SEABW2024 : สรุปทุกประเด็นสำคัญ ส่องอนาคตบล็อกเชน และ Web3 ใน SEA และไทย จาก Speakers ชั้นนำในวงการ | Techsauce

SEABW2024 : สรุปทุกประเด็นสำคัญ ส่องอนาคตบล็อกเชน และ Web3 ใน SEA และไทย จาก Speakers ชั้นนำในวงการ

ทีมงาน Techsauce มีโอกาสเข้าร่วมงาน SEABW2024 หรือ Southeast Asia Blockchain Week มหกรรมบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ ที่จัดปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ กรุงเทพฯ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 24-25 เมษายน 2567True ICON HALL ชั้น 7 ICONSIAM งานนี้นับเป็นการรวมสุดยอดผู้เชี่ยวชาญ และผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมจากทั่วโลก มาร่วมพูดคุย แบ่งปันประสบการณ์ และนำเสนอเทรนด์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับบล็อกเชนและ Web3

งาน SEABW2024 ในปีนี้มาพร้อมกับกิจกรรมมากมาย ได้แก่ Main Conference หรือเวทีงานหลัก ที่มีการพูดคุยถึงอนาคตของบล็อกเชน และ Web3 ในหลายมิติ พร้อมทั้งยังมีการออกบูธจากผู้เล่นในวงการอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง 

ไม่ว่าจะเป็น SCBX ที่มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรม และความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับบล็อกเชนสำหรับการให้บริการทางการเงิน, ShardLab บริษัทด้าน Web3 ที่มุ่งเน้นการค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกี่ยวกับบล็อกเชน และการส่งเสริมระบบนิเวศของอุตสาหกรรมบล็อกเชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึง The Sandbox โปรเจกต์ Virtual Word ที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก

งานสัปดาห์บล็อกเชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEABW) ครั้งนี้มีผู้ร่วมงานกว่า 3,000 คน  ผู้สนับสนุน 40 ราย  และพันธมิตร 110 ราย  รวมทั้งมีวิทยากรผู้ทรงวิสัยทัศน์กว่า 200 คน  รวมถึงผู้นำในอุตสาหกรรม  เช่น Vitalik Buterin จาก Ethereum  มาแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภูมิทัศน์ของ Web3 ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ทำไม SEA ถึงเป็นตลาดที่น่าสนใจในโลกบล็อกเชน และ Web3 ?

Hojin Kim ซีอีโอแห่ง ShardLab ผู้จัดงาน SEABW2024 เปิดเผยข้อมูลว่า ในตลาด SEA มีประชากรอยู่ราว 900 ล้านคน คิดเป็น 8% ของประชากรโลก มี GDP อยู่ที่ 6.5% และมีสัดส่วนผู้ใช้งาน Web3 ถึง 12% รวมทั้งมี TVL (มูลค่ารวมของสินทรัพย์ทั้งหมดที่อยู่ในเครือข่าย) ในตลาดโลกคิดเป็น 9%

สิ่งที่น่าสนใจคือ SEA มีอัตราการใช้สมาร์ทโฟนที่แพร่หลายมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 1.3 เท่า และมีอัตราการใช้คริปโทฯ ที่แพร่หลายเมื่อเทียบกับตลาดโลกถึง 3 เท่า ซึ่งหมายความว่าบล็อกเชน และ Web3 มีโอกาสเติบโตสูงใน SEA 

แต่คำถามคือจะเรานำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในวงกว้าง หรือ Mass Adoption ได้อย่างไร? นักพัฒนา นักลงทุน และสถาบันการเงิน มองเห็นโอกาสอะไรของบล็อกเชน และ Web3 ใน SEA บ้าง?

จับตาเทรนด์ โอกาส และความท้าทายของบล็อกเชนใน SEA

ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ มองว่า ตอนนี้เรากำลังผ่านช่วง ‘ฤดูหนาวของคริปโทฯ’ (ช่วงเวลาที่ตลาดคริปโทฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคามากนัก) ซึ่งเปรียบเหมือนช่วงเกิดใหม่ของบล็อกเชน และ Web3 โดยในตอนนี้เริ่มเห็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในโลกจริงมากขึ้น รวมทั้งเริ่มเห็นความชัดเจนในด้านการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

การแปลงสินทรัพย์ในโลกแห่งความจริงเป็นโทเคน (Real world asset tokenization) เป็นหนึ่งเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยม โดยตอนนี้มีการใช้งานจริงอย่างเช่น การแปลงคอนโดมิเนียมให้เป็นโทเคน เพื่อลงทุน และระดมทุน  เป็นต้น

Simon Kim จาก Hashed เสริมว่า โอกาสของ Web3 ตอนนี้อยู่ที่ SEA เพราะมีประชากรจำนวนมากโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว รวมทั้งมีผู้ที่ยังไม่เข้าถึงบริการของธนาคาร ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการนำบล็อกเชน, Web3 และสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ เพื่อตอบโจทย์ด้านการเงินแบบใหม่ 

‘GameFi’ เป็นอีกสิ่งที่น่าจับตามอง SEA ถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดของเกม  ‘Play-to-earn’ ทั้งในฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมถึงประเทศไทย ในตอนนี้มีเกมดังจาก SEA ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกมากมาย

แน่นอนว่าในปัจจุบันสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมย่อมเผชิญกับความท้าทายในการนำบล็อกเชน และ Web3 มาใช้ในการเชื่อมนวัตกรรมใหม่ ให้เข้ากับผู้เล่นแบบดั้งเดิมที่อยู่ในตลาด เพราะหากสองสิ่งนี้มาบรรจบกันได้สำเร็จ จะช่วยให้วงการนี้สามารถพัฒนาไปได้อีกไกล

“ตอนนี้ทุกคนอยากผลักดันให้ SEA เป็นหนึ่งในศูนย์กลางระดับภูมิภาคในด้านบล็อกเชน และ Web3 แต่สิ่งที่ขาดตอนนี้คือ บุคคลากรที่มีความสามารถ โปรเจ็กต์ รวมถึงโครงการบ่มเพาะที่มีความเข้มข้น เราจะทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาของ ecosystem นี้ต่อไปภายใน SEA” ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

จาก Niche สู่ Mass: ก้าวต่อไปของ Ethereum ในทัศนะของ Vitalik Buterin

อีกหนึ่งไฮไลต์ของงานคือ Virtual Keynote จาก Vitalik Buterin ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum ที่มาอัปเดตความก้าวหน้าของ Ethereum ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีใจความสำคัญดังนี้

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือ การเปลี่ยนผ่านจาก ecosystem ขนาดเล็กที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างแอปพลิเคชัน แต่ใช้งานยาก และมีค่าธรรมเนียมแพง ไปสู่ระบบที่ใช้งานง่าย และพร้อมใช้ในวงกว้าง เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแอปพลิเคชันบนเชน Etheruem 

สิ่งสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในปีนี้กับ Ethereum คือการทำ Hard Fork ในชื่อ ‘Dencun’ ซึ่งช่วยให้ค่าธรรมเนียมของการทำธุรกรรมบน Layer 2 ถูกลงกว่าเดิม พร้อมกับแนวคิดในการใช้ ‘Blobs’ (Binary large objects) กลไกการบันทึกข้อมูลรูปแบบใหม่สำหรับใช้ในการตรวจสอบธุรกรรมระยะสั้น ที่จะช่วยไม่ให้เกิดความแออัดบนเครือข่ายมากจนเกินไป

การมาถึงของ Blobs ช่วยลดค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นบน Layer 2 ได้เป็นอย่างมาก จากแต่ก่อนราว 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือเพียงราว 20 เซนต์เท่านั้น เมื่อค่า Gas ลดลงมากขนาดนี้จะเปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาแอปพลิเคชันและการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากฝั่งนักพัฒนาแอปพลิเคชันบน Etheruem ส่วนฝั่งผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ จะได้เห็นค่า Gas ที่ถูกลง และถูกลงเรื่อย ๆ แม้การใช้งานจะมากขึ้นตามกาลเวลา

Vitalik ยังได้พูดถึง ‘zk-Snarks’ (Zero-Knowledge Succinct Non-Interactive Argument of Knowledge) ที่จะช่วยให้เราสามารถพิสูจน์ข้อมูลที่ต้องการ (proof) ได้โดยที่ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้กับบุคคลที่สามที่ไม่น่าเชื่อถือ 

สิ่งที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคือ zk-Snark มีการพัฒนาเครื่องมือสำหรับนักพัฒนาให้ใช้งานง่ายขึ้นมาก เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้วที่การสร้างแอปพลิเคชันด้วย zk-Snark อาจต้องใช้ความรู้ด้านการเข้ารหัสลับ (cryptography) อย่างลึกซึ้ง แต่ในปัจจุบันมีเครื่องมือพัฒนาที่ใช้งานง่ายมาก อย่างในตอนนี้ก็มีเครื่องมือที่ช่วยสร้างแอปพลิเคชันที่ใช้ zk-Snark ได้ภายในเบราว์เซอร์แล้ว

“เมื่อพิจารณาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาบน Ethereum แล้ว ผมมั่นใจว่า Ethereum จะสามารถพัฒนาต่อไปเป็นระบบนิเวศที่ทรงพลัง ใช้งานง่าย มีการบูรณาการข้อมูลเข้าด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความหลากหลายของโครงการต่าง ๆ ภายในระบบนิเวศได้”

อัปเดตความก้าวหน้าของ Web3 ใน SEA

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา Web3 มีการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Clara Boh มองว่าเป็น ‘ช่วงที่เราตื่นจากฝัน’ เป็นช่วงที่เราได้เห็นศักยภาพของเทคโนโลยี Web3 รวมถึงคุณค่าของการนำมาใช้ 

SEA มีผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการด้านการเงิน มากถึง 50-70% แต่กลับมีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 80-90% แสดงให้เห็นว่า ประชาชนจำนวนมากเข้าถึงบริการทางการเงินดิจิทัลได้อยู่แล้ว เพียงแต่การเงินแบบดั้งเดิมยังเข้าไม่ถึงผู้ใช้เหล่านี้ 

Yue Hong Zhang เสริมว่า ในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า เราน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องของกฎระเบียบควบคุมเทคโนโลยีนี้มากขึ้น สิ่งสำคัญไม่ใช่การออกกฎในเชิงบวกหรือเชิงลบ แต่คือ ‘ความชัดเจน’ เพราะเมื่อประเทศมีกฎระเบียบที่ชัดเจนแล้ว ผู้พัฒนา และบริษัทต่าง ๆ จะมองเห็นทิศทางได้ว่าจะนำบล็อกเชน และ Web3 ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร

“กฎระเบียบพยายามปกป้องผู้คนที่เปราะบางกว่า เช่น คุณแม่ของคุณ ปู่ย่าตายายของเรา  ซึ่งมีความรู้ด้านการเงินน้อยกว่าลองนึกภาพดูว่า ถ้าไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจน ปู่ย่าตายายของเราอาจจะตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงได้ง่าย คำถามสำคัญคือ เราจะสร้างสมดุลระหว่างการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการคุ้มครองประชาชนได้อย่างไร ? ผมคิดว่านี่เป็นหัวใจสำคัญสำหรับภูมิภาคนี้” 

เปิดแนวโน้มและโอกาสการลงทุนใน Web3 และบล็อกเชน ผ่านมุมของสถาบันการเงิน

Yanshan Tan หัวเรือใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากบริษัท Figment กล่าวว่า หากมองย้อนกลับไปปี 2023 การลงทุนในคริปโทฯ และบล็อกเชน เหมือนกับ ‘หม้อน้ำที่เย็นเฉียบ’ เนื่องจากคริปโทฯ อยู่ในช่วงตลาดหมี แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 1 ปี 2024 เราเริ่มเห็นน้ำในหม้อกำลังเดือด เพราะมีการระดุมทุนไปมากว่า 2.5 พันล้านดอลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 25% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2023 โดยในตอนนี้ สถาบันการเงิน และ VC กำลังลงทุนในหลายด้านของบล็อกเชน ไม่ว่าจะเป็น DeFi, Socialfi ไปจนถึง Restaking 

คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ซีอีโอ Purple Ventures เสริมว่า สถาบันการเงินจะเน้นลงทุนในบล็อกเชนแบบองค์รวม โดยดูจากบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด สิ่งที่สถาบันการเงินให้ความสนใจในตอนนี้ไม่ใช่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของบล็อกเชน แต่เป็น ‘จุดเชื่อม’ ตรงกลางระหว่างเทคโนโลยี และลูกค้า อย่างกระเป๋าเงินดิจิทัล เป็นต้น 

โฟกัสการลงทุนของสถาบันการเงินปัจจุบัน คือ กองทุน ETF (Exchange Traded Fund), สินทรัพย์ในโลกความเป็นจริง (Real World Asset) และ AI ซึ่งการที่สถาบันการเงินเข้ามาลงทุนในสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในตลาดมากขึ้น

แม้กฎระเบียบอาจสร้างความยุ่งยากในด้านการลงทุนไปบ้าง แต่ก็จำเป็นเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับทั้งนักลงทุนรายย่อย และสถาบันการเงิน รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมคริปโทฯ 

กฎระเบียบควบคุมในตอนนี้ เปรียบเหมือนช่วงตั้งไข่ของโซเชียลมีเดีย ย้อนไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว Facebook และ Instagram ถูกมองว่าเป็นแพลตฟอร์มสำหรับโพสต์รูปภาพขำ ๆ แต่ตอนนี้โซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางตลาด แทบไม่มีบริษัท หรือองค์กรไหนที่ไม่ใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล เองก็น่าจะมีอนาคตที่สดใส และกลายเป็นที่ยอมรับเหมือนอย่างโซเชียลมีเดีย โดยมีกฎระเบียบจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นตัวช่วยผลักดัน และกำหนดทิศทาง

สิ่งที่น่าตื่นเต้นในแวดวง Web3 สำหรับนักลงทุน

‘เกม’ คือสิ่งที่ตื่นเต้นในตอนนี้ คาดการณ์ว่า ตลาดเกมใน SEA จะมีมูลค่าราว 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2034 และผู้เล่นเกมครึ่งหนึ่งของโลกจะอยู่ที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบกับกระแสเกม Play-to-earn ที่กำลังกลับมา ดังนั้นเกมจึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในเอเชีย 

ในฝั่งประเทศไทย คุณมุขยา พานิช จาก SCB 10X เสริมว่า เอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้งานคริปโทฯ กันอย่างคึกคัก จากสถิติการเข้าถึงคริปโทฯ ตามดัชนี Crypto Adoption Index ทั่วโลก ประจำปี 2023 มีหลายประเทศในเอเชียที่ติด Top 10 โดยอินเดียอยู่ลำดับที่ 1 ส่วนไทยอยู่ลำดับที่ 10

ส่วนการลงทุนในบริษัทบล็อกเชน และ Web3 นักลงทุนพิจาณาหลายอย่างตั้งแต่ Tokenomics, สถานะการเงิน และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่สิ่งที่นักลงทุนอยากเดิมพันด้วยก็คือ ‘ผู้ก่อตั้ง ทีม และคอมมูนิตี้’ 

แม้ผลิตภัณฑ์จะถูกลอกเลียนแบบได้ แต่ความสามารถในการสร้างคอมมูนิตี้ ไม่สามารถก็อปปี้ได้ เพราะคอมมูนิตี้จะกลายเป็นลูกค้าคนสำคัญของผลิตภัณฑ์ นักลงทุนในตอนนี้กำลังมองหาทีมที่มีผู้ก่อตั้งที่มีวิสัยทัศน์เฉพาะตัว รวมถึงทีมที่ความสามารถในการสเกล (Scalability) สตาร์ทอัพบางแห่งอาจจะเก่งมาก แต่ไม่เก่งในเรื่องของโมเดลธุรกิจ ก็อาจจะสเกลได้ยาก 

คำแนะนำจากนักลงทุน สำหรับสตาร์ทอัพที่อยากประสบความสำเร็จ 

Karl Mijardsjo, Partner, Arcane Group

อย่าพึ่งพา VC อย่างเดียว เพราะ VC เองก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง คอมมูนิตี้เป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนที่ช่วยคุณระดมทุนรอบเล็ก ๆ ได้ และยังช่วยให้คุณสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับตลาดได้ดีกว่าอีกด้วย

Kelvin Koh, Co-founder & Managing Partner, The Spartan Group

ถ้ากำลังหาเงินลงทุน ให้พิจารณาก่อนว่าต้องการร่วมงานกับใคร ต้องการอะไรจาก VC อย่ามองแค่ว่าจะต้องระดมทุนให้ได้มูลค่าสูงสุดอย่างเดียว แต่ให้คิดถึงว่าคุณต้องการร่วมงานกับใครในระยะยาว และพวกเขาจะช่วยเหลือโปรเจ็กต์ที่เราทำอยู่ได้อย่างไร

‘ฝันใหญ่เข้าไว้’ ตอนโปรเจ็กต์ดัง ๆ อย่าง Band Protocol ระดมทุนรอบ Seed นักลงทุนก็ไม่เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้ แต่พวกเขาก็สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น นี่คือเสน่ห์ของ Web3 เพราะมันยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น มันจึงเต็มไปด้วยโอกาส

Augie Llag, Investment Partner, CMT Digital

ถ้าคุณต้องการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจยท์คนในภูมิภาค ควรพิจารณาขนาดของตลาให้รอบคอบ เพราะในบางครั้งคุณอาจประสบความสำเร็จจากลุ่มคนที่อยู่ในระดับล่างของพีระมิด ยกตัวอย่างเช่น การสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้กับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน แม้อาจจะสร้างรายได้จากโมเดลธุรกิจนี้ได้ยาก แต่อาจเป็นโอกาสสำคัญที่เรามองข้ามไป

มุขยา พานิช, CEI & CIO, SCB 10X

อย่าโฟกัสกับมูลค่าบริษัทมากเกินไป มูลค่าบริษัทตอนนี้อาจดูค่อนข้างสูง เนื่องจากตลาดคริปโทฯ กำลังกลับเข้าสู่ช่วงขาขึ้น บางสตาร์ทอัพพยายามดึงมูลค่าตัวเองให้สูงเข้าไว้ และพูดคุยกับนักลงทุนหลายราย แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ระดมทุน เพราะรู้สึกว่าบริษัทของพวกเขามีค่ามากกว่านั้น 

พยายามหา Term Sheet จากนักลงทุนที่สามารถช่วยคุณได้จริง ๆ หรืออาจระดมทุนรอบเล็ก เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อน และบริหารความเสี่ยง แล้วค่อยไปโฟกัสที่การสร้างมูลค่าที่สูงขึ้นในภายหลัง วิธีนี้จะทำให้คุณไม่ประเมินมูลค่าบริษัทสูงเกินไปแต่แรก

Shi Khai WEI, Co-Founder & General Partner, LongHash Ventures

โลกคริปโทฯ ตอนนี้เต็มไปด้วยความรู้สึกเชิงลบ บางคนอาจหมดหวัง หรือท้อแท้ เนื่องด้วยกระแสของมีมคอยน์ที่ทำเงินได้สูง คำแนะนำนำของผมคือ ไม่ต้องกังวลไป ให้โฟกัสไปที่ความเชื่อมั่น โฟกัสไปที่ผู้ใช้  และการส่งมอบคุณค่า ผมมั่นใจว่าจักรวาลจะโค้งไปสู่ความยุติธรรมในที่สุด และเราจะเห็นผู้เล่นที่คู่ควร ผู้ที่สร้างคุณค่าให้แก่ผู้ใช้ และผู้ที่ดิสรัปตลาดที่ควรจะถูกดิสรัป สุดท้ายคุณจะได้รับการยอมรับในที่สุด

กุญแจสำคัญของการนำบล็อกเชนไปใช้ในองค์กร


จากข้อมูลในเวทีเสวนาที่รายล้อมไปด้วยผู้ดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล, ผู้ให้บริการเทรด ไปจนถึงผู้ดูแลการออกเหรียญ USDC มีปัจจัยสำคัญที่จะเป็นสะพานเชื่อมองค์กรจาก Web2 ไปยัง Web3 ดังนี้

  1. Ecosystem - ต้องแข็งแกร่ง และน่าเชื่อถือได้ เพราะเมื่อองค์กรตัดสินใจนำ Web 3.0 ไปใช้ พวกเขามองหาอะไรที่คุ้นเคย และปลอดภัย
  2. กรอบกำกับดูแล - คนมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสินทรัพย์ ผู้คนต้องการทราบว่าใครเป็นผู้ดูแล ใครกำลังถือครองสินทรัพย์อยู่ การที่หน่วยงานกำกับดูแลเข้ามามีบทบาท จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับองค์กรมากขึ้น
  3. ประโยชน์ และรูปแบบการใช้ - เมื่อก่อนเวลากล่าวถึงบล็อกเชน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเงิน แต่ในบางองค์กรที่ไม่ได้ต้องการไปใช้ในเรื่องการเงิน ก็ต้องมีการพัฒนา use case ให้ตอบโจทย์เพื่อให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลาย

สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรค์ใหญ่สำหรับบล็อกเชนในหลายประเทศคือ กฎหมาย และความเข้าใจของเทคโนโลยีที่ยังไม่มากพอ ซึ่งควรต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจกับบุคคลทั่วไป ในมุมมองของ Circle เสริมว่า การศึกษาบล็อกเชนอาจจะเริ่มต้นจากเพิ่มหลักสูตรในโรงเรียน อาจจะเป็นระดับมัธยมปลาย หรือมหาวิทยาลัย หากมีการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับนี้ ในอนาคตเราจะได้เห็นวิศวกร Web3, ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน และ Smart Contract ที่เติบโตมาจากภาคการศึกษา

ตอนนี้มีหลายบริษัทนำ Web3 ไปประยุกต์ใช้ในบางเรื่องแล้ว เช่น 

  • Walmart ที่นำบล็อกเชนมาใช้ในระบบ supply chain เพื่อช่วยตรวจสอบเส้นทางของวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้ซื้อ ซึ่งฐานข้อมูลนี้มีความน่าเชื่อถือสูงสุดเพราะบล็อกเชนไม่สามารถแก้ไขได้ และด้วยระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพนี้เองช่วยให้ผู้บริโภคมีความั่นใจในการซื้อสินค้ามากขึ้น บริษัทก็เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ supply chain ทั้งการลดต้นทุน และเพิ่มผลกำไร
  • การใช้บล็อกเชนในการการบริหารจัดการเงินภายในองค์กรขนาดใหญ่ ที่กำลังประสบปัญหาเคลื่อนย้ายเงินทุนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างมาก เพราะสามารถโอนเงินได้อย่างรวดเร็วแม้ว่าจะเป็นวันหยุดก็ตาม


จะเห็นว่าโลกของบล็อกเชน และ Web3 ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด และกำลังจะมีหลายสิ่งสำคัญเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย น่าติดตามต่อไปว่าโลกของเราจะเปลี่ยนแปลงไปไกลแค่ไหนด้วยบล็อกเชน และ Web3 ในยุคที่เทคโนโลยีไปไกลทุกวินาที

คำเตือน : สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้เนื้อหาข้างต้นเป็นการวิเคราะห์แนวโน้มโดยใช้ข้อมูลในอดีตและเครื่องมือวิเคราะห์ อาจมีการคลาดเคลื่อนได้ นักลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

บทความนี้เป็น Advertorial

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สรุปการเสวนา India's Economic Blueprint อินเดียมีแนวคิดแบบไหนถึง ‘เศรษฐกิจโตไวสุดในโลก’

เจาะลึกแนวคิดเศรษฐกิจอินเดียใน "พิมพ์เขียวเศรษฐกิจอินเดีย" จาก World Economic Forum 2025 ชู 4 เสาหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจโตไวสุดในโลก สู่เป้าหมายประเทศพัฒนาแล้วปี 2047...

Responsive image

ทำไม DeepSeek-R1 ถึงสะเทือนทั้ง Silicon Valley รู้จัก AI จีนที่โหดกว่า OpenAI-o1

DeepSeek-R1 โมเดล AI สุดล้ำจากจีน ท้าทาย OpenAI ด้วยประสิทธิภาพเหนือชั้นในต้นทุนต่ำ ดึงดูดความสนใจใน Silicon Valley และผลักดันวงการ AI โลกสู่ยุคใหม่...

Responsive image

AGI คืออนาคต สรุปมุมมอง AI ขั้นต่อไปจากงาน World Economic Forum

ในงานประชุม World Economic Forum ที่ดาวอส หัวข้อเรื่อง AGI หรือปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมองว่า AGI คือขั้นต่อไปของการพัฒนา AI และเป็นเป้าหม...