ด้วยประสบการณ์ 8 ปีกับ Ecosystem ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลง ความต้องการ และความสามารถของธุรกิจ Startup ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย ใน Techsauce Global Podcast ไปพูดคุยกับคุณ Pieter Kemps, Principal of Sequoia Singapore อดีตผู้ดำเนินงานประสานงานระหว่าง VC ในเอเชียกับ Amazon และยังเป็น VC และ Incubator ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อทำความเข้าใจความต้องการของธุรกิจ Starup เข้าใจ Ecosystem จากมุมมองของ VC รวมทั้งมองอนาคตตลาด Startup ของไทย
จริง ๆ แล้วมันเป็นปีที่น่าสนใจสำหรับทุกอุตสาหกรรม ทุกรูปแบบธุรกิจเลย ก่อนหน้านี้จะเห็นว่า Ecosystem ของแต่ละที่กำลังพัฒนาเพื่อรองรับรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เมื่อมี COVID-19 เข้ามาจะเห็นว่า ธุรกิจอาจจะต้อง Revalue ใหม่ เพื่อให้ปรับตัวได้ ต้องลองวางแผนใหม่ และต้องคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับผลกระทบให้ทันเวลา
ในปีที่ผ่านมามีหลายธุรกิจที่อาจจะขาดรายได้ ในขณะที่บางธุรกิจก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายนัก และบางแห่งก็กลับมาประสบความสำเร็จมากกว่าก่อนการระบาดเสียอีก อย่างเช่น ธุรกิจ Food Delivery และกลุ่ม E-commerce
ก่อนหน้านี้เราอาจจะยังเห็นภาพของ Digital Transformation ว่าสำคัญมากขนาดไหน แต่เมื่อ COVID-19 เข้ามา ทำให้ภาพนี้ชัดเจนขึ้น และเป็นตัวเร่งให้เห็นความสำคัญของการนำนวัตกรรม Automation และ Software มาใช้
การจะมาเจาะจงว่า Sector ไหนน่าสนใจที่สุดนั้นยังยากอยู่ เพราะถึงแม้ว่าจะมี COVID-19 เข้ามา แต่ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่ชัดพอให้โฟกัสแค่ประเภทใดประเภทหนึ่ง โดยตอนนี้มี Startup หลายประเภทเหมือนกันที่น่าสนใจ และน่าจับตามองต่อไป เช่น E-commerce, S-commerce, Logistic รวมทั้ง Edtech และ Fintech
อย่างที่ทราบกันดีว่า COVID-19 ทำให้หลาย ๆ อย่างต้องเปลี่ยนไปอยู่ในระบบออนไลน์ อย่างเช่นการเรียน ที่เปลี่ยนไปเรียนแบบออนไลน์ในช่วงที่หลาย ๆ ประเทศต้องล็อกดาวน์ หรือจะเป็น Health Tech ที่มีความนิยมมากขึ้น เพราะคนเริ่มกลัวการไปพบหมอที่โรงพยาบาล เทคโนโลยีเลยเข้ามามีบทบาทในตอนนี้ รวมทั้งบริการอย่างขนส่งอาหารเดลิเวอรี่ และ E-commerce ที่ตอนนี้ไปพัฒนาไปเยอะมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยทาง Sequoia ก็ได้เข้าไปลงทุนกับ Startup ด้าน Edtech อย่างในอินเดีย และหลาย ๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเราวางแผนที่จะลงทุนต่อในด้านนี้ รวมทั้ง Fintech อย่างในกลุ่มประกันภัย เช่น Qoala ของอินโดนีเซีย เพราะมองว่าธุรกิจประเภทนี้จะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน
แต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันในหลาย ๆ ด้าน ทั้งขนาดของตลาด การพัฒนาระหว่างและหลังการระบาดของ COVID-19 การพัฒนา Ecosystem รวมทั้งการสนับสนุนจากทางรัฐบาลของแต่ละประเทศ โดยตอนนี้ประเทศที่เด่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น
สิงคโปร์ ถึงแม้จะมีขนาดตลาดในประเทศเล็ก แต่ Startup ที่ไปลงทุนส่วนใหญ่มองใน Scale ระดับภูมภาค หรือระดับโลก อีกทั้งทางรัฐบาลให้การสนับสนุน Startup ดีมาก
อินโดนีเซีย จะแตกต่างจากสิงคโปร์ตรงที่อินโดนิเซียมีตลาดในประเทศที่ใหญ่มาก ทำให้สร้างโมเดลธุรกิจให้มี Scale ใหญ่ ๆ ได้ ซึ่งบางธุรกิจใหญ่จนสามารถขยายมาต่างประเทศได้ เช่น Gojek และ Traveloka
ในขณะที่ประเทศอย่าง ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่ตอนนี้ก็เริ่มเติบโตขึ้นเช่นกัน ถึงแม้ว่าตลาดในประเทศจะขนาดไม่ใหญ่เท่ากับอินโดนีเซีย แต่ก็มีตลาดที่ดีกว่าสิงคโปร์ ดังนั้นเวลาจะขยายตลาดให้มองแบบสิงคโปร์ เพื่อให้ธุรกิจมี Scale ใหญ่ไประดับโลก และถ้าทำแบบนี้ คาดว่าในอีก 5-10 ปี ประเทศกลุ่มนี้จะมีตลาดที่โตขึ้นมาแน่นอน
อย่างไรก็ตามในบางประเทศอย่างไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามยังมีหลายธุรกิจที่มองแค่ Scale ในพื้นที่ของตัวเอง หรือแค่ในประเทศ ทำให้ตลาดโตค่อนข้างช้า ทั้งนี้อาจจะมาจากผลของวัฒนธรรม รูปแบบการดำเนินชีวิต และลักษณะของประชากร ที่ในประเทศเหล่านี้มีคนในพื้นที่ห่างไกล หรือนอกเมืองเยอะ รวมทั้งอาจจะขาดโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี และบางประเทศอย่างไทยก็มีผู้สูงอายุอยู่เยอะ จึงทำให้แนวคิดธุรกิจในการสร้าง Scale แบบ Global ถูกกับดักของวัฒนธรรมขัดขวางไว้
สำหรับตลาดในบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนนี้ไม่ได้หยุดนิ่ง และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกเยอะมาก ก่อนอื่นแต่ละที่จะต้องเข้าใจตลาดของตัวเอง เข้าใจตลาดโลก เพื่อหาช่องทางทำให้มีธุรกิจที่มี Scale ขนาด Global ต้องรู้ Market size และรู้ข้อมูลทางเศรษฐกิจในประเทศ เช่น GDP จำนวนประชากร ลักษณะขององค์กร
นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความสามารถของผู้บริโภคในตลาดนั้น ๆ ที่พร้อมจะรับเทคโนโลยีไปใช้งาน ตัวอย่างเช่นในอินโดนีเซียที่ธุรกิจประสบความสำเร็จมากจากการที่คนยอมรับเทคโนโลยี โดยเมื่อ 5-10 ปีที่แล้วอาจจะยังไม่มีสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ แต่ปัจจุบันนี้คนเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ และเขารับเอาโซเชียลมีเดียมาใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้คนเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยี และต่อยอดให้เกิดเป็นแอปพลิเคชัน หรือซอฟต์แวร์ของตัวเอง
ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามันหนักมากสำหรับทุกคน อาจจะต้องมองหาโอกาสจากวิกฤตตรงนั้นมาปรับกับธุรกิจตัวเอง และ COVID-19 ยังเป็นตัวเร่งให้คนหันมาใช้เทคโนโลยีกันมากขึ้น และมองว่าหลัง COVID-19 คนจะยังคงใช้เทคโนโลยีแบบนี้ต่อไป
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด