Intouch หาโอกาสใน EdTech เมื่อก้าวแรกของนวัตกรรมคือการศึกษา | Techsauce

Intouch หาโอกาสใน EdTech เมื่อก้าวแรกของนวัตกรรมคือการศึกษา

Intouch หาโอกาสใน EdTech เมื่อก้าวแรกของนวัตกรรมคือการศึกษา

เมื่อโลกได้เปลี่ยนโฉมไปอย่างสิ้นเชิงจากการระบาดของ COVID-19 เกิดบรรทัดฐานใหม่ในการใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นระยะห่างทางสังคม การเดินทาง กิจกรรมสาธารณะ ธุรกิจ ฯลฯ รวมไปถึงภาคการศึกษาที่เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจในระยะยาว จึงต้องมีการเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบและพัฒนาทักษะใหม่ๆ สำหรับโลกในยุคหลัง COVID-19

Intouch EdTech

ภาพรวมของอัตราผู้เรียนในประเทศไทยที่ลดลง

ภาพรวมของอัตรานักเรียนที่เข้าเรียนในสถานศึกษาของไทยมีจำนวดลดลงอย่างต่อเนื่อง  ด้วยสาเหตุหลักจากอัตราการเกิดที่น้อยลง ดังที่สะท้อนในสภาวะสังคมผู้สูงอายุของไทยซึ่งคล้ายคลึงกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน รวมถึงปัญหาและปัจจัยอื่นๆ ในภาคการศึกษา ผนวกกับผลจากการระบาดของ COVID-19 โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าจำนวนนักเรียน นิสิตและนักศึกษา ลดลงจาก 13.3 ล้านคน ในปี 2015 มาอยู่ที่ 12.7 ล้านคน ในปี 2019 ซึ่งอาจชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของรูปแบบการศึกษาแบบเดิมที่อาจเริ่มไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน โดยผู้เรียนเริ่มหันไปสู่การศึกษานอกรั้วโรงเรียนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านอินเทอร์เน็ตที่มีทางเลือกไม่จำกัด

ประเด็นขบคิดจากแนวโน้มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ต่ำลง

วิกฤติ COVID-19 ทำให้ต้องมีการปิดเรียนยาวนาน ซึ่งงานวิจัยสะท้อนว่าการต้องปิดเรียนยาวนานหรือเปิดเรียนช้ากว่าปกติส่งผลทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนถดถอยลงเมื่อต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน ซึ่งส่งผลต่อไปถึงการถดถอยของเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่

นอกจากนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของภาคการศึกษา โดยข้อจำกัดของทรัพยากรและภาวะเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีเด็กนักเรียนยากจนกว่า 1.7 ล้านคน และจากการสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าครอบครัวของเด็กบางคนมีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือน รวมถึงข้อสรุปจากผลการสอบปิซ่า หรือโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ที่เด็กนักเรียนไทยมีคะแนนวัดผลอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวต่อเนื่องหลายปี ผู้วิจัยพบว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นปัญหาที่มาจากปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ เช่น การขยายขนาดของโรงเรียน การเพิ่มจำนวนครู และการให้ความรู้กับบิดามารดา มากกว่าปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ความฉลาดทางสติปัญญา

แนวโน้มเทคโนโลยีที่จะถูกนำมาใช้ยกระดับการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหลัง COVID-19

หลายปีก่อนหน้าการระบาดของ COVID-19 ผู้ทำการศึกษาด้านนี้ได้มีการพูดถึงการเรียนรู้แบบดิจิทัลที่เป็นวิธีการเรียนรู้แห่งอนาคตมาก่อนแล้ว แต่การระบาดครั้งนี้ได้ทำให้การเรียนรู้ดังกล่าวมาถึงอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ การเรียนในห้องเรียนได้ย้ายมาสู่การเรียนแบบออนไลน์อย่างเช่น การถ่ายทอดสด (Live Streaming) หรือการเรียนจากคลิปวิดีโอที่คุณครูถ่ายทำไว้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นที่จะทำให้แนวโน้มในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษามีสูงขึ้นและได้รับความสนใจมากขึ้น โดยจะก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ตามมา

สตาร์ทอัพด้านการศึกษา (EdTech: Education Technology) จึงมีบทบาทในการนำเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมการเรียนรู้และช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาของคนไทย แพลตฟอร์มด้านการศึกษาหลายแพลตฟอร์มเริ่มเข้าถึงเด็กนักเรียนต่างจังหวัดมากขึ้น ตามอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเครื่องมือการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น เกม AR/VR ส่งผลให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น และทำให้ครูผู้สอนเริ่มสามารถเปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียน (Facilitator) ซึ่งสามารถเอาใจใส่นักเรียนเป็นรายบุคคลได้มากขึ้น

Intouch EdTech

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโตของ EdTech Unicorns

ตามที่ได้กล่าวมาทำให้เห็นว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะสนับสนุนและลงทุนในนวัตกรรมที่ช่วยด้านการศึกษา โดยแนวโน้มเม็ดเงินที่สตาร์ทอัพ EdTech สามารถระดมทุนได้มีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขนาดตลาด EdTech ทั่วโลกมีมูลค่า 76.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2019 และคาดว่าจะเติบโตในอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 18.1% จากปี 2020 ถึง 2027 โดยประเทศจีนมีตลาด EdTech ที่คึกคักที่สุดในโลก ซึ่ง 6 ใน 10 อันดับของ EdTech Unicorns ล้วนมาจากประเทศจีน รองลงมาเป็นของสหรัฐฯ 3 อันดับ และอีก 1 อันดับมาจากประเทศอินเดีย นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่จำนวนมากที่กำลังแข่งขันกันในตลาดนี้ เพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาในทุกภูมิภาคของโลก 

ตัวอย่างของ EdTech Unicorns ที่น่าสนใจและสามารถออกไปสู่ตลาดสากล 

  • iTutorGroup จากประเทศจีน เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกด้านการศึกษาออนไลน์แพลตฟอร์มให้บริการสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีนแบบสดทั้งในและนอกประเทศจีน นักเรียนสามารถเข้าถึงผู้สอนที่มีคุณภาพสูงได้ตลอด 24 ชม. ทุกที่ทุกเวลา โดย iTutorGroup มีความเชื่อว่าวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการเรียนรู้แบบส่วนบุคคล (Personalized Learning) และวิธีการที่ทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวเกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และใช้อัลกอริธึมจับคู่ขั้นสูงเพื่อให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้เฉพาะบุคคลที่เหมาะสม

นอกจากนี้ แม้ว่าจีนจะเป็นผู้นำโลกในด้าน EdTech อยู่แล้วก็ตาม แต่แนวโน้มของการเติบโตก็ยังคงมีต่อไป ด้วยปัจจัยที่น่าสนใจ ดังนี้ 

  • ด้านวัฒนธรรม จากการรายงานของ South China Morning Post ระบุว่าครอบครัวชาวจีนมีการให้คุณค่าและความสำคัญกับเรื่องการศึกษาเป็นอันดับต้นๆ ทั้งเด็กนักเรียนและผู้ปกครองต่างทุ่มเททรัพยากรให้กับการศึกษาอย่างเข้มข้น รวมถึงแนวคิดเรื่อง Work-Life Balance ของนักเรียนชาวจีนที่มีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ มาก อย่างเช่น ครอบครัวที่มีเด็กอนุบาลจะมีการใช้เงินโดยเฉลี่ย 26% ของรายได้ไปกับด้านการศึกษา ส่วนครอบครัวที่มีเด็กนักเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมปลาย (K-12) มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 20% ของรายได้

  • จำนวนประชากร ประมาณ 20% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศจีน นอกจากนี้ นโยบายมีลูกคนเดียวของจีนได้ยุติลงแล้ว ซึ่งทำให้จำนวนนักเรียนจะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

  • การสนับสนุนจากภาครัฐฯ รัฐบาลจีนได้เพิ่มเปอร์เซ็นต์ของ GDP ใช้จ่ายไปให้กับการศึกษาตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา และยังมีการสนับสนุนโครงการมากมาย เช่น MOOC Times Building ซึ่งเป็นตึกสูง 22 ชั้นที่เต็มไปด้วยสตาร์ทอัพด้าน EdTech และในปี 2017 นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง ได้ประกาศการกำหนดและดำเนินการตามแผนเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการปรับปรุงการศึกษาของจีน

ปัจจัยดังกล่าวทำให้เห็นแนวทางการพัฒนาด้านการศึกษาของจีนที่เอื้อต่อเหล่าสตาร์ทอัพ EdTech เป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถเป็นตัวอย่างเพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับประเทศไทยได้ไม่มากก็น้อย 

องค์กรต่างปรับตัว เมื่อความรู้ล้าสมัยเร็วขึ้น

ความท้าทายด้านการศึกษามิได้มีเพียงเฉพาะในห้องเรียน แต่รวมไปถึงคนวัยทำงานที่เผชิญกับรอยต่อของ Generation ที่เปลี่ยนไป องค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของพนักงานมากขึ้น คลื่นแห่งเทคโนโลยีทำให้คนที่ “ตามไม่ทัน” มีความเสี่ยงสูงกับการต้องออกจากงาน เนื่องจากองค์กรต้องบริหารต้นทุนและประสิทธิผลของเม็ดเงินที่ลงทุน แพลตฟอร์มการศึกษาที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าองค์กรจึงได้รับการตอบรับที่ดีในช่วงที่ผ่านมา การรับรองด้วยประกาศนียบัตรออนไลน์ (Online Certification) เริ่มกลายเป็นตัวชี้วัดทางอ้อมถึงทักษะนอกเวลางานที่พนักงานได้ใช้เพื่อพัฒนาตัวเอง เกิดเป็นรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong-Learning) เพื่อศึกษาทักษะใหม่ๆ ในงานเดิม (Upskilling) หรือยกเครื่องใหม่ทั้งหมดเมื่อเจอโจทย์ที่ไม่เคยทำมาก่อน (Reskilling) 

อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจจาก TalentLMS ที่สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างผู้บริหารและพนักงานกว่า 700 คนในสหรัฐอเมริกา พบว่าสาเหตุที่การพัฒนาทักษะใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ยาก กว่าครึ่งยังคงเป็นเพราะพนักงานไม่มีเวลา ยังไม่สามารถหาแหล่งเรียนรู้ที่ตรงความต้องการได้ และค่าใช้จ่ายสูงเกินไป ซึ่งยังคงเปิดโอกาสให้กับสตาร์ทอัพ EdTech ในการนำเสนอทางออกที่ดีกว่าได้ 

Intouch Holdings กับการส่งเสริมและลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน EdTech 

บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรืออินทัช เผยกลยุทธ์การลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า โดยมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจร่วมทุน (Venture Capital) และการสร้างธุรกิจใหม่ (New Business) กับสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีในด้านการศึกษา (EdTech) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) รวมทั้ง Emerging Technology อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ 5G นอกจากนั้น อินทัชได้ประกาศโครงการ Venture Builder และการลงทุนผ่าน Venture Capital Fund เพื่อหาสินค้าและบริการมาต่อยอดให้กับธุรกิจของกลุ่มอินทัชที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

อินทัชมีเป้าหมายด้านการลงทุนและสร้างธุรกิจใหม่ รวมทั้งยังคงเปิดกว้างในการร่วมเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพหรือบริษัทที่มีแนวคิดในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในตลาดการศึกษาของประเทศไทย โดยล่าสุดได้มีการลงทุนในบริษัท โคนิเคิล จำกัด (Conicle) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการเรียนรู้สำหรับบุคลากรในองค์กร  เพื่อยกระดับการศึกษาไทยให้เข้าสู่การเรียนการสอนแบบดิจิทัลอย่างแท้จริง

อ้างอิง:
Kaimai_Medium
Ricardo Geromel_Forbes
www.col.org
www.eef.or.th
www.eduwh.moe.go.th
www.brookings.edu/research
www.pier.or.th
www.grandviewresearch.com
www.educationandcareernews.com
www.talentlms.com
itutorgroup

เขียนร่วมโดย คุณศิรภพ ปภัทธนนันท์ Investment Manager โครงการอินเว้นท์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

Intouch

LinkedIn: https://www.linkedin.com/in/siraphop-paphatthananan-62ab42122/

บทความนี้เป็น Advertorial






ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...

Responsive image

เปิดตัว ‘รถบินแยกร่าง’ XPeng ผสมเครื่องบินกับรถตู้ รุ่น Land Aircraft Carrier ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

XPeng Aero HT เปิดตัว Land Aircraft Carrier รถบินได้แบบแยกร่างสุดล้ำที่ CES 2025 พร้อม eVTOL พับเก็บได้ ใช้งานง่าย ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางแผนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2026...