บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับโซลูชันด้านความยั่งยืนที่เรียกว่า ‘SAP Sustainability Control Tower’ และ ‘SAP ESG Scope Dashboard (ESD)’ ที่ทาง PwC และ SAP ร่วมกันสรรค์สร้างโดยมีเป้าหมายในการช่วยธุรกิจให้มีเครื่องมือเปลี่ยนผ่านสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
ดร. กษิภณ อภิมุขคุณานนท์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อ 15 ปีที่แล้วการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามหลัก สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) นั้นถือเป็นเรื่องที่มีต้นทุนค่อนข้างมาก แต่ในปัจจุบัน ESG กลายเป็นประเด็นสำคัญที่มีการพูดคุยกันแทบทุกเวทีสัมมนาและการประชุมทางธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรต่าง ๆ มุ่งสู่การเป็น ธุรกิจสีเขียว (Green Business)
ทั้งนี้ มีแรงกดดันห้าประการที่กระตุ้นให้สังคมและองค์กรหันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง ดังต่อไปนี้
ประการแรก พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าที่ไม่เหมือนในอดีต ในปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงความสําคัญของการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากองค์กรไหนไม่ได้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ทำเพื่อสังคม หรือไม่มีหลักธรรมาภิบาลที่ดี ผู้บริโภคก็อาจต่อต้านหรือปฏิเสธที่จะไม่ซื้อสินค้าหรือบริการจากองค์กรนั้น ๆ
ประการที่สอง การดำเนินการด้าน ESG กลายเป็นหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน ประเด็นเรื่องความยั่งยืน กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกนำมาใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจก่อนลงทุน นอกเหนือไปจากตัวเลขทางการเงินเพียงอย่างเดียว โดยพวกเขาจะพิจารณาถึงวิธีการที่บริษัทจัดการความเสี่ยง และโอกาสที่เกี่ยวข้องกับหลัก ESG โดยการลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ย่อมสามารถเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอในระยะยาว
ประการที่สาม ESG ส่งผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กร ในยุคที่โซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่ข่าวสารต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว หากธุรกิจใดไม่คำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมหรือไม่มีธรรมาภิบาลที่ดีก็ย่อมจะส่งผลให้องค์กรนั้น ๆ เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือได้รับผลกระทบเชิงลบต่อภาพลักษณ์อย่างไม่ต้องสงสัย
ประการที่สี่ องค์กรที่ใช้หลัก ESG จะสามารถดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ได้ เพราะบุคลากรที่มีความสามารถในปัจจุบันไม่ได้อยากร่วมงานกับองค์กรเพียงแค่ผลตอบแทน แต่ยังต้องการให้นายจ้างปฏิบัติตามความคาดหวังด้านสิ่งแวดล้อม จัดการกับปัญหาสังคม และมีจริยธรรมที่ดี ซึ่งหากองค์กรไหนทำได้ก็จะสามารถรักษาพนักงานเก่าที่ทํางานได้ดีให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ พร้อมทั้งยังดึงดูดพนักงานใหม่ ๆ ที่มีฝีมือให้อยากเข้ามาร่วมงานมากขึ้น และสุดท้าย
ประการที่ห้า กฎระเบียบข้อบังคับด้าน ESG มีความเข้มข้นขึ้น ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย กำหนดให้ธุรกิจหรือบริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG ของตนอย่างโปร่งใส เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน
แรงกดดันห้าข้อนี้ กระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ต้องหันมามองความยั่งยืนเป็น Top Priority ซึ่งสิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนในประเทศไทย คือ ณ วันนี้คนส่วนใหญ่คิดมากขึ้นว่า ตนจะดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมยังไงได้บ้าง มันก็เลยทําให้ความตระหนักในแง่ของ ESG เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ - ดร. กษิภณ กล่าว
ในฐานะที่ PwC ประเทศไทย เป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่ายผู้ให้บริการมือชีพระดับโลกที่ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG เราได้นำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านนี้มาช่วยเหลือลูกค้าภายในประเทศให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนของตน ซึ่งนอกจากกรณีศึกษา การวิจัยและพัฒนาด้าน ESG ในมิติต่าง ๆ แล้ว PwC ยังมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG ทั้งจากเครือข่ายในต่างประเทศและผู้เชี่ยวชาญในระดับท้องถิ่นที่เข้าใจถึงสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของผู้บริโภคร่วมผนึกกำลังกันเพื่อช่วยธุรกิจบรรลุการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green Transition) นอกจากนี้ PwC ยังสร้างความตระหนักรู้และพัฒนาทักษะด้าน ESG ที่จำเป็นให้แก่บุคลากรของบริษัท เพื่อให้พวกเขาสามารถแก้ปัญหาสำคัญ ๆ และส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนให้แก่ลูกค้าได้
"PwC ประเทศไทย นำกลยุทธ์และแนวปฏิบัติด้าน ESG ที่ประสบความสำเร็จในระดับเครือข่ายทั่วโลกของเรามาช่วยเหลือลูกค้าในเมืองไทย ซึ่งมีตั้งแต่การวางกลยุทธ์ด้าน ESG การออกแบบเทคโนโลยี และการพัฒนาโซลูชันที่เหมาะสมในการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย รวมไปจนถึงการมอนิเตอร์ผลการดำเนินงานด้าน ESG ผ่านการทํา Dashboard และออกแบบวิธีประเมิน KPI ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำไปวัดผลได้ และสุดท้ายเรายังมีเครื่องมือในการติดตามผลลัพธ์ว่า จาก Effort ทั้งหมดที่ทำไป เราช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายด้าน ESG ได้ยังไงบ้าง" ดร. กษิภณ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา PwC ได้ร่วมมือกับ SAP ในการสร้างโซลูชันเพื่อจัดการกับความท้าทายทางธุรกิจด้าน ESG ที่ครอบคลุมการวัดผล การรายงาน และการควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนการลดก๊าซคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และการวิเคราะห์การแข่งขันทางธุรกิจให้แก่ลูกค้าผ่าน ‘มาตรวัดความยั่งยืน’ (Sustainability Metrics) สี่ด้าน ซึ่งประกอบไปด้วย
มาตรวัดด้านสิ่งแวดล้อม
ครอบคลุมการลดการปล่อยคาร์บอน การใช้พลังงาน การใช้ไฟฟ้า การใช้ที่ดิน และการใช้น้ำ เช่น วัดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการกลั่นว่าปล่อยคาร์บอนกี่เมตริกตัน และหากเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากเพียงใด เป็นต้น
มาตรวัดด้านเศรษฐกิจ
ครอบคลุมการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่องค์กรและสังคม โดยวัดผลตอบแทนจากการลงทุนด้าน ESG และการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ จากการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการพิจารณางบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา การจ่ายค่าจ้าง การจ้างแรงงานเพิ่ม ตลอดจนการจ่ายเงินปันผลหรือผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุน
มาตรวัดด้านสังคม
พิจารณาจากการสร้างคุณค่าทางสังคม (Social Value) ผ่านการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร พนักงาน ผู้ลงทุน เพื่อนร่วมงาน และชุมชน เช่น การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ การให้ค่าจ้างที่เท่าเทียม การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย
มาตรวัดด้านธรรมาภิบาล
ครอบคลุมการมีระบบการบริหารจัดการที่โปร่งใสและมีความรับผิดชอบ เช่น การอบรมเพื่อต่อต้านการทุจริต สัดส่วนของผู้บริหารที่เป็นเพศต่าง ๆ ในคณะกรรมการบริหาร หรือผู้บริหารระดับสูง (Gender representation in governance body) โดยมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้าน ESG ผ่านการใช้ KPI อย่างเหมาะสม
ดร. กษิภณ กล่าวว่า การเก็บข้อมูล (Data Collection) มีความสำคัญต่อการวิเคราะห์มาตรวัดต่าง ๆ ข้างต้นเพื่อกำหนดกลยุทธ์ แผนงาน และการประเมินผล เปรียบเสมือน ‘การติดกระดุมเม็ดแรก’ ซึ่งหากมีการเก็บข้อมูลที่ผิดตั้งแต่ต้น ก็คือผิดยาว
ด้วยเหตุนี้ SAP จึงได้พัฒนา ‘SAP ESG Solution’ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และกฎระเบียบต่าง ๆ ESG Solution สนับสนุนตั้งแต่การนำข้อมูลเข้าระบบ โดยนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยให้พนักงานไม่ต้องป้อนข้อมูลด้วยตนเอง แต่สามารถโอนย้ายข้อมูลนั้นเข้ามาอยู่ใน Database ของ ESG Solution ได้โดยอัตโนมัติ ส่วนเครื่องมือหรือเครื่องจักรที่มีการเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลอยู่แล้ว ก็สามารถอินทิเกรตเข้ามาในโซลูชันนี้ได้เลย เช่นเดียวกับการเก็บข้อมูลการปล่อยคาร์บอน
"สำหรับ SAP ESG Solution PwC มี KPI Library ให้ลูกค้าพิจารณาครบทุกตัวตามความเหมาะสมขององค์กรแต่ละประเภท ขึ้นอยู่กับลูกค้าต้องการมอนิเตอร์อะไรบ้าง โดยลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ KPI ตัวไหนในการมอนิเตอร์เพื่อสร้างความยั่งยืน ซึ่งโซลูชันด้าน ESG ที่ SAP พัฒนาในแต่ละโมดูลนั้นค่อนข้างทันสมัยและสามารถใช้งานได้อย่างครบลูป คือ นอกจากจะเป็นทั้งซอฟต์แวร์ที่ช่วยเก็บข้อมูลได้ โอนย้ายข้อมูลได้แล้ว ยังสามารถแปลงข้อมูลออกมาเป็นค่าการปล่อยคาร์บอนและค่าคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย" ดร. กษิภณ กล่าว
นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของ ESG Solution ที่เรียกว่า SAP Sustainability Control Tower ยังช่วยปลดล็อกพลังของข้อมูลโดยจะช่วยสร้าง Dashboard ด้านความยั่งยืนขององค์กรที่เข้าใจง่าย และทำให้ธุรกิจสามารถจัดการข้อมูลเชิงลึก สร้างเมตริก กำหนดเป้าหมาย และติดตามผลลัพธ์และความก้าวหน้าในด้าน ESG ได้อย่างชัดเจน
ดร. กษิภณ ยังได้แนะนำสามแนวทางที่จะช่วยองค์กรเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนได้อย่างราบรื่น ดังต่อไปนี้
แนวทางแบบบนลงล่าง (top-down approach): การทำให้ผู้บริหารระดับสูงมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG และสั่งการให้ฝ่ายต่าง ๆ ดำเนินการตามได้
แนวทางที่นำโดยการปฏิบัติ (operation-led approach): การทดลองดำเนินการในบางจุด บางโครงการ หรือเริ่มจากการทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนเพื่อรอดูผลลัพธ์และปรับปรุงในขั้นต่อไปโดยยังไม่ต้องมองภาพรวมตั้งแต่แรกเริ่ม
แนวทางแบบล่างขึ้นบน (bottom-up approach): การกระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเสนอแนวทาง หรือโครงการด้าน ESG ที่พวกเขาสนใจ ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจและความรับผิดชอบภายในองค์กร
ดร. กษิภณ กล่าวสรุปว่า ทั้ง PwC และ SAP มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถประยุกต์ใช้หลัก ESG ในการดำเนินงานได้อย่างโปร่งใส มีความน่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้ ซึ่งกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของ PwC และ SAP ประกอบไปด้วยโซลูชันที่ครอบคลุมกลยุทธ์ ESG ทั่วทั้งองค์กรตั้งแต่การประเมิน การวัดผล การควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การลดก๊าซคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน การเพิ่มประสิทธิภาพการซื้อขาย และการยอมรับเครดิตภาษี ไปจนถึงการจัดการความเสี่ยงจากบุคคลภายนอก และการวิเคราะห์การแข่งขันทางธุรกิจ
"เป้าหมายของเรา คือ การช่วยเหลือให้ลูกค้าสามารถสร้างความไว้วางใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเขาและส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนได้สำเร็จ ซึ่งในวันนี้ ESG ไม่ใช่สิ่งที่ ‘มีก็ดี’ สำหรับธุรกิจอีกต่อไป ดังนั้น ผู้บริหารควรต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อพลิกโฉมองค์กรของตนไปสู่ความยั่งยืน การดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลไม่ใช่เรื่องของการแสวงหาแค่ผลกำไรอีกต่อไป แต่เป็นการแสวงหาโอกาสในการสร้างคุณค่าให้กับสังคม สิ่งแวดล้อมและมนุษย์ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุกและยั่งยืน"
บทความนี้เป็น Advertorial
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด