ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว ทำให้คำว่า 'Digital transformation' อาจไม่เพียงพอสำหรับธุรกิจธนาคารอีกต่อไป 'กรุงศรี ฟินโนเวต' จึงได้เร่งปรับตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยการเจาะเข้าไปใน Ecosystem ที่สำคัญ เพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของธนาคารกรุงศรีให้ก้าวเข้าสู่การเป็น 'Digital banking transformation' อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมเดินหน้าศึกษา blockchain DeFi ซึ่งเป็นโลกแห่งอนาคตของธนาคาร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง
คุณแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยถือว่าก้าวสู่การเป็น 'Digital banking transformation' แล้วไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมต่างๆบนมือถือ แต่สำหรับ 'กรุงศรี ฟินโนเวต' มองว่าเทคโนโลยีทุกวันนี้ไม่สามารถยังตอบโจทย์การให้บริการได้หมด เนื่องจากมีธุรกรรมหลายอย่างที่ไม่สามารถทำบนออนไลน์ได้อย่างราบรื่น และมีลูกค้าบางรายจำเป็นต้องเดินทางไปที่สาขาอยู่
ดังนั้นนิยามของคำว่า 'Digital banking transformation' ของ กรุงศรี ฟินโนเวต คือ ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำธุรกรรมที่สาขา ซึ่งเราต้องทำ Digital ที่ตอบโจทย์ตรงนี้ให้กับลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และ Gen Z เนื่องจากส่วนใหญ่ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ต้องการที่จะเดินทางไปทำธุรกรรมที่สาขา
สำหรับปี 2564 สิ่งที่ 'กรุงศรี ฟินโนเวต' ต้องการก้าวต่อไปนับจากนี้ คือการเจาะเข้าไปใน Ecosystem ที่สำคัญ ที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของธนาคารกรุงศรีให้ก้าวต่อไปได้ทันโลกแห่งอนาคต โดยมุ่งเดินหน้ากลยุทธ์การดำเนินงาน ดังนี้
1. การมุ่งสร้างและสนับสนุนสตาร์ทอัพในทุกระดับ และสร้าง Ecosystem ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น (Venture Builder and Ecosystem) ผ่านโครงการ Meet the Angels, Meet the Angels -Sandbox และ Krungsri Unicorn และการสร้างชุมชนสตาร์ทอัพ
2. การร่วมทำงานกับสตาร์ทอัพในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partnership) โดยกรุงศรีฟินโนเวตจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับหน่วยธุรกิจภายใต้กรุงศรี กรุ๊ป โดยจะเน้นทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพที่สามารถเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจของกรุงศรีในเรื่องการลดต้นทุน การสร้างรายได้ การสร้างนวัตกรรม และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล
3. การลงทุนต่อเนื่อง (Investment) โดยเน้นเพิ่มการลงทุนในสตาร์ทอัพซีรี่ส์ A ขึ้นไปด้านฟินเทคอีคอมเมิร์ซ พรอพเทค และ AI ในไทยและอาเซียน ด้วยลงเงินทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่สำคัญจะต้องเป็นการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาให้กับบริษัทได้
ซึ่งบริษัทฯจะหาสตาร์ทอัพที่อยู่ใน Ecosystem ดังต่อไปนี้ 1. E-commerce Ecosystem 2. living ที่อยู่อาศัย หรือ อสังหาริมทรัพย์ 3. Mobility
ทั้งนี้ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กรุงศรี ฟินโนเวต ได้เข้าลงทุนในบริษัทสาร์ตทอัพต่างๆโดยใช้งบลงทุนราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีแผนขอเงินทุนเพิ่มอีกประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้รองรับในการลงทุนอีกระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า ซึ่งการลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 1-20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้วแต่ธุรกิจนั้นๆ
นอกจากนี้ ยังมี Area ที่ กรุงศรี ฟินโนเวต ให้ความสนใจและมองเป็นเรื่องของโลกแห่งอนาคตของธนาคาร คือ blockchain Decentralized Finance หรือ blockchain DeFi เนื่องจากปัจจุบัน trend ของโลก ในเรื่องของเครื่องมือทางการเงินจะพูดถึง blockchain DeFi ดังนั้น บริษัทฯจึงมองว่าเป็นสิ่งที่ธนาคารควรให้ความสำคัญและมีความเข้าใจกระบวนการทำงานด้วย
" หากถามว่าอนาคตธนาคารของเราจะเดินก้าวสู่การเป็นอะไร ระหว่าง Digital banking - นีโอแบงก์ หรือ DeFi ผมต้องบอกว่าเราคงจะเป็นทุกตัว ไม่จำเป็นต้องระบุว่าจะเป็นตัวไหน เพราะปัจจุบันกรุงศรีเรามีหลากหลายแอปพลิเคชั่น เราเลยต้องปรับตัวของเราเอง ขึ้นไปให้พร้อมที่จะเจอกับบรรดาเหล่านีโอแบงก์ ที่กำลังเข้ามาในอีก 2-3 ปี ดังนั้นแอปพลิเคชันของเราคงต้องมีความหลากหลาย และคนละกลุ่มเป้าหมายกัน เราจึงต้องปรับตัวและมีพันทมิตรกับเหล่าบรรดาสตาร์ทอัพเพื่อที่จะต่อยอดทางธุรกิจของธนาคารต่อไป แต่ก่อนเราอาจจะใช้คำว่า Digital transformation ตอนนี้ผมมองว่ามันไม่เพียงพอสำหรับแบงก์แล้ว เราจึงต้องเป็น 'Digital banking transformation' แล้วครับ " คุณแซม กล่าว
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด