ไม่ใช่แค่สวยขึ้น แต่แกร่งขึ้น: เจาะลึกเบื้องหลังการ rebrand ของ Omise | Techsauce

ไม่ใช่แค่สวยขึ้น แต่แกร่งขึ้น: เจาะลึกเบื้องหลังการ rebrand ของ Omise

- เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง จากการ rebrand ของ Omise? -

omise-rebrand

กรกฎาคมที่ผ่านมา นอกจาก Omise (โอมิเซะ) จะเซอร์ไพรส์พวกเราด้วยการประกาศ Funding ล่าสุด 17.5 ล้านเหรียญแล้ว ยังสร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยการเปลี่ยนโลโก้ใหม่ที่ดูสะดุดตา และเข้มแข็งยิ่งขึ้น จนกระทั่งล่าสุดเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Omise ได้เปลี่ยนโฉมเว็บไซต์ใหม่ทั้งหมดโดยสมบูรณ์ เพื่อสะท้อนให้ผู้บริโภคเห็นถึงศักยภาพบริการที่เพิ่มสูงขึ้นและสามารถตอบรับความต้องการของธุรกิจได้หลากหลายมากขึ้น

 สำหรับ startup ที่ยังใหม่ การ rebrand หรือเปลี่ยนโลโก้ เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่กับ startup รุ่นใหญ่ที่ติดตลาดแล้ว การเปลี่ยนแบรนด์ในครั้งนี้ จะต้องมีที่มาที่ไป และเบื้องหลังที่น่าสนใจแน่ๆ และนับเป็นบทความแรก ที่ทาง Techsauce จะขอนำเสนอกรณีศึกษา ตั้งแต่แนวคิด ไปจนถึงการดีไซน์ และการนำไปใช้ รวมถึงผลลัพธ์ที่ได้รับจากการ rebrand

เนื้อหาที่เราจะคุยกันประกอบไปด้วย

[toc]

ที่มาของการ rebrand

omise-website-old-design

เว็บไซต์ Omise ดีไซน์เดิม

จุดเด่นของดีไซน์เดิมของ Omise อยู่ที่ “ความ friendly” หน้าเว็บมีการใช้ภาพการ์ตูนสี่สี แสดงถึงความสนุกสนาน เป็นกันเอง สะท้อนให้ผู้ใช้งานเห็นว่าเป็นระบบรับชำระเงินออนไลน์ที่ใช้งานง่าย ทำให้ได้รับความนิยมจากเหล่าโปรแกรมเมอร์ และบริษัท startup รุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก

แน่นอนว่าการจะพิชิตเป้าหมายหลักขององค์กร “Online payment for everyone” นั้น Omise จึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ แต่ยังคงพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการรับชำระเงินอยู่เสมอๆ ทำให้ทุกวันนี้ Omise ได้รับความสนใจจากองค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ระดับประเทศเป็นจำนวนมาก โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการระบบรับชำระเงินของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้คือ “ความน่าเชื่อถือ”

และนี่คือโจทย์ใหม่ของ Omise ประกอบกับการเติบโตขึ้นของบริษัทตนเองด้วย จึงถึงแก่เวลาแล้ว ที่ Omise จะ rebrand เพื่อสะท้อนให้ผู้บริโภคเห็นถึงขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของฟีเจอร์การทำงาน และศักยภาพในการรองรับฐานลูกค้าใหม่ๆ และก้าวผ่านภาพลักษณ์สตาร์ทอัพไปสู่องค์กรที่เติบโต แข็งแรง และมั่นคงยิ่งขึ้น

omisehome

เว็บไซต์ Omise ดีไซน์ใหม่

กว่าจะมาเป็นโลโก้ใหม่

omise-logo-behind-the-scene

ทีมงาน Techsauce ได้เข้ามาพูดคุยกับ คุณวี วีรวัชร สุขสันตินันท์ Designer และคุณแบงค์ อภิรักษ์ ปนาทกูล UX Evangelist ของ Omise ทั้งคู่ได้เปิดเผยถึงที่มาและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์โลโก้ใหม่ ที่ผ่านการคิด การศึกษาเรื่องราว รวมไปถึงการลงมือสเก็ตช์ภาพมานับไม่ถ้วน จนสุดท้ายได้ออกมาเป็นโลโก้ปัจจุบันของ Omise ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวัตถุหลักๆ สองอย่างด้วยกัน ได้แก่

Möbius strip

moebius-strip

Möbius strip

โมเบียส เป็นรูปทรงที่เกิดจากการเอากระดาษหรือเทป นำปลายสองด้านมาชนกันแบบบิดด้าน เกิดเป็นวงกลมที่มีโค้งเกลียว คุณแบงค์ได้สาธิตการทำโมเบียส สตริป ให้เราได้รับชม จากนั้นก็นำปากกามาลากเส้นบนกระดาษ “ผมสามารถวาดเส้นจากจุดเริ่มต้น มาเชื่อมกับจุดจบได้ โดยไม่ต้องยกปากกาขึ้นเลย ซึ่งถ้าเป็นกระดาษที่ปลายชนกันเป็นทรงวงกลมปกติ จะทำไม่ได้”

mobuis-strip-omise

คุณแบงค์สาธิตการทำโมเบียส ซึ่งเป็นที่มาของโลโก้ Omise

“ปากกาที่ลากบรรจบกันได้แบบไร้รอยต่อ ก็เหมือนกับ Omise ที่เราให้บริการเชื่อมต่อระบบชำระเงินแบบ ‘seamless’ นั่นเอง” คุณแบงค์กล่าวถึงความหมายของการนำมาใช้กับแบรนด์

เหรียญเอเชีย

วงกลมไม่ได้สื่อถึงตัวอักษร ‘O’ ใน Omise เท่านั้น แต่ยังมาจากเหรียญกษาปณ์ ซึ่งเป็นโลหะที่มีมูลค่าทางการเงิน สำหรับโลโก้ของ Omise นั้นจะเป็นเหรียญที่มีรูสี่เหลี่ยมตรงกลาง ซึ่งเป็นลักษณะของเหรียญที่พบเห็นได้มากในแถบเอเชีย นี่ยังเป็นการสื่อถึงที่มาของบริษัท ว่าเป็น startup ที่มีต้นกำเนิดจากเอเชีย

china-coins

ภาพตัวอย่างเหรียญในเอเชีย (ประเทศจีน)

5 เรื่องสำคัญที่คุณต้องคิด ในการดีไซน์เพื่อ Branding

เราขอให้คุณวี เล่าถึงเบื้องหลังความท้าทายและประเด็นชวนคิดในการดีไซน์เพื่อ Branding องค์กร ซึ่งสามารถสรุปออกมาเป็นบทเรียนสำคัญได้ดังนี้

1. สวยอย่างเดียวไม่พอ ต้องนำไปใช้ง่าย

“สำหรับโลโก้ อย่าคิดว่ามันจะอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอด ต้องคำนึงถึงการนำไปใช้งานบนพื้นที่สื่ออื่นๆ เช่น การทำป้าย โบรชัวร์ การจัดแสดงในบูธ ด้วย ต้องลองพิมพ์ออกมาดู แล้วปรับแต่งให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย จะสังเกตว่าเราจึงเลือกใช้ฟอนต์บนโลโก้ที่เป็นตัวหนา เพื่อให้เห็นชัดและอ่านง่าย” คุณแบงค์และคุณวีเล่าถึงเรื่องที่ต้องคำนึงในการออกแบบ

brochure-omise

ตัวอย่างโบรชัวร์

omise-in-techsauce-summit

บูธของ Omise ในงาน Techsauce Summit 2016

“นอกจากนี้ เพื่อสะท้อนการเติบโตของ Omise เราจึงเลือกเปลี่ยนจากสีฟ้าเป็นสีน้ำเงินเข้มข้น แสดงถึงองค์กรที่ใหญ่ขึ้น มีความเป็นผู้นำ มั่นคง และน่าเชื่อถือมากกว่าเดิม แต่การเลือกสีน้ำเงินโทนนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าถามว่าทำไมไม่เลือกสีน้ำเงินที่อ่อนกว่านี้หน่อย เราก็ห่วงว่าจะดูกลาง ๆ เกินไป ทำให้ไม่โดดเด่นสะดุดตา คนเห็นแล้วจำไม่ได้ แต่ถ้าเข้มเกินไปก็จะดูมืดจนสับสนกับสีดำ”

คุณแบงค์ยังเสริมในตอนท้ายอีกว่า “โลโก้ใหม่ตัวนี้จึงช่วยให้ทีมดีไซน์ทำงานง่ายขึ้นมาก ผลิต artwork ต่างๆ ไปออกงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น มันทั้งลดงานเรา และความเข้มและหนาของมันยังสู้แสงได้ เด่นขึ้น มีภาพจำมากขึ้น”

2. ให้ UI ทำงานร่วมกับ UX

งานออกแบบไม่ใช่งานของ UI เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับ UX เพื่อหาจุดสมดุลระหว่าง “สวยที่สุด” กับ “เข้าถึงง่ายที่สุด” ด้วย ทั้งคู่ยกตัวอย่างเรื่องการเลือกฟอนต์ คนทำ UI จะชอบฟอนต์สมัยใหม่ ที่ไม่มีหัว เพราะมักสวยและเข้ากับดีไซน์ได้ดีกว่า ส่วนทางฝั่ง UX จะถูกใจกับฟอนต์แบบที่มีหัว เนื่องจากมีความชัดเจนและอ่านง่ายกว่ามาก

สำหรับจุดลงตัวในการเลือกใช้ฟอนต์ภาษาไทยของ Omise คือการเลือกแบบที่มีหัวพยัญชนะชัดเจนสำหรับข้อความที่มีขนาดเล็กๆ ส่วนในข้อความที่มีขนาดใหญ่ เห็นชัด และอ่านง่ายอยู่แล้วก็จะใช้แบบที่ไม่มีหัว ซึ่งดูทันสมัยขึ้นมา

omise-th-text-sample

3. สร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง

บางครั้งก็อาจจะมีเหตุการณ์ที่ต้องเลือกระหว่างความสวย และการคงความเป็นเอกลักษณ์เอาไว้ ทั้งคู่ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ต้องเลือกระหว่างภาพซ้ายกับภาพขวานี้

style-comparison-for-omise

Draft สองสไตล์ สำหรับภาพประกอบบนเว็บไซต์

“เวลามองภาพทั้งสองภาพนี้ ภาพซ้ายซึ่งมีการให้แสงเงานั้นมองแล้วสวยกว่ามาก แต่ขาดความเป็นเอกลักษณ์ เทียบกับภาพทางขวามือ จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวตนของเราได้ดีกว่า

ภาพทางขวามีเพียงเส้นกับสีแค่สองสีเท่านั้น การจะทำให้สวยจึงต้องใช้การจัดวางที่ลงตัว โดยเราต้องสร้างหลักการมากำกับ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกภาพที่เราสร้างต่อจากนี้ไปจะไปในแนวทางเดียวกัน แม้ว่าเราจะมีนักออกแบบหลายคนก็ตาม”

4. สื่อถึง วิสัยทัศน์ และ อัตลักษณ์ ขององค์กร

การออกแบบ brand ไม่ใช่แค่การกำหนดภาพลักษณ์ที่คนในต้องการจะสื่อออกไปถึงคนนอกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไม่ถึงการสื่อสารกันเองภายในองค์กรด้วย การ rebrand ของ Omise ในครั้งนี้ จึงช่วยให้ทั้งทีมงานภายใน และบุคคลภายนอก เห็นถึงทิศทางและเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรชัดเจนขึ้น

การ rebrand ในครั้งนี้ ดีไซเนอร์ได้เปิดเวทีให้ทุกๆ คนในทีม ได้มีส่วนร่วมในการวาง value ขององค์กร โดยการสำรวจภายในแล้ว Omise ให้ความสำคัญกับคำว่า ‘simple’ และ ‘sophisticated’ เป็นพิเศษ

omise-core-value

“สำหรับ Omise สิ่งที่เรายึดมั่นในการทำงาน และการพัฒนาแพลตฟอร์มรับชำระเงินเสมอมา คือระบบที่ใช้งานง่ายสำหรับผู้ใช้ (simple) สัญลักษณ์เหรียญวงกลมเองก็สื่อถึงความเรียบง่าย หน้าเว็บไซต์ของเราก็จะทำให้สวยแบบสไตล์ minimal ในขณะเดียวกัน Omise ก็มีความวิจิตรซับซ้อน (sophisticated) ซึ่งนั่นก็คือระบบทางเทคนิคฯด้านหลังของเรา ซึ่งออกแบบมาเพื่อรองรับระบบ security ความปลอดภัย เป็นอย่างดี และภาพ Mobius ก็ช่วยเราเล่าคำว่า sophisticated ออกมา”

simplicity-vs-mininalism

ความแตกต่างระหว่าง simplicity กับ minimalism ทั้งคู่แปลเป็นไทยว่า “เรียบง่าย” เหมือนกัน แต่มีแนวคิดการดีไซน์ที่แตกต่างกัน

“ในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทของเราเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก และได้ให้บริการกับธุรกิจที่หลากหลาย ตั้งแต่ SMEs ไปจนถึงองค์กรระดับนานาชาติ เป้าหมายของการ rebrand และการ redesign ในครั้งนี้ เป็นมากกว่าการปรับโฉมให้ดูทันสมัยขึ้น แต่อัตลักษณ์ใหม่นี้ยังสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทด้วย ทั้งการวาง concept ไปจนถึงการสรุป look & feel ทั้งหมด ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงการเป็นเทคโนโลยีการชำระเงินที่ล้ำสมัย พร้อมๆ กับความสามารถในการให้บริการธุรกิจจากหลากหลายอุตสาหกรรม” คุณ Jun Hasegawa ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Omise กล่าวถึงการ rebrand ในครั้งนี้

5. ให้เวทีแก่ดีไซเนอร์

การ rebrand เป็นเรื่องใหญ่ ตอนแรกทีมเทคซอสจึงเข้าใจว่านี่เป็นความต้องการของฝ่ายบริหารที่ต้องการสะท้อนวิสัยทัศน์ใหม่ แต่น่าสนใจว่า แท้จริงแล้ว คนที่บอกว่า “เรามา rebrand กันเถอะ!” ก็คือคุณวีดีไซเนอร์นั่นเอง “พอผมได้รับทราบวิสัยทัศน์ขององค์กร ผมก็รู้สึกจุดประกายเรื่องการปรับแบรนด์ขึ้นมา ไม่ว่าการ rebrand นี้จะใช้เวลามากขนาดไหนก็ตาม”

คุณแบงค์กล่าวเสริมต่อว่า “เราทำ เพราะว่าเราใส่ใจ ไม่ใช่เพราะถูกสั่ง เราจึงรู้สึกเป็นเจ้าของ นั่นทำให้งานทุกชิ้นที่ Omise จึงเป็นงานฝีมือ (craftsmanship) ดีไซเนอร์จะช่วยคิดเพื่อสิ่งที่ดีที่สุด ฝ่าย developer ของที่นี่ก็มีความเป็นเจ้าของในโปรแกรม ฝ่ายอื่นๆ ก็เช่นกัน ทุกคนมีเวทีเป็นของตัวเอง นี่คือวัฒนธรรมที่ทำให้ Omise สร้างของดีออกมาครับ”

omisejs

เราหวังว่าเบื้องหลังทั้งหมดนี้ จะช่วยให้ผู้อ่านทุกท่านเข้าใจแนวคิดและทิศทางของ Omise มากขึ้น รวมถึงสามารถนำไปเป็นกรณีศึกษาสำหรับการทำ branding ให้กับองค์กร

สำหรับ Omise ถึงแม้โลโก้ และดีไซน์จะเปลี่ยนไป แต่ภารกิจ “Online payments for everyone” ยังคงเด่นชัด ไม่เปลี่ยนแปลง

 

บทความนี้เป็น Advertorial

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะเบื้องหลังดีล Zipevent และ Link Station Group สู่การขยายธุรกิจอีเวนต์ในภูมิภาค SEA

การเข้าซื้อกิจการระหว่าง Zipevent แพลตฟอร์มจัดการอีเวนต์และจำหน่ายบัตรออนไลน์ในประเทศไทย กับ Link Station Group บริษัทญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบจำหน่ายบัตร (Ticketing System) ถือเ...

Responsive image

KBank x Orbix Technology x StraitsX สาธิตการชำระเงินข้ามพรมแดนด้วยบล็อกเชนที่ SG FinTech Festival 2024

ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับ Orbix Technology และ StraitsX เปิดตัวนวัตกรรมชำระเงินข้ามพรมแดนด้วย e-Money on Blockchain ในงาน Singapore FinTech Festival 2024 ชูศักยภาพฟินเทคไทยบนเวทีโลก...

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...