คุยกับคุณป้อม ปิยพันธ์ แห่ง stock2morrow: ไขกุญแจการลงทุนแบบใหม่ "ทำไมถึงต้องลงทุนใน Startup" | Techsauce

คุยกับคุณป้อม ปิยพันธ์ แห่ง stock2morrow: ไขกุญแจการลงทุนแบบใหม่ "ทำไมถึงต้องลงทุนใน Startup"

pom-s2m-investor-interview

บทสัมภาษณ์นี้เราจะพาคุณผู้อ่านมารู้จักกับบทบาท “Angel Investor”  หรือนักลงทุนอิสระที่ลงทุนใน Startup ซึ่งเป็นนักลงทุนรายบุคคล ต่างจาก Venture Capital ที่เป็นกิจการกองทุนร่วมลงทุน

ปัจจุบันความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนในหลักทรัพย์ขยายกว้างขวางมากขึ้น แต่หลายๆ ท่านอาจจะยังไม่ทราบถึงเรื่องการลงทุนใน Startup วันนี้เราจะมาพูดคุยกับ คุณป้อม ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา ผู้ก่อตั้ง stock2morrow สำนักพิมพ์และคอมมูนิตี้สำหรับนักลงทุนหลักทรัพย์ รวมถึงยังเป็น Angel Investor ที่แอคทีฟมากท่านหนึ่ง ผู้ลงทุนกับ Startup ไทยแล้วหลายราย เรามาทำความรู้จักถึงที่มาที่ไปในเรื่องนี้กันดีกว่าค่ะ

ได้ยินว่าก่อนหน้านี้พี่ป้อมทำงานประจำอย่างเดียวมาโดยตลอด เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะว่าผันตัวไปเป็นนักลงทุนและผู้ประกอบการได้อย่างไร?

พี่ป้อมเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และทำงานประจำมา 19 ปี โดยไม่เคยเปลี่ยนงานเลย เริ่มต้นการทำงานในตำแหน่งวิศวกรคุมงานก่อสร้าง โปรเจคแรกคือดูแลงานก่อสร้างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ต่อมาก็ทำหน้าที่คุมงานโรงงานซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ประเทศไทยจะพบกับวิกฤติการณ์เศรษฐกิจต้มยำกุ้งพอดี แล้วต่อมาพี่ป้อมก็ได้ย้ายตำแหน่งไปเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ

ระหว่างนั้นเองพี่ป้อมก็พยายามสร้างความมั่งคั่งเพิ่มเติมด้วยการเก็บเงิน และหาวิธีนำไปลงทุนในหุ้นซึ่งต้องบอกว่า กว่าจะค้นพบแนวทางการลงทุนของตัวเองได้สำเร็จนั้น พี่ป้อมต้องผ่านการเรียนรู้มาอย่างล้มลุกคลุกคลาน ถึงขนาดว่าเคยเจ๊งไปหนึ่งรอบใหญ่เลยทีเดียว จากประสบการณ์นี้ทำให้พี่ป้อมมองเห็น Pain point ของสังคมว่า คนเล่นหุ้นแล้วเจ๊ง เพราะไม่มีสังคมดีๆในการแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน พี่ป้อมเลยรู้สึกว่าเราต้องสร้างแพลตฟอร์มอะไรขึ้นมาซักอย่าง จึงกลายเป็นเว็บไซต์ออนไลน์ที่เชื่อมคนที่สนใจการลงทุนในหุ้นเข้าหากันในนามของ stock2morrow (ต่อจากนี้จะขออนุญาตเรียกว่า S2M) และนอกจากช่องทางออนไลน์แล้ว ยังมีการจัด Offline meeting เพื่อให้คนได้มาเจอหน้าเจอตาจริงกันอีกด้วยครับ โดยตอนเริ่มต้นนั้นพี่ป้อมยังคงทำงานประจำในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ รวมไปถึงยังคงลงทุนในหุ้นควบคู่ไปพร้อมๆกัน

ตอนที่เริ่มต้นทำ S2M เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ก็เหมือนกับการเริ่มต้น Startup ตอนนั้น Lean เหมือนเป็น Lean Startup เราทำทุกอย่างคนเดียวไม่ว่าจะเป็นการสร้างเว็บไซต์ การเขียน Content หรือแม้กระทั่งการทำระบบลงทะเบียนต่างๆ ก็ทำเอง โดยพี่ป้อมยังคงทำงานประจำ และมีการลงทุนในหุ้นควบคู่กันไปด้วย ทำ 3 อย่างพร้อมกัน ตอนนั้น S2M ยังทำรายได้ไม่ได้ เราต้องนำรายได้จากงานประจำ และรายได้ที่ได้จากการลงทุนในหุ้นมาใช้ในรายจ่ายของ S2M เพราะเรามี Passion และความสนุกที่ได้ทำ

อะไรคือจุดเปลี่ยนสู่การเป็นนักลงทุนและผู้ประกอบการแบบเต็มตัวหรือคะ?

จุดเปลี่ยนคือปี 2008 ซึ่งเกิดวิกฤต Subprime หุ้นตกจาก 900 จุดไป 380 จุด ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ หุ้นดีๆ ลดจาก 10 บาท มาเหลือ 1 บาท พี่ป้อมซึ่งมีประสบการณ์และความเข้าใจในตลาดหุ้นมาพอสมควรแล้ว เลยเอาเงินทั้งหมดที่มีแปลงมาเป็นหุ้น ทั้งเงินสำรองเลี้ยงชีพ เงินสดในบัญชี อะไรที่มีค่าทั้งหมดเปลี่ยนมาหุ้น ปรากฏว่าปี 2009 ทุกอย่างมันก็กลับมา จากราคาหุ้น 1 บาท มันก็กลายมาเป็น 10 บาทเท่าเดิม นั่นทำให้พี่ป้อมสามารถ retire ได้ในปี 2010

ช่วงนั้นถ้าใครมีความเข้าใจเรื่องการลงทุน และกล้าที่จะเสี่ยงบ้าง ก็สามารถทำได้ ความเสี่ยงมันมีในทุกอย่าง แต่ถ้าเรามีความเข้าใจอย่างดี มันจะเป็นตัวลดความเสี่ยงได้ โดยพี่ป้อมคิดเผื่อถึง worst case ว่าถ้าซื้อไปแล้ว หุ้นมันไม่ไป อีก 5 ปี เราอยู่ได้ไหม คำตอบคือเราอยู่ได้ เพราะเรายังมีอาชีพ มีงานประจำอยู่

จากเหตุการณ์นั้นพี่ป้อมก็รู้สึกว่ามันถึงเป้าหมายที่เราวางไว้แล้วว่า การเล่นหุ้นจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ตัวเองเกษียณได้ ตอนนั้นที่ออกมา คิดอย่างเดียวว่าตั้งใจจะมาทำ S2M กับแบ่งเงินที่ได้บางส่วนไปลงทุนในหุ้นให้ใหญ่ขึ้น และอยากใช้ชีวิตแบบสบายๆ

แต่ความจริงคือ พอเราออกจากงานประจำมาได้แค่ 2 เดือน เราก็รู้สึกเบื่อ ได้ตื่นสาย เดินห้าง ดูหนัง แต่รู้สึกว่าไม่มีคุณค่าเลย เพราะเดิมเราเคยทำงานเต็มที่ ประชุมต่อวันเป็นสิบๆ ประชุม ถึงมันจะเหนื่อย แต่มันก็ทำให้เราค้นพบว่า งานคือตัวตนของเรา เราได้ทำในสิ่งที่มีค่า จนเรารู้สึกว่าเราสามารถทำอะไรกับ S2M ได้อีกเยอะ นั่นจึงเป็นที่มาของการขยาย S2M จากเดิมที่เป็นเว็บไซต์ ไปเป็นสำนักพิมพ์ รวมไปถึงทำสัมมนาอย่างจริงจัง ซึ่งเราก็ได้รับแรงสนับสนุนที่ดีตั้งแต่หนังสือเล่มแรกที่ออกวางขาย ซึ่งเขียนโดยคุณแพ้ท ภาววิทย์ กลิ่นประทุม ติดอันดับ Best seller ขายดีถล่มทลาย ทำให้ S2M เติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อมีกำไร เราก็นำกำไรกลับมาลงทุนในตัวธุรกิจทั้งหมด ทำให้จากเดิมที่เคยทำ S2M อยู่คนเดียวที่บ้าน ก็สามารถขยายมามีออฟฟิศที่สีลมได้ภายในระยะเวลา 5 ปี และขยายธุรกิจเป็นทูมอร์โรว์ กรุ๊ป

อ่านเพิ่มเติม: Timeline การเติบโตของกลุ่ม stock2morrow

อะไรทำให้พี่ป้อมสนใจลงทุนใน Startup?

ในมุมมองของพี่ป้อม หุ้นยังคงมีเสน่ห์เสมอ เพียงแต่มันจะน้อยบ้าง มากบ้างตาม Upside (โอกาสที่มูลค่าจะเติบโตจากจุดที่ซื้อไปยังเป้าหมายที่คาดการณ์) ตอนนี้พี่ป้อมมองว่าหุ้นยังไปได้เรื่อยๆ แต่จะให้ Upside มากเท่าตอนหลังวิกฤตเศรษฐกิจก็เป็นไปได้ยาก เราเลยรู้สึกว่า ถ้ามีการลงทุนที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมาก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ

พี่ป้อมเป็นคนที่ชอบความเสี่ยงพอสมควร และพี่ป้อมมีความเข้าใจในแนวทางธุรกิจ เพราะทำธุรกิจและเคยทำงานบริษัทใหญ่มาด้วย  คำถามก็คือว่า จะดีกว่าไหม ถ้าเราจะมองการลงทุนใน Startup เหมือนการลงทุนในหุ้น หุ้นที่เราซื้อได้ตั้งแต่ราคาพาร์ซึ่งยังไม่แพงเท่าไหร่ นอกจากเราจะมีโอกาสรอให้เขาเติบโตแล้ว เรายังสามารถเข้าไปช่วยเขาทั้งในด้านประสบการณ์ หรือเครือข่ายธุรกิจที่ S2M มีอยู่แล้วได้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าวันที่ Startup จะ Exit นั้นจะมีมูลค่าที่สูงกว่ามูลค่าตั้งต้นเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามเงื่อนไขที่สำคัญก็คือ เราต้องมีความเข้าใจ และมอง Business model ของ Startup นั้นให้ออก ซึ่งถ้าเราทำได้ มันก็เป็นโอกาสที่น่าสนใจ สรุปก็คือ สิ่งที่ทำให้พี่ป้อมสนใจมาลงทุนใน Startup มีอยู่ 2 ข้อครับ ประกอบด้วย

  1. มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจ Startup
  2. มองเห็นศักยภาพ หรือ Upside ของ Startup ว่าสูง และน่าลงทุน

แล้วเริ่มมาเป็น Angel Investor อย่างเต็มตัวได้อย่างไรคะ?

พอดีพี่ป้อมได้มีโอกาสคุยกับคุณแม็กซ์ ซึ่งกำลังทำแอปพลิเคชั่น StockRadars อยู่ในตอนนั้น คุณแม็กซ์บอกว่าอยากเข้ามาร่วมกับสังคมนักลงทุนใน S2M และหลังจากที่เรารู้จักกันมาได้ประมาณ 4-5 เดือน คุณแม็กซ์ก็มาถามพี่ป้อมว่าสนใจลงทุนกับ StockRadars ไหม? แน่นอนว่าคำตอบก็คือสนใจ นั่นจึงเป็นเงินก้อนแรกที่เราลงทุนไปที่ Startup ในฐานะของ Angel Investor นั่นเอง

ปัจจุบันพี่ป้อมลงทุนใน Startup มาทั้งหมดเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยลงทุนปีละหนึ่ง Startup ตามลำดับคือ

  1. StockRadars
  2. FRT (Fortune Robotics Trade)
  3. SkillLane
  4. Hubba
  5. Wazzadu

โดยยังไม่มี Startup ไหนที่ Exit เลย อย่างไรก็ตามมูลค่าของแต่ละบริษัทก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น StockRadars ที่ปัจจุบันมูลค่าเติบโตกว่าตอนแรกหลายสิบเท่า ซึ่งเมื่อเทียบกับการซื้อหุ้นในตลาดทั่วไปแล้ว การเติบโตทางมูลค่าเป็นสิบๆ เท่าแบบนี้ถือว่าหาได้ยากมาก

หมายเหตุ: ข้อมูล Angel Investor เพิ่มเติม มีรายงานไว้ใน Report โดย Techsauce (และ Report ของ Q2 อัปเดตใหม่ล่าสุด กำลังจะตามมาในเร็วๆ นี้!)

Photos by pigusso_4122

พี่ป้อมคิดว่าสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างการลงทุนในหุ้น กับ Startup คืออะไรคะ?

การประเมินราคาของ Startup นั้นทำได้ยากกว่า เนื่องจากการลงทุนในหุ้นนั้น ปกติเราจะสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆที่ใช้ประกอบการพิจารณาได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น งบการเงิน หรือค่าสถิติชี้วัดความสามารถในการดำเนินธุรกิจต่างๆจำพวก ค่า P/E (Price/Earning per share), P/BV (Price/Book value) เป็นต้น

พี่ป้อมยังเคยคุยกับคุณต๊อบ เถ้าแก่น้อย และมีความเห็นตรงกันว่า ปัจจัยสำคัญของคนที่จะมาเป็น Angel Investor ได้นั้นต้องเป็นคนมองโลกสวย (หัวเราะ) ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราเป็นนักลงทุนสายคุณค่า (Value Investment) แล้วมาเจอหุ้นตัวหนึ่งที่ยังไม่มีรายได้ หรือตัวเลขทางบัญชีติดลบ แต่มูลค่านั้นสูงกว่า Book Value (มูลค่าตามบัญชี) ถึงสองเท่า ยังไงเราก็จะไม่ลงทุน แต่ถ้าเป็น Startup เราอาจจะลงทุน เพราะสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างหุ้นในตลาดกับ Startup คืออัตราการเติบโตในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่า Startup จะมีอัตราการเติบโตด้วยอัตราเร่งที่ถล่มทลายอาจจะมากกว่า 200-300% ต่อปี ในขณะที่บริษัทหรือหุ้นทั่วไปในตลาดจะเติบโตอย่างมากแค่ 15-20% ต่อปีก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ถามว่ามีความเสี่ยงไหม แน่นอนว่ามี นั่นทำให้เราต้องมีความเข้าใจใน Startup รวมไปถึงต้องให้ความสำคัญกับตัวของ Founder และบุคลากรต่างๆเพื่อให้เราสามารถเลือกทีมให้ถูกต้อง เราถึงจะเติบโตไปด้วยกันได้นั่นเองครับ  

สิ่งที่อยากแนะนำ Angel มือใหม่ มีอะไรบ้างคะ

หลักเกณฑ์ของพี่ป้อมมีอยู่ 2 อย่าง คือ

  1. มอง Business Model ให้ออก : โมเดลทางธุรกิจต้องเป็นจริงได้ แก้ปัญหาสังคมได้ แพลตฟอร์มต้องไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย ดูแล้วคนอยากเข้าไปใช้
  2. มองคนให้ออก : โดยเฉพาะผู้ก่อตั้ง (Founders) เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการลงทุนกับ Startup เหมือนเรามาแต่งงานกัน ตัว Founders ต้องเป็นคนดี ใจกว้าง มุ่งมัน ทุ่มเท และมีลักษณะคล้ายๆกับเรา จะทำให้สื่อสารกันรู้เรื่อง และเข้าใจกันได้ดี

บางครั้งไม่ใช่ตัว Angel Investor ที่เป็นคนเลือก Startup แต่ตัว Startup เองต่างหากที่เป็นคนเลือก Angel Investor คำถามก็คือว่า จะทำยังไงให้ Startup เข้ามาหาเรา?

พี่ป้อมเชื่ออย่างหนึ่งครับว่า ถ้าเราจะช่วยใครซักคน เราจะช่วยเขาได้เท่าที่เรามีจุดแข็ง เพราะฉะนั้นนอกจากเรื่องเงินที่ตัว Startup ต้องการแล้ว คำแนะนำ ประสบการณ์ หรือเครือข่ายของตัว Angel Investor ก็เป็นสิ่งสำคัญ

ดังนั้นการที่จะทำให้ Startup วิ่งเข้ามาหาเราได้ ตัวเราเองต้องมีความชัดเจนก่อนว่าจุดแข็งของเราคืออะไร เราถนัดและเข้าใจในอุตสาหกรรมประเภทไหน ซึ่งเราก็ควรจะลงทุนใน Startup ที่อยู่ในอุตสาหกรรมประเภทนั้นๆ โดยในฐานะของ Angel Investor แล้ว เมื่อลงทุนใน Startup ไหน เราต้องอยู่กับเขาไปมากกว่า 3 ปี ไม่ใช่แค่ปีเดียว ดังนั้นสิ่งสำคัญที่พี่ป้อมอยากจะเน้นย้ำก็คือ เรื่องความเข้าใจ เพราะอะไรที่เรามีความเข้าใจ เราถึงจะอยู่กับมันได้นานครับ

หลายๆ คนกลัวว่า Startup จะเป็นฟองสบู่ พี่ป้อมคิดเห็นอย่างไรบ้างคะ?

ฟองสบู่มันมีอยู่ทุกวงการ ทุกเวลาแหละครับ แม้แต่หุ้นก็มีหุ้นปั่น หรือคอนโดก็มีบางพื้นที่ที่ราคาสูงเกินความเป็นจริง แต่สำหรับ Startup ในประเทศไทยแล้ว จำนวน Startup ที่เกิดขึ้นยังน้อยมากเมื่อเทียบกับเมืองนอก เรายังมีโอกาสอีกมากทั้งในด้านจำนวนและมูลค่าให้ Startup รายใหม่ๆ เข้ามาเล่น แต่ไม่ว่าอนาคตจะมีฟองสบู่หรือไม่ อยากให้ลองกลับมาคิดดูครับว่า ถ้าเรายังยืนหยัดในการเป็น Startup ที่เล็งเห็นถึงการแก้ไขปัญหาสังคม หรือสร้างประโยชน์ให้คนอื่น เช่น ทำให้ผู้คนสนุกขึ้น สะดวกขึ้น ปลอดภัยขึ้น เราก็ไม่ต้องกลัวฟองสบู่ เพราะถ้ามันเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับผู้คน ต่อให้มันมีฟองสบู่จริง ยังไงเราก็เติบโตได้

ส่วนในด้านการลงทุนนั้น มันก็มีโอกาสเป็นไปได้ถ้าคุณไปลงทุนตามกระแสโดยไม่ได้ศึกษา แต่ถ้าคุณศึกษาดีๆ แล้วมองเห็น Startup ที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมได้ ก็เป็นอะไรที่น่าลงทุน เพราะเขาจะแสดงการเติบโตให้เราเห็นเอง ยกตัวอย่างทั้ง 5 Startups ที่พี่ป้อมได้ลงทุน ก็ล้วนมีบทบาทในการแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง ทำให้พวกเขาเติบโตและขยายธุรกิจได้

ศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนใน Startup เพิ่มเติม

ในเร็วๆ นี้ กำลังจะมี 3 งานสัมมนา ที่จะมามีบทบาทเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจ และสร้าง Community ในส่วนนี้มากขึ้น ซึ่งได้แก่

  1. Startup Investor Day: งานสัมมนาฟรี โดย S2M ร่วมกับ Techsauce และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวบรวม Startup ที่ได้รับเงินทุน รวมถึงนักลงทุนทั้งพี่ป้อม คุณต็อบ เถ้าแก่น้อย และคุณชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ผู้เคยลงทุนใน Startup ต่างชาติ วันพฤหัสที่ 7 กรกฎาคมนี้
  2. Techsauce Summit: งานสัมมนาที่รวบรวม Startup และ Investor ทั้ง VC และ Angel เอาไว้มากที่สุด และมีห้องสัมมนาที่เกี่ยวกับการลงทุนใน Startup โดยเฉพาะอีกด้วย วันเสาร์และอาทิตย์ที่ 23-24 กรกฎาคมนี้
  3. Thailand Investment Fest ให้ความรู้ในด้านการลงทุนประเภทต่างๆไว้ในงานเดียวทั้ง หุ้น อสังหาริมทรัพย์ การลงทุนทางเลือก Passion Investment และ Startup ซึ่งรวม Angel Investor หลายท่านมาเป็นวิทยากร วันศุกร์ที่ 5 - อาทิตย์ที่ 7 สิงหาคมนี้

ต้องบอกว่าปัจจุบันกลุ่มนักลงทุนใน Startup เรายังเป็นกลุ่ม Community ที่เล็กมาก ในขณะที่ Startup ดีๆ ก็มีเพิ่มมากขึ้น พี่ป้อมจึงมี Passion ในการที่อยากจะขยาย Community ของนักลงทุนให้มาลงทุนใน Startup มากขึ้น ตั้งแต่ที่เราลงทุนกับ StockRadars ในปีแรก เราก็มีการโปรโมททางช่องทางต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้ง Fanpage และ Social network ของตัวเอง หรือแม้กระทั่งของ S2M เองก็ตาม ซึ่งได้มีการออกหนังสือเกี่ยวกับ Startup เป็นที่แรก พี่ป้อมเชื่อว่ามันเป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน เลยพยายามจะให้นักลงทุนในตลาดหันมามอง Startup ว่านี่ก็คืออีกรูปแบบหนึ่งที่พวกเขาสามารถเข้ามาลงทุนได้เช่นกัน

 


 

สำหรับท่านที่สนใจศึกษาเรื่องการลงทุนใน Startup เพิ่มเติม พี่ป้อม ปิยพันธ์ จะมาพูดคุยลงรายละเอียดเรื่อง Angel investor ตลอดทั้งสามงานข้างต้น ลองดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยค่ะ

*บทสัมภาษณ์นี้เรียบเรียงโดยผู้เขียน ร่วมกับคุณเธมส์นที สุวรรณพลาย (เธมส์) เจ้าของเพจ THINK ต่าง by DECgeneration และ ผู้เขียนหนังสือ THINKต่าง

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...