้เพื่อการดำรงชีวิตจริงๆ ถ้าเรายังไม่ตระหนกกันมาก ไม่ไปสนับสนุนให้มันเกิดโดยการกักตุน
ดังนั้นอย่าเพิ่งตระหนก และกักตุน ซึ่งจะทำให้ภาพของปัญหามันรุนแรงมากขึ้น เพราะถึงที่สุดพอเราติดเชื้อ ผู้ป่วยกว่า 80% จะมีอาการเล็กน้อยเหมือนไข้หวัด เพราะฉะนั้นเรารักษาได้ และเมื่อหายสามารถกลับไปทำงานได้

ทางกรมควบคุมโรค ยืนยันใช่ไหมว่าประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นต้องปิดประเทศ เพราะเรายังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อยู่ ?
ณ ปัจจุบัน เราไม่คิดว่าการปิดประเทศสำหรับประเทศไทยมันจะช่วยทำให้อะไรดีขึ้น เพราะว่าเราไม่ปิดประเทศก็ไม่ค่อยมีคนต่างชาติเขามาอยู่แล้ว สิ่งที่เป็นห่วงจริง ๆ คือ ถ้าคนของเราตื่นตระหนก แล้วไม่ให้ความร่วมมือที่จะลดการแพร่เชื้อ เราจะมีการแพร่เชื้ออย่างยาวนาน ขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาสามารถหยุดการระบาดกันได้แล้ว แต่ประเทศไทย ยังมีผู้ป่วยอยู่ เราก็จะเสียเปรียบ ดังนั้นเราควรจะหยุดการระบาดไปได้พร้อม ๆ กับจีน เกาหลีใต้ ซึ่งตอนนี้เรายังมีผู้ป่วยไม่มาก ทุกคนต้องจริงจังที่จะช่วยกันหยุดการแพร่ระบาด
จากการที่มีกระแสพูดถึงกันค่อนข้างมากว่า จริง ๆ ประเทศไทยผู้ติดเชื้อมีมากขึ้น แต่การที่ยอดที่ประกาศออกมายังน้อย เป็นเพราะเราไม่ได้ตรวจ คุณหมอคิดว่าอย่างไร ?
ต้องยอมรับว่า เราอาจจะตรวจน้อยกว่าจีน และเกาหลี ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่เราจะต้องยอมรับ แต่ตอนนี้เราได้มีการยกระดับให้สามารถตรวจได้มากขึ้น และเร็วขึ้น แต่เราก็พยายามตรวจ ไม่ได้ไม่พยายาม อย่างกรณีที่เราเจอผู้ติดเชื้อพร้อมกัน 11 คน มันก็เป็นความพยายามตรวจของเรา ตอนนี้เรามีห้องLab มากขึ้น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยก็ตรวจให้เรามากขึ้น เอกชนก็ตรวจมากขึ้น เพราะฉะนั้นเรามีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น มันก็เป็นไปตามธรรมชาติ ยิ่งตรวจก็ยิ่งเจอ และเรามองว่าเป็นผลดี ว่ายิ่งเจอมากขึ้นเรายิ่งรักษา และป้องกันไม่ให้ไปแพร่ให้คนอื่น ตรงนี้ถือว่าเป็นประโยชน์
ภาครัฐบาลได้มีนโยบายหรือมาตรการเพิ่มเติมที่ทำให้ประชาชนอุ่นใจ และคลายความตระหนกอย่างไรบ้าง ?
สิ่งที่เราพยายามกันอยู่ คือ การจัดหาอุปกรณ์การดูแลรักษาผู้ป่วยให้เพียงพอ ช่วงนี้เราพยายามอย่างยิ่งยวด เพราะจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ต้องจัดหาเตียง หาห้อง หาอุปกรณ์ป้องกันให้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ใช้อย่างเพียงพอ
มันก็จริงอยู่ว่า เรายังไม่มีการระบาดใหญ่ โดยลักษณะการระบาดเรื่อย ๆ ช้า ๆ แบบนี้เรายังควบคุมและรักษาได้ และเราคงไม่มีภาพการระบาดแบบอิตาลี หรือ อู่อั่น ที่คนติดเชื้อพร้อมกันเป็นจำนวนมากในระยะเวลารวดเร็ว โรงพยาบาลเราน่าจะมีเตียงเพียงพอ นี่คือ best case scenario ที่เราอยากเห็น ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำ คือ อย่าให้ป่วยพร้อมกัน เพราะฉะนั้นกิจกรรมที่รวมพล จะให้เชื้อเข้าไปในกิจกรรมเหล่านั้นต้องหยุด