ช่วงนี้หลายคนคงรู้สึกได้ถึงกระแสที่มาแรงของการเทรดคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลที่ได้รับความสนใจกันอย่างแพร่หลายเนื่องจากเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถทำกำไรจำนวนมากได้ในระยะเวลาสั้นๆ ขอยกตัวอย่างง่ายๆให้เห็นถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้เขียนทำงานอยู่ในแวดวงสินทรัพย์ดิจิทัลใน บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด ซึ่งเราเป็น ICO Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. โดยช่วงที่ผ่านมาผู้เขียนได้รับคำถามจากเพื่อนๆแทบทุกวัน ทั้งทางไลน์ และทางโทรศัพท์เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเพื่อนๆบางคนอาจไม่ได้คุยกันมาเป็นเวลานานมากแล้ว แต่ก็โทรมาสอบถามซึ่งทำให้เชื่อได้จริงๆว่า ความนิยมในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นถือว่าสูงมาก ณ ขณะนี้
แต่เชื่อว่าอาจจะยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ค่อยทราบว่าที่แท้ที่จริงแล้วคริปโทเคอร์เรนซีกับโทเคนดิจิทัลแตกต่างกันอย่างไร ทำไมบางครั้งบริษัทเลือกที่จะออกโทเคนดิจิทัลไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซี และกระบวนการ Tokenization ซึ่งเป็นที่มีพื้นฐานจากการนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้นั้นจริงๆ แล้วคืออะไร และมีประโยชน์ด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจอย่างไรบ้าง ซึ่งผู้เขียนจะมานำเสนอในบทความนี้
ขอเริ่มต้นจากความแตกต่างของคริปโทเคอร์เรนซีกับโทเคนดิจิทัลเพื่อให้ผู้อ่านพอจะเข้าใจว่าเหตุใดภาคธุรกิจจึงให้ความสนใจในการออกโทเคนดิจิทัลแทนที่จะเป็นคริปโทเคอร์เรนซี “คริปโทเคอร์เรนซี” (cryptocurrency[1]) หมายถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบ หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล ตัวอย่างคริปโทเคอร์เรนซีที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ Bitcoin และ Ethereum เป็นต้น
ส่วน “โทเคนดิจิทัล” (digital token) หมายถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่าย อิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกําหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ตามที่กําหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ ซึ่งผู้ออกอาจเสนอขายโทเคนดิจิทัลผ่านกระบวนการ Initial Coin Offering (ICO)
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากนิยามดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่าความแตกต่างที่สำคัญของคริปโทเคอร์เรนซีกับโทเคนดิจิทัลจะเป็นเรื่องของวัตถุประสงค์การออก และการนำไปใช้งานในกรณีต่างๆ (Use Case) โดยคริปโทเคอร์เรนซีจะมีลักษณะคล้ายเงินตราที่ถูกนำไปใช้เป็นสื่อกลางเพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นๆ หรือแลกเปลี่ยนเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีระหว่างกัน ในขณะที่โทเคนดิจิทัลจะเป็นเรื่องของการกำหนดสิทธิที่ผู้ออกจะเสนอให้แก่ผู้ถือ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท 1. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) จะเป็นการระบุสิทธิของผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจงตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และ 2. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) จะเป็นการระบุสิทธิของผู้ถือในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ ซึ่งรายละเอียดข้อกำหนดสิทธิดังกล่าวที่จะได้รับจากการถือโทเคนดิจิทัล จะถูกระบุใน Whitepaper หรือ หนังสือชี้ชวน (Filing) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ก่อนช่วง ICO เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาก่อนตัดสินใจซื้อโทเคนดิจิทัล
ในปัจจุบันจะเห็นข่าวว่ามีหลายบริษัทเริ่มให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างการศึกษาในการเตรียมออกโทเคนดิจิทัล เนื่องจากผู้ออกสามารถกำหนดสิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่มีความหลากหลายให้แก่ผู้ถือโทเคนดิจิทัล หรืออาจกล่าวได้ว่าบริษัทอาจนำโทเคนดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการสร้างรายได้และการเพิ่ม Engagement ระหว่างผู้ออกกับลูกค้าเป้าหมายของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถนำโทเคนดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการระดมทุนขยายกิจการ เพื่อช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
มาถึงตอนนี้ผู้อ่านคงเริ่มมีข้อสงสัยว่า Tokenization นั้นคืออะไร มีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนหรือไม่ และมีประโยชน์กับภาคธุรกิจอย่างไรบ้าง ผู้เขียนขออธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับการ Tokenization[2] คือ กระบวนการสร้างตัวแทนของทรัพย์สินต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digital Representation) โดยสร้างโทเคนดิจิทัลเพื่อเป็นตัวแทนของสิทธิหรือทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น โฉนดที่ดิน อัญมณี งานศิลปะ ทรัพย์สินทางปัญญา สินทรัพย์ทางการเงิน เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินหรือนำทรัพย์สินดังกล่าวมาแบ่งเป็นหน่วยย่อยในรูปของโทเคนดิจิทัล
Tokenization ถือเป็นการนำเทคโนโลยี Blockchain มาช่วยเพิ่มโอกาสสำหรับบริษัทในการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม โดยประโยชน์ที่สำคัญในการทำ Tokenization สำหรับภาคธุรกิจ สามารถสรุปได้โดยสังเขป ดังนี้
จากประสบการณ์ของผู้เขียน และ Use Case ต่างๆ ในปัจจุบัน พบว่าบริษัทจะพิจารณาออกโทเคนดิจิทัลแต่ละประเภทด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ในส่วนของ Utility Token ส่วนใหญ่บริษัทจะนิยมใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ของธุรกิจ เปรียบเสมือนการขายสินค้าและบริการล่วงหน้า โดยการกำหนดสิทธิในการแลกสินค้าและบริการต่างๆ ที่เฉพาะเจาะจงใน Ecosystem ของผู้ออก ซึ่งถือเป็นการช่วยเพิ่ม Utilization ในการใช้สินค้าและบริการของบริษัท รวมถึงการสร้าง Engagement ระหว่างบริษัทกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในรูปแบบใหม่ โดย Utility Token นั้นสามารถแบ่งประเภทย่อยตามเกณฑ์ความพร้อมใช้ออกเป็น Utility Token พร้อมใช้ และ Utility Token ไม่พร้อมใช้ โดยในกรณีของ Utility Token ไม่พร้อมใช้ การออกและเสนอขายจะต้องขออนุมัติจากทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เนื่องจากมีลักษณะคล้ายการระดมทุน โดย ณ วันที่ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้น ผู้ถือโทเคนดิจิทัลยังไม่สามารถนำโทเคนดิจิทัลไปแลกสิทธิได้เลยทันที แต่เมื่อบริษัทผู้ออกได้เงินจากการเสนอขายโทเคนดิจิทัล(ICO Proceed) จะนำเงินดังกล่าวไปใช้พัฒนาโครงการจนสำเร็จ ผู้ถือจึงจะสามารถนำโทเคนดิจิทัลดังกล่าวไปแลกสินค้าและบริการตามที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน (Filing)
สำหรับ Investment Token ผู้ออกจะนิยมใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องและการขยายธุรกิจของบริษัทในการนำเทคโลยี Blockchain มาช่วยในการบริหารจัดการการระดมทุนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รูปแบบการออก Investment Token ที่นิยมในปัจจุบันคือ “Asset Tokenization” ซึ่งเป็นการนำสินทรัพย์ของบริษัทผู้ออกมาหนุนหลังในการออกโทเคนดิจิทัล โดยสามารถเลือกสินทรัพย์ได้หลากหลายประเภท แม้แต่สินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงิน เช่น อสังหาริมทรัพย์ก็สามารถนำมาทำ Asset Tokenization ได้ เช่น การระดมทุนและออกโทเคนดิจิทัล เพื่อเข้าซื้อหรือสร้างอสังหาริมทรัพย์ และนำทรัพย์นั้นออกให้เช่าหรือใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ โดยเมื่อผู้ออกได้เงินกำไรกลับมาก็นำมาแบ่งให้แก่ผู้ลงทุน (Profit Sharing) ตามสัดส่วนของผู้ถือโทเคนดิจิทัล โดยภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะมาระดมทุนด้วยโทเคนดิจิทัลมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากเป็นการปลดล็อกให้กับสินทรัพย์อีกหลายประเภทที่มีสภาพคล่องต่ำในสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันซึ่งมีข้อจำกัดด้านการระดมทุนด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม (Traditional Fund Raising Approach) ทั้งนี้ การออกและเสนอขาย Investment Token จะต้องขออนุญาตจากทาง กลต. เช่นเดียวกันกรณีของ Utility Token ไม่พร้อมใช้
ในมุมของนักลงทุน Investment Token ถือเป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุน ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่มีความหลากหลายได้ง่ายดายกว่าที่เคย สามารถเข้าถึงการลงทุนสินทรัพย์มูลค่าสูงได้ด้วยจำนวนเงินลงทุนที่ไม่สูงมากนัก นอกจากนี้ โทเคนดิจิทัลถือเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในการแลกเปลี่ยนซื้อขายซึ่งสามารถทำได้ตลอด 24/7 ผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ต่างจากการซื้อขายหลักทรัพย์แบบเดิมซึ่งมีข้อจำกัดเวลาเปิดปิดทำการ หรืออาจกล่าวได้ว่า Tokenization ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้งผู้ออกโทเคนดิจิทัลและนักลงทุน
บทสรุป
จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ผู้อ่านอาจจะพอเริ่มเห็นภาพว่าทำไมในปัจุบันภาคธุรกิจจึงเริ่มมาให้ความสนใจในการทำ Tokenization กันมากขึ้น อย่างไรก็ตามธุรกิจที่สนใจในการทำ Tokenization ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain ให้มาก ทั้งเรื่องของการนำมาประยุกต์ใช้ เรื่องต้นทุน และในเรื่องของกฏหมาย กฎระเบียบ ข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำ Tokenization
ทั้งนี้โลกของสินทรัพย์ดิจิทัลหมุนไวกว่าโลกแบบดั้งเดิมมาก ดังนั้นผู้ที่มีแผนจะออกโทเคนดิจิทัลควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านนี้อย่างสม่ำเสมอจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่าการออกโทเคนดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่มีความเหมาะสมกับบริษัทอย่างแท้จริงหรือไม่
###########
[1] อ้างอิงตามพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
[2] อ้างอิงจากบทความ “รู้จัก Tokenization” โดย คุณนภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
เขียนโดย คุณสุชานาฎ กอวัฒนา (Suchanad Korwattana) Financial Advisors, บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X)
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด