ถ้าท่านหลงเข้าไปในถ้ำที่มืดมิด มีอาหารจำกัด อะไรคือสิ่งที่ท่านต้องการที่สุด
แล้วคำถามนี้มันเกี่ยวอะไรกับ Startup หรือบทความนี้ ก่อนตอบคำถามนี้ เรามารู้จัก Startup กันก่อนละกัน ตามนิยามของ Steve Blank ซึ่งเป็นกูรูทางด้าน Startup ของ Silicon Valley ได้ให้นิยามของคำว่า “Startup” ไว้ว่า
Startup เป็นองค์กรชั่วคราวที่กำลังหาแบบจำลองทางธุรกิจที่สามารถทำซ้ำและขยายตัวได้
ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า Startup จะมีความแตกต่างจากองค์กรโดยทั่วไปตรงที่ Startup ยังไม่เจอ Model ทางธุรกิจที่ชัดเจน และที่สำคัญคือ Startup มีเวลาไม่เยอะด้วย เนื่องจาก Model ส่วนใหญ่ที่ Startup เลือกใช้นั้น มักจะยังไม่ทำเงินในช่วงแรก ดังนั้น Startup จึงต้องใช้เงินคนอื่น ซึ่งส่วนใหญ่คือ Angel Investor (นักลงทุนส่วนบุคคล) หรือ Venture Capitalist (บริษัทที่นำเงินมาลงทุนใน Startup)
หลายคนอาจจะสงสัยว่า เอ แล้วทำไม ไม่หา Model ทางธุรกิจเร็ว ๆ ล่ะ จะได้ทำเงินได้สักที ก็ต้องกลับไปที่นิยามของ Startup คือ มันจะไม่ใช่แค่ Model ทางธุรกิจธรรมดา แต่มันต้อง “ทำซ้ำได้” และ “ขยายตัวได้” ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมอีกสักหน่อยว่า คำว่า “ทำซ้ำ” และ “ขยายตัวได้” แปลว่าอะไร
“ทำซ้ำ” หรือ “Repeatable” แปลว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้น มันจะสามารถต่อยอดให้เกิดความสำเร็จอื่น ๆ ต่อมาได้อีก เช่น Amazon ตอนแรกก็แค่ขายหนังสือ Online แต่พอเขาประสบความสำเร็จ กลายเป็นร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยไม่มีหน้าร้านเลยแม้แต่ที่เดียว (โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ) เขาก็ไม่หยุดแค่นั้น โดยต่อยอดกลายเป็น Online Retail Store ขายไปสารพัด จนกลายเป็น Everything Store ไปเลย อันนี้คือตัวอย่างของคำว่า “ทำซ้ำ”
“ขยายตัวได้” หรือ “Scalable” คือ Startup จะต้องมีความสามารถในการเติบโต โดยไม่จำเป็นต้องใช้การลงทุนมากนัก ลองดู Model ธุรกิจของ Airbnb ก็ได้ หากเราทำธุรกิจแบบดั้งเดิม คือโรงแรม การที่เราจะขยายกิจการ ก็คงหนีไม่พ้น ที่เราจะต้องไปซื้อที่ดิน สร้างอาคาร ซึ่งเป็นการลงทุนมหาศาล ดังนั้นการขยายกิจการของโรงแรม จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ และแถมมีความเสี่ยงอีกด้วย แต่ Airbnb กลับทำตัวเป็น Platform ให้คนที่มีห้องว่าง ๆ อยู่แล้ว มาปล่อยให้เช่า และลูกค้าที่อยากหาห้องเช่าในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ก็เข้ามาหาห้องเหล่านี้ใน Platform ของ Airbnb และก็ตัดสินใจเลือกห้องที่เขาจะเช่า โดย Airbnb ก็หักค่าบริการจากผู้ปล่อยเช่าเป็น % ไป ด้วย Model แบบนี้ Airbnb สามารถให้บริการปล่อยห้องเช่าได้จำนวนมหาศาล โดยที่ตัวเองไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของโรงแรมเลยแม้แต่แห่งเดียว Airbnb จึงสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และแทบจะไม่มีขีดจำกัด นี่คือตัวอย่างของคำว่า “ขยายตัวได้”
นี่แหละคือเหตุผลที่ทำให้การหา Model ทางธุรกิจของ Startup จึงทำได้ยากกว่าปกติ เพราะมันต้อง “เหนือ” จริง ๆ และยิ่งมันมีเวลามากำหนดอีก เพราะ Startup กำลังใช้เงินคนอื่นมา Run ธุรกิจของตัวเอง มันยิ่งท้าทายเข้าไปใหญ่ จึงไม่แปลกที่มีคนพูดว่า 90% ของ Startup มักจะไปไม่รอด
หลายครั้ง มีคนบอกให้ Startup “Fail Fast” คือให้รีบ ๆ ล้มซะ จะได้รู้ว่าอะไรมันใช้ได้ หรือ ใช้ไม่ได้ แต่การล้มอย่างเดียวมันไม่ได้ช่วย เพราะถ้าล้มไปเรื่อย ๆ ในที่สุดเงินลงทุนก็หมด แล้ว Startup ก็เจ๊ง ข้อเสนอแนะคือ หลังจากล้มแล้ว Startup ต้องเรียนรู้ให้เร็วที่สุด เพราะอย่างที่เล่าให้ฟังคือ Startup ทำงานแข่งกับเวลาตลอด
เครื่องมืออันหนึ่งที่น่าจะช่วย Startup ได้เป็นอย่างดี คือสิ่งที่เรียกว่า OKRs หรือ มาจากคำเต็ม ๆ ว่า Objective and Key Results ซึ่ง OKRs เป็นเครื่องมือที่องค์กรชั้นนำอย่าง Google Amazon Twitter นำมาใช้และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
OKRs ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ วัตถุประสงค์หลัก (Objective) ซึ่งเป็นข้อความที่บอกถึงจุดมุ่งหมายที่สำคัญของ Startup ในระยะเวลานั้น โดยวัตถุประสงค์ที่ดีนั้น มันจะต้องเป็นสิ่งที่สำคัญจริง ๆ ที่ Startup ต้องการ เอาเป็นว่า มันจะต้องเป็นเหตุผลที่คนทำ Startup คิดถึงเป็นสิ่งแรก ตอนลืมตาตื่นขึ้นตอนเช้าเลย เช่น เราจะต้องเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นลูกค้า อะไรทำนองนี้
คราวนี้ส่วนถัดมาคือผลลัพธ์หลัก (Key Results) มันก็คือการบอกว่า วัตถุประสงค์ที่เขียนขึ้นมานั้น เราจะต้องทำอย่างไรบ้างให้สำเร็จ ในส่วนของ Key Results นั้น มันจะต้องชัดเจน วัดผลได้ เช่นวัตถุประสงค์เขียนว่า เป็นองค์กรที่เน้นลูกค้า แบบนี้ มันยังไม่ชัด เน้นอะไร เน้นอย่างไร Key Results ก็อาจจะเขียนเป็นว่า อัตราการรักษาลูกค้าเดิมไม่น้อยกว่า 80% อะไรแบบนี้เป็นต้น
โดยปกติแล้วเราจะตั้ง OKRs เป็นรายไตรมาส เนื่องจาก Startup จะต้องปรับตัวให้เร็ว ถ้าต้องรอจนกว่าจะครบปี ถึงจะมาวัดผลดูว่าที่ทำไปมันใช้ได้หรือไม่ ก็ไม่ทันการณ์กันพอดี และ OKRs จะต้องไม่เยอะ จะเน้นเรื่องที่สำคัญ ๆ เท่านั้น โดยปกติแล้ว Objective ในแต่ละไตรมาสไม่ควรเกิน 3 ข้อ และแต่ละข้อก็ควรมี Key Results ไม่เกิน 3 เรื่อง เป็นต้น
และนอกจากนี้การตั้ง OKRs ยังเป็นหน้าที่ของพนักงานแต่ละคน ไม่ใช่เป็นการตั้งมาจากผู้บริหารขององค์กร ดังนั้น OKRs ที่ถูกตั้งขึ้นจึงเป็นสิ่งที่พนักงานแต่ละคนอยากจะทำให้สำเร็จตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นการบังคับจาก Founder หรือ CEO แต่ก็พนักงานก็ต้องตั้งให้มันสอดคล้องกับ OKRs ระดับบนเช่นกัน
John Doerr ผู้ที่เป็นกูรูทางด้าน OKRs และเป็นผู้ที่ได้นำเอาระบบนี้มาจาก Intel ที่เขาเคยทำงานอยู่มาใช้กับ Startup ที่เขาลงทุนด้วย เช่น Google ได้กล่าวว่า OKRs มันมี Super Power อยู่ 4 ข้อได้แก่
1.OKRs จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถเน้นเฉพาะเรื่องที่สำคัญเท่านั้น
ปัญหาของ Startup ส่วนใหญ่คือ เรื่องเวลาและทรัพยากร ดังนั้น หากไม่มีเครื่องมือที่ช่วยจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะต้องทำ จะทำให้ Founder หรือ CEO ของ Startup ไปทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน และในที่สุดก็อาจจะทำไม่สำเร็จสักอย่าง และเมื่อเงินทุนหมด Startup นั้นก็ต้องเจ๊งไปตามระเบียบ OKRs จะช่วยให้ผู้บริหารทราบว่า อะไรคือ “สิ่งที่สำคัญที่สุด” ในไตรมาสนี้ และจะได้ใช้ทรัพยากรและเวลามุ่งไปที่จุดนั้นจุดเดียว จึงทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีมากขึ้น
2. OKRs จะช่วยทำให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเกิดการทำงานเป็นทีม
เนื่องจาก OKRs ที่แต่ละคนจะตั้งขึ้นนั้น มีข้อกำหนดว่ามันจะต้องสอดคล้องกับ OKRs ของทีม ซึ่งก็จะต้องสอดคล้องกับ OKRs ของหน่วยงาน ดังนั้น การทำงานของ Startup มันจึงไปในทิศทางเดียวกัน และเนื่องจาก OKRs ไม่ใช่ความลับ เราจะสามารถรู้ได้หมดว่า OKRs ของใครเป็นอย่างไร ทำให้การร่วมมือทำงานเป็นทีมทำกันได้ง่ายขึ้น
3. OKRs จะทำให้การติดตามความก้าวหน้าของงานทำได้ง่าย
อย่างที่บอกว่า Startup เป็นองค์กรที่ไม่ได้มีเวลามากนัก ดังนั้น หากทำงานไปโดยที่ไม่ได้ติดตาม บางครั้งก็อาจจะหลงลืม ไม่ได้ทำ หรือ แม้กระทั่งทำไปแล้ว ก็ไม่ทราบว่าผลเป็นอย่างไร การที่ OKRs มันมีการวัดผลที่ชัดเจน มันทำให้คนทำงานรู้ว่าตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว และถึงแม้ว่าจะไม่สำเร็จตามที่ตั้งไว้ ก็ยังทราบว่าผลเป็นอย่างไร และนำไปสู่การพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขได้ทันเวลา
4. OKRs จะทำให้เกิดการตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย
โดยทั่วไปแล้ว เราจะไม่เอา OKRs มาใช้ในการประเมินผลพนักงาน ดั้งนั้นพนักงานจึงไม่ต้องกลัวว่าจะถึงเป้าหมายที่ตัวเองตั้งขึ้นหรือไม่ วัฒนธรรมแบบนี้ ทำให้แต่ละคนจะตั้งเป้าที่ท้าทาย Larry Page ซึ่งเป็น Cofounder ของ Google ได้ตั้งเป้าว่า ทำอะไรก็ได้ แต่ต้องให้มันดีกว่าเดิม 10 เท่า (10X) และเขาก็บอกว่า การตั้งเป้าแบบนี้ มันเหมือนกับว่า เป็นการตั้งเป้าว่าจะไปดาวอังคาร ถ้าพลาดมา อย่างน้อย ๆ ก็ถึงดวงจันทร์ เลยเช่นกัน นี่แหละที่เขาเรียกกันว่า Moonshot OKRs
เราจะเห็นได้ว่า OKRs นับว่าเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมาก ๆ สำหรับ Startup ที่จะทำให้เขาเหล่านั้น ไปถึงจุดหมายได้อย่างรวดเร็ว จะเปรียบไปแล้ว Startup ก็เหมือนคนที่หลงอยู่ในถ้ำที่มืดมิด เขามีเวลาไม่มากนัก ก่อนที่อาหารจะหมด ถ้าเขาเดินไปแบบสะเปะสะปะ ถ้าโชคดี เขาก็จะสามารถออกจากถ้ำได้ทันเวลา แต่ถ้าโชคร้าย เขาก็ออกมาไม่ทัน และอาหารหมดก่อน OKRs เปรียบเสมือนเป็นไฟฉายอันหนึ่ง ที่คอยบอกทางเขา ไม่ได้หมายความว่ามีไฟฉายแล้ว เขาจะรู้ทางออกจากถ้าทันที แต่การที่เขามีไฟฉาย พอฉายไปข้างหน้าแล้ว เห็นทางตัน เขาจะไม่ต้องเสียเวลาเดินเข้าไป ซึ่งเป็นการประหยัดทรัพยากรและเวลาที่มีอยู่เป็นอย่างมาก จึงนับว่า “ไฟฉาย” เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนหลงถ้ำ มีโอกาสรอดเพิ่มสูงขึ้น
ถ้า Startup เปรียบเสมือนคนหลงในถ้า OKRs ก็เปรียบเสมือนไฟฉาย จากคำถามตอนเริ่มต้นที่ว่า “ถ้าท่านหลงเข้าไปในถ้ำที่มืดมิด มีอาหารจำกัด อะไรคือสิ่งที่ท่านต้องการที่สุด” คำตอบจึงไม่น่าจะเป็นแค่อาหารอย่างเดียว เพราะถึงได้เพิ่มมา ถ้าเรายังหาทางออกไม่ได้ ในที่สุดอาหารก็หมด แต่เราน่าจะต้องการเครื่องนำทางอย่าง “ไฟฉาย” ควบคู่ไปด้วย
Startup ก็เช่นกัน อาหารของคนติดถ้ำ ก็เหมือนเงินลงทุนที่ Startup ต้องการ ถ้าเอาแต่ขอเงินลงทุนจากนักลงทุนอยู่เรื่อย ๆ แต่เราไม่มีเครื่องนำทาง เดี๋ยวเงินมันก็จะหมดไป แล้วใครที่ไหนจะคอยเอาเงินมาให้ Startup ใช้อยู่เรื่อย ๆ Startup ต้องการเครื่องมือนำทางอย่าง OKRs ซึ่งเหมือนกับไฟฉาย ที่จะพา Startup ไปยังทางออกให้เร็วที่สุด
คำถามสุดท้ายคือ แล้วตอนนี้ Startup มี “ไฟฉาย” อันนี้แล้วหรือยัง
ภาพ Cover โดย TheNextWeb
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด