เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน Ananda UrbanTech Meetup ครั้งที่หนึ่ง ซึ่งมาในหัวข้อ Mobility & Autonomous Vehicles โดยส่วนตัวรู้สึกสนใจในหัวข้อที่แปลกใหม่ ยังไม่ค่อยเห็นใครพูดถึงมาก่อนมากนักในงาน Meetup ซึ่งภายในงานนี้ก็มีการแชร์หลากหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นบริการแชร์รถต่างๆ ก็ดี หรือนวัตกรรมการเดินทางใหม่ๆ อย่างโดรนที่ให้คนนั่งได้ หรือกระทั่งรถจักรยานไฟฟ้า
แต่สำหรับบทความนี้จะขอเล่าถึงหัวข้อเกี่ยวกับบริการแชร์รถ หรือการประยุกต์ใช้โมเดลของ Uber ก่อน ในขณะที่ช่วงนี้ดูเหมือนว่าวงการบริการแชร์รถของไทย ดูเหมือนจะมีอุปสรรคหลากหลาย เผื่อว่ากรณีศึกษาจากต่างประเทศนี้ จะช่วยให้พวกเราเห็นภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและนำมาเรียนรู้กับโอกาสในบ้านเราได้
ผู้ที่มาแชร์เรื่องราวนี้ให้เรารับฟัง คือคุณ Melody He ซึ่งเป็น Investment partner ของ MOX และ SOSV และมีประสบการณ์เป็น Angel investor มาแล้วถึง 7 ปี เรื่องต่างๆ ที่เธอนำมาแชร์ แบ่งเป็นกรณีศึกษาทั้งสิ้น 4 เรื่องดังนี้
รัฐบาล ผู้ให้บริการขนส่ง คนขับรถ แบรนด์รถยนต์ และผู้โดยสาร เหล่านี้เป็นองค์ประกอบของ Ecosystem อย่างที่เราทราบกันดี แต่ของที่จีนเองนั้นมีเรื่องน่าสนใจเรื่องนึงคือ รัฐบาลของเขาไม่ได้มีเพียงรัฐบาลกลาง (Central Gov) อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีส่วนท้องถิ่น (Local Gov) ด้วย
แม้ว่าการให้บริการแอปจองรถโดยสารอย่าง Uber และรายใหญ่ของจีนอย่าง Didi Kuaidi หรือ Didi Chuxing จะไม่ได้ถูกห้ามปลามโดยรัฐบาลกลางของจีน แต่ก็ยังพบเจอปัญหากับส่วนท้องถิ่นต่างๆ เกิดเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่ว่า ที่กวางโจว แอปจองรถต่างๆ รวมหกแอป ต่างก็ต้องสูญเสียฐานคนขับรถถึง 100,000 คน จากแรงกดดันของรัฐท้องถิ่นที่ว่า ไม่อนุญาตให้มีการให้บริการ โดยคนขับรถที่รถของเขาไม่ได้มีเลขทะเบียนเป็นของกวางโจวเอง
นอกจากกวางโจวแล้ว ก็ยังมีที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีกฏเกณฑ์คล้ายกัน คือให้อนุญาตเฉพาะคนขับรถที่เป็นคนของเมืองเซี่ยงไฮ้เองเท่านั้น หรือไม่ก็ต้องเป็นรถที่มีเลขทะเบียนของที่นี่เท่านั้น ซึ่งนั่นคิดเป็นปริมาณเพียง 3% ของคนขับรถที่นี่เท่านั้น Didi พลาดโอกาสที่จะสามารถเข้าถึงคนขับรถอีก 97% ที่เหลือ
คุณจะพบเห็นจักรยานสารพัดสี สารพัดค่าย ตามเมืองต่างๆ ในประเทศจีน ...เพราะแอปแชร์รถจักรยาน กำลังร้อนแรงมากในขณะนี้
แต่สองค่ายเด่นๆ ของที่นั่น คือค่ายสีขาวแดง ชื่อ Mobike และค่ายสีเหลือง ชื่อว่า ofo สองเจ้านี้โดดเด่นมาแรงอย่างไรบ้าง?
ด้วยความที่ประเทศจีน มีมลภาวะทางอากาศค่อนข้างมาก ประชาชนจึงปรับตัวเข้าสู่การใช้จักรยานกันมากขึ้น กล่าวว่าจีนกำลังก้าวสู่การเป็น Kingdom of Bicycles อีกครั้ง โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าว่าจะมีผู้คนสัญจรทางจักรยาน ราว 18% ของประชากร ภายในปี 2020
Go-Jek ยูนิคอร์นแห่งอินโดนีเซีย เริ่มต้นจากการรับขนส่ง On-demand ขยายสู่การขนส่งเฉพาะทาง อย่างเช่น ขนส่งยา ในช่ือบริการว่า Go-Med แล้วยังรวมไปถึงบริการจอง service ต่างๆ อย่างเช่น หมอนวด และยังมีบริการอีกสารพัด (ดูตามรูป)
ที่น่าทึ่งต่อจากนั้น คือการมาถึง Go-Pay ซึ่งเป็นบริการ Payment ของ Go-Jek เอง ให้คนใช้บริการต่างๆ ของ Go-Jek จ่ายออนไลน์ได้สะดวกสบาย และยังรวมไปถึงบริการอื่นๆ อย่างการเติมเงินมือถือ
มีการต่อยอด Sharing Economy ให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการให้บริการแบบรถบัส/รถตู้ การแชร์รถบัสแบบ Panda Bus นี้ไม่เหมือนกับ Grab คุณไม่จำเป็นต้องจองรถทั้งคัน แต่เป็นการแชร์ร่วมกันในแบบรถโดยสารประจำทางมากกว่า
แอปนี้จะแนะนำให้คุณเดินไปยังจุดที่ใกล้กับคุณที่สุดที่รถตู้จะผ่าน จากนั้นก็ติดตามดูได้ว่ามีรถคันไหนกำลังใกล้เข้ามาบ้าง
สุดท้ายแล้วคุณ Melody ได้ฝากทิ้งท้ายเอาไว้ว่า หากสนใจวงการ Transportation เธอมีคำแนะนำว่า ให้ตั้งวิสัยทัศน์ให้สูง และไกลเข้าไว้ - นี่คือเกมแห่งแพลตฟอร์ม แพลตฟอร์มเช่นนี้สามารถทำอะไรไปได้อีกไกล ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับการโดยสารอย่างเดียว เปิดใจให้กว้างๆ กับโอกาสต่อยอดสู่ Business Model ใหม่ๆ
และผู้เขียนต้องขอขอบคุณทีมงาน Ananda สำหรับรูปภาพ และสไลด์การบรรยายของคุณ Melody He ด้วยค่ะ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด