ถอดบทเรียนที่คนอยากทำ Startup ต้องรู้ ก่อนเริ่มทำธุรกิจ จากซีรีส์เกาหลี Start-Up | Techsauce

ถอดบทเรียนที่คนอยากทำ Startup ต้องรู้ ก่อนเริ่มทำธุรกิจ จากซีรีส์เกาหลี Start-Up

เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในซีรีส์ทรงคุณค่าแห่งปี 2020 จริง ๆ กับ Start-Up ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนมีฝันอยากทำธุรกิจเป็นอย่างดี เรื่องราวจากจุดเริ่มต้นของการเริ่มทำ Startup ต่อเนื่องมาอย่างเข้มข้นว่า การจะทำธุรกิจ Startup นั้น จะต้องเจอกับอะไร ปัญหามีที่จุดไหน ตีแผ่อาชีพการทำงานของวงการ Startup ให้เราได้รู้ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังได้เป็นอย่างดี และนอกจากที่เราจะได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ยังแฝงไปด้วยบทเรียนและแนวคิดต่างๆมากมายให้กับผู้ชม และชาว Startup ด้วย

บทความนี้  Techsauce จะพาไปถอดบทเรียนและแนวคิดจากซีรีส์ Start-Up ซึ่งผ่านมาแล้ว 8 ตอนหรือนับเป็นครึ่งทาง  เราได้เรียนรู้อะไรในการทำธุรกิจบ้าง

Episode 1

Startup ไม่ควรรีบหากำไร ตั้งแต่ช่วงเริ่มตั้งธุรกิจ แต่ควรขยายกลุ่มผู้ใช้ต้องมาก่อนการหารายได้ มีหลายธุรกิจที่มัวแต่สนกำไรจนปล่อยผู้ใช้หลุดมือStartup

ในตอนแรกนั้นซีรีส์ได้เล่าปูมหลังของตัวละคร พร้อมสื่อสารที่มาที่ไปของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยพ่อของซอดัลมี ที่มีฝันต้องการทำธุรกิจสตาร์ทอัพของตัวเอง จากการที่แม่ของเขาเปิดร้านอาหาร และเขามีมุมมองว่าโลกมันจะเปลี่ยนไปอย่างไร ในโลกอนาคตที่โทรศัพท์มือถือจะสามารถทำอะไรได้มากขึ้น เขาจึงนำสิ่งนี้มาเป็นฐานธุรกิจ Startup ที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อร้านอาหารทั่วประเทศ และได้นำเสนอแผนธุรกิจต่อ ยุนซอนฮัก ประธาน SH Venture Capital ในขณะนั้น 

ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่น่าเรียนรู้สำหรับคนที่อยากทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ในตอนนี้ คือ ตอนที่พ่อซอดัลมี ตอบคำถาม VC อย่างประธานยุน ของโมเดลการหารายได้จาก Product ซึ่งนั่นก็คือ เว็บไซต์แบดัลดอทคอม แพลตฟอร์มรวมร้านอาหาร โดยเขาได้ยึดถือหลักของการเข้าถึงและขยายกลุ่มของผู้ใช้งาน มากกว่าผลกำไรที่จะได้กลับมา เขาได้ตอบคำถามที่ถามถึงการสร้างกำไรในธุรกิจของเขาไว้ว่า “การขยายกลุ่มผู้ใช้ต้องมาก่อนการหารายได้ มีหลายธุรกิจที่มัวแต่สนกำไรจนปล่อยผู้ใช้หลุดมือ” 

ซึ่งจริงๆแล้วการทำธุรกิจนั้นผลกำไรเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะไม่มีเงินหมุนเวียนทำธุรกิจต่อ แต่การขยายฐานผู้ใช้งานให้กว้างก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการทำธุรกิจเช่นกัน เพื่อสร้างความยั่งยืนและเพื่อทำสิ่งที่มากกว่าการหาเงิน ดังคำที่ประธานยุนซอนฮัก ได้กล่าวต่อหลังจากได้ฟังคำตอบของพ่อซอดัลมีว่า

“การเริ่มทำธุรกิจ Startup ก็เหมือนลอยอยู่กลายมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ มีอยู่ 2 ทาง ไม่กระหายน้ำตาย ก็รอดตาย แม้กระหายน้ำแค่ไหนก็กินน้ำทะเลไม่ได้ ต้องอดทนรอจนกว่าฝนตกถึงจะรอดตาย การรีบหากำไรตั้งแต่ช่วงเริ่มก่อตั้งธุรกิจ ก็เปรียบเสมือนการดื่มน้ำทะเล ”

Episode 2

Startup กับ VC  เป็นเหมือนเพื่อนร่วมทาง ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่ให้เงินทุนเท่านั้น แต่ยังช่วยเหลือในการปั้นธุรกิจให้เติบโตต่อไ

สำหรับในตอนนี้ หากมองในแง่มุมของการทำ Startup ซีรีส์ต้องการสะท้อนมุมมองการเลือกลงทุนของ VC ใน Startup โดยเราจะเห็นได้ว่าปัญหาหนึ่งของ VC คือการตัดสินใจลงทุนจากแผนธุรกิจที่ดูสวยหรู และอาจจะไม่ได้นำมาซึ่งความสำเร็จ โดยฉากหนึ่งของซีรีส์ ทีมงานของฮันจีพยอง พูดว่า "ผมอยากลองเป็นมนุษย์ตัวกรองดูบ้าง เป็นคนที่ไม่ถูกแผนธุรกิจหลอก และจะพิสูจน์จากข้อมูลเท่านั้น"

เรื่องราวดำเนินไปจนถึงมุมมองการลงทุนของผู้ประสบความสำเร็จในวงการ VC  อย่างฮันจีพยองบ้างที่ไม่ยอมลงทุนใน ซัมซานเทค แม้ว่าเขาจะมี Product ที่ดีก็ตาม จากการที่แผนธุรกิจ ท้ายที่สุดต้องนำซึ่งการสร้างรายได้ สร้างผลตอบแทน แต่สำหรับ ซัมซานเทค มีเพียงเทคโนโลยีที่ดี ด้วยการพัฒนาระบบจดจำใบหน้าที่มีความแม่นยำมากที่สุดเท่านั้น ดังนั้นธุรกิจของนัมโดซาน จึงจัดว่าอยุ่ในระดับต้นมาก ๆ ทำให้นักลงทุนต่างยังมองไม่เห็นถึงวิธีการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน นั่นเอง

อย่างไรก็ตามจากที่ทีมงาน Techsauce เคยได้มีการอธิบายถึงความหมายและบริบทของ VC ไป (ย้อนอ่านอธิบายคำศัพท์วงการ Startup) ที่ VC ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่ให้เงินทุนเท่านั้น แต่ยังช่วยเหลือในการปั้นธุรกิจให้กับ Startup ที่จะสามารถขยายการเติบโตต่อไป ดังนั้น Startup กับ  VC จึงเป็นเหมือนเพื่อนร่วมทาง ดังที่บทสัมภาษณ์ของฮันจีพยอง กล่าวว่า 

"ชาวเศรปาเป็นผู้นำทางให้กับเหล่าผู้พิชิตยอดเขาหิมาลัย ผมอยากเป็น เหมือนชาวเศรปาที่เป็นผู้นำทางให้กับนักธุรกิจเหล่าผู้พิชิตยอดเขาหิมาลัยคอยนำทาง และช่วยเหลือ เหมือนเพื่อนร่วมทาง" 

Episode 3

เทคโนโลยีที่ดีเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยดึงดูดนักลงทุน เท่ากับการมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนว่าสุดท้าย ธุรกิจที่จะลงทุนนั้น สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างไร

ในตอนนี้ซีรีส์ได้ตอกย้ำถึงประเด็นมุมมองการลงทุนของ VC อีกครั้ง โดยนัมโดซาน ขอร้องให้ฮันจีพยอง ดูเดโม่ของเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้น นั่นคือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ซึ่งเป็นระบบจดจำรูปภาพที่มีความแม่นยำและประมวลผลเร็วที่สุดในโลก แต่กลับไม่ได้รับความสนใจในการลงทุนแม้แต่น้อย ถามว่าเหตุการณ์นี้เป็นเพราะอะไร ?  ฮันจีพยองในฐานะนักลงทุนได้ตอบว่า "ดูในแผนธุรกิจก็มีแต่อวดเทคโนโลยีเต็มไปหมด แต่เพื่ออะไรละ ไม่มีอะไรล่อใจนักลงทุนได้สักอย่าง รูปแบบธุรกิจเป็นแบบไหน จะใช้อะไรสร้างกำไรต่อเนื่อง ไม่มีอะไรชัดเจนสักอย่าง"

แน่นอนว่าสิ่งที่ซัมซานเทคมีนั้นคือ เทคโนโลยีที่ดีเพียงอย่างเดียว ส่วนแผนธุรกิจ (Business Model) นั้นไม่มี เมื่อเป็นเช่นนี้ VC จึงไม่ได้สนใจ 

หลังจากที่ผลการประกวดจากโคด้า ดังไกลไปทั่วโลกว่า นักพัฒนาชาวเกาหลีใต้ อย่างซัมซานเทค คือ บริษัทซอล์ฟแวร์ที่สามารถพัฒนาระบบจดจำรูปภาพที่มีความแม่นยำที่สุดในโลกนั้น ทำให้ซัมซานเทค มีความหวังในการดึงดูดนักลงทุนขึ้นมาบ้าง โดยมองไกลไปถึงระดับโลก อย่าง Google และ Amazon กับเป้าหมายของการเป็น  Tech company ระดับโลก แต่แล้วในการเลือกนักลงทุน ซึ่งอย่างที่บอกว่าต้องเป็นเหมือนเพื่อร่วมทางกันได้ นัมโดซานกลับมองว่า ฮันจีพยองน่าจะเป็นหุ้นส่วนที่ดีที่สุด โดยเขาให้เหตุผลว่า "เพราะมีฟังก์ชันวัตถุประสงค์เดียวกัน นักลงทุนกับ Startup คือเครือข่ายเส้นประสาทสองเส้น สมมติว่าฝึกสองเครือข่ายนี้ เพื่อหาสมดุลแบบเเนช นั่นคือ ถ้าเครือข่ายทั้งสองต่างกันมากไป จะทำให้หาฟังก์ชันการสูญเสียได้ยาก และทำการเรียนรู้ได้ยาก แต่ถ้าฟังก์ชันวัตถุประสงค์เดียวกัน สามารถทำให้บรรจบกันได้ดีและเรียนรู้ง่าย" 

เชื่อว่านัมโดซานกล่าวนั้นย่อม เข้าใจยาก หากเป็นคนทั่วไปได้ฟัง แต่ความหมายที่ต้องการสื่อทั้งหมด คือ นักลงทุนและ Startup ต้องมีเป้าหมายเดียวกัน จะทำให้มีผลลัพธ์ที่ดี

Episode 4

CEO ไม่ใช่ตำแหน่งที่ใครจะเป็นได้ แต่ต้องเป็นคนที่เหมาะสม โดยเฉพาะช่วงเริ่มธุรกิจที่อำนาจในการตัดสินควรเป็นของประธาน

ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะขึ้นมาเป็นประธาน เป็นผู้นำของธุรกิจ ในตอนนี้ซีรีส์ได้ให้ความสำคัญกับประธาน ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการทำธุรกิจ Sandbox ได้ทำการคัดเลือกประธานด้วยการตอบคำถามโดยการส่ง Keyword  5 คำ ในเวลา 30 วินาที รวม 50 ข้อ ซึ่งหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการเป็นประธาน หรือหัวหน้าทีม จากผู้ที่อ่านเทรนด์มหาชนได้ดีที่สุด นั่นหมายถึงจะสามารถตอบคำถามได้มากที่สุด 

การเลือกทีมอย่างชาญฉลาดก็เป็นอีกหนึ่งความสำคัญเช่นกัน ซีรีส์ได้เล่าต่อเนื่องมาจนถึงการรวมทีม การที่ต้องเลือกระหว่าง จ้างประธาน และ ประธานจ้าง มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง พรรคพวกของนัมโดซานไม่ต้องการที่จะทำงานโดยการถูกจ้าง เมื่อซอดัลมีและวอนอินแจมาเสนอการร่วมทีมที่คล้ายกัน แต่บริบทในความหมายต่างกัน พวกเขาจึงตัดสินใจได้ไม่ยาก 

Episode 5

สำหรับ Startup ทีมคือสิ่งสำคัญ และกล้าที่จะล้มแล้วลุกไปต่อได้ไว พร้อมมองหาโอกาสใหม่ได้เสมอ

การก่อตั้งทีมให้ความสำคัญกับนิสัยมากกว่าคุณสมบัติ แต่อย่างไรก็ตามในทีมก็ต้องมีคนที่มีคุณสมบัติอยู่ด้วย สตาร์ทอัพต้อง fail fast ถ้ารู้ว่าไม่ใช่หาทางใหม่ ไม่ดึงดัน ไม่เช่นนั้นจะติดอยู่กับที่ไม่สามารถหาทางออกได้ ในเมื่อลองทำแล้วไม่ได้ผล การปรับเปลี่ยนย่อมดีกว่าการดันทุรังทำแบบเดิมจนสูญเสียไปทุกอย่าง ดังเช่นในช่วงการทำ Hackathon ของทีม Samsantech ที่ไม่ว่ากี่ครั้ง ไอเดียแรกของธุรกิจก็ล้มเหลวในการประมวลผลเสมอ จนนัมโดซานได้เสนอให้มีการเปลี่ยนแผน ถึงแม้จะเปลี่ยนในตอนที่ใกล้จะหมดเวลาเต็มที แต่การฝืนไปต่อกับไอเดียเดิมนั้นไม่สามารถประสบความสำเร็จได้แน่นอน นอกจากที่จะ fail fast ล้มเร็วลุกเร็วแล้ว การทำงานเป็นทีม ยอมรับในความล้มเหลวและช่วยกันแก้ไขปัญหานั้น เป็นความสำคัญที่สุดในการทำงาน Startup ทีมที่ดีนั้นจะช่วยกันแก้ไขปัญหา ยอมรับการล้ม และมองหาโอกาสลุกขึ้นมาใหม่ด้วยกันเสมอ

Startup คือ ธุรกิจที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรม ซึ่งนวัตกรรม เกิดจากการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้สามารถออกมาใช้ได้จริง

ต่อเนื่องมาสู่โดยเกณฑ์การคัดเลือกสำหรับการทำ Hackathon เพื่อนำไป pitching มีสองข้อ ข้อแรก ภายในเวลาจำกัด จะต้องสร้างแผนธุรกิจที่ทำได้จริง โดยใช้ทรัพยากรที่เตรียมให้ และข้อสอง สามารถดึงดูดใจได้มากแค่ไหน  ความดึงดูดใจนั้นมีหลายด้านด้วยกัน ทั้งนี้รวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจ และการหาตลาด Market size เป็นสิ่งสำคัญของการขยายการบริการ ซีรีส์ในตอนนี้ได้มีการพูดถึงการต่อยอดธุรกิจ ในตอนที่ซอดัลมี Pitching บนเวที เธอได้พูดถึงการขยายเทคโนโลยีไปในอุตสาหกรรมต่างๆ ว่าสามารถนำเทคโนโลยีในมือไปใช้กับอุตสาหกรรมไหนได้บ้าง สามารถเข้าไปช่วยในเรื่องใดได้บ้าง เป็นการชี้ให้เห็นการเติบโตของธุรกิจในอนาคต และตลาดที่สามารถรองรับธุรกิจได้ เป็นความดึงดูดใจอย่างหนึ่ง ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้

Episode 6

เงิน และ ผลประโยชน์ คือ เรื่องที่ต้องตกลงกันให้ชัดเจนตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำธุรกิจ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นกับดักของการไปต่อในอนาคต

การก่อร่างสร้างธุรกิจ ความเกี่ยวข้องในการทำงานซึ่งเป็นเรื่องเงินๆทองๆ มักสร้างปัญหาและความลำบากใจในการทำธุรกิจเสมอ ความชัดเจนในการแบ่งหุ้นส่วน เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอันดับหนึ่ง เพราะคำว่าธุรกิจ ต้องมีความชัดเจนในทุกเรื่องตั้งแต่เริ่มต้น ในตอนนี้ซีรีส์ได้ทำให้เราเห็นถึงการแบ่งหุ้นส่วนที่มีความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง 

การแบ่งหุ้นที่กระจัดกระจาย สร้างให้เห็นถึงจุดอ่อนของประธาน ดังนั้นการเริ่มสร้างธุรกิจ Startup ขั้นต้น การให้อำนาจกับประธานถือเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ลงทุน และผู้ที่จะมาเข้าร่วมหุ้นในอนาคต แน่นอนว่าการแบ่งหุ้น ประธานจะต้องเป็นผู้ที่ถือหุ้นในสัดส่วนที่มากที่สุด เพื่อเป็นการแน่ใจว่าจะไม่สูญเสียธุรกิจที่เริ่มต้นทำมาด้วยการเสียหุ้นให้กับผู้ลงทุนอื่น และแน่นอนว่าการมีหุ้นมากที่สุดเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประธาน ซึ่งประธานจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจทุกอย่าง แม้ไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้แต่ก็จำเป็นต้องทำ ไม่มีตำราไหนบอกเรื่องการเป็นผู้นำที่ถูกหรือดี ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือก และประธานต้องเลือกให้เป็น

ซีรีส์ในตอนนี้ จีพยองได้กล่าวหลังได้เห็นสัดส่วนการแบ่งหุ้นของ Samsantech ว่า ตัวใครตัวมัน ดีกว่าการเป็นหนึ่งเดียว เพราะไม่มีคำว่ามิตรภาพจะคงอยู่ตลอดไปในการทำธุรกิจ ไม่มีอะไรแน่นอนในอนาคต หากเกิดการทะเลาะแตกแยกกันจะทำให้สูญเสียงเงินจากนักลงทุนด้วย ทำให้ต้องมี Keyman ผู้ที่มีหุ้นอยู่ในธุรกิจมากที่สุด นั่นเป็นทางเดียวที่จะทำให้รักษาธุรกิจไว้ได้ในสนามแห่งการลงทุนในอนาคต เมื่อเจอความโหดร้ายในการโลกของธุรกิจ โลกของมิตรภาพก็ถูกสั่นคลอน Samsantech มีปากเสียงกันตั้งแต่ขั้นแรกของการเริ่มลงทุน

ซึ่งการเกิดปัญหาตั้งแต่เริ่ม ก็ส่อแววการทำงานต่อไปในอนาคตได้แล้ว ดังที่จีพยองกล่าวว่า “กับทีมที่ทะเลาะกันเพราะเงินสนับสนุนเริ่มต้นร้อยล้านวอน ยังไงก็ไปถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ได้ยาก” แค่การเริ่มต้นธุรกิจด้วยการแบ่งหุ้นส่วนเงินแค่ร้อยล้านวอนก็ทะเลาะกัน ต่อไปหากได้รับเงินระดมทุนมากกว่านี้ก็ยิ่งจะมีปัญหาที่ใหญ่ขึ้น การเติบโตในธุรกิจยากขึ้น ผู้ที่จะ้กิดปัญหามากที่สุดคือซอดัลมี ประธานของธุรกิจนั่นเอง  

Episode 7

การหา Connection คือสิ่งที่สำคัญพอ ๆ กับการหาเงิน เพราะถ้าหากมี Connection ที่ดี ย่อมนำพาไปสู่วิธีการหาเงินได้ไม่ยาก

นับว่าเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ซัมซานเทคต้องมาหาไอเดียสร้าง Product หรือ Service ที่ใช้ AI เป็นพื้นฐาน นั่นคือ การหาไอเดียต่อยอดระบบจดจำใบหน้าที่มีความแม่นยำสูงที่สุดในโลก (การันตีคุณภาพจากโคด้า) แต่ดูเหมือนเส้นทางของการทำธุรกิจนั้นไม่ง่าย เมื่อการทำ Startup นั้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้อง role ด้วยเงินทุน และในการพัฒนา Product ใหม่ๆก็ต้องการเผาผลาญเงินทุนภายในเวลาอันจำกัด 

ดังนั้น เมื่อ 'เงิน' กลายมาเป็นปัจจัยนำ ย่อมนำให้หลงทางจากวัตถุประสงค์ที่วางไว้ตั้งแต่ตอนแรกของการทำ Startup นั่นคือ ธุรกิจที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหา (Pain point) ด้วยการใช้เทคโนโลยี  ซึ่งซัมซานเทค ได้มีไอเดียที่มุ่งแก้ให้กับผู้พิการทางสายตา โดยใช้ AI เปลี่ยนจากระบบจดจำใบหน้าด้วยภาพให้กลายมาเป็นเสียงให้เหมือนกับระบบนำทาง ดังที่นัมโดซาน ได้กล่าวถึงแนวคิดของเขาว่า "ถ้าไม่มีสายตานำทาง แต่เราใช้เทคโนโลยีของเรานำทางแทนสายตาคู่นั้น"

สำหรับ Episode นี้ซีรีส์ Start-Up ก็ได้สะท้อนแง่มุมการหลงทางจากเส้นทางสู้เป้าหมายของ Startup ที่ซัมซานเทค ได้ยื่นเสนอไอเดียพัฒนา AI ในโครงการลดคนของบริษัท Nature Morning ของพ่อบุญธรรมวอนแจอิน แต่กลับให้ถูกทำงานรับช่วง ด้วยการใช้แรงในการถ่ายภาพเพื่อซัพพอร์ตทีมพัฒนาของบริษัท เพื่อเป็นการยื่นโปรไฟล์ในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจแทน

ตามที่ฮันจีพยองได้ไขข้อข้องใจที่มี Startup หลายรายยื่นเข้าร่วมโครงการดังกล่าวให้กับทีมงานของเขาฟังว่า "เพราะหลายคนต่างมองว่าธุรกิจเกิดใหม่อย่าง Startup จะต้องมีแหล่งอ้างอิงที่ดี ดังนั้นจึงมีบริษัทมากมายที่ยอมใช้ชีวิตเดิมพัน เพื่อให้ได้โลโก้ Morning Group (บริษัทใหญ่) มาใส่ในประวัติมีถมเถไป ถ้าได้มาหนึ่งบรรทัด บรรทัดต่อไปก็จะง่ายขึ้น" นั่นหมายถึงเงินทุนที่จะเข้ามาในครั้งต่อไปก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ ตามประวัติการทำงานที่ได้ร่วมงานกับบริษัทใหญ่

ซึ่งการหาเงินลงทุนนั้นจะง่ายดายขึ้นหากมี Connection ที่ดี ความชัดเจนของเรื่องนี้เห็นได้จากการที่วอนอินแจได้รับเงินทุนจากธนาคารฮัน หลังจบการ Hackathon และ Pitching วอนอินแจได้เข้าไปทักทายและแลกนามบัตรกับผู้จัดการธนาคารฮัน เป็นการสร้าง Connection ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้เธอสามารถหาเงินลงทุนจากธนาคารฮันได้ โดยไม่เดือดร้อนดิ้นรนอะไรมากนัก ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าการสร้าง Connection สำคัญพอๆกับการหาเงิน เพราะถ้าหากมี Connection ที่มากและมี Connection ที่ดี ย่อมนำพาไปสู่วิธีการหาเงินได้ไม่ยาก

Episode 8

ความไม่แน่นอน คือ เรื่องปกติของการทำธุรกิจ ตัวแปรที่คาดเดาไม่ได้มักเกิดขึ้นได้เสมอ และไม่มีการอนุญาตให้เดา ดังนั้นต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา และมีแผนสำรองไว้เสมอ

"ไม่ว่ามนุษย์ หรือ การใช้ชีวิต ต่างก็ไม่มีอะไรแน่นอน  ไม่อนุญาตให้เราคาดเดาได้เลย  การเขียนโค้ดก็เช่นกัน ทุกตัวแปรที่เราควบคุมไม่ได้เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องแบ็คอัปไว้เสมอ" 

ใน Episode นี้จะเห็นได้ว่าจะมีการเดินเรื่องเพื่อสะท้อนการหาแผนการสำรองอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอไอเดีย และแผนธุรกิจของซอดัลมี ที่นำไปปรึกษาฮันจีพยอง ซึ่งเขาก็ได้ถ่ายทอดบทบาททของความเป็นนักลงทุนมาได้ถึงแก่น เก็บรายละเอียดทุกเม็ดที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าใช่จ่าย และการใช้เงินทุน รวมถึงวิธีการหาเงินให้กับ Startup 

โดยเขาได้เบรกซอดัลมีที่กำลังเหยียบคันเร่งให้ซัมซานเทคในการทำบริการ ชื่อ นุนกิล สหายของผู้พิการทางสายตา ถึงการถามถึงต้นทุนที่จำเป็นต้องจ่ายอย่างค่า DUP ของยอดผู้ดาวน์โหลดแอปฯ โดยให้มุมมองที่ว่า "ธุรกิจที่ผู้ใช้ยิ่งมาก ยิ่งใช้เงินสูงแบบนี้ ใครจะอยากลงทุน สำหรับนักลงทุนแล้ว นอกจากเงิน ไม่อะไรดึงดูดได้"

แน่นอนว่าการทำแอปฯดังกล่าว ซัมซานเทค ได้มีวัตถุประสงค์พัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา  ซึ่งจะไม่สามารถใส่โฆษณา หรือเก็บค่าธรรมได้อย่างแน่นอน ดังนั้นเมื่อทุกอย่างขึ้นอยู่กับเงินทุน ต้องมีแผนสำรองในการหาเงินทุน คือ หากลุ่มเป้าหมายใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเข้าหาบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน

นั่นเป็นที่มาว่า ทำไมฮันจีพยอง จึงได้นำรายชื่อบริษัทที่มีงบประมาณ CSR หรือ การตอบแทนกำไรสู่สังคม มาให้กับซอดัลมี  และแนะนำแนวทางการเข้าหาบริษัทใหญ่สองแนวทาง ได้แก่ งบประมาณที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการให้ผู้พิการ และงบประมาณเพื่อการ กอบกู้ภาพลักษณ์ 

หลังจากที่ซอดัลมี พยายามหาแหล่งเงินทุน จนกระทั่งต้องมายืนปากเหวที่จะต้องเข้าไปขอเงินทุนจาก Morning Group ก็เป็นจุดของการเรียนรู้ชั้นเชิงของการเจราต่อรองได้ดี อย่างที่เธอได้พูดว่า

"คนเรามันคาดเดาไม่ได้  และไม่มีการอนุญาตให้เดาเลย ถึงจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมตลอดเวลา"  และได้โน้มน้าวให้ประธาน Morning Group ยอมที่จะให้เงินระดมทุนกับแอปฯนุนกิลได้สำเร็จ เพื่อวัตถุประสงค์ของการกอบกู้ภาพลักษณ์นั่นเอง  



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...