#อัปเดตสติป้องกันสตางค์ แคมเปญเชิงรุกจากเคแบงก์ เร่งสกัดภัยมิจฉาชีพหลอกเงิน

ในปัจจุบัน เรามักจะพบว่ามีมิจฉาชีพหลากหลายรูปแบบที่เข้ามาหลอกลวง และล้วงข้อมูลทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการล้วงข้อมูลส่วนตัว การดูดเงินในบัญชี ผ่านการกดลิงก์และการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน รวมทั้งหลอกให้ไปลงทุนต่างๆ หลอกขโมยเงินโดยใช้ช่องทางออนไลน์ปลอมเป็น หน่วยงานหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ  

จากสถิติการแจ้งความออนไลน์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ถึง เดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่าความเสียหายโดยรวมทั่วประเทศกว่า 31,000 ล้านบาท โดย 3 เคสที่สร้างมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก ได้แก่ 1) บัญชีม้า มีจำนวนเงินที่ขออายัดจากบัญชีม้ารวมกว่า 7,000 ล้านบาท 2) ถูกหลอกทางโทรศัพท์และหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงิน สูญเงินถึง 3,600 ล้านบาท 3) ถูกหลอกให้กู้เงิน สร้างความเสียหายกว่า 1,100 ล้านบาท  

ภัยหลอกลวงทางการเงินจึงเป็นวาระสำคัญของชาติที่ต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ต้องร่วมกันป้องกัน ปราบปรามและแก้ไข เพื่อไม่ให้มีใครต้องตกเป็นเหยื่อโดนหลอกเงินจนหมดตัว 

#อัปเดตสติป้องกันสตางค์ แคมเปญเชิงรุกของเคแบงก์ หวังช่วยป้องกันภัยคุกคามทางการเงิน

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า 

“ธนาคารกสิกรไทย ให้ความสำคัญกับการป้องกันภัยคุกคามทางการเงิน และเห็นเป็นวาระสำคัญของชาติที่ต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ ‘คน’ มิจฉาชีพอาศัยจุดอ่อนของคนที่มีความกลัว ความอยากได้ และความไม่รู้ หลอกลวงประชาชนโดยใช้วิธีต่างๆ และมีมุกกลโกงใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน 

ธนาคารจึงได้จัดทำแคมเปญ #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ เพื่อให้ความรู้กับลูกค้าและบุคคลทั่วไป และอยากเชิญชวนทุกคนมาให้ความรู้กับสังคมร่วมกัน เพื่อสร้างเกราะป้องกันภัยคุกคามทางการเงินให้กับประชาชน โดยแคมเปญ #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ เป็นแคมเปญต่อเนื่องจากแคมเปญ #ใช้สติป้องกันสตางค์ ที่ธนาคารกสิกรไทย ริเริ่มตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เพื่อรณรงค์ให้ข้อมูลและความรู้กับประชาชนถึงภัยกลโกงของมิจฉาชีพ ในปีนี้ธนาคารจึงมุ่งเดินหน้าต่อเตือนภัย 3 กลโกงที่มีเหยื่อโดนหลอกอย่างต่อเนื่อง พลาดท่าเสียทั้งเงิน และมีคดีติดตัว ได้แก่ (1) มิจฉาชีพหลอกให้โหลดแอปพลิเคชันดูดเงิน (2) มิจฉาชีพหลอกว่าเป็นนายหน้าเงินกู้ และ (3) มิจฉาชีพหลอกให้เปิดบัญชีม้า จะเห็นได้ว่ากรณีเหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายมาก ท่านอาจจะเคยประสบด้วยตัวเองบ้าง คนใกล้ตัวประสบบ้าง หรือได้ยินจากข่าว แต่ก็มีผู้ตกเป็นเหยื่ออยู่เรื่อย ๆ เพราะมิจฉาชีพมีวิธีพูดโน้มน้าวให้คนเชื่อ หากคนที่ไม่เคยได้ยินเรื่องราวมาก่อนอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะช่วยกันเตือนคนใกล้ตัว พนักงาน ญาติพี่น้อง ให้รู้เท่าทันภัยเหล่านี้ และป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ธนาคารกสิกรไทย จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความรู้และเตือนภัยเหล่านี้ และธนาคารยินดีที่จะมอบสื่อต่าง ๆ   ที่ธนาคารจัดทำขึ้นด้วยความปรารถนาดีให้กับหน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน ที่สนใจ ไปใช้เผยแพร่ต่อเพื่อให้ความรู้กับพนักงานหรือประชาชนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสามารถดาวน์โหลดคลิป #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ และสื่อ #สารานุโกง ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลกลโกงของมิจฉาชีพล่าสุดพร้อมวิธีป้องกัน ได้ที่ https://kbank.co/3nCCVZ0

เตือนภัย 3 กลโกงยอดนิยมของมิจฉาชีพ พลาดตกเป็นเหยื่ออาจเสียทั้งเงิน หรือมีคดีติดตัว

1. หลอกให้โหลดแอปพลิเคชันดูดเงิน ผ่านทางโทรศัพท์/SMS เป็นขบวนการ ซึ่งมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มิจฉาชีพจะหลอกล่อด้วยสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการใช้มุกที่กระตุ้นด้วยความกลัว และความอยากได้  เช่น หลอกว่ามีคดีมีความผิด หลอกให้รับสิทธิ์ของหน่วยงานหรือโครงการสำคัญ หลอกว่าสินเชื่อได้รับการอนุมัติแล้ว หลังจากนั้นจะส่งลิงก์ให้เหยื่อคลิกเพื่อติดตั้งแอปควบคุมโทรศัพท์มือถือ เพื่อกระทำการโอนเงินออกจากแอปฯ ธนาคารที่เหยื่อใช้บริการ  วิธีป้องกัน คือ มีสติไม่คล้อยตามสถานการณ์หลอกลวง หากไม่แน่ใจว่า SMS ที่ได้รับ หรือเบอร์ที่กำลังสนทนาด้วย เป็นของจริงหรือไม่ ให้หยุดสนทนาทันที และติดต่อหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างโดยตรงเพื่อยืนยันข้อมูล โดยธนาคารกสิกรไทยได้ยกเลิกการส่ง SMS แบบแนบลิงก์แล้ว หากได้รับ SMS แนบลิงก์ให้สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพ

2. หลอกเป็นนายหน้าเงินกู้ มิจฉาชีพหลอกเป็นนายหน้า พาสมัครสินเชื่อ และหักค่านายหน้า หรือยื่นข้อเสนอช่วยเหยื่อกู้สินเชื่อได้โดยง่าย ซึ่งอาจช่วยทำเอกสารปลอม ตกแต่งบัญชี เพื่อให้ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาของธนาคาร และหากธนาคารอนุมัติ จะคิดค่าบริการนายหน้า ซึ่งในกรณีนี้ ธนาคารยืนยันว่า ธนาคารไม่มีนโยบายการคิดหรือหักค่านายหน้าใดๆ จากสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติทั้งสิ้น วิธีป้องกัน คือ ควรสมัครสินเชื่อกับธนาคารโดยตรง เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดถูกต้องและเป็นไปตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ของธนาคาร

3. หลอกเปิดบัญชีม้า การที่มิจฉาชีพรับซื้อบัญชี หรือหลอกให้เหยื่อเปิดบัญชี และรับซื้อภายหลัง เพื่อนำไปใช้กระทำความผิดต่าง ๆ เช่น ฟอกเงิน รับเงินผิดกฎหมาย ค้ายาเสพติด การพนัน รวมถึงนำไปใช้หลอกลวงหรือโกงผู้อื่น ซึ่งการที่เจ้าของบัญชีขายบัญชีธนาคารให้บุคคลอื่นนำไปกระทำความผิดนั้น ผู้เป็นเจ้าของบัญชีมีความผิด ตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และเสี่ยงผิดกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นๆ ด้วย โดยวิธีป้องกันง่ายๆ คือ ไม่รับจ้างเปิดบัญชี หรือขายบัญชีให้กับผู้อื่นโดยเด็ดขาด 

 

บทความนี้เป็น Advertorial

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Open Data ทำไมไทยถึงต้องมีข้อมูลเปิดอย่างโปร่งใส ? สัมภาษณ์พิเศษคุณชลิต รัษฐปานะ กรรมการประกันสังคม

ประเด็นเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง ผ่านมุมมองของคุณชลิต รัษฐปานะ กรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน (ทีมประกันสังคมก้าวหน้า) คณะกร...

Responsive image

ERNIE X1 คืออะไร ? โมเดล AI ที่ออกมาเพื่อโค่น DeepSeek R1

เปรียบเทียบ ERNIE X1 กับ GPT-4.5 ใครเหนือกว่า? วิเคราะห์ความสามารถ AI เชิงตรรกะที่แข่งขันกับ OpenAI และ DeepSeek...

Responsive image

เมื่อ AI กับมนุษย์ต่างก็หลอน ความจริงที่เราต้องตรวจสอบ

AI และมนุษย์ต่างก็สามารถ "หลอน" ได้—AI สร้างข้อมูลผิดพลาดอย่างมั่นใจ ขณะที่มนุษย์มีอคติและความทรงจำบิดเบือน สำรวจความจริงที่เราต้องตรวจสอบ...