เพื่อร่วมแก้ปัญหาขาดแคลน Tech Talent ที่เป็นปัญหาระดับชาติ กลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG จึงสร้างประตูบานใหม่ให้ภาคการศึกษาไทย โดย KBTG Kampus โครงการส่งเสริมการศึกษาด้านเทคโนโลยีภายใต้ KBTG ร่วมมือกับ 3 สถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแบบ 3 หลักสูตรใหม่ในระดับปริญญาโท เพื่อร่วมกันสร้าง Tech Talent ที่มีความรู้และทักษะด้าน Deep Tech โดยเฉพาะด้าน Data Sciences และ Cyber Security ที่ตลาดมีความต้องการอย่างมาก
เนื่องจาก Demand ด้าน ‘ความต้องการของตลาดแรงงาน’ กับ Supply ด้าน ‘ทักษะความสามารถของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา’ ไม่ตรงตามความต้องการ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง KBTG จึงลุยจัดทำโครงการและส่งเสริมการศึกษาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง จนสามารถประสานกับ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำในการเปิดตัวหลักสูตรใหม่ ระดับปริญญาโท โดยมี 3 อธิการบดีมาร่วมงานแถลงข่าวบนเวทีเดียวกัน ได้แก่ รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การร่วมออกแบบหลักสูตรกับ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย KBTG Kampus คัดสรรโจทย์จากงานวิจัยจริงมาพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในโลกอุตสาหกรรมปัจจุบันและอนาคต รวมถึงมุ่งเน้นสาขาวิชาที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตั้งแต่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์และพยากรณ์ข้อมูล ด้านปัญญาประดิษฐ์และนวัตกรรม ไปจนถึงด้านความปลอดภัย จนได้ออกมาเป็น 3 หลักสูตร ดังนี้
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาปัญญาประดิษฐ์เพื่อการวิเคราะห์เชิงธุรกิจ หรือสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
(หลักสูตร 2 ปี)
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาความมั่นคงไซเบอร์และการประกันสารสนเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหิดล
(หลักสูตร 2 ปี)
หลักสูตรศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(หลักสูตร 1 ปี)
คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป กล่าวเปิดด้วยการสรุปภาพความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีซึ่งสร้างผลกระทบในหลายมิติ และการเตรียมพร้อมของผู้เรียน การปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของแรงงาน ด้วยการทรานสฟอร์มการศึกษาและทรานสฟอร์มทักษะแรงงาน
KBTG มีแพสชันด้านเทคโนโลยี และเทคโนโลยีก็มีวิวัฒนาการ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็เปลี่ยนโลกแบบหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเฉพาะ AI ที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบหักศอก และกำลังเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ (General Purpose) ที่จะเข้ามาอยู่ในชีวิตมนุษย์ทุกคน
AI อาจทำให้เกิดฟองสบู่ด้านเทคโนโลยี แต่เชื่อว่าจะเกิดเพียงช่วงเวลาเพียง 1-2 ปี จากนั้นจะพุ่งทะยานอย่างรวดเร็วและหักศอกอีกครั้ง นั่นหมายความว่า เราต้องปรับตัวและสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดอีกครั้ง
AI สามารถนำไปประยุกต์ใช้ (Adoption) หลายระดับ โดยเฉพาะ Application Level การพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อใช้งานในลักษณะของ Tool เช่น Gen AI Tool ที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
พัฒนาการของ AI ดึงดูดให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในอุตสาหกรรม AI มหาศาล และจะเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจก็จะเปลี่ยน Global Economy จากหน้ามือเป็นหลังมือ และสร้างความมั่งคั่งให้เศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์ (AI Economy) ได้มากถึง 15.7 ล้านล้านดอลลาร์ของ GDP โลก ภายในปี 2030 โดยผลิตภาพของแรงงานที่เกิดจาก AI จะเพิ่มขึ้น 55% ของ GDP ในช่วงปี 2017-2030 และอาจทำให้ GDP ของภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมจีน) เพิ่มขึ้น 10% หรือประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์
AI เปลี่ยนวิธีการทำงานของทุกคน การจ้างงานก็ได้รับผลกระทบ โดย AI กำลังเข้ามาทำงานแทนคนในบางหน้าที่ (Task) แต่จะไม่ได้ทดแทนตำแหน่งงาน (Job) อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีการใช้ Gen AI ในทุกอาชีพ เพราะ Gen AI ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น เช่น การให้ Gen AI ช่วยเขียนโค้ด พัฒนาซอฟต์แวร์ ระดมสมอง ดังนั้น คนที่ใช้ประโยชน์จาก AI เป็นก็จะไม่ตกงาน
AI ทรานสฟอร์มภาคแรงงาน และยังเข้ามาทรานสฟอร์มภาคการศึกษาด้วย การสร้างแรงงานที่มีทักษะความสามารถให้ทันความเปลี่ยนแปลงของ AI จึงสำคัญและมีความท้าทายมาก
การใช้ AI ควรทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น เก่งขึ้น แต่หลายครั้ง AI ทำให้มนุษย์โง่ลง เพราะพึ่งพา AI มากเกินไป ดังนั้น มนุษย์ยังต้องคิด ไม่ใช่ให้ AI คิดแทนทั้งหมด และต้องให้มีคนอยู่ในลูปการคิดหรือกระบวนการต่างๆ อยู่เสมอ
คุณเรืองโรจน์ให้ข้อมูลต่อ เกี่ยวกับการใช้ AI ในภาคการศึกษาว่า
และข้อมูลด้านความขาดแคลน Tech Talent
ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ขาดแคลนแรงงานไอทีอย่างหนัก
“เราจะทรานสฟอร์มระบบการศึกษาได้ก็ด้วย AI-driven Transformation คือ ใช้ AI ทรานสฟอร์มระบบการศึกษา เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตและอยู่รอดในยุค AI โดยทำ Education System Transformation และ Workforce Transformation” คุณเรืองโรจน์นำเสนอแนวคิดในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ภาคการศึกษาและภาคแรงงาน
โดยในด้าน Education System Transformation คุณเรืองโรจน์อธิบายว่า ต้องทำทั้ง Education for AI และ AI for Education ในด้าน Workforce Transformation ก็ต้องทำ Workforce for AI และ AI for Workforce และในที่นี้ขอขยายความเฉพาะการใช้ AI ในภาคการศึกษา (AI for Education) 4 ด้าน ดังนี้
คุณเรืองโรจน์กล่าวถึง KBTG ว่าให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีอย่างมาก ต่อด้วยการเล่าย้อนถึงโครงการ KBTG Kampus ที่เปิดตัวเมื่อปี 2565 ว่าเกิดความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ ต่อด้วยการสร้างความร่วมมือกับ DeepLearning.AI โดย Andrew Ng (ตอบโจทย์ด้าน Education for AI) และ Merlyn Mind (ตอบโจทย์ด้าน AI for Education) แพลตฟอร์มที่ช่วยให้การสอนเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับครู จากนั้นปูทางเข้าสู่ความร่วมมือครั้งสำคัญของ KBTG กับ 3 สถาบันการศึกษาไทย ในการสร้างหลักสูตรปริญญาโทร่วมกันแบบ Co-Master's Degree
ในงานแถลงข่าวเปิดตัวหลักสูตร Co-Master's Degree ทาง KBTG กับ 3 อธิการบดีมาร่วมพูดคุยกันในหัวข้อ ‘Thailand's Future of Higher Education in the Real World’ ซึ่งสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้วงการการศึกษาไทยได้ไม่น้อย โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังนี้
โดยสิ่งที่อธิการบดีทั้ง 3 ท่านมีความเห็นสอดคล้องกัน 4 ด้าน ได้แก่
ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการศึกษาและการพัฒนาทักษะความสามารถของคนไทย
ความท้าทายที่เกิดจากสังคมสูงวัย เข้ามากระตุ้นให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาทักษะและการศึกษาเพื่อรองรับประชากรสูงวัยที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ด้วยการสร้างคนที่มีคุณภาพ เปิดรับการเรียนรู้ และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้
การปรับตัวของประเทศไทย มีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ
การศึกษาและการสร้างคน อธิการบดีแต่ละท่านต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างคนคุณภาพให้ประเทศ โดยการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจ เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในยุคดิจิทัลและพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้แก่นิสิตนักศึกษาได้จริง
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงบริบทโลกว่า มีเรื่องใหญ่ที่ต้องยอมรับคือ โลกกำลังเผชิญสารพัดสงครามและเรายังอยู่ท่ามกลางสมรภูมินี้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างประเทศ สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี สงครามไซเบอร์ ที่สำคัญคือ ประเทศไทยจะวางโพสิชันตัวเองอย่างไร และไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร คนก็ยังต้องมี องค์ความรู้ (Knowledge) และเมื่อเราไม่สามารถหลบกระแสเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแล้ว ก็ต้องทำให้ผู้เรียนรู้เท่าทันและรู้จักใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น ใช้ AI เป็นเครื่องมือในการช่วยให้ทำสิ่งต่างๆ ง่ายขึ้น ไม่ใช่ให้ AI มากำหนดชีวิตของเรา
“อะไรที่มาเสริมความเข้มแข็งของธรรมศาสตร์ได้ เราจะทำ เรื่อง AI ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่มากที่เราต้องเรียนรู้จากโลกธุรกิจ เด็กธรรมศาสตร์ต้องรู้จักโลกที่กว้างมากขึ้น เราปิดตัวเองแบบเดิมไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจะหาพาร์ตเนอร์ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ที่สำคัญ เรายังให้ความสำคัญกับ Basic Knowledge คือ ความรู้พื้นฐาน การคิดอย่างมีตรรกะ รู้จักตั้งคำถามที่ฉลาด ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การใช้ AI นั้นก้าวหน้าและใช้ประโยชน์ได้จริง” ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์กล่าว
ด้านการผลักดันของ KBTG ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีที่จัดตั้ง KBTG Kampus เพื่อส่งเสริมการศึกษาด้านเทคโนโลยีขึ้น ถามว่าจะทำในสิ่งที่สอดคล้องกับแต่ละภาคส่วนได้อย่างไร
คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มธุรกิจ KBTG กล่าวเปรียบเทียบ KBTG ว่าเป็นเหมือนเครื่องจักรที่เข้ามาช่วยมหาวิทยาลัย โดยบริษัทมี Mission ที่จะเข้ามาช่วยให้การศึกษายุคใหม่ที่ต้อง 1) พาคนไปสู่อนาคต 2) ทำให้คนมีความรู้มีทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และ 3) เป็นผู้บุกเบิกในการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในทิศทางเดียวกัน และนำเคสมาสร้างความเปลี่ยนแปลง เช่น เรื่อง Healthcare เรื่อง Cyber Security รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยอาจารย์ในการปรับตัวให้เข้ากับการสอนยุคใหม่
คุณเรืองโรจน์ยังกล่าวถึงโลกในอนาคตด้วยว่า ต้องการคนที่มีความรู้และสามารถผนวกหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน ความร่วมมือผสานเครือข่ายที่มีองค์ความรู้หลากหลายจึงสำคัญอย่างยิ่ง
มนุษย์ที่รู้ศาสตร์เดียวจะอยู่ยาก ในอนาคต Interdisciplinary สำคัญมาก คือ รู้แบบแกน X แกน Y คนที่รู้ลึกหนึ่งเรื่องนั้นเป็นไปได้ แต่คนที่รู้ลึกหลายๆ เรื่องและสามารถ Cross ศาสตร์ได้จะสำคัญมาก KBTG จึงดีใจมากที่เข้ามาเป็นตัวกลางในการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และดึงพันธมิตรระดับโลกเข้ามาทำงานร่วมกันได้
“จากการได้พูดคุยกับอธิการบดีแต่ละมหาวิทยาลัย ทุกท่านมีวิสัยทัศน์ในการพาวงการการศึกษาไปสร้างอนาคตให้แก่ประเทศ ต่อไปไม่ใช่แค่ Education for AI แต่เป็น AI for Education ซึ่ง KBTG อยากนำ AI เข้าไปช่วยการศึกษาในแต่ละเรื่อง เช่น ทำการทดลอง การใช้เทคโนโลยีสอนคุณหมอ นำเทคโนโลยีมาเป็น Tool เพื่อช่วยบุคลากรของลาดกระบัง หรืออย่างธรรมศาสตร์ อาจนำเทคโนโลยีมาทำอะไรที่มากกว่า Pilot Program ซึ่งปีหน้าน่าจะได้เห็นอะไรเป็นรูปธรรมมากขึ้น” คุณเรืองโรจน์กล่าว
สอดคล้องกับการใช้ AI เพิ่มทักษะให้แก่บุคลากร ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เคยถูก Ransomware โจมตี นำมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกันภัยไซเบอร์ จนมหาวิทยาลัยมหิดลมีจุดแข็งในด้าน Cyber Security และพร้อมที่จะส่งต่อความรู้เพื่อให้รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะในยุคที่มีการใช้ AI ในทุกๆ ด้านของชีวิตและการทำงาน
ศ.นพ.ปิยะมิตรกล่าวต่อถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนองค์กรและสังคม เพราะไทยกำลังเผชิญจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อการผลักดันให้บุคลากรภายในใช้ AI อย่างทั่วถึง
“จุดเปลี่ยนที่สําคัญมาก คือ Aging Society เวลาเราคิดถึงเรื่อง AI เราต้องคิดว่า AI จะไปรองรับ Aging Society อย่างไร แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไรในอนาคต มุมมองที่มหาวิทยาลัยมอง คือ อย่าไปกังวลเรื่อง AI ให้กังวลเรื่อง IA คือ คุณจะนำ AI มาใช้ในทุกพันธกิจได้อย่างไร นโยบายของเราก็คือ อาจารย์ 4,000 คน ต้องเข้าใช้ AI Premium ได้ภายในสิ้นเดือนนี้ สายสนับสนุนที่ไม่ใช่อาจารย์จะต้องใช้ AI ช่วยงานเพิ่มขึ้นทุกๆ 10% ในหนึ่งเดือน เป็นคีย์ที่เราตั้งไว้เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ เหมือนที่ Andrew Ng บอกว่า AI เหมือนกระแสไฟฟ้า มันมาแล้วนะ”
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า หลังจากที่ KBTG ร่วมมือกับลาดกระบัง ปัจจุบันมาถึงจุดขยายผลและทําให้เห็นภาพว่า สิ่งสําคัญคือ โจทย์ที่จะเป็นตัวกําหนดในเรื่องของการพัฒนา การใช้ AI สร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ
“มันเป็นจุดดีที่ทำให้อาจารย์ต้องเปลี่ยนแนวคิดว่า AI มันเป็นทาสเรา เราต้องให้ความรู้ ทำให้นักศึกษารู้จักว่า มี AI กี่แบบ แบบไหนจะใช้งานยังไง และอาจารย์จะต้องใช้เครื่องมือที่ตรวจรู้ว่านักศึกษาใช้ AI แล้วนำความรู้มาถกประเด็นกันได้ อาจารย์จึงต้องหา Tool มาเสริม ไม่ใช่ปิดกั้นไม่ให้นักศึกษาใช้ AI เพราะสิ่งสำคัญคือ คนในยุคปัจจุบันจำเป็นจะต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ เพื่อนำมาเสริมศักยภาพให้เด็กเจเนอเรชันใหม่มีทักษะด้านดิจิทัล และสามารถใช้ AI เพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้นได้"
ตอนท้ายของ Panel Session เป็นการพูดคุยเรื่องสังคมสูงวัย รศ.ดร.คมสันกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ทุกคนรู้แล้วว่า อัตราการเกิดของประชากรไทยลดลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ต้องมองว่า จะทํายังไงที่จะให้ความรู้ (Educate) แก่คนที่ยังอยู่ โดยเฉพาะคนที่จะก้าวเข้าสู่ผู้สูงวัย แต่ยังมีศักยภาพที่จะทำสิ่งต่างๆ
"จะบอกว่าคนอายุ 60 เขาต้องรีไทร์ เป็นไปไม่ได้แล้วนะ ในอนาคตจะต้องตั้งโจทย์รองรับ อย่างลาดกระบัง เราตั้ง KLLC : KMITL Lifelong Learning Center เพื่อที่จะเอามาเอ็ดดูเคตคน ว่าจะต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต แล้วก็ต้องเรียนรู้ที่จะเป็นคนสูงวัยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี จากที่เราพูดถึงเรื่อง Aging ว่าแต่ประเทศจะต้องแก้ปัญหายังไงเพื่อที่จะทําให้คนสูงวัยมีคุณภาพชนิดที่ดีได้ เดี๋ยวนี้คนไม่ได้เสียชีวิตที่อายุ 70 แต่เป็น 80 90 100 เรื่อง Wellness Healthcare จึงต้องเข้ามารองรับ Aging Society ดังนั้น ถ้านโยบายของประเทศชัดเจนขึ้น เรามีกระบวนต่างๆ ที่จะมาร่วมไม้ร่วมมือกัน เช่น ระหว่างภาคอุตสาหกรรมก็ดี มหาวิทยาลัยก็ดี ผมว่าเราร่วมทำโมเดลเพื่อไปดูแลสังคมผู้สูงวัยได้ และเราต้องคิดแล้วเพราะมันก้าวเข้ามาถึงจุดนี้แล้ว"
เพื่อให้เห็นความต้องการและเป้าหมายของหน่วยงานแต่ละภาคส่วน ภายในงานยังมีการเสวนาในประเด็น ‘KBTG Kampus Master Degree Co-program’ โดย 2 ผู้บริหารจาก KBTG และ 3 ผู้บริหารจาก 3 สถาบันการศึกษา (ตามลำดับจากซ้าย) ดังนี้
ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director, KBTG กล่าวถึงความร่วมมือในการส่งเสริมการศึกษาด้านเทคโนโลยีในครั้งนี้ ว่า KBTG มุ่งหวังที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะความสามารถด้านเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนการทำวิจัย Deep Tech จากรั้วมหาวิทยาลัยออกสู่โลกภายนอก และเผยถึง ‘หัวข้องานวิจัย’ ที่บริษัทเปิดรับภายใต้หลักสูตรต่างๆ ดังนี้
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ หลักสูตรวิชาโท
สาขาวิชาปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้เชิงลึก
> หัวข้องานวิจัยด้าน Multimodal AI in Financial Services
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สาขาวิชาสหวิทยาการ
หลักสูตรศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการ
> หัวข้องานวิจัย Data-Driven Dynamic Pricing
> หัวข้องานวิจัย Human-AI Interaction and Mental Health Solutions
มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
สาขาวิชาความมั่นคงไซเบอร์และการประกันสารสนเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)
> หัวข้องานวิจัย Data Leakage in Financial Institutions Cyber Threat Intelligence
> หัวข้องานวิจัย AI in Cybersecurity Innovation Technology
> หัวข้องานวิจัย Cybersecurity Governance
> หัวข้องานวิจัย AI-Driven Detection of Insider Threats in Financial Institutions
> หัวข้องานวิจัย AI-Based Risk Assessment for Third-Party
> หัวข้องานวิจัย Value-Driven Cybersecurity Governance: Transforming Risks into Opportunities
“เราเชื่อว่าบุคลากรจากหลายๆ มหาวิทยาลัยมีศักยภาพและมีความสามารถที่แตกต่างกัน จุดประสงค์ของเราคือ ต้องการสร้างสเปซให้นิสิตนักศึกษาที่เรียนจบแต่ละที่เข้ามาทำงานด้วยกันและทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ได้ เพราะเราเชื่อในความหลากหลายทางความคิดและภูมิหลังที่แตกต่าง ผู้เรียนจึงควรมีความมุ่งมั่น มี Collaboration Mindset ยินดีที่จะร่วมกันทำงานเป็นทีมได้ แล้วก็มีทักษะใฝ่รู้อยู่เสมอ” ดร.ทัดพงศ์กล่าว
เพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้เรียน ผู้บริหารสถาบันการศึกษาเห็นพ้องกันว่า ต้องการผู้เรียนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ เอาจริงเอาจังกับการเรียน และมีความใฝ่รู้
“เราดีไซน์หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรแบบ 1 ปี ขึ้นอยู่กับความพร้อมของนักศึกษาด้วย ประเด็นสำคัญเลยก็คือ เราต้องการผู้เรียนที่เอาจริงเอาจัง ต้องยอมรับว่าในหลักสูตรบัณฑิตศึกษา ผู้เรียนจะเรียนแบบลากยาว ต่างจากคนที่ไปเรียนต่างประเทศที่มี Mission ชัดเจนว่าจะต้องจบภายในกี่ปี นี่จึงเป็นความท้าทายของคนที่เรียนปริญญาโทและปริญญาเอกในเมืองไทย เพราะเขายังอยู่ในสภาวะแวดล้อมเดิม ทั้งด้านครอบครัว แฟน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ทำให้ผู้เรียนเรียนจบช้า จึงอยากเน้นให้ผู้สมัครเรียนอุทิศเวลาอย่างจริงจัง เพราะอาจารย์พร้อม KBTG ก็พร้อม จึงอยากให้ผู้เรียนพร้อม สำหรับ 2 ภาคการศึกษาปกติ บวกด้วย 1 ภาคฤดูร้อน ก็จะสามารถจบเป็นมหาบัณฑิตได้” ศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล ประธานกรรมการบริหารหลักสูตร สาขาวิชาสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์ กล่าว
ในด้านการซัพพอร์ต KBTG Kampus ดร.เจริญชัย บวรธรรมรัตน์ Senior Venture Director, KBTG เปิดเผยว่า KBTG ต้องการผลักดันการศึกษาไทยให้ดีขึ้นและนำองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาไปใช้งานได้จริง โดยนำเสนอโปรเจกต์ด้าน AI ที่เกี่ยวกับการเงิน เพื่อทำให้คนไทยมีทักษะตรงตามที่ตลาดแรงงานต้องการ
“เราต้องการสร้าง Talent ที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศ จึงเลือกว่าต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้ด้านไหน ซึ่งก็คือ M.A.D. - Machine Learning, AI และ Data Sciences ที่ KBTG มีความถนัดและเข้ามาตอบโจทย์ภาคการศึกษาได้ และเราก็คาดหวังว่าจะได้โครงการวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดและใช้งานได้จริง เพราะว่า KBTG ก็อยู่ในภาคอุตสาหกรรม เราต้องการพัฒนาคนรุ่นใหม่จริงๆ ก็หวังว่าผู้เรียนจะสร้างโครงการวิจัยที่มีคุณค่าและสร้างอิมแพ็กให้ประเทศจริงๆ หรือต้องนำไปพัฒนาต่อยอดได้”
“สำหรับความร่วมมือระหว่าง KBTG Kampus กับสถาบันการศึกษา สิ่งที่เราตกลงร่วมกันกับมหาวิทยาลัยและสิ่งที่จะทำกับผู้เรียน ต้องมองเห็นเป็นภาพเดียวกันก่อน ว่าสุดท้ายแล้ว Deep Tech ที่จะเกิดขึ้นมาต้องใช้ได้จริง หรืออีกส่วนหนึ่ง หรือถ้ายังไม่สามารถใช้ได้จริง อย่างน้อยก็ต้องเป็นผลงานวิชาการหรือเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ” ดร.เจริญชัยกล่าว
ตามปกติแล้วการนำเสนอหัวข้อเพื่อสมัครเข้าเรียนปริญญาโท จะยังไม่มีการระบุหัวข้อที่แน่ชัด แต่ในฐานะบริษัทเทคที่มีโจทย์ทางธุรกิจอยู่แล้ว KBTG จึงประกาศทิศทางในสิ่งที่องค์กรต้องการจะไปผ่านทาง KBTG Kampus เพื่อให้แต่ละหัวข้อเป็นทางเลือกแก่ผู้สนใจ ซึ่งต่างกันไปตามความเชี่ยวชาญของแต่ละสถาบันการศึกษา
และเนื่องจาก KBTG Kampus Master Degree Co-program เป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ดร.เจริญชัยให้ข้อมูลเสริมในตอนท้ายว่า KBTG กับมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ตั้งเป้าสอดคล้องกันว่า ต้องการให้มีผู้สำเร็จการศึกษาจากแต่ละหลักสูตรไม่น้อยกว่า 5-6 คน และหากเป็นไปได้ KBTG ก็คาดหวังให้ผู้สำเร็จการศึกษาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรในอนาคต
“ยิ่งเข้าสู่สังคมสูงวัย เด็กรุ่นใหม่ยิ่งต้องสร้าง Productivity แต่ KBTG สร้างคนเองไม่ได้ เราจึงต้องเป็น Enable ช่วยมหาวิทยาลัยสร้างบุคลากร และเป็น Tool ให้บุคลากรใช้สร้างคนให้เป็นผู้นำประเทศ ซึ่งหลักสูตร Co-Master's Degree ที่ร่วมกันสร้างขึ้นมานี้ คนทำงานสามารถเรียนเพื่อ Reskill Upskill ได้เลย เรียนแล้วอีก 10 ปีก็จะไม่ตกงาน” คุณเรืองโรจน์ฝากทิ้งท้าย
บทความนี้เป็น Advertorial
#KBTG #KBTGKampus #BeyondEducation #AI #MAD #CyberSecurity
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด