สัมภาษณ์พิเศษ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ Ecartstudio กับการสร้างนวัตกรรมและการเติบโตอย่างยั่งยืน | Techsauce

สัมภาษณ์พิเศษ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ Ecartstudio กับการสร้างนวัตกรรมและการเติบโตอย่างยั่งยืน

Ecartstudio หนึ่งในบริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำของเมืองไทย หลายคนอาจรู้จักพวกเขาจากเวทีการแข่งขันระดับภูมิภาคอย่าง APICTA กับผลงานนวัตกรรมต่างๆ มากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาสร้างธุรกิจขึ้นมาจนเป็นบริษัทที่เติบโตมีพนักงานเกือบร้อยคนได้อย่างไร ขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคมากมาย วันนี้เราไปพูดคุยกับผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าว คุณวุฒิกร มโนมัยวิบูลย์ หรือ คุณโจ้ Managing Director บริษัท EcartStudio กัน

Ecart

ที่มา ที่ไปของ Ecartstudio จุดเริ่มต้นเป็นอย่างไร มองเห็นโอกาสอะไรมาทำธุรกิจซอฟแวร์

บริษัทเราเริ่มต้นมาถึงตรงนี้ก็ 12 ปีแล้ว จริงๆเราเริ่มต้นจากการทำ e-commerce เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าไฮเทคมาก พอทำมาได้ระยะหนึ่ง เราเริ่มเห็นว่า Trend ของธุรกิจเริ่มเปลี่ยน จึงเป็นคำถามว่า ถ้าเรายังทำ e-commerce ต่อไป แล้วถึงจุดหนึ่งมีใครมาลงทุนแล้วสามารถชนะเราได้อย่างง่ายๆ เราจะอยู่อย่างไร ต่อมาในสมัยนั้นเริ่มมีสมาร์ทโฟนเข้ามา เริ่มเห็น GPS เราก็คิดว่าเราอยากสร้างระบบที่ “สร้างและสามารถต่อยอดไปเรื่อยๆ” ไม่ใช่วันดีคืนดี มีคู่แข่งเข้ามาแล้วเราล้มหายตายจาก เราจึงคิดว่าทำไมไม่มีการใช้แผนที่ ไม่มีตัวที่บอกพิกัดของเรา เลยเป็นที่มาว่าอยากจะทำแผนที่ ถ้าคนอื่นจะเป็นลักษณะไปเอาข้อมูลแผนที่ Public Map มาใช้ แล้วทำไมเราไม่สร้าง Public Map แล้วค่อยมาสร้างแอปทีหลัง เพราะถ้าผมเขียนแอปขึ้นมาก่อน ผมก็จะกลายเป็นเหมือนอีกล้านบริษัท แต่ถ้าเราสร้าง Public Map แล้วสร้างแอป เราจะกลายเป็นหนึ่งในสิบบริษัทที่ทำได้ในโลก เลยเกิดมาเป็นแพลตฟอร์มแผนที่

มีธุรกิจหลักๆ ที่ไม่สามารถใช้งาน Public Map ได้ เช่น ภาครัฐและธนาคาร เพราะพวกเขาเป็นในภาคส่วนที่ไม่สามารถให้ข้อมูลรั่วไหลได้ ถ้าถามว่าทำไมเราถึงเลือกมาทำซอฟต์แวร์ เพราะเราสามารถขยายไปได้ทั่วโลกโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปประจำอยู่ทุกแห่ง ทำตรงไหนของโลกก็ได้ อีกอย่างคือลงทุนต่ำ แต่ผลตอบแทนสูง เหตุผลที่เราทำแผนที่จริงๆ มันเกิดมาจากเรากำลังมองหาระบบที่เราต่อยอดได้เรื่อยๆ หลังจากที่เราทำมาได้ 12 ปี เราก็เริ่มมีการแตกยอดเช่น การทำโปรโมชั่น บริหารงานที่ดินและบริหารข้อมูลที่เป็นลักษณะ location based มันคือ identity ของธุรกิจ จะไม่ค่อยมีคู่แข่ง พอเรามีรากฐานที่พร้อมและกระแสกำลังมา จึงเป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะมาแข่งขันด้วย

ปัจจุบันมี product อะไรอยู่บ้าง กลุ่มลูกค้าเป็นใคร มีทำตลาดในต่างประเทศด้วยไหม

ตอนนี้เรามีธุรกิจอยู่ 3 แบบ ธุรกิจแรกคือกลุ่มที่เป็น enterprise โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรภาครัฐบาลและธุรกิจขนาดใหญ่ เรามีระบบงานที่เรียกว่า LBIS ใช้สำหรับการบริหารงานและบริหารข้อมูลบนแผนที่ออนไลน์

กลุ่มที่ 2 เป็นระบบ LIMS ที่เอาไว้ใช้กับธุรกิจประกันรถยนต์ ตอนนี้เราครองส่วนแบ่งตลาดที่เกี่ยวกับประกันรถยนต์ค่อนข้างสูง โดยทำเรื่องของ dispatch งานให้กับ Surveyor ไปช่วยเหลือลูกค้า เช่น รถชน สามารถแจ้งเหตุพร้อมพิกัดและรูปถ่าย ส่งข้อมูลกลับมาที่ surveyor และส่งไปหน้างานเพื่อช่วยเหลือคุณจนปิดงานสำเร็จ

กลุ่มที่ 3 จะอยู่ในส่วนธุรกิจประกันอัคคีภัย ทางเรามีแผนที่ซึ่งสามารถประเมินความเสี่ยงและค้นหาเลข Fire Block และค่า Accumulation แบบ Real Time

ส่วนปีหน้าเรากำลังจะขยายและเปิดอีก 2 บริษัท โดยทำเรื่องของ wallet ที่เป็นลักษณะของการทำ digital card และอีกตัวหนึ่งก็คือ analytic indoor ซึ่งสามารถนำมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมของคนเดินในห้างว่ามีลักษณเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่เป็นเพศใด

อายุเท่าไหร่ มีลักษณะการเดินแบบไหน โดยภาพรวมธุรกิจของเราตอนนี้มีอยู่ 3 products และกำลังจะเปิดใหม่อีก 2 products ในปี 2016 ส่วนในเรื่องของต่างประเทศ ตอนนี้เรามีอยู่ 5 ประเทศที่ใช้ระบบของเรา โดยมี ญี่ปุ่นและจีนที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาเป็น มาเลเซีย ไทยและเกาหลี

IMG_3467

อะไรคือความท้าทายที่สุดตั้งแต่ทำธุรกิจ และคุณก้าวข้ามผ่านปัญหาดังกล่าวนั้นได้อย่างไร

ความท้าทายน่าจะเป็นเรื่องของนวัตกรรม ซึ่งไอเดียธุรกิจนั้น ถ้าคุณคิดได้ คนอื่นก็คิดได้ สิ่งสำคัญก็คือให้คนอื่นคิดตามเราไม่ทัน เราต้องเลิกคิดว่าคนอื่นจะมาลอกเรา ไม่งั้นเราจะย่ำอยู่กับที่ ความท้าทายของธุรกิจคือ คุณจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไรให้เร็วกว่าคนอื่น

ความท้าทายส่วนที่สองเป็น การแข่งขันในตลาด ยกตัวอย่าง มีของอยู่สิบชิ้น แต่ทำไมผมถึงต้องเลือกคุณ นอกจากจะก้าวเร็วแล้วต้องมีสิ่งที่แตกต่างด้วย เราต้องหาให้ได้ว่าความแตกต่างที่มีของผลิตภัณฑ์เราคืออะไร สุดท้ายน่าจะเป็นเรื่องของวางแผนธุรกิจของผู้บริหาร ความท้าทายของบริษัทคือ vision ของผู้บริหาร ผู้บริหารต้องมีความชัดเจนเรื่อง vision จึงจะบอกลูกน้องให้ทำตาม

คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้ Ecartstudio ขึ้นมาเป็นผู้นำด้านซอฟแวร์ได้ในทุกวันนี้

เราถือว่าเราเติบโตขึ้นมาได้ดี ปัจจุบันเรามีพนักงานอยู่เกือบร้อยคน จริงๆแล้วมันเป็นความ unique ของเรามากกว่า คู่แข่งในตลาดไม่เยอะ และระบบของเราใช้งานได้จริง feedback ของลูกค้าจะออกมาแนวว่า ระบบของเราช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เยอะ ลูกค้าองค์กรหลายรายได้ไว้วางใจเลือกใช้ระบบงานของเรา เนื่องจากเห็นว่าระบบเราสามารถใช้งานได้จริง ตอบโจทย์ได้จริงและเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานให้มีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น

ทักษะอะไรที่ผู้สนใจอยากมาทำสายธุรกิจซอฟแวร์ควรต้องมี

เราจะแบ่งเป็นสองมุมมอง ในมุมผู้ประกอบการ การทำซอฟต์แวร์คือคุณต้องมี passion ถ้าคุณไม่ชอบ ทำให้ตายก็ไม่ชอบ พอชอบแล้วคุณต้องมีสิ่งที่สำคัญ คือ เราต้องคิดถึงการ add on value ของตัวผลิตภัณฑ์ ไอเดียมีเต็มไปหมด ไม่ว่าจะใน YouTube หรือ Facebook คำถามคือ คุณคิดได้ดีกว่าเขาหรือเปล่า ยกตัวอย่าง ถ้าคุณอยู่ประเทศไทยแล้วคุณจะไปสู้กับต่างประเทศ คุณต้องใส่ความเป็นไทยแบบนี้เป็นต้น ซึ่งความ unique ตรงนี้อยู่ที่ไหน คุณต้องเอาตัวเองเป็นลูกค้า ตอบให้ได้ว่าลูกค้าใช้อะไร พยายามศึกษาจากลูกค้า ถ้าเกิดว่าคุณทำผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วรู้สึกว่าอยากใช้เองด้วย ลูกค้าก็จะใช้ตาม ถ้าคุณยังไม่ใช้ ก็อย่าหวังว่าลูกค้าจะใช้

ได้ยินว่าได้รับการสนับสนุนจาก NIA (สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) ด้วย ช่วยแชร์ตรงนี้หน่อย

เราได้การสนับสนุนจาก NIA มาหลายโครงการ ตอนเริ่มต้นทุกอย่างคือการลงทุน เราไม่ใช่บริษัทใหญ่ในสมัยนั้น ถ้าเราต้องลงทุนเอง 6-7 แสนบาท สำหรับบริษัทเล็กๆนี้แทบจะลุกไม่ขึ้นเลย NIA ก็เข้ามาช่วยตรงนี้ ตั้งแต่วันแรกของธุรกิจ คุณอาจจะจ่ายแค่ 50% โดย NIA มีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนทำให้ธุรกิจสามารถไปได้ ช่วยซื้อเวลาให้ พอระบบอะไรเข้าที่ คราวนี้ก็เริ่มหารายได้เองได้ ต้องขอขอบคุณ NIA เป็นอย่างมาก ที่เราได้พวกเขามาช่วยพัฒนาระบบ Fire Block สำหรับประกันอัคคีภัย ทุนที่ได้มาช่วยสนับสนุนเราในการพัฒนาระบบ ถ้าไม่มี NIA เราคงเหนื่อยกว่านี้เยอะ

คำแนะนำสำหรับบริษัทซอฟแวร์ที่อยากผันจาก Project-based to Product-based

ผมเรียนแบบนี้ครับ ณ วันแรกที่เริ่ม อย่าเพิ่งคิดว่าจะสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาแล้วขายได้เลย มันไม่มีในโลก ทุกอย่างเริ่มจากการลองผิดลองถูกทั้งนั้น แน่นอนว่ามันต้องเริ่มมาจากการทำ project เพราะ project คือการเรียนรู้ ยกตัวอย่างประกัน ผมไม่มีทางรู้ว่าประกันตัวนี้จะใช้ยังไง เหมือนว่าก่อนออกมาเปิดบริษัทเอง ต้องไปทำงานกับคนอื่นก่อนไหม ถ้าคุณทำงานกับคนอื่น ได้เรียนรู้จากเจ้านายที่เก่ง เหมือนกันครับ ถ้าคุณจะทำ product คุณน่าจะต้องมาจากสาย project ก่อน

แน่นอนว่าประสบการณ์สำคัญที่สุด ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ เราต้องหาคนที่เข้ามาช่วยในแง่ของ partner หรืออะไรก็แล้วแต่ ยกตัวอย่างถ้าเราไม่เก่งบัญชี เราก็ต้องหา CFO เก่งๆ มาช่วยเรา เพราะเราไม่ได้เก่งทุกอย่าง แต่อย่างไรก็ดี ตัวเราต้องเก่งพอที่จะดำเนินธุรกิจได้ ถัดมาคือผลิตภัณฑ์มี innovation แค่ไหน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสร้างใหม่ แต่อาจจะหมายถึงการประยุกต์สิ่งที่มีอยู่แล้วให้มันดีขึ้นก็ได้ สุดท้ายผลิตภัณฑ์ของคุณมีความ unique แค่ไหน เพราะยิ่งเราพัฒนาให้ unique ได้แค่ไหน คู่แข่งเรายิ่งเล็กลงเท่านั้น ตัวเลือกก็จะน้อยลงไป ซึ่งหมายความถึงตัวเงิน ถ้าคู่แข่งคุณน้อย ราคาผลิตภัณฑ์ก็สูง แต่ถ้ามีหลายคนทำของออกมาเหมือนๆกับเรา สุดท้ายเราจะมาตายที่สงครามราคา คือแข่งกันที่ราคา ซึ่งมีผลทำให้บริษัทขาดทุนได้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...