'ปฏิรูปของเติ้งเสี่ยวผิง' สู่ 'China 2025' 50 ปี Midea กับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจีน | Techsauce

'ปฏิรูปของเติ้งเสี่ยวผิง' สู่ 'China 2025' 50 ปี Midea กับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจีน

  • 40 ปีหลังจากการปฏิรูปและเปิดประเทศของ เติ้งเสี่ยวผิง เศรษฐกิจจีนที่เคยเติบโตอย่างก้าวกระโดดเกิดการชะลอตัว หนึ่งในปัญหาหลักคือเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน และค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น รัฐบาลจีนมุ่งเปลี่ยนกลยุทธ์จากการเป็นโรงงานผลิตที่เน้นปริมาณ หันมาเน้นคุณภาพของสินค้าและการสร้างนวัตกรรม
  • เราสามารถเห็นภาพรวมประวัติศาสตร์จีนได้จากเส้นทางของ Midea บริษัทที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดพร้อมกับเศรษฐกิจจีนหลังการปฏิรูปของเติ้งเสี่ยวผิง มาสู่ยุคปัจจุบันที่ยังเดินกลยุทธ์สอดคล้องกับการปฏิวัติภาคอุตสาหกรรมในอนาคตของจีน

เมื่อเศรษฐกิจจีนที่เคยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาเกิดชะลอตัวลง ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘โรงงานโลก’ ซึ่งเคยมีจุดเด่นด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ มาวันนี้เจอโจทย์ปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ไปจนถึงจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตที่เคยมีอย่างมหาศาล และมีค่าแรงต่ำกำลังลดน้อยลงสวนทางกับค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น ข้อได้เปรียบที่เคยมีกำลังหายไป อย่างไรก็ดีภาคอุตสาหกรรมยังคงเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศจีน โดยที่รัฐบาลจีนที่นำโดย สีจิ้นผิง จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากการผลิตที่เน้นแรงงานเข้มข้น และการผลิตที่เน้นปริมาณ ตั้งเป้าปักธงว่าภาคอุตสาหกรรมของจีนต่อไปนี้จะเน้นในเรื่องของการพัฒนาด้านคุณภาพ เทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรม

ช่วงเวลานี้อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งของหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจีน เป็นเวลากว่า 40 ปี นับจากการปฏิรูปและเปิดประเทศครั้งสำคัญของ เติ้งเสี่ยวผิง อันเป็นรากฐานที่ทำให้ประเทศแสนยากจนอย่างจีนผงาดขึ้นมาเป็นที่น่าเกรงขามอย่างในทุกวันนี้ เราอาจจะมองเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจจีนได้จากหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าของโลกอย่าง Midea บริษัทที่มีเส้นทางคาบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจีนอย่างแน่นแฟ้น ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่แทบจะติดลบ เติบโตอย่างก้าวกระโดดมาเป็นหนึ่งแนวหน้าของโลก ไปจนถึงการปรับตัวสู่อุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมเพื่อรักษาสถานภาพความเป็นผู้นำในโลกอนาคต

ก่อนการปฏิรูปและเปิดประเทศ จีนที่ ‘จนถ้วนหน้า’ กับปรากฏการณ์กลุ่มคนจีนผู้มี ‘จิตวิญญาณผู้ประกอบการ’

ยุคก่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจอันลือลั่นของ เติ้งเสี่ยวผิง จีนในตอนนั้นมีรูปแบบเศรษฐกิจที่รัฐเป็นศูนย์กลางควบคุมทุกอย่าง และปิดประเทศไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ช่วงนั้นคือการที่จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนและล้าหลังเป็นอย่างมาก แต่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุกซึ่งเป็นแม่นำสายหลักของมณฑลกวางตุ้ง คนจำนวนหนึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ ในสภาพการณ์ที่ต้องอาศัยความกล้าที่จะสำรวจหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ การริเริ่ม และความทะเยอทะยานเป็นอย่างมาก เพราะอยู่ในยุคที่ปัจจัยรอบด้านไม่เอื้อต่อการอยู่รอดไปจนถึงการเติบโตของธุรกิจ

ในปี 1968 เฮ่อเสียงเจี่ยน นำคนในท้องถิ่นจำนวน 23 คนที่อาศัยอยู่ในเขตซุ่นเต๋อ เมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง ระดมทุนกันได้ 5,000 หยวน ก่อตั้งโรงงานผลิตฝาขวดในยุคสมัยแห่งความยากจน นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของกลุ่มผู้ประกอบการไฟแรงที่ต่อมาอีก 50 ปี ได้กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าระดับโลกของจีนอย่าง Midea

เฮ่อเสียงเจี่ยนและพรรคพวก กับจุดเริ่มต้นของ Midea

การปฏิรูปและเปิดประเทศ จุดเริ่มต้นของ 40 ปีที่เติบโตรวดเร็วมหาศาล

สิบปีหลังจากนั้นในปี 1978 แผนการปฏิรูปและเปิดประเทศได้เริ่มขึ้น แนวคิดสำคัญของการปฏิรูปนี้คือการรื้อถอนเศรษฐกิจจากส่วนกลางซึ่งก่อนหน้านี้รัฐเป็นผู้ควบคุมทั้งหมด และหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด เปิดให้เกิดการลงทุนของเอกชนภายในประเทศและทุนต่างชาติ ในช่วงนั้นจีนยังมีนายทุนไม่มากนัก Midea เองซึ่งเป็นหนึ่งในทุนเอกชนถือว่าได้รับโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาธุรกิจเป็นอย่างมากจากนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการของรัฐ กล่าวได้ว่า “หากไม่มีการปฏิรูปและเปิดประเทศของ เติ้ง เสี่ยวผิง ในวันนั้น ก็ไม่มี Midea ในวันนี้” สองปีให้หลัง หรือในปี 1980 ทาง MIdea ก็ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว โดยเริ่มต้นจากการผลิตพัดลมไฟฟ้า และเริ่มต้นใช้เครื่องหมายการค้า Midea อย่างเป็นทางการในปี 1981 นับเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็น ‘แบรนด์’ Midea

กล่าวได้ว่า 40 ปี นับตั้งแต่การปฏิรูปและเปิดประเทศ Midea เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีรายได้แตะ 100 ล้านหยวนในปี 1990 และเติบโตเป็นหนึ่งหมื่นล้านหยวนในปี 2000 และในปี 2010 ก็เติบโตไปถึงหนึ่งแสนล้านหยวน ล่าสุดในปี 2018 ก็ถูกจัดอันดับเป็นบริษัทที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 245 จาก Forbes Global 2000

หากไม่มีการปฏิรูปและเปิดประเทศของ เติ้ง เสี่ยวผิง ในวันนั้น ก็ไม่มี Midea ในวันนี้

Passion ในเทคโนโลยีและนวัตกรรม สารตั้งต้นสำคัญในการกำหนดอนาคตของ Midea และอุตสาหกรรมจีน

ฉายาความเป็น ‘โรงงานโลก’ ของจีนนั้นเป็นสิ่งที่อธิบายภาพรวมของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลังการปฏิรูปได้เป็นอย่างดี ด้วยต้นทุนทางการผลิตที่ต่ำสามารถดึงการลงทุนจนมีอุตสาหกรรมการผลิตที่มีขนาดมหาศาล กำลังในการผลิตที่ทรงพลังมากๆ ในแง่ ‘ปริมาณ’ ซึ่งก็มีผลย้อนกลับว่าด้วยการถูกปรามาสในด้านของคุณภาพซึ่งเป็นภาพลักษ์ติดตัว ปัจจุบันการเน้นอุตสาหกรรมการผลิตรูปแบบเดิมก็มาถึงทางตัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการขาดแคลนแรงงาน ค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น ไปจนถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

กระโดดเข้าธุรกิจพัดลมโดยที่ยังขาดความรู้ด้านเทคโนโลยี ก่อนที่จะนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ

กระนั้นก็ดีในช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา ยังมีบริษัทสัญชาติจีนหลายๆ บริษัท ได้มีส่วนวางรากฐานสำคัญที่ช่วยกำหนดอนาคตอุตสาหกรรมจีน โดยเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งหลังจากการปฏิรูปและเปิดประเทศ บริษัทเหล่านี้รู้ข้อจำกัดในด้านความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีภายในประเทศจีน เช่นอย่าง Midea เองที่เริ่มต้นธุรกิจผลิตพัดลมก็ตระหนักถึงปัญหาด้านการขาดแคลนความรู้และ Talent ทำให้ริเริ่มเปิดรับเอาเทคโนโลยีจากประเทศที่มีความเชี่ยวชาญสูงกว่า เช่นการส่งพนักงานไปเก็บเกี่ยวความรู้จากญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้าในยุคนั้นเข้ามาพัฒนาคุณภาพสินค้าของตัวเอง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ Midea ดำเนินอย่างต่อเนื่อง ตลอดการเติบโตอย่างก้าวกระโดด Midea ได้มีการซื้อกิจการ หรือทำการ Cooperation กับบริษัทที่มีเทคโนโลยีเหนือกว่าเพื่อยกระดับคุณภาพของสินค้าของตัวเองหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Panasonic, Toshiba หรือ Sanyo พูดได้ว่าถึงแม้อุตสาหกรรมในภาพรวมของจีนจะเป็นการผลิตที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ แต่ก็มีบริษัทจำนวนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับพัฒนาการด้านคุณภาพ การพัฒนาคน เทคโนโลยี และนวัตกรรม จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ในการแข่งขันระดับโลกในปัจจุบันได้

ในแง่การบริหารจัดการ Midea ก็มีการ Transform ให้มีการบริหารจัดการองค์กรแบบเป็นระบบมากขึ้นโดยการจ้างมืออาชีพตัวจริงมานั่งแท่นบริหารแทนผู้ก่อตั้งในยุคแรกๆ ที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารบริษัทในสเกลใหญ่ๆ

เรายอมทนกับการขาดทุนกับการลงทุนที่ผิดพลาดด้วยเงิน  100 ล้านหยวน ดีกว่าการต้องทนกับการมีกระบวนการการผลิตที่ไร้ประสิทธิภาพ

ถนนสู่ ‘China 2025’ ปฏิวัติอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น สู่ระบบการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เต็มรูปแบบ

โรงผลิตเครื่องปรับอากาศของ Midea ในปัจจุบัน ที่ใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานกว่า 24,000 คน

เพื่อรับมือกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อุตสาหกรรมของจีนในอนาคตต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ในการผลิต ทั้งในด้านของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปจนถึงการสร้างแบรนด์ลบภาพลักษณ์จุดด้อยด้านคุณภาพ โดยหมุดหมายที่ชัดเจนคือแผนการ ‘China 2025’ ที่ประกาศออกมาในปี 2015 เน้นพัฒนานวัตกรรม 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่การใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูงมาเป็นกำลังผลิตที่ให้ผลลัพธ์ด้านคุณภาพที่สูงขึ้น

ก้าวสำคัญของการปฏิวัติระบบการผลิตของ Midea ซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงอนาคตของอุตสาหกรรมการผลิตในจีนด้วยเช่นกัน คือในปี 2016 ที่ Midea ทุ่มเงิน 3.9 พันล้านเหรียญ เข้าซื้อกิจการของ Kuka ผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรายใหญ่ที่มีเทคโนโลยีก้าวล้ำที่สุดเจ้าหนึ่งจากเยอรมนี ปัจจุบันในส่วนของการผลิตของ Midea เองก็ใช้หุ่นยนต์เป็นกำลังหลัก อย่างเช่นโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศของ Midea ก็ได้มีการนำหุ่นยนต์มาแทนที่แรงงานคนกว่า 24,000 คน

ถึงแม้การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาดูจะเป็นการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานโดยตรง แต่ Midea เองไม่ได้จำกัดบทบาทเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไว้แค่เพียงในส่วนของกำลังการผลิตเท่านั้น แต่ยังต่อยอดไปในส่วนของระบบโลจิสติกส์, การแพทย์ ไปจนถึง Smart Home ซึ่งคือการต่อยอดเทคโนโลยีออกไป ปัจจุบัน Midea เอง มี R&D Staff กว่า 1,000 คน มีศูนย์วิจัย 89 แห่ง และลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 300 ล้านเหรียญต่อปี และเป็นเจ้าของสิทธิบัตรมากกว่า 6,000 ชิ้น

ระบบ Logistics อัจฉริยะ สามารถแทร็กทุกขั้นตอนได้อย่างละเอียด

กล่าวได้ว่าร่มที่คลุมการพัฒนาเติบโตไปยังอนาคตของ Midea ที่ยังคงตีคู่ไปกับพัฒนาการของเศรษฐกิจจีนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงพัฒนาการด้านเทคโนโลยี แต่คือการต่อยอดด้านนวัตกรรม สอดคล้องกับแผนการ ‘China 2025’ ที่จะเปลี่ยนการผลิตที่เน้นปริมาณมาเน้นด้านคุณภาพของสินค้าและบริการ มากกว่านั้นคือการคิดและส่งออกนวัตกรรมที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

2024 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยต้องโฟกัสอะไร? รู้จักกลยุทธ์ 2C โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย เจาะปัจจัยหลักที่นักการตลาดดิจิทัลต้องรู้

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 2 กุญแจชิ้นสำคัญอย่าง Content & Convenience ที่กุมชะตาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยในยุคดิจิทัล...

Responsive image

AirAsia MOVE ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ สู่ผู้นำแพลตฟอร์มเดินทาง OTA แบบคุ้มครบจบในแอปเดียว พร้อมแพ็กเกจบินทั่วอาเซียนแบบไม่จำกัด

airasia Superapp ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ในชื่อ AirAsia MOVE พร้อมปรับโฉมแอปพลิเคชันใหม่ และเสริมกลยุทธ์ด้านธุรกิจเพื่อผลักดันให้ AirAsia Move เป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์ม OTA (ตัวแทนด้านก...

Responsive image

VC เผยวิธีมองสตาร์ทอัพให้ขาด ก่อน ORZON Ventures เข้าไปลงทุน

คุยกับ 'คุณณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล ผู้อำนวยการการลงทุน ORZON Ventures' เรื่องการทำงานระหว่าง OR กับ 500 TukTuks, เกณฑ์การพิจารณาสตาร์ทอัพที่น่าลงทุน, เหตุที่บางดีลเกิด/ไม่เกิด รวม...