จากสถานการณ์ที่ไวรัสโคโรน่าได้ระบาดไปทั่วโลก และมีผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นทุกวัน กลายเป็นวิกฤติที่สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้สิ่งหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงการมากที่สุดคือ 'การจัดการปัญหาของผู้นำในแต่ละประเทศ' เพราะเมื่อใดก็ตามที่สังคม หรือองค์กรประสบกับวิกฤติ 'ภาวะผู้นำ' ถือเป็นกระบวนการที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ในการที่จะชี้นำ และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออย่างเต็มใจ รวมถึงการบรรเทาและฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นได้
หนึ่งในประเทศที่ได้รับการยกย่องถึง การจัดการปัญหา และการมีภาวะผู้นำที่ดีที่สุด คือ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่สูงเป็นอันดับ 3 รองจากประเทศญี่ปุ่น และจีน ในบทความนี้ Techsauce ได้มีการถอดรหัสคำพูดจากการสื่อสารต่อประชาชนของ 'ลี เซียนลุง' นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ในการรับมือและแก้ไขสถานการณ์วิกฤติได้อย่างสำเร็จ
ลี เซียนลุง ได้มีแถลงถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าผ่านสื่อเมื่อวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้ประชาชนชาวสิงคโปร์ได้ทราบถึงสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ การเตรียมตัวรับมือ ความเชื่อมั่น รวมถึงการเรียกขวัญและกำลังใจ
เขาได้เริ่มบทสนทนาด้วย การพูดถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน อย่างที่ไม่หลีกเลี่ยงการบอกความจริงกับประชาชนด้วยสีหน้าและท่าทางที่เป็นมิตรและน้อมรับ โดยเขากล่าวว่า "ตอนนี้เราทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรน่า มาเป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้ว รัฐบาลกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรน่าในครั้งนี้ โดยในวันนี้ผมจะมาสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะให้ข้อมูลกับชาวสิงคโปร์เตรียมตัวรับมือในระยะต่อไป
วันนี้ผมขอเรียนตามตรง ถึงสถานการณ์ที่รอเราอยู่ข้างหน้า... นายกสิงคโปร์ กล่าวต่อด้วยสีหน้าที่จริงจังขึ้นในการบรรยาย เพื่อบ่งบอกถึงความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยเขาเท้าความไปถึงช่วงวิกฤติโรคซาร์สที่เคยระบาดเมื่อ 17 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราสามารถที่จะรับมือกับไวรัสโคโรน่าได้ดีขึ้น
โดยเราได้มีการจัดเตรียมหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลไว้อย่างเพียงพอ และเรามีการพัฒนาอุปกรณ์เครื่อมือทางด้านการแพทย์ รวมถึงเราได้มีการศึกษาเรื่องไวรัสมาอย่างต่อเนื่อง เรามีหมอและพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอ ต่อการรับมือในสถานการณ์เช่นนี้ อีกทั้งเรายังมีการเตรียมการทางด้านจิตวิทยาด้วย ซึ่งจะทำให้ชาวสิงคโปร์รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และควรรับมืออย่างไร"
หลังจากนั้น ลี เซียงลุง กล่าวต่อไปด้วยสีหน้าเปี่ยมด้วยการให้กำลังใจกับประชาชน ในการผ่านการรับมือโรคซาร์สมาแล้ว โดยยกตัวอย่างจากความสำเร็จในครั้งนั้นที่สามารถผ่านมาได้ เปรียบเทียบให้ประชาชนเห็นภาพ และเข้าใจง่าย จากการที่ซาร์ส ถือเป็นโรคระบาดร้ายแรง ณ ช่วงเวลานั้น แต่ไวรัสโคโรน่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่มีใครรู้อนาคตเลยว่าจะรุนแรงไปขนาดไหน และแนวโน้มจะหยุดระบาดเมื่อไหร่ โดยลี เซียนลุงอาศัยการเปรียบเทียบด้วยการบอกถึงความแตกต่างของโรคทั้ง 2 ว่า
"อย่างแรก คือ โรคไข้หวัดโคโรน่า เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายกว่าโรคซาร์ส และหยุดการแพร่กระจายยากกว่า
อย่างที่สอง ไวรัสโคโรน่าอันตรายน้อยกว่าไวรัสซาร์ส โดยที่ผ่านมาโรคซาร์สประชากรที่ติดโรคมีอัตราการตายอยู่ที่ประมาณ 10% ส่วนโคโรน่าเป็นไวรัสใหม่ที่มาจากมณฑลอู่ฮั่น มีอัตราการตายอยู่ที่ประมาณ 0.2% ขณะที่ไข้หวัดธรรมดา มีอัตราการตายอยู่ที่ 0.1% ดังนั้นเมื่อเทียบกันแล้ว ไข้หวัดโคโรน่าจะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่มากกว่าโรคซาร์ส"
นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวอีกว่า "สถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าวยังคงมีการพัฒนาทุกวัน ดังนั้นเรามีการเตรียมการที่พร้อมจะตอบสนองทันที โดยช่วงที่ผ่านมาเราได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด ถึงประชากรที่มาจากจีน และเราสามารถสืบหาและค้นพบคนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า แล้วนำไปขึ้นบัญชีว่าได้มีการสัมผัสโรคดังกล่าวแล้ว และแยกออกจากประชากรของเรา แต่ยังมีสิ่งที่น่ากังวลใจอีกอย่าง คือ ไวรัสโคโรน่าที่กำลังปะปนอยู่ในประชากรของเราเอง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาให้เราได้มีการยกระดับมาตรฐานติดตามเชื้อไวรัสป็นระดับสีส้ม
เมื่อเป็นเช่นนี้เราได้มีการลดกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่สาธารณะ ที่จะทำให้เชื้อไวรัสโคโรน่าระบาดได้ง่าย โดยเราได้มีการเลื่อนการจัดงานฉลองปีใหม่จีนออกไปก่อน สำหรับการยกระดับเป็นสีส้มนั้น ที่ผ่านมาเราได้ทำแล้วในช่วงปี 2009 ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส H1N1
ดังนั้นประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะเราไม่ได้มีการปิดเมือง หรือว่าจำกัดให้ทุกคนอยู่แต่ในบ้าน เรามีเครื่องอุปโภคบริโภคเพียงพอ ประชากรทุกคนไม่จำเป็นต้องกักตุนอาหาร บะหมี่สำเร็จรูป อาหารกระป๋อง หรือกระดาษชำระ
สิ่งสำคัญภายใต้การตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่ประชากรทำได้
ตอนนี้เรายังคงติดตามการแพร่กระจายของเชื้ออยู่ ซึ่งอาจจะมีเพิ่มมาจากที่ไหนไม่รู้ได้อีก ซึ่งถ้าสถานการณ์ยังมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น เราก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการรับมือ โดยเราเองไม่สามารถกักตัวคนติดเชื้อได้ทั้งหมด หรือมีโรงพยาบาลในการรองรับที่เพียงพอ ดังนั้น ถ้ารู้สึกว่าเป็นเล็กน้อยก็อยู่บ้าน เพื่อที่จะให้ที่โรงพยาบาลสามารถรักษาคนไข้ที่เป็นหนักได้อย่างเต็มที่ รวมถึงคนแก่ และ เด็ก
แต่ตอนนี้เรายังไม่ไปถึงจุดนั้น แต่ไม่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด เราก็ต้องคิดเตรียมการไว้ก่อน เผื่อมีอะไรเกิดขึ้น ผมจึงได้มาแชร์มาตรการรับมือที่เป็นไปได้
ผมมั่นใจว่าเราทุกคนจะผ่านวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ไปได้
วิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้น บททดสอบจริง ๆ คือ การให้ความร่วมมือกันทางสังคม และความยืดหยุ่นทางจิตใจที่พร้อมต่อการรับมือจากวิกฤติที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ความหวาดกลัว และความกังวล ซึ่งเป็นการตอบสนองโดยธรรมชาติของมนุษย์ ทุกคนต่างก็ต้องการปกป้องตัวเอง และครอบครัว จากโรคใหม่ที่เราไม่รู้
'แต่ความกลัวเป็นสิ่งที่ทำร้ายเราได้มากกว่าไวรัส' ถ้าเราทุกคนตื่นตระหนก หรือทำในสิ่งที่ทำให้แย่ลง ด้วยการปล่อยข่าวลือให้แพร่กระจายกันในออนไลน์ จนเกิดการกักตุนหน้ากากอนามัย อาหารสำเร็จรูป หรือแม้กระทั่งการตำหนิติเตียนกลุ่มคนที่ทำให้มีการระบาดของโรค แทนที่จะใช้ความกล้าหาญผ่านช่วงเวลาตึงเครียดนี้ไปด้วยกัน นี่คือสิ่งที่ชาวสิงโปร์ควรทำในขณะนี้"
พร้อมกันนี้ ลี เซียงลุง ได้กล่าวทิ้งท้ายสร้างขวัญและกำลังใจให้กับประชาชนว่า "ตอนนี้ผู้นำท้องถิ่น และอาสาสมัครกำลังนำหน้ากากอนามัยไปแจกตามบ้านเรือน นักศึกษามหาวิทยาลัยได้นำอาหารไปส่งให้เพื่อนที่หยุดอยู่บ้าน
ผู้ที่ทำงานด้านสาธารณะสุข ซึ่งเป็นคนที่ต่อสู้กับเชื้อโรคโดยตรง พวกเขาได้ทำหน้าที่รักษาคนไข้ตามโรงพยาบาลและคลินิกช่วยให้คนไข้ดีขึ้นโดยเร็ว
ภาคธุรกิจ สหภาพแรงงาน พนักงานขับรถโดยสาร ต่างก็ให้บริการล่วงเวลาในการช่วยดูแลประชาชนชาวสิงคโปร์ พวกเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับเราทุกคน นี่คือ ความเป็นคนสิงโปร์ นี่คือเรา
เรามายืนหยัดที่จะผ่านพ้นวิกฤติการระบาดของโรคนี้ไปด้วยกัน ใช้ความระมัดระวังอย่างสมเหตุสมผล ช่วยเหลือคนอื่น ใจเย็น และดำเนินชีวิตต่อไป
ในยามวิกฤติที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ‘ภาวะผู้นำ’ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การคลี่คลายปัญหา สิ่งที่เห็น คือ การปรากฎตัวของ ลี เซียนลุง ต่อการรับมือวิกฤติครั้งนี้ ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูจริงใจ เข้าถึงง่าย ลงมือทำจริง
สิ่งที่สังเกตได้อย่างหนึ่งของคลิปแถลงการณ์ คือ ภาพลักษณ์ของผู้นำที่แสดงถึงความใกล้ชิดกับประชาชน หน้าตาดูเป็นมิตร และสามารถเข้าถึงง่าย ด้วยการแต่งตัวใส่เสื้อเชิ้ตธรรมดา รูปแบบของการแถลงการณ์เป็นการนั่งเสมือนพูดคุยกับประชาชน ลักษณะท่าทางการนั่งที่ดูอ่อนน้อม ไม่ได้บอกถึงการแบ่งแยก หรือการแสดงอำนาจแต่อย่างใด แต่เป็นการสื่อสารอย่างเป็นกันเอง เก้าอี้ที่ไม่ได้ดูหรูหรา ฉากหลักที่เป็นสีพื้นธรรมดา ไม่ได้มีพิธีรีตรองมากมาย
ลักษณะเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการรับรู้ของประชาชนทั้งสิ้น ซึ่งการแสดงออก ด้วยสัญญะดังกล่าวนั้น เป็นการบ่งบอกเชิงจิตวิทยาว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไข และผ่านพ้นมันไปได้ รัฐบาลอยู่เคียงข้างประชาชน ปัญหาไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โต ที่จะต้องทำให้เป็นทางการมาก หรือจะต้องตึงเครียดแต่อย่างใด
John C. Maxwell ผู้เชี่ยวชาญด้านการเป็นผู้นำในสหรัฐอเมริกา ได้ระบุถึงหลักพื้นฐาน 7 ประการของภาวะผู้นำในยามวิกฤติ ดังนี้
การเข้าใจถึงแก่นของปัญหาอย่างแท้จริง : ในยามวิกฤติผู้นำต้องเข้าใจว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง สถานการณ์ตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น ซึ่งในที่นี้ส่วนใหญ่คือ ความไม่รู้ของประชากรว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และต้องรับมืออย่างไร นำไปสู่ความตื่นตระหนก ซึ่งจะนำผลเสียตามมาอีกมากมาย ลี เซียนลุงจึงเลือกที่จะสื่อสารกับประชาชนผ่านสื่ออย่างตรงไปตรงมา
ลงมือทำอย่างรวดเร็ว : หลังจากที่เข้าใจปัญหาแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ การลงมือทำ สำหรับปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรน่า อีกอย่างหนึ่งคือ ความหวาดหลัว และความกังวลของประชาชน การออกแถลงการณ์ชี้แจงสถานการณ์ เรียกขวัญและกำลังใจเช่นนี้ ถือเป็นหนึ่งในการลงมือทำอย่างรวดเร็ว
ให้ความมั่นใจ : สิ่งที่สังเกตได้ตลอดการแถลงการณ์ของลี เซียนลุง คือ การย้ำกับประชาชนว่า 'เราทุกคนจะผ่านวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ไปได้' พร้อมให้เหตุผลที่แสดงให้เห็นถึงการกระทำที่นำไปสู่การวางมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ต่อการควบคุมการระบาดของไวรัส
ลดความซับซ้อนของสถานการณ์ : ทำให้สถานการณ์ที่กำลังวิกฤติ จากความไม่รู้ และคลุมเครือ เกิดความกระจ่าง และแยกย่อยให้เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ในกรณีนี้ ลี เซียนลุง ได้พูดถึงโรคไข้หวัดโคโรน่าอย่างเข้าใจ และสื่อสารให้ประชาชนเห็นภาพตามและเข้าใจง่าย ด้วยการยกกรณีศึกษาที่ร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นอย่างโรคซาร์ส ที่เป็นที่จดจำของประชากรทั่วโลก ว่าไวรัสโคโรน่าไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น แต่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ พร้อมยกสถิติมาสนับสนุน
อย่างไรก็ตามเหล่านี้ถือเป็นการวิเคราะห์โดยหยิบยกหลักการพื้นฐานของการเป็นผู้นำในยามวิกฤติจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเป็นผู้นำมาประกอบเท่านั้น แต่นายกสิงคโปร์ยังมีข้อบ่งชี้อีกหลากประการ ที่ชวนให้เรียนรู้ถึงคุณลักษณะของการเป็นผู้นำที่ดี ที่ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่าจะพาประเทศชาติรอดพ้นจากวิกฤติที่เกิดขึ้นไปได้
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด