เครือข่ายส่วนตัวเสมือน หรือ Virtual Private Network (VPN) มีบทบาทสำคัญอย่างมากทั้งในด้านการทำงานและด้านการต่อสู้กับการปิดกั้นเนื้อหา เพื่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเพื่อความบันเทิง
VPN คือการจำลองท่ออินเทอร์เน็ตส่วนตัว ที่มุดอยู่ภายในท่อใหญ่ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) อีกที และจะสามารถต่อไปยังปลายทางอื่นนอกเหนือจากปลายทางที่ ISP อนุญาตได้ อีกทั้งท่อเหล่านี้มักจะมีระบบความปลอดภัยเพื่อป้องกันมิให้ ISP สามารถเห็นข้อมูลภายในท่อได้ ด้วยเทคโนโลยีการเข้ารหัสต่างๆ
ตัวละครสำคัญของเทคโนโลยี VPN ก็คือเซิร์ฟเวอร์ผู้ให้บริการ VPN ซึ่งจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อผู้ใช้เข้ากับปลายทาง
มีหลายเหตุผลที่ VPN ถูกนำมาใช้งาน สำหรับผู้ใช้ทั่วไปแล้ว การใช้ VPN หมายความว่าเราจะสามารถเข้าถึงเว็บไซต์หรือบริการที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ของเราปิดกั้นไว้ได้ เช่น อ่านข่าวในเว็บไซต์ข่าวที่ถูกปิดกั้น เข้าถึงเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นโดยรัฐบาล เป็นต้น
นอกจากการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นโดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแล้ว การใช้ VPN ยังช่วยให้เราสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่มีให้บริการเฉพาะในประเทศอื่นๆ ได้ด้วย เช่น วิดีโอกีฬา รายงานข่าว เพลง มิวสิควิดีโอ เป็นต้น
ในด้านการทำงาน VPN ถือเป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าถึงข้อมูลบริษัท เนื่องจากแต่ละบริษัทมักมีมาตรการความปลอดภัยที่จะปิดกั้นการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศจากภายนอกเครือข่ายของบริษัท ดังนั้นผู้ใช้จึงต้องเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายเสมือนนี้ เพื่อนำตัวเองเข้าไปสู่เครือข่ายของบริษัท ให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ โดยมีเซิร์ฟเวอร์ VPN เป็นตัวกลางเชื่อมผู้ใช้เข้ากับเครือข่ายภายใน
VPN ยังถูกใช้ในด้านการปกปิดตัวตนจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการเว็บไซต์เพื่อความเป็นส่วนตัวหรือเพื่อการกระทำผิดกฎหมายอีกด้วย เนื่องจากที่อยู่ไอพีของผู้ใช้จะถูกซ่อนไว้ และปลายทางจะเห็นเป็นที่อยู่ไอพีของเซิร์ฟเวอร์ VPN แทน อีกทั้งข้อมูลที่ถูกส่งผ่านท่อ VPN นี้ยังมักจะได้รับการเข้ารหัสไว้อีกทีด้วย เพื่อป้องกันการแอบดักข้อมูลระหว่างทาง
ทั้งนี้ผู้ให้บริการ VPN แต่ละรายก็มีข้อกำหนดแนวทางการรักษาความปลอดภัยผู้ใช้ที่แตกต่างกันไป หากต้องการใช้ VPN เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวแล้ว ควรเลือกผู้ให้บริการที่ไม่เก็บที่อยู่ไอพีและข้อมูลจราจรทางอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้งาน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการเก็บ 'footprint' ของผู้ใช้
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ VPN หลากหลายเจ้า ซึ่งก็จะมีวิธีการเปิดใช้งานที่แตกต่างกันไป บางผู้ให้บริการอาจให้ผู้ใช้ตั้งค่าผ่านหน้าจอตั้งค่า VPN ของระบบปฎิบัติการได้เลย แต่โดยมากแล้วจะให้ผู้ใช้เปิดใช้งานผ่านแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการเอง ด้วยการเลือกเซิร์ฟเวอร์ประเทศที่ต้องการ แล้วกดเชื่อมต่อ
ในบทความนี้จะยกตัวอย่างวิธีการเปิดใช้งาน 'WARP' บริการ VPN ที่สามารถใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จาก Cloudflare ผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตและระบบเครือข่ายการให้บริการข้อมูล (Content Delivery Network) ชั้นนำของโลก
แอปพลิเคชัน WARP ของ Cloudflare สามารถดาวน์โหลดได้บน App Store และ Play Store ตามระบบปฎิบัติการของมือถือ
เมื่อเปิดแอปพลิเคชันขึ้นมาแล้ว ก็ทำความเข้าใจกับนโยบายความเป็นส่วนตัว จากนั้นกดที่สวิตช์บนหน้าจอเพื่อเปิดการใช้งาน VPN
ในครั้งแรกนี้จะต้องทำการติดตั้งการตั้งค่า VPN ลงบนเครื่องด้วย ให้กดปุ่ม Install บนหน้าจอและกดอนุญาตในขั้นตอนถัดไป
จากนั้นรอให้เชื่อมต่อสำเร็จก็จะสามารถใช้งาน VPN ได้ หากต้องการตัดการเชื่อมต่อก็สามารถกดที่สวิตช์เพื่อปิดการใช้งาน VPN ได้
WARP มีให้บริการสำหรับบนคอมพิวเตอร์ด้วยเช่นกัน โดยสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ https://1.1.1.1/ โดยตรง เปิดไฟล์แล้วทำตามขั้นตอนบนหน้าจอ
นอกจาก WARP ของ Cloudflare แล้วก็ยังมีผู้ให้บริการ VPN รายอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ Atlas VPN, Nord VPN, ProtonVPN, Tunnelbear และ Windscribe เป็นต้น ซึ่งก็จะมีทั้งจุดขายและราคาที่แตกต่างกันไป
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด