สัมภาษณ์พิเศษ GO-JEK กับการตัดสินใจบุกตลาดไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ | Techsauce

สัมภาษณ์พิเศษ GO-JEK กับการตัดสินใจบุกตลาดไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Startup ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง GO-JEK เริ่มจากการเป็นแอปพลิเคชันเรียกรถมอเตอร์ไซค์ และขยายบริการจนครอบคลุมทุกอย่าง แม้กระทั่ง บริการจองบัตรคอนเสิร์ต บริการทำความสะอาด รวมไปถึง digital payment จึงทำให้ GO-JEK กลายเป็น Unicorn ที่ให้บริการในกว่า 50 เมืองทั่วอินโดนีเซีย และล่าสุด วางแผนขยายสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยด้วย โดยที่ในไทยจะให้บริการด้วยแบรนด์ท้องถิ่น GET ขณะที่ในเวียดนามจะให้บริการโดย GO-VIET

Techsauce มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ Andre Soelistyo ประธานกรรมการของ GO-JEK กับวิสัยทัศน์ของเขาต่อการบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในครั้งนี้ และความเห็นต่อการแข่งขันบริการ Ride-hailing ในไทย พร้อมเผยกลยุทธ์ที่ GO-JEK จะนำมาพิชิตตลาด

GO-JEK ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการหลากหลาย ไม่ใช่เพียง ride-hailing อย่างเดียวเท่านั้น อะไรคือความท้าทายสำหรับการขยายไปสู่บริการใหม่ และ GO-JEK มีวิธีจัดการกับมันอย่างไร?

GO-JEK เป็นแอปพลิเคชันเพื่อตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของทุกคน เราเริ่มจากจุดเล็กๆ และตอนนี้เรามีบริการมากมายถึง 18 อย่างในประเทศอินโดนีเซีย ครอบคลุมทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ บริการเรียกรถ บริการ payment ไปจนถึง บริการเสริมสวย เราจึงมีความท้าทายในเรื่องของการขยายและพัฒนาตัวแอปพลิเคชัน ให้สามารถรองรับความหลากหลายของบริการเหล่านี้ ซึ่งเราสามารถรับมือกับมันด้วยสุดยอดเทคโนโลยีที่เรามี และทีมที่มีศักยภาพ

จนถึงปัจจุบัน มีผู้ใช้ในแต่ละบริการของ GO-JEK อยู่จำนวนเท่าไหร่?

ไม่สามารถบอกตัวเลขชัดๆ ได้ แต่เราบอกได้ว่า ตั้งแต่ปี 2015 ในประเทศอินโดนีเซีย มีผู้ดาวน์โหลดแอป GO-JEK แล้วกว่า 98 ล้านครั้ง

GO-JEK กำลังขยายสู่ต่างประเทศ คุณมองตลาดไทยและเวียดนามไว้อย่างไร? ทำไมถึงเลือกขยายมาสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้?

เราเลือกตลาดที่คิดว่า GO-JEK จะสามารถตอบโจทย์ได้มากที่สุด เราเห็นว่าผู้คนและธุรกิจต่างๆ ในเวียดนามและประเทศไทย เผชิญปัญหาการจราจรเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เราก่อตั้ง GO-JEK ขึ้นมาในทีแรก

ผู้บริโภคต่างมีความสุขเมื่อพวกเขามีทางเลือกเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในไทย เวียดนาม สิงคโปร์ หรือ ฟิลิปปินส์ คือ พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีทางเลือกมากพอ สำหรับบริการ ride-hailing เราจึงหวังว่าเมื่อเราเริ่มให้บริการในประเทศเหล่านี้ เราจะกลายเป็นแอปที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของทุกคน

ตอนนี้มีบริการ Ride-hailing ในไทยอยู่หลายเจ้า เช่น Grab และ Line รวมถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้างท้องถิ่น คุณคิดว่า GO-JEK จะเข้ามาตีตลาดนี้ได้อย่างไร?

การแข่งขันคือสิ่งจำเป็นสำหรับทุกๆ ตลาดที่จะเติบโต และเราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการเติบโตในทุกๆ ประเทศที่เราจะเข้าไปให้บริการ กลยุทธ์ของเราคือการผสมผสานระหว่างสุดยอดเทคโนโลยีที่เรามี เข้ากับข้อมูลเชิงลึกของตลาดแต่ละแห่งจากทีมท้องถิ่น เพื่อสร้างบริการที่เหมาะสมและเข้าใจผู้บริโภคมากที่สุด และสำหรับประเทศไทย เราจะโฟกัสไปที่การให้บริการที่ดีที่สุด

GET จะให้บริการอะไรบ้าง ในประเทศไทย?

ตามที่บอกไปคือ แอปของเราจะต้องปรับให้เข้ากับตลาดของประเทศไทย เพื่อให้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของคนในพื้นที่ เราจะเริ่มจากการให้บริการ ride-hailing และบริการ delivery หลังจากนั้นค่อยมาดูว่าจะสามารถขยายการบริการแบบไหนเพิ่ม ตามความต้องการของตลาด

ทำไมถึงใช้ GO-VIET และ GET ในเวียดนามและไทย แทนที่จะใช้ GO-JEK เช่นเดียวกับในอินโดนีเซีย?

เราเห็นตรงกันกับผู้ร่วมก่อตั้ง GO-VIET และ GET ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การสร้างแบรนด์ที่สะท้อนตัวตนของแอปที่เข้ากับประเทศนั้นๆ จริงๆ เราเชื่อว่าแบรนด์เหล่านี้จะเหมาะสมกับแต่ละตลาดมากกว่า

คำแนะนำต่อ Startup ที่อยากขยายสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้?

สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจแต่ละตลาดอย่างลึกซึ้ง ต้องไม่มองเพียงความท้าทายและโอกาสที่จะได้รับเท่านั้น แต่ต้องมองให้ลึกไปถึงการใช้ชีวิตของผู้คนในประเทศนั้นด้วย

สำหรับ GO-JEK เราไม่เพียงมองหาทีมที่มีความรู้และประสบการณ์เพื่อทำธุรกิจให้สำเร็จเท่านั้น แต่เรายังต้องการทีมที่มีอุดมการณ์เดียวกันคือ มีความต้องการสร้างผลกระทบในแง่บวกต่อสังคมและทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

สังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มเป็นอย่างไร? และคุณคิดว่ายังเหลือพื้นที่สำหรับผู้เล่นรายใหม่อยู่หรือไม่?

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก จากการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งทำให้เกิดสังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปันที่ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของคนทั่วไป อย่างเช่น คนขับรถ หรือ ผู้ประกอบการ SME ซึ่งคนเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งใน ecosystem ของ GO-JEK ด้วย

เราคิดว่ามันมีพื้นที่สำหรับผู้เล่นรายใหม่และการพัฒนานวัตกรรมอยู่เสมอ และ GO-JEK ก็สนับสนุนการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ เมื่อปัจจุบัน ผู้บริโภคในประเทศไทย เวียดนาม สิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์ รู้สึกว่าพวกเขามีทางเลือกไม่มากพอ เราจึงหวังว่าการเข้ามาของเราจะช่วยให้การแข่งขันในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเติบโตมากยิ่งขึ้น

ความเห็นกองบรรณาธิการ

GO-JEK เป็น Ride-hailing ที่มีบริการที่หลากหลายอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้มอเตอร์ไซต์ให้บริการในด้านต่างๆ ซึ่งบางบริการคู่แข่งอย่าง Grab ยังไม่มี ความโดดเด่นในจุดนี้ทำให้ GO-JEK น่าถูกจับตามองว่า จะสามารถเข้ามาช่วงชิงผู้ใช้บริการจาก Grab ได้ ในที่สุดแล้วการที่ทั้งสองบริการมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่สุดก็คือผู้ใช้บริการ เพราะจะมีตัวเลือกหลากหลายยิ่งขึ้น ไม่ผูกขาดกับรายใดรายหนึ่ง ในขณะที่ฟากของนักลงทุนที่สนับสนุนGO-JEK นั้นมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Tencent , JD.com ด้วย ซึ่งน่าจะเสริมกลยุทธ์การขนส่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้ครบวงจรมากขึ้นอีก

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...

Responsive image

กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม

AI กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และต้องถูกจับตาดูโดยหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง ‘กระทรวง AI’ ที่มีอำนาจ และความสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่น ๆ แต่ทำไม AI ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ? กร...