Roy Teo : สิงคโปร์กับการยกระดับสตาร์ทอัพด้วย Ecosystem ชั้นยอด | Techsauce

Roy Teo : สิงคโปร์กับการยกระดับสตาร์ทอัพด้วย Ecosystem ชั้นยอด

สิงคโปร์ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความโดดเด่นด้าน Startup Ecosystem กระทั่งติดอันดับหนึ่งใน 10 ของโลกจากการจัดอันดับของ Compass โดยมีจุดเด่นในแง่ของแหล่งเงินทุนมหาศาลซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาล จนกลายเป็นศูนย์รวมธุรกิจสตาร์ทอัพแห่งภูมิภาคเอเชีย

ปัจจุบันมีหลายบริษัทสตาร์ทอัพจากสิงคโปร์ที่ตอนนี้กลายเป็น ยูนิคอร์น หรือมีมูลค่าบริษัทเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์  เช่น Lazada ผู้นำด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซหรือ Grab แอปพลิเคชันยอดนิยมสำหรับการบริการด้านขนส่งและคมนาคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Roy Teo ผู้อำนวยการและหัวหน้ากลุ่มฟินเทคและนวัตกรรม (FTIG) แห่งธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ซึ่ง FTIG นั้นเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการออกนโยบายรวมถึงพัฒนากลยุทธ์ต่างๆสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อควบคุมดูแล ลดความเสี่ยง เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงินและการลงทุน ซึ่งในงาน Techsauce Global Summit 2017 ที่ผ่านมา Roy ได้มาอัปเดตให้ชาว Techsauce ทราบความคืบหน้า ทิศทางการยกระดับฟินเทคด้วยการเชื่อมโยง Global Fintech Ecosystems ด้วยโครงการต่างๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง Roy เสนอแนะว่า การยกระดับฟินเทคในปัจจุบันนั้นไม่ใช่เรื่องของสตาร์ทอัพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการร่วมมือกันระหว่างบริษัทสตาร์ทอัพและสถาบันการเงินต่างๆ ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งลูกค้าของสถาบันการเงินและธุรกิจสตาร์ทอัพเอง ซึ่งการเชื่อมโยงที่เอื้อประโยชน์ของกันและกันนี้ทำให้เกิดระบบ Ecosystem ที่แข็งแรง สถาบันการเงินจะมีโอกาสได้ใช้นวัตกรรมล่าสุดที่ผ่านการคิดค้นและพัฒนาโดยบริษัทสตาร์ทอัพ ในขณะที่บริษัทสตาร์ทอัพสามารถที่จะเติบโตได้ไกลมากขึ้นทั้งในและนอกประเทศผ่านการสนับสนุนของสถาบันการเงิน

MAS ได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพฟินเทคโดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาสำหรับทั้งรายบุคคล ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงสถาบันทางการเงินของรัฐบาล ซึ่งโครงการอันหลากหลายของ MAS มีส่วนช่วยผลักดันให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่ล้ำสมัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด และกลายเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมฟินเทคแห่งภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย ซึ่งแนวทางการดำเนินงานของ MAS สามารถสรุปได้ดังนี้

1. ด้านกฎเกณฑ์และนโยบาย

MAS จัดทำคู่มือ API ซึ่งมีเนื้อหาชัดเจนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์และนโยบายการดำเนินงานด้านการเชื่อมต่อระหว่างระบบในสิงคโปร์ ทำให้ความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพและสถาบันการเงิน รวมถึงการจัดการความเสี่ยงสามารถทำได้ง่ายยิ่งขึ้น

2. ด้านการลงทุน

MAS ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนธุรกิจฟินเทค ด้วยการทำให้ขั้นตอนต่างๆ สะดวกรวดเร็วสำหรับบริษัทเงินร่วมลงทุน (VC) ในการลงทุนกับบริษัทฟินเทคในสิงคโปร์ MAS ได้จัดอีเวนต์เชื่อมโยงให้เหล่าธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพได้พบปะกับนักลงทุน เช่น Fintech Investor Summit หรือ Singapore Fintech Festival ที่จะจัดขึ้นปลายปีนี้ Roy กล่าวว่า งาน Singapore Fintech Festival จะทำให้บริษัทฟินเทคในภูมิภาคอาเซียนเป็นที่รู้จักในวงการฟินเทคระดับโลกมากขึ้นอย่างแน่นอน

3. ด้านทักษะและการวิจัย

นอกจากนี้ MAS ยังให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการสรรหาและพัฒนาบุคคลในประเทศให้มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี เช่น ส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนการเขียนโปรแกรมในโรงเรียน หรือสนับสนุนให้บุคลากรในหลายภาคส่วนพัฒนาทักษะด้านดังกล่าวมากขึ้น สำหรับด้านการวิจัย Roy เสริมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการวิจัยในโครงการที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ MAS จึงได้ร่วมมือกับ 100 สถาบันการเงินชั้นนำในการจัดทำหนังสือที่รวบรวมปัญหาต่างๆ ของสถาบันการเงิน  เพื่อให้วงการฟินเทคสตาร์ทอัพนำปัญหาดังกล่าวมาพัฒนาเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาได้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งหนังสือดังกล่าวให้ความสำคัญกับ 3 หัวข้อหลักคือ 1. การบริการลูกค้า 2. การผนวกทางการเงิน 3. Regulator Technology หรือ Reg Tech การใช้เทคโนโลยีหรือซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือรายงานต่างๆ ของสถาบันทางการเงิน

4. ด้านการเร่งอัตราการเติบโตด้านนวัตกรรม

Roy กล่าวว่า การเร่งอัตราการเติบโตด้านนวัตกรรมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิด (Mindset) ของบุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพ นักลงทุนและภาคประชาชน MAS สามารถทำให้วงการฟินเทคเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัดจาก 70 บริษัทสู่ 300 บริษัทในปัจจุบัน ซึ่ง Roy ยังย้ำว่า 300 บริษัทนี้คือบริษัทฟินเทคทั้งหมด และกว่า 13% ของบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่พัฒนาด้าน Blockchain หรือเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องอาศัยคนกลางในการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งเทคโนโลยี Blockchain กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในวงการฟินเทค จนได้รับขนานนามว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะมาผลิกโฉมการทำธุรกรรมออนไลน์อย่างไม่ต้องสงสัย

นอกเหนือจากการดำเนินงานต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น MAS ยังให้ความสำคัญในการแสดงความขอบคุณและสร้างคุณค่าให้กับวงการฟินเทคด้วยการจัดงาน Fintech Awards ซึ่งนับว่าเป็นงานมอบรางวัลเพียงหนึ่งเดียวที่เกิดขึ้นเพื่อการสร้างสรรค์ผลงานของชาวฟินเทคโดยเฉพาะอีกด้วย และด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้อาเซียนเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมฟินเทค MAS ยังร่วมมือกับ 12 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจหรือ MOU กับธนาคารแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาวงการฟินเทคแห่งภูมิภาคอาเซียนให้ก้าวไกลไปสู่สากล จึงสามารถกล่าวได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะได้เห็นชื่อของบริษัทฟินเทคจากอาเซียนไปอยู่ในวงการฟินเทคระดับโลกอย่างแน่นอน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...

Responsive image

เปิดตัว ‘รถบินแยกร่าง’ XPeng ผสมเครื่องบินกับรถตู้ รุ่น Land Aircraft Carrier ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

XPeng Aero HT เปิดตัว Land Aircraft Carrier รถบินได้แบบแยกร่างสุดล้ำที่ CES 2025 พร้อม eVTOL พับเก็บได้ ใช้งานง่าย ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางแผนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2026...