New Normal ในอุตสาหกรรมโรงแรมหลัง COVID-19 | Techsauce

New Normal ในอุตสาหกรรมโรงแรมหลัง COVID-19

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมโรงแรมเนื่องจากมาตรการในการบริหารจัดการเกี่ยวกับ COVID-19 ของแต่ละประเทศเน้นการ Lockdown ปิดพื้นที่เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อซึ่งมาตรการนี้ยังรวมถึงการไม่ให้มีการเดินทางข้ามเขต ข้ามรัฐ รวมทั้งข้ามประเทศและแน่นอนว่าเมื่อไม่มีการเดินทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวย่อมได้รับผลกระทบเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ วิกฤตครั้งนี้เป็นผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงสำหรับประเทศไทยมีการประมาณการว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยปี 2563 จะมีรายได้ 1.12 ล้านล้านบาทลดลงถึง 1.89 ล้านล้านบาทเมื่อเทียบกับปีที่แล้วซึ่งมีรายได้รวม 3.01 ล้านบาทจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเมืองไทยในปี 2563 คาดว่าจะลดจำนวนลงเหลือเพียง 16 ล้านคนลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 39.8 ล้านคนส่วนตลาดในประเทศจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยในปี 2563 คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 60 ล้านคน-ครั้งลดลงจากปีที่แล้วที่จำนวน 167 ล้านคน-ครั้ง สรุปคือจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 23.8 ล้านคนและนักท่องเที่ยวในประเทศไทยหายไป 107 ล้านคน-ครั้ง (ที่มา: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ทั้งหมดนี้คือผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องที่ท้าทายต่ออุตสาหกรรมโรงแรมของประเทศไทยนั่นคือจากวิกฤต COVID-19 ทำให้เกิด New Normal ด้านมาตรฐานสุขอนามัยในอุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศไทยขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโรงแรมจำนวนกว่า 32,564 โรงแรม (นับเฉพาะที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย) คิดเป็นจำนวนห้องพักกว่า 1.63 ล้านห้องทั่วประเทศ (ที่มา: สมาคมโรงแรมไทย) เนื่องจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิงจากผลกระทบของการที่ต้องระมัดระวังตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 อยู่เสมอทำให้เกิดความเคยชินและเกิดทัศนคติต่อมาตรฐานด้านความปลอดภัยของสุขอนามัยที่เปลี่ยนไปมีการใส่ใจกับความสะอาดของโรงแรมที่จะเข้าพักมากขึ้น ใส่ใจในความสะอาดของอาหารและการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลางของโรงแรมมากขึ้นและนี่คือสิ่งท้าทายของอุตสาหกรรมโรงแรมต่อ New Normal ใหม่ด้านสุขอนามัยในอุตสาหกรรมโรงแรม

โลกใบเดิมของการประกอบธุรกิจโรงแรมโดยมากปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับต้นๆ ก่อนที่จะดำเนินธุรกิจโรงแรมมักจะประกอบไปด้วย ทำเลที่ตั้ง การออกแบบที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน บริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง ราคาขายที่เพิ่มโอกาสทางการขาย Promotion ที่ดีและที่สำคัญส่วนใหญ่เน้นการสร้าง Brand จากการชูประเด็นด้านความสะดวกสบายในการเข้าพักซึ่งในอนาคตทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไปสำหรับการดำเนินธุรกิจโรงแรมแต่นักท่องเที่ยวและคู่ค้าอาจให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขอนามัยมากเป็นลำดับต้นๆ ของการตัดสินใจเลือกที่พักจาก New Normal ที่เกิดขึ้นดังนั้นผู้ประกอบการควรมีแนวทางในการบริหารจัดการสิ่งต่างๆ เหล่านี้

  1. Management Team ในส่วนของฝ่ายบริหารโดยปกติการประเมินผลงานจะยึดจาก GP (Gross Profit) หรือกำไรขั้นต้นที่เป็นการคำนวรจาก รายได้จากการขาย - ต้นทุนขาย แต่ในบางโรงแรมการจะวัดผลการปฏิบัติการของฝ่ายบริหารจะวัดจาก EBIT (Earnings Before Interest & Tax) หรือกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษีซึ่งก็คือการนำเอา GP ไปลบกับ Management Expenses (ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร) ทั้งนี้อยู่ที่ข้อตกลงระหว่างเจ้าของกับฝ่ายบริหารว่าต้องการให้ใช้   GP หรือ EBIT ในการประเมินผลงานสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ New Normal ด้านสุขอนามัยในส่วนของฝ่ายบริหารคือ “ต้นทุนที่เกิดจากการที่ต้องปรับปรุงระบบสุขอนามัย” ให้สอดรับกับ Trend New Normal นี้จะถูกนำไปจัดอยู่ในค่าใช้จ่ายตัวไหนระหว่า Cost of sales (ต้นทุนขาย) หรือ Management Expense (ค่าใช้จ่ายจากการขายและการบริหาร) ตรงนี้คือสิ่งที่เจ้าของโรงแรมต้องตกลงกับฝ่ายบริหารให้ดีเพื่อป้องกันความขัดแย้งในการวัดผลการดำเนินงานของฝ่ายบริหารในอนาคตและโดยเฉพาะบางโรงแรมมีเจ้าของเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อ Dividend Yields ที่จะต้องจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นอีกด้วยดังนั้นจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการกำหนดงบประมาณเพื่อบริหารจัดการกรณีนี้เพราะย่อมไม่มีใครอยากเพิ่มรายจ่ายเพื่อเพิ่มภาระในการหารายได้ให้ตัวเองซึ่งหากเป็นเช่นนี้แผนการในการพัฒนาสุขอนามัยของโรงแรมให้สอดคล้องกับ New Normal ใหม่อาจล้มเหลวได้

  2. Room Cost ต้นทุนของห้องพักที่อาจต้องปรับเปลี่ยนเมื่อมีการยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัยในโรงแรมกรณีนี้อาจทำได้ 2 แบบสำหรับแบบแรกคือการเพิ่มต้นทุนเข้าไปใน Room Cost เลย เช่น เพิ่มค่าบริการอบฆ่าเชื้อห้องพักทุกสัปดาห์หรือเพิ่มค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อในห้องพักหรือแม้แต่การ Upgrade คุณภาพของน้ำยาทำความสะอาดบางตัวให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นซึ่งมักจะมาพร้อมราคาที่สูงขึ้นด้วยแบบที่สองคือการตัด Cost บางตัวในห้องพักออกเพื่อสร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัยแทนเพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มต้นทุนที่มากเกินไป เช่น การตัด Linen ในส่วนของ Bed Runner (ผ้าคาดเตียง) ออกเนื่องจากบางโรงแรมมอง Bed Runner ว่าเป็นของที่ใช้ซ้ำได้แต่ด้วยสถานการณ์นี้แขกอาจเกิดความรู้สึกกังวลในความสะอาดได้

  3. Front Office สำหรับโรงแรมหรือรีสอร์ที่เป็นลักษณ์ Open lobby เป็นพื้นที่โล่งและอากาศถ่ายเทได้สะดวกอาจไม่จำเป็นต้องปรับปรุงอะไรมากแต่สำหรับสถานที่ที่เป็นพื้นที่ปิด เช่น City Hotel ต่างๆ อาจจำเป็นที่ต้องมีเครื่องมือหรือมาตรการในการดูแลสุขอนามัยเพิ่มขึ้นสำหรับ Lobby ควรมีการจัดระยะห่างระหว่างแขกที่กำลังติดต่อ Reception และแขกที่กำลังรอรับบริการตามมาตรฐานของ Social Distancing ขั้นต่ำที่ 1.5 – 2 เมตรในส่วนของพนักงานเองก็จำเป็นต้องมีการจัด Traffic ของการรับบริการให้เหมาะสมไม่ให้คนแออัดกันมากเกินไปอย่างในกรณีช่วง Long weekend ที่มีปริมาณแขกเยอะอาจต้องมีการกระจายสถานที่สำหรับให้บริการแขกสำหรับการ Check -In, Check-Out, โดยอาจมีการเปิดพื้นที่เพิ่มเพื่อระบายแขกไม่ให้แออัดในที่เดียวกันมากเกินไปนอกจากนี้สถานที่สำหรับนั่งพักผ่อนของแขกบริเวณ Lobby ไม่ควรจัดให้มีที่นั่งที่จะเป็นการรวบตัวกันของแขกมากเกินไปควรจัดชุดที่นั่งเป็นชุดย่อยๆ ประมาณ 2-3 คนเพื่อรักษาระยะห่างระหว่างกันซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้แขกได้

  4. แผนกอาหารและเครื่องดื่ม การจัดอาหารเช้าแบบบุฟเฟ่ต์อาจต้องเว้นระยะห่างของอาหารแต่ละประเภทเพื่อรักษาระยะห่างของแขกไม่ให้แออัดรอตักอาหารใกล้กันเกินไปนอกจากนี้ควรจัดโต๊ะรับประทานอาหารแบบกลุ่มย่อย 2-3 คนเป็นหลักและหลีกเลี่ยงการจัดโต๊ะอาหารแบบรวมกลุ่มใหญ่สำหรับพนักงานที่ให้บริการควรมีการสวมถุงมือเพื่อป้องกันการสัมผัสอุปกรณ์โดยตรงนอกจากนี้ภาชนะต่างๆ เช่น จาน ช้อน แก้ว ฯลฯ อาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงให้แขกหยิบหรือสัมผัสโดยตรงเพราะในบางครั้งอุปกรณ์พวกนี้ในไลน์บุฟเฟต์แขกคนแรกหยิบแล้วแต่ไม่ใช้แขกคนต่อไปมาหยิบต่อแบบนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขอนามัยได้กรณีนี้อาจใช้การมอบหมายให้พนักงานอยู่ประจำ Station ต่างๆ และแจกจ่ายให้แขกเองเนื่องจากบางครั้งแขกมีการสัมผัสภาชนะแล้วแต่เปลี่ยนใจไม่เอาไปใช้บริการและอาจมีแขกคนอื่นมารับต่อไปซึ่งอาจเป็นการเสี่ยงต่อสุขอนามัยของแขกได้สำหรับโรงแรมที่มีครัวหรือบาร์แบบเปิดอุปกรณ์บางอย่างที่ไม่เคยนำมาใช้อาจต้องมีการพิจารณาใหม่ เช่น หน้ากากกันน้ำลายขณะปรุงอาหารหรือปรุงเครื่องดื่ม เป็นต้น

  5. แผนกแม่บ้าน อาจจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดตารางการอบฆ่าเชื้อห้องพัก ส่วนของสำนักงาน สถานที่ส่วนกลางของโรงแรมเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือนเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แขกผู้เข้าพักและพนักงานของโรงแรมสำหรับการทำห้องพักอาจจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจและจริงจังกับอุปกรณ์ป้องกันตนเองมากขึ้น เช่น มีการใช้ถุงมือทำความสะอาดที่เหมาะกับงานแต่ละแบบอย่างเคร่งครัด มีการใช้ face shield และหน้ากากอนามัย ขณะทำความสะอาด มีการใช้เจลฆ่าเชื้อหรือน้ำยาทำความสะอาดร่างกายหลังจากที่ได้ทำความสะอาดพื้นที่เรียบร้อยแล้วเพื่อความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของตนเองและแขกผู้เข้าพัก

  6. Common Area พื้นที่ส่วนกลางของโรงแรมที่แขกต้องใช้งานร่วมกันจำเป็นที่จะต้องจัดรูปแบบและการให้บริการโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของแขกผู้เข้าพัก เช่น
    - กรณีของสระว่ายน้ำที่ควรมีการจัดเตียงอาบแดด (Sunbed) ให้มีระยะห่างตามมาตรฐานของ Social Distancing, ผ้าเช็ดตัวสระน้ำที่ใช้เสร็จแล้วพนักงานควรมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เช่น ถุงมือ หน้ากากอนามัยก่อนทำการจัดเก็บเพื่อลดการสัมผัสกับผ้าที่ใช้แล้วโดยตรง
    - สปา ควรมีการตรวจวัดอุณภูมิแขกก่อนเข้าใช้บริการรวมทั้งควรมีการหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายของพนักงานด้วยกันเองเนื่องจากเป็นแผนกที่ต้องสัมผัสกับแขกโดยตรงมากที่สุดในบางครั้งอาจมีความจำเป็นต้องปฏิเสธการให้บริการแขกที่ป่วยและมีอาการผิดปกติ เช่น จามบ่อย มีน้ำมูกตลอดเวลา เป็นต้น
    - ฟิตเนส เป็นอีกพื้นที่ปิดที่จำเป็นต้องมีการจัดการอย่างเคร่งครัด เช่น มีการติดตั้งเครื่องกรองอากาศภายในฟิตเนส มีการจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการฟิตเนสเพื่อลดความแออัด เป็นต้น

    7.  Sales & Marketing อาจเพิ่มกลยุทธ์การขายโดยชูประเด็นด้านความเอาจริงเอาจังของโรงแรมต่อความปลอดภัยในสุขอนามัยของแขกเป็นจุดขายด้วยก็ได้ถือเป็นการหลีกหนีการใช้จุดขายเดิมที่เคยมีมาซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปที่การลดราคา การนำเสนอ Promotion หรือความสวยงามของโรงแรมเป็นหลักจาก New Normal นี้อาจชูดประเด็นสุขอนามัยเพิ่มเข้ามาด้วยก็ได้ เช่น ในการทำโฆษณาโรงแรมอาจมีการโชว์ขั้นตอนการทำความสะอาดห้องพักให้แขกเห็นว่าโรงแรมมีการจัดการอย่างไรบ้างเพื่อเน้นย้ำถึงความใส่ใจต่อความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของแขก

FB Page: Hotel Man by Natthapat Kamolpollapat (POP)

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...