สรุปคุณสมบัติที่ผู้นำยุค Digital Disruption ต้องมี จาก Forbes Global CEO Conference 2018 | Techsauce

สรุปคุณสมบัติที่ผู้นำยุค Digital Disruption ต้องมี จาก Forbes Global CEO Conference 2018

ฟอร์บส มีเดีย (Forbes Media) จัดการประชุม Forbes Global CEO Conference รวมสุดยอดผู้นำระดับโลก ครั้งที่ 18 ที่กรุงเทพฯ ในธีม “The World Reboots” ในครั้งนี้เป็นการรวมกลุ่มผู้นำจากแต่ละภาคธุรกิจ ได้มารวมตัวพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเสนอมุมมองในประเด็น เศรษฐกิจโลก เทคโนโลยี นวัตกรรม และโอกาสในการลงทุนในภาคต่างๆ

ในยุคของความไม่แน่นอนนี้ นับว่าเป็นความท้าทายของผู้นำยุคใหม่ในการนำทีมให้ไปสู่เส้นทางความสำเร็จการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มันก็เหมือนกับการสร้างดินแดนท่ามกลางคลื่นความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาใหม่ แล้วปล่อยให้ดินแดนเก่าจมหายไป ผู้นำต้องมั่นใจว่าคนในทีมพร้อมที่จะร่วมเดินในเส้นทางใหม่ไปด้วยกัน นับว่าเป็นโอกาสอันดีในงานในครั้งนี้ ที่เหล่าผู้นำได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องคุณสมบัติที่ผู้นำยุคใหม่ต้องมีอย่างรอบด้าน มีอะไรที่ผู้นำองค์กรไทยสามารถนำไปปรับใช้ได้บ้าง มาดูกัน

ฮานส์ พอล เบิร์กเนอร์ ประธานบริษัท The Boston Consulting Group ได้ให้คำแนะนำในเรื่องคุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่ผู้นำต้องมีว่า ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ผู้นำยังคงต้องนำด้วยเป้าหมายและวิสัยทัศน์ ต้องสร้างทีมที่แข็งแกร่ง และโฟกัสไปที่การทำงานแต่ละอย่างให้สำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้นำในยุคนี้ต้องมีคือ ความตื่นตัวในการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่สำคัญเหนือกว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ คือต้องเริ่มจากตัวผู้นำเอง ว่าได้มีการเปิดใจที่จะนำทีมไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน หากผู้นำสามารถปรับทัศนคติในตรงนี้ได้ยิ่งเร็วแค่ไหนยิ่งดี

คุณสมบัติที่เหล่า CEO และผู้นำในยุคนี้ต้องมี

1. ผู้นำต้องมีสายตาที่เป็นเรดาร์ ผู้นำหาให้เจอว่าสิ่งที่ลูกค้าและผู้ผลิตต้องการคืออะไร คงไม่มีใครกล้าเถียงว่า การเข้ามาของ iPhone ถือเป็นปรากฎการณ์เปลี่ยนทุกอย่างบนโลก ไม่เฉพาะในโลกธุรกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ผู้นำสามารถทำความเข้าใจได้โดยการเข้าไปคุยกับลูกค้า เข้าหาผู้ผลิต หรืออาจเป็นการคุยกับบรรดาลูกๆ ที่บางทีพวกเขาก็มีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีมากกว่าคุณ

2. ผู้นำต้องรู้สถานการณ์ความเป็นไปของโลก ไม่เฉพาะผู้ที่ทำธุรกิจระหว่างประเทศเท่านั้น ผู้ที่ทำธุรกิจภายในประเทศก็ต้องตื่นตัว เพราะแม้ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไร คุณก็ต้องทำการเชื่อมธุรกิจกับซัพพลายเชนในภาคส่วนอื่นของโลกอยู่ดี ผู้นำจำเป็นที่จะต้องเดินทางตลอดเวลา ต้องมีความกระหายรู้ในเรื่องใหม่ๆ อยู่เสมอ ต้องคุยกับลูกค้าในแต่ละมุมโลก ต้องไปเห็นด้วยตาของตัวเองว่าตอนนี้โลกไปถึงไหนแล้ว

3. ผู้นำต้องสร้างทีมที่แข็งแกร่ง แน่นอนว่าไม่มีใครที่จะสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว การสร้างทีมนั้นหมายถึงการที่ผู้นำจะต้องถอยหลังกลับมา แทนที่พยายามทำตัวเป็นผู้นำ และตัดสินใจทุกอย่าง ผู้นำต้องทำให้คนในทีมรู้สึกว่าพวกเขากำลังมีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งที่มีคุณค่าไปด้วยกัน การมีทีมที่แข็งแกร่งนั้นไม่ใช่การมีคนที่เก่งที่สุดและดีที่สุด แต่คือการมีคนที่มีศักยภาพตรงกับที่ต้องการ

สิ่งที่สำคัญก็คือ ผู้นำต้องมีความตื่นตัวในสิ่งที่จะเข้ามามีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างรอบด้าน เตรียมตัวรับมือทั้งกับความท้าทายและโอกาส ต้องไปให้เร็ว ทดลองทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ อีกทั้งทำให้คนในทีมรู้สึกว่าพวกเขามีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกัน

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ให้โรดแมปของการเป็นผู้นำว่า การเป็นผู้นำนั้นไม่ใช่การนำจากเบื้องบน แต่เป็นการให้อำนาจคนในทีมให้รู้สึกถึงการเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมในสิ่งที่กำลังทำไปด้วยกัน นอกจากนี้คือการให้เครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามี KPI ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องซับซ้อน และต้องใช้กลยุทธ์หลากมิติ

คุณสมบัติที่เหล่า CEO และผู้นำในยุคนี้ต้องมี

1. ผู้นำต้องนำด้วยวิสัยทัศน์ (Vision) ผู้นำต้องทำทุกคนในทีมเข้าใจไปว่ากำลังเดินไปในทางเดียวกัน นอกจากนี้ผู้นำต้องสร้างคุณค่า (Value) โดยการเปิดกว้าง ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนในทีมมีส่วนร่วมในการทำงาน สามารถทำได้โดยการทำให้คนในทีมกล้าที่จะตั้งคำถามมากขึ้น เพื่อสร้างความตื่นตัว ความอยากรู้อยากเห็นให้เกิดขึ้นจนเป็นวัฒนธรรม

2. ผู้นำต้องมี Market driven และ Market focus ผู้นำต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าได้เปลี่ยนไปอยู่ในโลกออนไลน์ ธุรกิจที่ทำในตอนนี้ได้ถูกธุรกิจออนไลน์เข้ามาแทนที่ ดังนั้นจึงมีความสำคัญที่ผู้นำจะต้องคิดอะไรที่แตกต่าง และต้องมั่นใจว่าธุรกิจยังอยู่ในความต้องการและความสนใจของตลาด อีกทั้งต้องมองให้เห็นถึงภาพรวมของตลาดโลก เนื่องจากทุกอย่างบนโลกได้เบนเข้าหากันหมด จะต้องเจอกับ landscape ใหม่ และคู่แข่งหน้าใหม่อยู่ตลอดเวลา

3. ผู้นำต้องทำการหา ‘คนที่ใช่’ มาทำงาน การหา Talent เข้ามาทำงานนั้น แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย มันไม่ใช่เรื่องของการหาคนที่เก่งที่สุด แต่ทักษะอะไรที่ทีมต้องการมากที่สุดต่างหาก

นอกจากการทำงานเป็นทีมแล้วยังรวมถึงเรื่องสร้างพาร์ทเนอร์ชิพ เพราะในยุคนี้ไม่เฉพาะต้องเร็วอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องร่วมมือกับพาร์ทเนอร์อื่นๆ ด้วย

4. ผู้นำต้องทำการ ‘สร้างพลัง’ ให้เกิดขึ้นในองค์กร การทำให้ทีมรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วมกัน ความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่มักมาจากคนที่ทำงานแนวหน้า ไม่ใช่จากเบื้องบน เพราะพวกเขาได้เจอลูกค้า และได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ผู้นำจะต้องสร้างพลังและสนับสนุนคนในทีมทุกๆ ตำแหน่งให้รู้สึกว่าพวกเขามีอำนาจที่จะช่วยในการเปลี่ยนแปลง

5. ผู้นำต้องให้เครื่องมือที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลง การมี KPI ที่สอดคล้องกับเป้าหมายนั้นสำคัญ หากจะทำการเปลี่ยนแปลง แต่ KPI ยังเหมือนเดิม ก็คงยากที่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น แม้ว่าองค์กรจะมีเทคโนโลยีล้ำหน้าแค่ไหน บ่อยครั้งการที่คนในทีมได้มองเห็นวิสัยทัศน์ เป้าหมาย คุณค่าที่ใช่ในทางเดียวกัน มักจะเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่ความสำเร็จ นอกจากนี้ การรู้จักนำเทคโลยีมาช่วยในการทำงานอย่างชาญฉลาด จะช่วยสร้างระบบนิเวศน์การเปลี่ยนแปลงให้ประสบความสำเร็จ ทุกคนต้องช่วยกันสร้าง ecosystem ที่จะทำให้คนในองค์กรสามารถเติบโตควบคู่ไปกับเทคโนโลยีให้ได้

การเปลี่ยนแปลงนั้นมักจะเกิดจากคนภายนอกองค์กร ที่มีประสบการณ์ที่ต่าง และมองเห็นภาพรวมได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามความท้าทายก็คือ พวกเขาไม่ได้รู้ในเรื่องคุณค่าและวัฒนธรรมในองค์กร ไม่ได้รู้จักคนในทีมดีพอ ปีเตอร์ มัวร์ ซีอีโอลิเวอร์พูล เป็นอีกบุคคลที่ผันตัวจากวงการเกมมาสู่วงการบอล เขาใช้ประสบการณ์ทำงานที่ Electronic Arts (EA) มาสู่การบริหารทีมฟุตบอลให้ประสบความสำเร็จ และสามารถเข้าไปอยู่ในทุกช่วงชีวิตของแฟนบอลได้อย่างไร สิ่งที่เขาได้ทำและแนะนำมีดังนี้

1. การใช้ ‘ความเป็นลิเวอร์พูล’ ใครที่เป็นแฟนของลิเวอร์พูลอาจจะทราบว่าสโมสรนี้มีความโดดเด่นเฉพาะตัวมากแค่ไหน เขาได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีมาเป็นจุดแข็ง สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้

2. การสร้างแรงสนับสนุนจากแฟนบอลทั่วโลก การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นใช้ VR, AI, กล้อง 360 องศา, การมี Subscription model ในการเข้าไปอยู่ในทุกช่วงขณะของแฟนๆ ให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับทีมมากขึ้น การ revenue การซื้อนักเตะที่มีศักยภาพ และสร้างให้เกิดวงจรความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

3. การร่วมใน Accelerator Programs

5. การทำให้ทุกคนในทีมเข้าใจในทิศทางที่ตรงกัน สามารถทำได้โดยการสื่อสารกับคนในทีมอย่างสม่ำเสมอ

6. ผู้นำต้องเป็นผู้นำทีม ผู้นำต้องเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังในการขับเคลื่อนความสำเร็จ ต้องค้นหาทรัพยากรที่ใช่ และใช้มันให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งบอกคนในทีมถึงความสำคัญว่าทำไมถึงต้องใช้มัน

เป้าหมายของเรา ‘ลิเวอร์พูล’ คือแฟนบอลต้องมาก่อน สิ่งไหนที่จะทำให้แฟนบอลเกิดความบันเทิง สิ่งไหนที่จะดีสำหรับพวกเขา สิ่งเหล่านี้ถือเป็นอันดับแรกที่พวกเราให้ความสำคัญ

มิตช์ การ์เบอร์ ประธานบริษัท Cirque du Soleil, Invest in Canada พูดเรื่องการในฐานะผู้นำที่ต้องนำทีมในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ว่าเมื่อไรที่ควรทำการ pivot สัญญาณอะไรที่จะเป็นตัวบ่งบอกว่าควรเปลี่ยนแผน และคว้าโอกาสใหม่ที่จะเข้ามาดังนี้

เราทำการ pivot อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว บางครั้งการตัดสินใจแต่ละครั้งอาจทำให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ทีมคุณอาจมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน แต่ถ้าเป้าหมายมันไม่ตอบโจทย์ต่อผลประกอบการ นี่อาจเป็นสัญญาณที่คุณจะต้องทำการเดินหน้า เปลี่ยนเป้าหมาย แล้วเริ่มใหม่ นอกจากนี้เขายังได้ให้คำแนะนำสู่ความสำเร็จอีกด้วยว่า

ผู้นำที่พาตัวเองเข้าหาและรายล้อมด้วยคนที่จะเป็นอันดับหนึ่งในอนาคต มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่ไม่ได้ทำ

การบริหารธุรกิจครอบครัวนั้นนับว่าไม่ง่าย แต่ ชินตา วิดจาจา กัมดานิ CEO ของ Sintesa Group ได้ทำการปฏิรูปธุรกิจครอบครัวขึ้นมาใหม่จนประสบความสำเร็จ โดยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของผู้ประกอบการใหม่ขึ้นมา และมอบอำนาจพนักงานให้กล้าที่จะรับความเสี่ยง

คุณสมบัติที่เหล่า CEO และผู้นำในยุคนี้ต้องมี

1. ผู้นำต้องสร้าง Mindset ของการเป็นผู้ประกอบการให้คนในทีม การที่คนในทีมมีคุณสมบัตินี้ ผู้นำแทบจะไม่ต้องบอกเลยว่าต้องทำอะไร พวกเขารู้อยู่แล้ว ว่าต้องทำอะไร ทำอย่างไร ควรไปทางไหน การทำให้คนในทีมสามารถมองเห็นภาพข้างหน้าว่า อยากจะให้องค์กรเดินหน้าไปในทิศทางไหนนั้นเป็นความท้าทาย แต่ก็คุ้มค่าหากผู้นำสามารถสร้างพลังแบบนี้ให้เกิดขึ้นได้

2. ผู้นำต้องหาคนที่ ‘ใช่’ มาทำงาน การหาคนมาทำงานในทีมนั้น ไม่ใช่เป็นการหาคนที่เก่งที่สุด แต่เป็นคนที่มีศักยภาพตรงกับที่ทีมต้องการ นอกจากนี้การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ จะต้องสร้างเจ้าของกระบวนการ (Process owner) ที่จะออกแบบและลดกระบวนการทำงาน นอกจากนี้การที่สามารถทำให้คนในทีมรู้สึกว่าพวกเขามีศักยภาพมากกว่าหน้าที่ของตัวเองได้นั้น จะเป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

การหาคนมาทำงานในทีมไม่ใช่เป็นการหาคนที่เก่งที่สุด แต่เป็นคนที่มีศักยภาพตรงกับที่ทีมต้องการ

3. ผู้นำต้องปรับโครงสร้างการทำงานในองค์กร การทำงานแบบสั่งการจากเบื่องบนลงล่างนั้นใช้การไม่ได้อีกต่อไป ทุกคนต้องทำงานร่วมกัน แทนที่จะรอให้ผู้ที่เป็นเมเนเจอร์รายงานต่อผู้นำโดยตรง ทุกคนต้องมีความรู้สึกว่าพวกเขามีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนก็ตาม

4. ผู้นำต้อง ‘เปิดกว้าง’ สร้าง ‘Inclusive Culture’ วัฒนธรรมที่เปิดกว้างในองค์กร บ่อยครั้งเมื่อผู้นำต้องการให้อะไรเกิดขึ้น พวกเขามักจะเข้าไปจัดการและลงมือทำเอง แต่การเปลี่ยนองค์กรไปสู่นวัตกรรมจะไม่เกิดขึ้น ผู้นำต้องทำให้คนในทีมรู้สึกว่าพวกเขาได้มีอำนาจในการตัดสินใจ มีความรับผิดชอบร่วมกัน นอกจากนี้คือต้องมีความโปร่งใส แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องท้าทาย เพราะคนมักจะคิดว่าผู้นำจะต้องเป็นคนที่ถือข้อมูลที่สำคัญ แต่คนในทีมจะเปิดใจมากขึ้นเมื่อผู้นำเปิดใจกับพวกเขาก่อน

5. ผู้นำต้องปรับตัวให้เร็ว นอกจากนี้ต้องมั่นใจว่าคนในทีมต้องเร็วด้วย โลกปรับและเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา คนทั้งทีมต้องมีความสามารถในการปรับไปตามความเปลี่ยนแปลงของตลาด และความต้องการของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว

6. ผู้นำต้องสร้างทีมที่เต็มไปด้วยเหล่า ‘Believer’ ผู้นำต้องสร้างพลังให้คนในทีมมีความเชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และแตกต่างได้

เทคโนโลยีต้องโอบรับความเชื่อมโยงของความเป็นมนุษย์ การมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า แต่ไม่สามารถเดินหน้าไปกับมนุษย์ได้นั้นยังไม่เพียงพอ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...