ย้อนดูประวัติ Google+ หลังประกาศยุติการให้บริการ เพราะพบช่องโหว่ทำข้อมูลผู้ใช้รั่ว | Techsauce

ย้อนดูประวัติ Google+ หลังประกาศยุติการให้บริการ เพราะพบช่องโหว่ทำข้อมูลผู้ใช้รั่ว

หลายปีก่อน Google ได้เปิดตัว Social Media อย่าง Google+ ขึ้นมา หวังให้แพลตฟอร์มนี้เป็นอนาคตของ Google ที่จะมี Social Network ที่เชื่อมโยงเข้ากับสู่บริการอื่นๆ ของตัวเองได้หมด แต่เกิดอะไรขึ้นกับ Google+ ที่เปิดตัวมาหวังต่อกรกับ Facebook หลังจากนั้นความนิยมก็ลดลงอย่างรวดเร็ว และต้องปิดตัวลงด้วยเหตุผลของเรื่องความปลอดภัย วันนี้ Techsauce รวบรวมไทม์ไลน์ของ Google+ มาให้ได้อ่านกันแล้วครับ

ก่อนเปิดตัว Google+ นั้น Google มี Product อะไรบ้าง?

Photo: Reuters via Business Insider

ในช่วงปี 2554 สำนักข่าว Reuters เคยรายงานในช่วงที่ Google เข้าซื้อกิจการผู้ผลิตโทรศัพท์มือถืออย่าง Motorola ซึ่งได้ทำ Infographic ด้านบนนี้ประกอบในข่าวด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า Search Engine อันดับหนึ่งของโลกกำลังพยายามก้าวข้ามหรือ Beyond บริการตัวเองให้มีมากกว่าแค่การค้นหา (Search) อย่างชัดเจนอยู่แล้ว

ถ้าสังเกตจาก Infographic จะเห็นว่าในช่วงปี 2547-2550 (ค.ศ. 2004-2007) นอกจากยุทธศาสตร์การสร้าง Product ใหม่ๆ ขึ้นมา จะเห็นได้ชัดว่ามีการใช้ยุทธศาสตร์เข้าซื้อกิจการแพลตฟอรืมหรือระบบของเจ้าอื่นให้มาอยู่ภายใต้ร่มเงาของ Google โดยจะเห็นได้จากการเข้าซื้อระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์มือถืออย่าง Android เมื่อปี 2548 (ค.ศ. 2005) การเข้าซื้อแพลตฟอร์มวีดีโอบนออนไลน์อย่าง YouTube เมื่อปี 2549 (ค.ศ. 2006), การเข้าซื้อระบบจัดการโฆษณาอย่าง DoubleClick เมื่อปี 2550 (ค.ศ. 2007) เป็นต้น

มิถุนายน 2554: เปิดตัว Google+

Photo: Google

ในเดือนมิถุนายน ปี 2554 (ค.ศ. 2011) Google+ เปิดให้ทดลองใช้งานผ่านการรับคำเชิญชวน (Invite) จากผู้อื่น ต่อมาในเดือนกันยายน 2554 จึงเปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการ

ในเวลานั้น วิธีการที่คุณจะได้ใช้งาน Google+ จะต้องได้ Invite จากคนอื่นเสียก่อน โดยวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการเดียวกับที่ใช้ตอนเปิดให้ทดลองใช้ Gmail ในช่วงปี 2004-2009 ทำให้ Gmail ประสบความสำเร็จในการได้ยอดจำนวนผู้ใช้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทำให้ Google+ จึงลองใช้วิธีนี้เรียกคนเข้ามาบ้าง

Photo: Flip the Media

โดยในขณะนั้นได้ชูโรงฟีเจอร์ Circle ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่เปิดให้แบ่งเพื่อนในระบบไว้เป็นกลุ่ม ๆ ตามต้องการ สร้างความเป็นส่วนตัวในการเลือกได้ว่าข้อมูลไหนๆ จะให้เพื่อนกลุ่มไหนดูได้บ้าง

กุมภาพันธ์ 2555: ปรับระบบสมัครสมาชิกทำผู้ใช้ใหม่ลด

หลังจากได้ยอดผู้ใช้มาเป็นจำนวน โดย CEO ของ Google ในเวลานั้นอย่าง Larry Page ระบุว่ามียอดผู้ใช้สูงถึง 90 ล้านราย แต่ Wall Street Journal เรียกว่า "เมืองผีร้างแบบจำลอง" หรือ "Virtual Ghost Town" อยู่ดีเมื่อเทียบกับ Social Network คู่แข่งอย่าง Facebook ที่มี Mark Zuckerberg เป็น CEO

ปลายเดือนมกราคม 2555 (ค.ศ. 2012) Google ก็ตัดสินใจปรับหน้าการสมัครใช้บริการ Google+ ซึ่งมีความยุ่งยากมากขึ้น รวมถึง Google พยายามนำหน้าการสมัคร Gmail ไปผูกให้มีการสร้างบัญชี Google+ ด้วย ส่งผลให้หลายคนเกิดความไม่พอใจ

ทำให้ Google+ ได้รับการตอบรับน้อยลงไปโดยปริยาย เห็นได้จากข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ ComScore เปิดเผยว่ายอดผู้สมัครใช้บริการยังมีมากอยู่ แต่ก็ไม่ได้ใช้อะไรต่อหลังจากนั้น

มีนาคม 2555: ปกป้อง Google+ ไว้

Vic Gundotra | Photo: privateidentity, Flickr

เดือนมีนาคม 2555 (ค.ศ. 2012) Vic Gundotra ผู้บริหารระดับสูงของ Google ที่ปลุกปั้น Google+ ขึ้นมา ก็ยังเดินหน้าปกป้องแพลตฟอร์มตัวเองต่อไป โดยเขาระบุว่าเป็นแพลตฟอร์ม Social ที่เชื่อมทุกบริการใน Google เข้าด้วยกัน

"คุณสามารถคิดได้ว่า Google+ จะเป็น Google 2.0 ในฐานะผู้นำ Google ในยุคถัดไป โดย Google เวอร์ชันเก่านั้นจะอยู่แยกกัน แต่ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลที่คุณแชร์ให้กับครอบครัวก็อยู่แยกในแต่ละ Product แต่ใน Google เวอร์ชันใหม่นี้ คุณจะรู้ถึงชื่อของตัวเอง และเข้าใจวงสังคมของคุณ และเราจะทำให้ทุกบริการดีขึ้น" Vic Gundotra กล่าว

แต่ในระหว่างนั้น Facebook ก็เปิดศึกสู้กับ Google+ อย่างเต็มที่ด้วยการคัดลอกฟีเจอร์ที่ Google+ มี แต่ Facebook ไม่มีมาให้หมด...

เมษายน 2557: Vic Gundotra ลาออก

สองปีหลังจากการเปิด Google+ ยอดผู้ใช้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้ใหม่เริ่มน้อยลง จนในที่สุด ในเดือนเมษายน 2557 (ค.ศ. 2014) Vic Gundotra ผู้บริหารระดับสูงของ Google ที่ปลุกปั้น Google+ ขึ้นมาก็ตัดสินใจประกาศลาออกจากบริษัท โดยเขาโพสไว้ใน Google+ ส่วนตัวก่อนออกในทำนองที่ว่า Google กำลังจะลบตัวเองออกจาก Google+ อีกด้วย

ในเวลานั้น TechCrunch เรียก Google+ ว่าเป็น 'Walking Dead' ไปแล้ว อารมณ์ประมาณว่าเป็นซอมบี้ยังทำอะไรได้อยู่ แต่ไม่มีชีวิตจิตใจจริงๆ แล้ว ซึ่งหลังจากนั้นพนักงานที่อยู่ในแผนก Google+ ก็ถูกย้ายกระจายออกสู่แผนกอื่นๆ ใน Google ต่อไป

มีนาคม 2558: ฮึดสู้เพื่อ Google+ เฮือกสุดท้าย

หลังจากนั้น เดือนมีนาคม 2558 (ค.ศ. 2018) Bradley Horowitz ได้เข้ามาจัดการใน Google+ อีกครั้ง โดยประกาศแยกเอาฟีเจอร์ Photos และ Streams ออกมาเป็น Product ตัวใหม่ โดยไม่ได้ระบุว่าจะพา Google+ ไปทางไหนต่อ โดยเขากล่าวว่า "นี่ถือเป็นเรื่องสำคัญของผมที่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ทุกคนเข้าใจได้ว่าเป็นการปรับปรุงในเชิงบวกทั้งในตัว Product ของวิธีการเพิ่มผู้ใช้หลังจากนี้"

Photo: Google

 

สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงเวลานั้น Google ยังต้องการปรับปรุงหลายๆ อย่างใน Google+ อยู่พอสมควร ซึ่งต่อมาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 Google ก็ประกาศปรับโฉม Google+ ครั้งใหญ่ พร้อมกับชูฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยม อย่าง Collections และ Communities (ในเวลานั้นระบุว่ามีผู้ใช้มากถึง 1.2 ล้านรายต่อวัน) ขึ้นมาเป็นฟีเจอร์หลักแทน

แต่หลังจากนั้น Google+ ก็ถูกตัดขาดออกจาก Google เช่น ตัดระบบล็อกอินด้วย Google+ เปลี่ยนเป็นระบบล็อกอินด้วย Google Account อย่างเดียว และตัด Google+ ออกไปทีละส่วนสองส่วน ซึ่ง Business Insider ก็ตาไว ไปเห็นว่าแม้แต่ผู้บริหารคนสำคัญๆ ไม่ได้ Active บน Google+ มานานแล้วด้วย

ตุลาคม 2561 : ประกาศปิด Google+ สำหรับผู้ใช้ทั่วไป

Google ประกาศยกระดับมาตรการความปลอดภัยผ่าน Project Strobe (โครงการสร้างความปลอดภัยให้แพลตฟอร์มของ Google) หนึ่งในมาตรการนั้นกลายเป็นการปิดบริการ Social Media ที่เคยหวังจะปลุกปั้นขึ้นมาอย่าง Google+

โดย Google ระบุในแถลงการณ์ว่า

  • พบช่องโหว่ของระบบที่ทำให้ข้อมูลผู้ใช้ (ซึ่งเป็นข้อมูลจำพวกชื่อ, อีเมล, อาชีพ, เพศ และอายุที่อยู่บนโปรไฟล์ Google+ ที่เราใช้อยู่) ราว 500,000 รายรั่วไหลออกสู่สาธารณะผ่านช่องโหว่ API โดยสามารถแก้ไขและปิดช่องโหว่ดังกล่าวได้เสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
  • พบว่ายอด Engagement ของผู้ใช้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์บน Google+ ใช้เวลาบนระบบไม่ถึง 5 วินาทีเท่านั้น
  • นอกจากนี้ Google อาจจะกังวลว่าหากข้อมูลจาก Google+ เกิดรั่วไหลอีก บริษัทจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย GDPR ฉบับล่าสุดจาก EU ที่กำหนดให้จ่ายเงินค่าปรับและต้องแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดให้เสร็จภายใน 72 ชั่วโมง

และด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดทั้งมวลนี้ จึงเป็นบทสรุปที่ทำให้ Google+ ต้องประกาศปิดตัวลงไปภายใน 10 เดือนหลังจากนี้ โดยระหว่างนี้ผู้ใช้ Google+ ดาวน์โหลดข้อมูลมาเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเองได้จนวันสุดท้ายที่จะให้บริการ คือวันที่ 31 สิงหาคม 2562 โดยประมาณ

แต่ Google ระบุว่าไม่ได้ปิดบริการ Google+ สำหรับผู้ใช้งานในภาคธุรกิจที่ใช้งานผ่าน G Suite ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า Google คงมองว่า Google+ เหมาะสำหรับการใช้งานภายในองค์กรมากกกว่า และเตรียมจะเปิดตัว Product ใหม่สำหรับผู้ใช้ Google+ บน G Suite ในเร็วๆ นี้อีกด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก Business Insider, Digiday, Google, Business Insider (via AP), Engadget และ TechCrunch

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...