ฟัง Linda Liukas ผู้สอน Coding และเล่าเรื่องเทคโนโลยีผ่าน Storytelling

ฟัง Linda Liukas ผู้สอน Coding และเล่าเรื่องเทคโนโลยีผ่าน Storytelling

ในอนาคตอันใกล้ หากหลายบริษัทเริ่มกลายเป็นบริษัททางด้านซอฟต์แวร์มากขึ้น เราจะทำการเตรียมคนรุ่นต่อไปให้พร้อมสู่โลกที่นับวันปัญหารอบตัวได้กลายเป็นปัญหาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร?

หนึ่งในเซสชั่นที่ได้รับความสนใจไม่น้อย ในงาน Techsauce Global Summit 2019 ที่ผ่านมา คือการเล่าประสบการณ์สอนเขียนโปรแกรมผ่านหนังสือภาพ โดย ลินดา ลิวคัส (Linda Liukas) ในหัวข้อ ‘One Hundred Languages’ ว่าด้วยเรื่องความท้าทายของการก้าวไปสู่ยุคที่เทคโนโลยีจะมีมนุษยธรรมมากขึ้น และการทำให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่คนเจเนอเรชั่นในอนาคตสามารถเข้าถึงได้ผ่านการเล่าเรื่อง

Linda เป็นผู้เขียน ‘Hello Ruby’ หนังสือภาพที่สอนการเขียนโปรแกรมให้กับเด็กวัย 4-10 ปี ผ่านนิทานและแบบฝึกหัด ช่วยเด็กๆ พัฒนาทักษะการคิดเชิงคำนวณและทักษะการแก้ปัญหา ปัจจุบันได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศแล้วกว่า 29 ภาษา รวมถึงภาษาไทยที่จะทำการเปิดตัวเร็วๆ นี้

“เราไม่เพียงแต่สอนเด็กๆ เขียนโค้ดเท่านั้น แต่ยังเตรียมเด็กๆ ให้พร้อมสำหรับโลกที่ปัญหารอบตัวมีปัญหาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ และเราต้องการกลุ่มคนที่มีความหลากหลายมากขึ้น ที่จะตื่นเต้นไปกับเรื่องคอมพิวเตอร์ เนื่องจากมันเป็นเครื่องมือในการแสดงออก และเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาต่างๆ บนโลกใบนี้”

“วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์หรือ Computer Science นั้นไม่ได้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว เหมือนกับเรื่องดาราศาสตร์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับกล้องโทรทรรศน์เท่านั้น วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่ผู้คนใช้ในการแก้ปัญหา”

Linda อธิบายวิชาเทคโนโลยีศึกษาของเธอผ่านตัวอักษร A B C ให้ผู้ฟังได้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้

A - อัลกอริทึม (Algorithm)

เราจะทำการสอนคำว่าอัลกอริทึมให้เด็กๆ เข้าใจได้อย่างไร?

Linda ยกตัวอย่างหนังสือภาพที่เธอเขียน ในหนังสือมีการให้คำแนะนำเป็นขั้นตอนและชัดเจน โดยกำหนดให้เด็กคนหนึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ อีกคนเป็นโปรแกรมเมอร์ และบทบาทของคอมพิวเตอร์ก็คือการสอนคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับวิธีการแปรงฟัน ระหว่างนั้นพวกเขาจะพบปัญหาหลายประเภทเช่น แปรงสีฟันมีลักษณะอย่างไร? ยาสีฟันมีลักษณะอย่างไร? ไปจนถึงการให้นิยามคำว่า ‘สะอาด’

ซึ่งนี่จะทำให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องการนำ ‘Pair Programming’ มาใช้ ซึ่งก็คือการเขียนโปรแกรมเป็นคู่ หรือการเขียนโค้ดพร้อมกัน บนคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกัน โดยให้คนหนึ่งเป็นหนึ่งเป็นคนนำ ส่วนอีกคนคอยให้คำแนะนำ

วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์คือศาสตร์ของการแก้ปัญหา และความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้น หรือเรียกว่า Debug เพราะไม่มีใครหรอกที่จะเขียนโค้ดได้สมบูรณ์แบบตั้งแต่แรก

B - ตรรกะบูลีน (Boolean Logic)

ในหนังสือ Hello Ruby เล่มที่ 2: Journey Inside the Computer จะเป็นการพารูบี้เข้าไปโลกคอมพิวเตอร์

ภาพจาก Facebook.com/hellorubyworld

เธอต้องการให้เด็กๆ เข้าใจตรรกะคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานว่ามันทำงานอย่างไร? ตรรกะเปลี่ยนเป็นฮาร์ดแวร์ได้อย่างไร? ฮาร์ดแวร์กลายเป็นซอฟต์แวร์ได้อย่างไร? ซอฟต์แวร์กลายมาเป็นเกมและแอปพลิเคชั่นที่เราใช้ทุกวันนี้ได้อย่างไร?

เพราะแม้ว่าคอมพิวเตอร์จะน่าอัศจรรย์เพียงใดก็ตาม มันไม่ได้ถูกสร้างด้วยเวทย์มนต์คาถา แต่มันถูกสร้างด้วยลอจิก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องทำการปรับสิ่งที่เราใช้พูดเปรียบเทียบเรื่องคอมพิวเตอร์ให้ทันสมัย

สิ่งที่เธอเน้นย้ำไม่ใช่การสอนคนรุ่นต่อไปว่าต้องเรียนเขียนโค้ด หรือต้องเข้าใจภาษาโปรแกรมหลายภาษา แต่ผู้ปกครองต้องทำการสอนบุตรหลานให้เข้าใจ ว่าอะไรที่คอมพิวเตอร์สามารถทำได้ดีบ้าง และอะไรที่มนุษย์สามารถทำได้ดีบ้าง

เมื่อเด็กๆ เข้าใจว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องของจินตนาการ รวมทั้งมองเห็นความเป็นไปได้ต่างๆ ในขณะที่คนอื่นมองไม่เห็น เช่นนี้เองก็จะทำให้เด็กๆ ไม่รู้สึกหวาดกลัวอีกต่อไป เมื่อพวกเขาต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง

C - ความคิดสร้างสรรค์และคอมพิวเตอร์ (Creativity & Computer)

เมื่อเราได้ยินคำว่า Artificial intelligence (AI) และ Machine learning (ML) ก็มักจะมีภาพของความโหดร้ายโผล่ขึ้นมา หลายคนอาจจะนึกถึงกายเน็ท (Skynet) และหุ่นยนต์สังหาร (Terminator) นี่หมายความว่าเรากำลังส่งผ่านอคติและความกลัวของเราไปยังคนรุ่นต่อไป ซึ่ง Linda คิดว่าไม่ยุติธรรม เพราะเรื่องความสามารถในการคิดและเรียนรู้มันเป็นอะไรที่มากกว่านั้น

เพราะ AI ไม่ใช่หุ่นยนต์ แต่มันเป็นผลจากข้อมูลที่มนุษย์ผลิตและนำไปป้อนระบบต่างหาก ดังนั้นเราไม่ควรสร้างภาพหุ่นยนต์ที่น่ากลัว เราควรจะพูดถึงชุดข้อมูลที่เราจะนำไปป้อน AI มากกว่า

AI มันไม่เพียงแต่ให้คำตอบเราเท่านั้น แต่ยังคาดคะเนความน่าจะเป็นอีกด้วย เมื่อเราต้องการสอนคอมพิวเตอร์ให้ขับรถ มนุษย์ก็จะทำการใส่ตัวอย่างของสภาพแวดล้อมการขับขี่เข้าไป เมื่อเราต้องการให้คอมพิวเตอร์แสดงฟีดของวิดีโอที่เราชอบ มนุษย์เราก็เพียงแค่กดไลก์สิ่งนั้นบ่อยๆ เช่นเดียวกันในอดีต หากเราจะสอนคอมพิวเตอร์ให้รู้จักแมว เราจะต้องเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับแมวอย่างชัดเจน สิ่งที่เราต้องระมัดระวังก็คือเรื่องของข้อมูลที่เราป้อนเจ้าแมชชีน ว่าจะไม่เกิดอคติที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการพัฒนา AI 

ยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายๆ ถ้าหากเราใส่รายละเอียดของแมววิเชียรมาศเข้าไป คอมพิวเตอร์ก็จะเห็นว่าแมววิเชียรมาศเท่านั้นที่เป็นแมว มันไม่สามารถระบุว่าแมวเปอร์เซียก็คือแมวเช่นกัน นี่จึงเป็นหน้าที่สำคัญของมนุษย์ มนุษย์ยังคงต้องทำการตัดสินว่าปัญหาแบบใดที่เราต้องการให้คอมพิวเตอร์ทำการแก้ปัญหา ในตอนนี้เรายังไม่ต้องการให้คอมพิวเตอร์ทำการตัดสินใจเลือกทุกอย่างแทนเรา

Linda Liukas

Linda เน้นย้ำว่า เราควรให้ความใส่ใจในเรื่องการสอนคนรุ่นต่อไป ว่าสิ่งไหนที่มนุษย์ทำได้ดี สิ่งไหนที่ AI ทำได้ดี อีกทั้งมีเรื่องอะไรที่เราทั้งคู่ต่างทำไม่ได้ เพราะทั้งมนุษย์และ AI มีทักษะที่ต่างกัน อีกทั้งในอนาคตจะยิ่งยากและซับซ้อนเข้าไปอีก จะมีทักษะใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย เนื่องจากโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ท่ามกลาง Buzzword อย่าง Algorithm, Bitcoin และ Blockchain การที่จะอธิบายให้ผู้ใหญ่เข้าใจเรื่องพวกนี้ก็นับว่าเป็นเรื่องยากแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราไม่มีคำศัพท์มากพอเพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ให้เด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าสามารถเข้าใจได้

นี่คือความท้าทายของการสอนเรื่องเทคโนโลยี เพราะมันไม่ใช่แค่ฮาร์ดแวร์ มันไม่ใช่แค่ซอฟต์แวร์ และมันไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสังคมที่เราอาศัยอยู่เท่านั้น จึงเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องทำการปรับหลักสูตรในโรงเรียนเพื่อทำการสอนเด็กๆ ให้เข้าใจทั้งสามด้านในเวลาเดียวกัน

           ชมวิดีโอการบรรยายของเธอแบบเต็มๆ ได้ที่นี่:

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ใครคือ SIAM AI CLOUD ? บริษัทเทคไทยที่ NVIDIA เลือก ด้วยอายุจดทะเบียนเพียง 10 เดือนกับ 19 วัน

บทความนี้จะพาไปสำรวจเบื้องหลังความสำเร็จของ SIAM AI CLOUD ทำไมไทยที่ก่อตั้งมาไม่ถึงปีถึงสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการเทคโนโลยีจนดึงตัวแม่ทัพใหญ่ของ NVIDIA มาไทยได้ !...

Responsive image

10 ไฮไลท์นวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพไต้หวัน ก้าวล้ำนำอนาคตในงาน Taiwan Expo 2024

10 นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ไฮไลท์จาก Taiwan Healthcare Pavilion ที่จะมาปฏิวัติวงการแพทย์ในทุกมิติ จากงาน Taiwan Expo 2024...

Responsive image

ส่องเส้นทางเทคฯ KBTG จากยุคปรับตัว สู่ผู้นำ Agentic AI กับยุทธศาสตร์ Human-First x AI-First พลิกโฉมธุรกิจ

เจาะลึกกลยุทธ์ KBTG กับการนำไทยเข้าสู่ยุค Agentic AI 2025 ผ่าน Human-AI Integration เพื่ออนาคตที่ล้ำลึกและยั่งยืน...