หากจะพูดถึงพระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อคนไทยทั้งประเทศ ก็คงจะพูดไม่หมดเพียงแค่ในบทความเดียว ทั้งพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี ด้านวรรณกรรม ด้านกีฬา การใช้เครื่องมือเทคโนโลยีโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ ทรงใช้คอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ ทรงประดิษฐ์อักขระ และในปีใหม่ของทุกๆ ปี เราคนไทยจะได้รับ ส.ค.ส ที่ทรงประดิษฐ์ด้วยคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนเพื่อทรงอวยพรปวงชนชาวไทย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของพระอัจฉริยภาพด้านเทคโนโลยีเท่านั้น และเนื่องด้วยวันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันเทคโนโลยีของไทย รัฐบาลได้ตระหนักถึงพระปรีชาสามารถในทางเทคนิค จึงมีมติคณะรัฐมนตรี ถวายพระเกียรติให้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย" ด้วยทรงมีพระอัจฉริยภาพและทรงสนพระทัยในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ทำให้พระองค์ทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาด้านการสื่อสารด้านต่างๆ ทรงนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในโครงการพัฒนาต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
ความเป็นมาของพระอัจฉริยภาพด้านคอมพิวเตอร์นั้นเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2529 ขณะนั้น ม.ล.อัศนี ปราโมช ได้ซื้อคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ Macintosh SE ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเครื่องที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น เพราะสามารถเก็บและพิมพ์โน้ตเพลงได้ การเรียนรู้และใช้งานก็ไม่ยาก ซึ่งพระองค์ไม่เพียงแต่ทรงงานด้วยคอมพิวเตอร์เท่านั้น หากแต่ยังทรงประดิษฐ์และสร้างสรรค์งานต่างๆ มากมายด้วยคอมพิวเตอร์ อาทิ
พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยหลายแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ เช่น แบบจิตรลดา แบบภูพิงค์ ฯลฯ และเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ได้ทรงทดลองใช้โปรแกรม "Fontastic" สร้างตัวอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษรูปแบบต่างๆ และขนาดต่างๆ ในการสร้างรูปแบบตัวอักษร (Font) ตามวิธีการทั่วๆ ไปคือ กำหนดเป็นจุดๆ มาต่อกันเป็นตัวอักษร ซึ่งต้องใช้ความอดทนและความประณีตมาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้เวลาที่ทรงว่างจากพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อสร้างตัวอักษรด้วยคอมพิวเตอร์ ในเวลาต่อมาได้มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM PC Compatible และทรงสนพระทัยศึกษาในการพัฒนา Software ต่างๆ และได้สร้างโปรแกรมใหม่ๆ ขึ้นมา ทรงแก้ซอฟต์แวร์ในเครื่อง เช่น โปรแกรมภาษาไทย CU WRITER ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์
ทรงสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับพิมพ์ตัวอักษรเทวนาครี หรือที่พระองค์ท่าน ทรงเรียกว่า "ภาษาแขก" เริ่มเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2530 ได้ทรงศึกษาตัวอักษรเทวนาครีด้วยพระองค์เอง จากพจนานุกรมและตำราภาษาสันสกฤต และทรงสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีสันสกฤต เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และท่านองคมนตรี ม.ล. จิรายุ นพวงศ์ ซึ่งจะต้องตรวจสอบตัวอักษรที่ทรงสร้างขึ้น ซึ่งจัดทำได้ยากกว่าตัวอักษรภาษาไทย เพราะตัวอักษรเทวนาครีนั้นรูปแบบไม่คงที่ พระองค์นำโปรแกรมออกแสดงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530
เมื่อหลังจากเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรงานจุฬาวิชาการ '30 บนศาลาพระเกี้ยวแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จฯ มาที่ที่มหาวิทยาลัยจัดไว้ ทรงนำโปรแกรมที่บรรจุอยู่ในแผ่นจานแม่เหล็ก (diskette) ซึ่งทรงใช้ชื่อรหัสว่า Devwrit Test และ Devwrit Temp ทรงพระกรุณาแสดงการพิมพ์ตัวอักษรต่างๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ เริ่มด้วย Chulalongkorn University โดยทรงประดิษฐ์ให้ตัวอักษรมีขนาดต่างๆ ลดหลั่นตามขนาดของรูปแบบตัวอักษร (Font) พร้อมทั้งพระราชทานคำอธิบายต่อจาก Chulalongkorn University ทรงพิมพ์ชื่อมหาวิทยาลัยเป็นภาษาสันสกฤตด้วยตัวอักษรเทวนาครี หลังจากนั้นทรงพิมพ์พระนามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยตัวอักษรเทวนาครี ตามด้วยอักษรโรมัน ซึ่งออกเสียงแบบสันสกฤตและอักษรไทยตามลำดับ หลังจากนั้นทรงใช้อักษรเทวนาครีพิมพ์ชื่อ "จิรายุ นพวงศ์" และ "สมชาย" (รองศาสตราจารย์สมชาย ทยานยง)
พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,472,900 บาท ในเดือนพฤษภาคม 2534 ให้มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา ทำให้การศึกษาพระไตรปิฎกและชุดอรรถกถาเป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ อีกทั้งรวบรวมเนื้อหาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
สำหรับโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาตามพระราชดำรินี้ ได้พัฒนาแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2534 ได้รับการพัฒนาทั้งหมด 4 รุ่น จนมาถึงรุ่นที่ 4 ชื่อ BUDSIR IV (บุดเซอร์ รุ่น 4) มาจากคำว่า Buddhist Scriptures Information Retrieval
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลได้บันทึกพระไตรปิฎกและอรรถกถา ลงบนแผ่น CD-ROM แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2537 ปัจจุบันได้มีการพัฒนาทำให้สามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ที่ http://budsir.mahidol.ac.th/ (ผู้ใช้ใหม่จะต้องลงทะเบียนก่อน) นับเป็นพระไตรปิฎกและอรรถกถา ฉบับคอมพิวเตอร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงปรุง ส.ค.ส. อวยพรปีใหม่ พระราชทานฉบับแรกส่งถึงคนไทยในปีพ.ศ. 2530 โดยทรงปลีกเวลาจากพระราชกรณียกิจมาปรุแถบเทเล็กซ์หรือโทรพิมพ์ เราจึงเห็นข้อความตามท้าย ส.ค.ส. ว่า “กส. 9 ปรุ” เป็นรหัสเรียกขานวิทยุแทนพระองค์เป็นผู้ปรุขึ้น ส่วนตัวเลขที่ตามหลังคือวันที่และเวลาที่ทรงสร้าง ในรูปแบบ วว ชช นน ดด ปปปป. ในส.ค.ส. พระราชทานฉบับแรกจึงหมายถึงเวลา 14.30 น. วันที่ 31 ธันวาคม 2529
ส.ค.ส. ฝีพระหัตถ์ล้วนเป็นสีขาว-ดำ ซึ่งเรื่องนี้ ดร.สุเมธ ได้แสดงทรรศนะว่า “เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการสะท้อนให้ลูกหลานไทยได้เห็นถึงตัวอย่างของความประหยัด มัธยัสถ์ สิ่งของหลาย ๆ สิ่งแม้จะไม่มีสีสันดึงดูดตา แต่ก็มากมายด้วยความหมาย พระองค์พยายามทำทุกสิ่งให้เกิดประโยชน์ตลอดเวลา ทรงรักความเรียบง่าย ยึดมั่นในความหมาย และคุณค่า ของสรรพสิ่งเป็นที่ตั้ง มากกว่าจะมองกันที่ความสวยงาม ฟุ้งเฟ้อ”
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ได้เกิดไต้ฝุ่นแองเจลา (Angela) ทำความเสียหายให้แก่ประเทศฟิลิปปินส์ และจะเข้าสู่ประเทศไทยในเวลาต่อมา ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนประชาชนชาวไทยให้เตรียมระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงติดตามความเคลื่อนไหวของไต้ฝุ่นนี้ และได้พระราชทานความเห็นว่าไม่ควรตระหนกแต่อย่างใดเนื่องจากไต้ฝุ่นได้อ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนเข้าสู่ประเทศเวียดนาม และได้แปรสภาพเป็นความกดอากาศขนาดย่อมแล้ว นับแต่นั้นทางกรมอุตอนิยมวิทยาก็ได้พัฒนาตามเบื้องพระยุคลบาทต่อไป
พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า “การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท, การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี”
พระองค์ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้นำระบบสื่อสารแบบถ่ายทอดสัญญาณหรือ Repeater ซึ่งเชื่อมต่อทางวงจรทางไกลขององค์การโทรศัพท์ฯ ให้มูลนิธิแพทย์อาสาฯ (พอ.สว.) นำไปใช้เพื่อช่วยเหลือรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยในท้องถิ่นห่างไกล
และในการทำฝนเทียมหรือฝนหลวงพระราชทาน ได้ประสบปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ไม่ทราบล่วงหน้า ซึ่งนักบินผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำแก้ไขโดยฉับพลัน และทรงทราบถึงปัญหาสำคัญคือ การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งวิทยุให้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนเทียม ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน
นอกจากนี้ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัย รวมถึงการออกแบบและสร้างสายอากาศย่านความถี่สูงมาก หรือที่เรียกว่า VHF (วี.เอช.เอฟ) ด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ
ในปี พ.ศ. 2495 พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. (อักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน) ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต เริ่มแรกตั้งเป็นสถานีเล็กๆ มีเครื่องส่ง 2 เครื่อง ขนาดที่มีกำลังส่ง 100 วัตต์ ออกอากาศด้วยคลื่นสั้นและคลื่นยาวในระบบ AM พร้อมๆ กัน ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกำลังส่ง โดยมีชื่อรหัสสถานีว่า HS 1 AS และในปี พ.ศ. 2525 สถานีวิทยุ อ.ส. ได้เพิ่มการส่งกระจายเสียงในระบบ FM ขึ้นอีกระบบหนึ่ง
นอกจากนั้นสถานีวิทยุ อ.ส. ยังได้ทำหน้าที่แจ้งข่าวสารแก่ประชาชนในโอกาสสำคัญ หรือเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ ขึ้น เช่น การเกิดโรคโปลีโอระบาดในปี พ.ศ. 2495 อหิวาตกโรคในปี พ.ศ. 2501 และเมื่อเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกในปี พ.ศ. 2505 โดยมีพระราชดำริให้ใช้สถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม
และในปัจจุบันนี้สถานีวิทยุ อ.ส. ยังคงกระจายเสียงเป็นประจำทุกวันเว้นวันจันทร์ โดยออกอากาศทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว ในระบบ AM 1332 KHzและ FM 104 MHz ควบคู่กันไปด้วยกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ โดยออกอากาศวันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา 10.30-12.00 และ 16.00-19.00 วันอาทิตย์ เวลา 9.00-12.00 หยุดทุกวันจันทร์
สิ่งที่ทำให้เป็นประเทศไทยได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้าในเรื่องของการศึกษาที่ทำให้เกิดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมที่โรงเรียนไกลกังวลหัวหิน จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “ดาวเทียมไทยคม” ที่ได้นำเข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียนการสอน ทำให้เด็กนักเรียนในชนบทได้เรียนผ่านดาวเทียมไทยคม
จากเสียงของประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่ได้เห็นพระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ ของพระองค์ กล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระอัจฉริยะภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ทรงศึกษาพัฒนาและเป็นผู้จุดประกายเทคโนโลยีสารสนเทศ อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนของพระองค์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อการพัฒนาอย่างหาที่สุดมิได้
ที่มาของภาพและเนื้อหา : Sosicty Softbizplus http://siweb.dss.go.th/sci60/team6/data/page4.htm
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด