สรุป 5 ประเด็นสำคัญที่ควรรู้ จาก white paper หยวนดิจิทัลของธนาคารกลางจีน | Techsauce

สรุป 5 ประเด็นสำคัญที่ควรรู้ จาก white paper หยวนดิจิทัลของธนาคารกลางจีน

ธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China: PBOC) ได้เผยแพร่รายงานความคืบหน้าของ White Paper สกุลเงินหยวนดิจิทัล หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2014 โดยใน White Paper ธนาคารกลางจีนได้ระบุถึงภูมิหลังของสกุลเงิน แผนงานด้านเทคโนโลยี และวัตถุประสงค์ในการพัฒนา โดยบทความนี้ Techsauce จะสรุปถึงรายละเอียด White Paper ว่านิยามหยวนดิจิทัลสำหรับรัฐบาลจีนคืออะไร มีกลไกทำงานอย่างไร และขณะนี้หยวนดิจิทัลพร้อมใช้งานแล้วหรือไม่

หยวนดิจิทัลBusiness vector created by iconicbestiary
 Background vector created by brgfx

เทรนด์ Digital Payment และ Cryptocurrency ทำให้รัฐบาลจีนต้องเร่งพัฒนา ‘หยวนดิจิทัล’

ใน White Paper ได้เผยแพร่ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจจีนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่าได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้แรงสนับสนุนจากนวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ผนวกกับการมาของโควิด-19 ที่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนส่วนใหญ่ให้หันมาใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน มีอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากก็คือ E-Commerce คนเริ่มหันมาจับจ่ายซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาควบคู่กันกับธุรกิจกลุ่มนี้ย่อมไม่พ้นกับเทคโนโลยีการเงินรูปแบบใหม่นั่นก็คือ Digital Payment เป็นการโอน ถอน จ่าย ทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชัน ให้การซื้อขายผ่านไปอย่างราบรื่นและเกิดความสะดวกสบาย ช่วยให้คนส่วนใหญ่ในประเทศเข้าถึงธุรกรรมการเงินได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเข้าสถาบันการเงินเพื่อทำธุรกรรมอีกต่อไป 

ในวงการเทคโนโลยีการเงินไม่นานมานี้ ก็ได้มีนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า เหรียญสกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency เป็นสกุลเงินทางเลือกเสริมที่ให้ความปลอดภัยสูง ขับเคลื่อนด้วยระบบบล็อกเชนที่มีศักยภาพการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ ให้ความโปร่งใสปราศจากคนกลางหรือหน่วยงานกำกับกำหนดนโยบายควบคุม ทำให้คนมองเห็นโอกาสที่จะใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้า หันมาเก็งกำไรและลงทุนกันมากขึ้น อย่างไรก็ตามในเอกสารระบุถึงข้อจำกัด Cryptocurrency ว่ายังคงขาดมูลค่าที่แท้จริง ราคาผันผวนสูง และกระบวนการขุดเหรียญใช้ทรัพยากรธรรมชาตจิมหาศาล ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระเบียบโลกการเงินและความมั่นคงของสังคมส่วนรวม เช่น การนำเงินสกุลดิจิทัลเป็นเครื่องมือทำธุรกรรมผิดกฎหมาย 

ด้วย pain-point ที่เกิดขึ้นจาก Cryptocurrency จึงทำให้รัฐบาลหลายประเทศเริ่มมีความคิดริเริ่มนำจุดแข็งของ Digital Payment กับเทคโนโลยีเหรียญดิจิทัล มาศึกษาต่อยอดออกมาเป็น Central Bank Digital Currency (CBDC) สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งได้นำคุณสมบัติการขับเคลื่อนด้วยบล็อกเชนมาเพิ่มประสิทธิภาพของระบบชำระเงิน และยังคงอ้างอิงกับสกุลเงินหลักของประเทศเพื่อนำมาใช้ชำระสินค้าและบริการได้เหมือนกับเงินสด ซึ่งจีนก็เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา CBDC มาตั้งแต่ปี 2014 จนออกมาเป็นโครงการหยวนดิจิทัลที่มีชื่อเรียกอีกรูปแบบหนึ่งว่า “E-CNY” 

หยวนดิจิทัล หรือ e-CNY คืออะไร และทำอะไรได้บ้าง?

หยวนดิจิทัล (E-CNY) หรือชื่อทางการคือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) เป็นเงินดิจิทัลสกุลอ้างอิงหยวนเหรินเหมินปี้ (RMB) ที่ออกโดยธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China: PBOC) และแจกจ่ายต่อไปยังธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน

รัฐบาลจีนระบุถึงหยวนดิจิทัลว่าเป็นเครื่องมือการชำระเงินดิจิทัลไฮบริดที่อิงตามมูลค่าเงินสดจริง มีคุณสมบัติที่เสมือนเงินสดสกุลเงินหยวนทุกประการ ก็คือ ใช้เป็นหน่วยวัดทางบัญชี (unit of account) สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และเก็บรักษามูลค่าได้ (Store of Value) และชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender) กล่าวได้ว่า หยวนดิจิทัลทำได้ทุกอย่างเหมือนธนบัตรและเหรียญทั่วไป เพียงแต่ทุกอย่างเกิดขึ้นในโลกออนไลน์

ทั้งนี้ ใน White Paper ระบุถึงจุดประสงค์ของหยวนดิจิทัลว่าเป็นตัวเลือกเสริมในการทำธุรกรรมการเงินในโลกออนไลน์ สนับสนุนการแข่งขันระหว่างธุรกิจค้าปลีก และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และมีแนวโน้มจะขยับขยายการใช้หยวนดิจิทัลข้ามพรมแดนอีกด้วย 

หยวนดิจิทัลขับเคลื่อนโดยระบบ Smart Contract 

ในเอกสาร White Paper ทางธนาคารกลางจีนได้กำหนดคุณสมบัติการทำงานของหยวนดิจิทัลไว้ 7 ประการ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ที่ธนาคารกลางจีนได้เผยว่าจะมีการใช้ Smart Contract หรือสัญญาอัจฉริยะที่จะช่วยติดตามกระบวนการใช้ธุรกรรมการเงินตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของหยวนดิจิทัล โดย Smart Contract มีหน้าที่กำหนดการตั้งค่าการชำระเงินแบบอัตโนมัติระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ตามเงื่อนไขและกฎที่ตั้งค่าไว้ล่วงหน้าได้ตามที่ตกลงกันทั้งสองฝ่าย และไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสกุลเงินหยวนในโลกจริง

ความคืบหน้าของการพัฒนาของหยวนดิจิทัลตั้งแต่ปี 2014 ถึงปัจจุบัน

ตั้งแต่ปี 2014 ถึง ปี 2016 ธนาคารกลางจีนได้ก่อตั้งกลุ่มวิจัยสกุลเงินดิจิทัลชื่อว่า Digital Currency Institute (DCI) ขึ้นพื่อทำการศึกษาเชิงลึกตั้งแต่กรอบการดำเนินธุรกรรม การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการใช้งาน และแนวทางการนำสกุลเงินดิจิทัล CBDC มาปฏิบัติในความเป็นจริง 

โดยธนาคารกลางจีนก็ได้ความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และบริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีการพัฒนานวัตกรรมอย่างแข็งแกร่งในระหว่างการวิจัยและพัฒนาหยวนดิจิทัลมาตลอด จนในที่สุด ปี 2019 จีนได้นำร่องทดลองใช้หยวนดิจิทัลเป็นครั้งแรกใน 4 เมือง คือ เสินเจิ้น ซูโจว เฉิงตู สงอัน และพื้นที่ที่จะรองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งปี 2022

กระทั่งในปัจจุบัน ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2021 สกุลเงินหยวนดิจิทัลได้ถูกนำไปทดสอบใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ กว่า 1.32 ล้านครั้ง ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นมีส่วนส่งเสริมการใช้ดิจิทัลหยวน บางเมืองได้แจกจ่ายสกุลเงินดิจิทัลให้กับประชาชนต้อนรับวันตรุษจีน ซึ่งการใช้งานได้ครอบคลุมกว้างขึ้น ตั้งแต่สาธารณูปโภค บริการขนส่ง การช็อปปิ้ง และบริการอื่น ๆ ของภาครัฐ ซึ่งผลจากการทดลองพบว่า มีการเปิดบัญชี digital wallet เพื่อรองรับสกุลหยวนดิจิทัลส่วนตัวกว่า 20.87 ล้านบัญชี และ digital wallet สำหรับองค์กรมากกว่า 3.51 ล้านบัญชี มูลค่าธุรกรรมจากหยวนดิจิทัลอยู่ที่ 34,500 ล้านหยวน ระหว่างที่ประชาชนได้ทดลองใช้งาน ทางทีมวิจัยก็ยังคงเก็บรักษาข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี smart contracts หรือการเข้าถึงบริการอย่างสม่ำเสมอ

อนาคตของหยวนดิจิทัล

ธนาคารจีนยังคงยืนยันว่าจะพัฒนาโครงการนำร่องหยวนดิจิทัลต่อไป และจะอยู่ในส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 อีกด้วย ซึ่งทางทีมงานวิจัยจะเติมเต็มระบบนิเวศของหยวนดิจิทัล และการปรับใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ให้สอดรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ พร้อมไปกับยกระดับความปลอดภัยผ่านการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมดิจิทัล เช่น Law on the People’s Bank of China และพัฒนาระบบให้เสถียร ป้องกันการโจมตีจากภายนอก เช่น การรักษาความปลอดภัยของรหัสผ่านและข้อมูลทางการเงิน 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ETDA เปิดตัว SMEs GROWTH ชวนผู้ประกอบการไทย ยกระดับนวัตกรรมด้านดิจิทัลเชิงพื้นที่ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัล

ETDA เปิดตัว SMEs GROWTH ชวนผู้ประกอบการไทย ยกระดับนวัตกรรมด้านดิจิทัลเชิงพื้นที่ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัล...

Responsive image

Food Biotechnology “เนื้อจากแล็บ” ทางเลือกของอาหารเพื่อมวลมนุษยชาติ

Blood Free Group บริษัท Biotechnology จากซีรีส์เรื่อง Blood Free เปิดตัว ‘เนื้อจากแล็บ’ ตอบรับเทรนด์อาหารแห่งอนาคต เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพให้กับผู้บริโภค...

Responsive image

เปิดตัว 7 สตาร์ทอัพ FinTech ในงาน Money20/20 Asia เสริมแกร่งอุตสาหกรรมการเงินในภูมิภาค

Money20/20 Asia ผู้จัดงานงานฟินเทคโชว์สุดยิ่งใหญ่เปิดตัวบริษัทสตาร์ทอัพทั้ง 7 ที่เชื่อว่าจะผลักดันพร้อมปฏิวัติโลกของการเงิน...