ศึกษาจากรัฐบาลเกาหลี ทำอย่างไรถึงสร้าง Unicorn ได้มากถึง 11 ราย? | Techsauce

ศึกษาจากรัฐบาลเกาหลี ทำอย่างไรถึงสร้าง Unicorn ได้มากถึง 11 ราย?

Techsauce ได้รับเชิญไปร่วมงาน K-Startup Week Comeup 2019 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานจัดขึ้นโดยกระทรวง SMEs และ Startups ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ร่วมกับบริษัทเอกชน

ต้องยอมรับว่าก่อนหน้าที่จะเดินทางไป เราคาดไม่ถึงว่า startup ecosystem ที่เกาหลีจะแข็งแรงมาก มากขนาดที่มี Unicorn ถึง 11 รายในปัจจุบัน โดยทั้งหมดเป็น startup สัญชาติเกาหลีเพียวๆ ที่ได้รับการลงทุนส่วนใหญ่จาก VC ในประเทศ และคนเกาหลีรุ่นใหม่ก็นิยมใช้บริการธุรกิจเกาหลีเองด้วย โดย 5 ใน 11 คือ startup ที่เพิ่งขึ้นเป็น Unicorn ในปีนี้ ทำให้เห็นว่าแม้ตลาดจะมีขนาดไม่ใหญ่มาก มีประชากรแค่ 51 ล้านคน แต่เรื่องของ market size ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการผลักดันธุรกิจ startup เลย

“The number of Unicorns shows the national competitiveness”

แปลเป็นไทยได้ว่า “จำนวน Unicorn เป็นตัวบ่งชี้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” เป็นคำกล่าวของปาร์คยองซอน รัฐมนตรีหญิงแห่งกระทรวง SMEs และ Startups เกาหลีใต้ ที่เมื่อเราได้ฟังแล้วรู้สึกทึ่งปนเขินเล็กน้อย อย่างแรกเป็นเพราะว่าเราชื่นชมในความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ทุ่มเทเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจ startup ในประเทศ ขณะที่มองกลับมา ไทยเรายังไม่มี Unicorn กับใครเขาเสียที มันบ่งบอกถึงศักยภาพบางอย่างหรือไม่?

K-Unicorn

Startup ที่โดดเด่นของเกาหลีส่วนมากมาจากวงการ Beauty and Fashion, Entertainment และ Food ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับความเป็นเกาหลีมาก ๆ โดยเฉพาะธุรกิจ K-pop และอุตสาหกรรมแฟชันที่เฟื่องฟูและเป็นที่นิยม แม้กระทั่งต้นสังกัดของ BTS วงไอดอลที่โด่งดังไปทั่วโลก อย่าง Big Hit Entertainment ก็เป็น Startup ที่ได้รับการลงทุนโดย SV Investment 

Unicorn 11 รายของเกาหลีมีใครบ้าง?

  • Yanolja แพลตฟอร์มจองที่พักและโรงแรม budget โดยมีจุดเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยน love motel ธุรกิจที่กำลังตายลงของเกาหลี ให้กลายเป็นที่พักราคาย่อมเยาว์ในภาพลักษณ์ใหม่สำหรับนักท่องเที่ยว ปัจจุบันมีที่พักบนแพลตฟอร์มกว่า 20,000 แห่งเฉพาะในเกาหลี ล่าสุดเพิ่งระดมทุนรอบ Series D ไป 242 ล้านดออลาร์จาก GIC รวมถึงมีนักลงทุนอย่าง Booking Group (Booking.com) ด้วย 

  • Woowa Brothers หรือ แบดัลมินจก เป็น marketplace สำหรับร้านอาหาร ปัจจุบันมี User กว่า 8 ล้านคน และมี order 257 ล้านครั้งต่อปีเลยทีเดียว ธุรกิจ Food delivery ของเกาหลีนั้นมีมานานและเป็นที่นิยมอยู่แล้ว ทำให้ Woowa Brothers สามารถต่อยอดธุรกิจและปิด pain point ต่างๆ ได้เร็ว

  • Viva Republica (Toss) บริการชำระเงินแบบ peer-to-peer ที่คนกลุ่มมิลเลนเนียลเกือบครึ่งในเกาหลีใต้เป็นลูกค้าประจำ ปัจจุบันมี 4 บริการหลัก คือการชำระเงิน สินเชื่อ การลงทุน และประกันชีวิต 

  • GP Club startup ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องสำอาง และ skincare แบรนด์ JM Solution ขายในตลาดทั่วโลก

  • Coupang เว็บไซต์ E-commerce ใน Portfolio ของ Softback และ BlackRock ที่เคลมว่าจัดส่งสินค้าออนไลน์เร็วที่สุด โดย 99.6% ของสินค้าถูกจัดส่งภายใน 24 ชั่วโมง 

  • WeMakePrice อีกหนึ่ง E-Commerce แพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมสูงสุดอันดับ 3 รองจาก Coupang และ 11th Street 

  • L&P Cosmetic เชี่ยวชาญด้านเวชสำอาง ผลิตและจัดจำหน่าย Mask หน้า และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว 

  • Krafton Game Union ชื่อเดิมคือบริษัท Bluehole ผู้พัฒนาเกม PUBG เกมรูปแบบ Battle Royal ที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศไทย

  • Yello Mobile บริษัท software มือถือ เป็น Unicorn ตัวแรกของเกาหลีใต้ที่เคยรุ่งเรือง แต่ปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาจากอดีต CEO และการฟ้องร้องกับนักลงทุน

  • MUSINSA แพลตฟอร์มแฟชันออนไลน์ ที่เพิ่งขึ้นชั้นมาเป็น Unicorn ได้ไม่นาน จากการระดมทุนครั้งล่าสุด 167.6 ล้านดอลลาร์

  • Aprogen startup ด้าน BioTech คือรายล่าสุดที่ก้าวขึ้นมาเป็น Unicorn โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2019 เผยว่า Aprogen ได้รับเงินระดมทุนรอบล่าสุดไป 2 พันล้านวอน ทำให้มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย Aprogen พัฒนาการรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคไขข้ออักเสบและโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

5 ปัจจัยที่ส่งเสริม startup ecosystem เกาหลี

1. การสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาล

เห็นได้ชัดเลยว่าความสำเร็จของ startup สัญชาติเกาหลีนั้นมาจากการสนับสนุนเต็มรูปแบบของรัฐบาล โดยเฉพาะในด้านเงินทุนที่มีให้อย่างเหลือเฟือ 

นโยบายหลักของประธานาธิบดีมุนแจอิน คือ “Growth on Innovation” ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาประเทศผ่านนวัตกรรม โดยเขาได้อัพเกรดกระทรวง SMEs ให้กลายเป็นกระทรวง SMEs และ Startups นับเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีกระทรวง startups โดยเฉพาะ

รัฐบาลมีระบบที่เรียกว่า "Fund of funds" แจกจ่ายเงินทุนให้กับ VC และ Accelerator ในประเทศกว่า 200 เจ้า แล้วให้อิสระ VC ในการเลือกลงทุนใน startup เอง ทำให้มีคนที่กล้ามาเป็น investor เพิ่มขึ้นเป็นร้อยราย  

นอกจากนี้ รัฐบาลเองก็มีบทบาทในการจัดโรงเรียนบ่มเพาะ startup และสร้างโปรแกรมภายใต้ชื่อ Korea Tech Incubator Program for Startup (TIPS) ช่วยจับคู่ startup กับนักลงทุน และเพิ่มโอกาสขยายไปสู่ต่างชาติด้วย connection อันแข็งแกร่ง ตอนนี้ TIPS มี startup ในโครงการกว่า 680 ราย โดยมีเปอร์เซ็นความล้ำเหลวต่ำกว่า 1%!

2. การเติบโตของ startup community 

ย่านคังนัมที่เป็นแหล่งธุรกิจได้กลายเป็นสถานที่รวมตัวของบริษัท startup เนื่องจากมีแหล่งเงินทุน talent และตลาดรองรับ 

เมื่อเดินไปตามถนนเส้นยาวของคังนัมจะเจอกับ Co-Working space สถานที่ทำงานและจัดงานต่างๆ มากมาย อาทิ Google Campus, Naver D2 Startup Factory, MARU 180, TIPS Town, Fast Five

3. มี Talent พร้อม

แม้ว่าปัญหาด้านภาษายังคงเป็นกำแพงหลักของเกาหลีที่ทำให้ยังไม่ค่อยมีคนต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศได้มากนัก แต่ความโชคดีก็คือคนเกาหลีเองมี talent ที่ค่อนข้างพร้อม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เคยเติบโตจากต่างประเทศ

มีผู้ประกอบการหลายท่านที่เราได้พบเจอระหว่างทริป เคยทำงานใน startup ต่างประเทศ หรือผันตัวมาจากองค์กรใหญ่ๆ นอกจากนี้ยังมี expertise ที่มาจากมหาวิทยาลัยและบริษัท consulting ระดับโลก

และถึงแม้จะเป็นเปอร์เซ็นที่ยังไม่มากนัก ข้อมูลจาก Mastercard Index ระบุว่าในปี 2019 เกาหลีใต้มีเปอร์เซ็นการเติบโตของจำนวนผู้ก่อตั้งหญิงเพิ่มขึ้นมากที่สุดอีกด้วย  

4. จำนวน VC และ CVC กว่า 200  

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ารัฐบาลเกาหลีให้การสนับสนุนในเรื่องของเงินทุนแก่ VC ด้วย ดังนั้นจึงมีนักธุรกิจและผู้ประกอบการมากมายที่เคยประสบความสำเร็จ ผันตัวมาเป็น Angel หรือ VC เป็นจำนวนมาก โดยในปี 2018 มีสถิติการลงทุนใน startup กว่า 1,400 ราย 

โดย VC ที่มีสายตาเฉียบคมและมีบทบาทเป็นอย่างมากในวงการ startup เกาหลี ก็คือ Alto Ventures ผู้ลงทุนใน Unicorn 4 ราย ทั้ง Woowa Brothers, Coupang, Krafton Game Union และ Viva Republica ที่ถึงแม้จะ based ใน Silicon Valley แต่ก็มีผู้ก่อตั้งเป็นชาวเกาหลีทั้งสิ้น 

นอกจากนี้ องค์กรยักษ์ใหญ่ อย่าง Samsung (Samsung NEXT), Hyundai (Hyundai Card), Hanwha (DreamPlus), LG, GS และ SK ก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน startup เช่นกัน 

5. พฤติกรรมชาวมิลเลนเนียลเกาหลีกับความนิยมใช้บริการ startup ในประเทศ

แน่นอนว่าคนรุ่นใหม่ย่อมเคยชินกับการทำทุกอย่างบนมือถืออยู่แล้ว แต่ความนิยมใช้ของในประเทศก็ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเกาหลีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น search engine อย่าง Naver โปรแกรมแชท KakaoTalk ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ท้าทายเกินไปสำหรับ startup เกาหลีในการเข้าถึงกลุ่มคนในประเทศ เพราะอย่างไร คนเกาหลีก็พร้อมสนับสนุนอยู่เสมอ 

อย่างไรก็ดี ตัวแทนของกระทรวง SMEs และ Startups เกาหลีใต้ ได้เผยว่ายังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ยังฉุดรั้ง startup เกาหลีอยู่ นั้นก็คือเรื่องของ Regulation ที่สุดจะเข้มงวด และวัฒนธรรมในประเทศที่ยังนิยมการทำงานในองค์ใหญ่ที่มีความมั่นคงมากกว่า รวมถึงไม่กล้าเสี่ยง กลัวความล้มเหลว และพึ่งพิงภาครัฐมากเกินไป ดังนั้นหากมองไปที่ขั้นตอนต่อไปจากนี้ ก็คือการผลักดันให้เกิด startup ที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น startup แบบ B2B และ DeepTech

เมื่อไหร่ไทยจะมี Unicorn?

ดูๆ แล้วเกาหลีเองก็เพิ่งเริ่มมี startup ก่อตั้งในช่วงปี 2010 และใช้เวลาประมาณเกือบ 8-9 ปีในการสเกลธุรกิจสู่ Unicorn ดังนั้นประเทศไทยที่เพิ่งเริ่มมี startup ในช่วงปี 2012 เป็นต้นมา อาจจะต้องการเวลาอีกสักหน่อย

ซึ่งแม้ว่า startup ecosystem บ้านเราจะคึกคักพอสมควร แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่ายังมีปัญหาอีกหลายอย่างที่ทำให้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เช่น การขาดการสนับสนุนในด้านเงินทุน จำนวน VC ที่น้อยลงเนื่องจากทำแล้วไม่กำไร จึงมีความจำเป็นมากๆ ที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนเงิน เพื่อเพิ่มจำนวน VC จำนวน Startup และศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลกให้มากขึ้น

รวมถึงการที่ตลาดบ้านเราค่อนข้างเปิดกว้างให้กับ startup ต่างชาติ ทำให้ startup ไทยไม่ทันมีที่ยืนเป็น monopoly ในตลาด เพราะคนไทยก็เริ่มไปใช้บริการและรู้จักบริการนั้นก่อนแล้ว ดังนั้น startup ไทยจึงควรจะหาโอกาสในอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีคนทำและพยายามเข้าไปยึดครองเป็นเจ้าแรกก่อนคนอื่น  หากทำได้การที่ VC จะมาลงทุนในจำนวนสูงๆ จนมูลค่าแตะสถานะ Unicorn ก็เป็นไปได้ 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...