อยากมีธุรกิจที่อายุยืน อย่าคิดเรื่องการแข่งขัน..... Simon Sinek ว่าไว้ | Techsauce

อยากมีธุรกิจที่อายุยืน อย่าคิดเรื่องการแข่งขัน..... Simon Sinek ว่าไว้

หนึ่งในเทคนิคการโปรโมทหนังสือใหม่คือ การเขียนบทความเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นแล้วโพสต์ให้คนอื่นเห็น Simon Sinek เองก็ทำแบบนั้น 

Simon Sinek เป็นผู้เขียนหนังสือขายดีอย่าง Start With Why และ Leaders Eat Last และตอนนี้เขากำลังออกหนังสือเล่มใหม่ที่ชือว่า The Infinite Game 

มาพูดรวมๆเกี่ยวกับหนังสือของเขากันหน่อย 

Simon Sinek

ในเล่ม Start with why เขาจะช่วยคุณค้นหาวิธีสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานและพูดถึงวิธีการสื่อสารที่เหล่าผู้นำใช้ในการสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้อื่น ส่วน Leaders Eat Last จะช่วยให้คุณรู้ว่าความเป็นผู้นำนั้นมาจากไหน คุณจะเป็นผู้นำที่ดีที่โน้มน้าวผู้คนได้อย่างไร 

และ The Infinite Game จะสร้างแนวคิดในการทำธุรกิจ ที่ไม่ใช่การเป็นผู้ชนะในโลกธุรกิจ แต่จะเป็นผู้ที่จะไม่ตายไปจากโลกธุรกิจ

ผมไปเจอบทความชิ้นหนึ่งของ Sinek ใน Medium ที่เขียนถึงแนวคิดของ The Infinite Game เขาเริ่มต้นด้วยการแบ่งเกมเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ Finite game (เกมที่มีขอบเขต) อีกประเภทคือ Infinite game (เกมที่ไม่มีขอบเขต) 

มันต่างกันยังไง 

ในเกมที่มีขอบเขต คุณจะรู้จักตัวผู้เล่น เกมแบบนี้มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน มีการจบเกมที่ชัดเจน ตัวอย่างเกมแบบนี้ก็เช่น ฟุตบอล เบสบอล หมากรุก 

Finite Game

ส่วนเกมที่ไม่มีขอบเขตจะตรงกันข้าม คุณจะไม่รู้จักตัวผู้เล่นที่แน่นอน ผู้เล่นบางคนมาแล้วจากไป กฏสามารถเปลี่ยนแปลงได้ คุณจะแหกกฎก็ได้ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “จบเกม” ไม่มีผู้ชนะ ไม่มีผู้แพ้ คุณจะอยู่ในเกมนี้ตลอดไป สิ่งที่จัดอยู่ในเกมแบบนี้ก็คือ การทำธุรกิจ การเมือง และการใช้ชีวิต 

Infinite Game

Sinek ได้แนวคิดในการเขียนหนังสือเล่มนี้มาจากศาสตราจารย์ James P. Carse ซึ่งเคยเขียนหนังสือชื่อ Finite and Infinite Games: A Vision of Life as Play and Possibility ในปี 1986 เขาบอกว่ายิ่งมองผ่านเลนส์ของ Carse ก็ยิ่งพบว่าสิ่งรอบตัวล้วนเป็นแต่เกมที่ไม่มีจุดจบ

อย่างเช่นในการทำงาน คุณอาจจะชนะคนอื่นโดยได้งานทำหรือได้รับการเลื่อนตำแหน่ง แต่จะไม่มีใครมาสวมมงกุฎให้กับคุณแล้วบอกว่าคุณเป็น “ผู้ชนะในอาชีพการงาน” 

ในระดับประเทศ คุณจะเห็นบางประเทศมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ชัยชนะในการเมืองระดับโลก” 

ในชีวิตก็เช่นกัน ไม่ว่าก่อนตายคุณจะประสบความสำเร็จขนาดไหน เมื่อถึงเวลาที่คุณตาย คุณจะไม่ได้รับการประกาศว่าเป็น “ผู้ชนะในการใช้ชีวิต”

และแน่นอนว่าเกมธุรกิจก็เป็นเกมที่ไม่มีขอบเขต การที่องค์กรของคุณอยู่ในตำแหน่งอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมไม่ได้แปลว่าคุณได้เล่นเกมธุรกิจจบแล้ว เวลาของเกมยังเดินต่อไป สิ่งที่จะหมดลงมีเพียงเวลาของผู้เล่น

ถ้าเป็นเกมที่มีขอบเขต เกมจะจบลงเมื่อหมดเวลา ผู้เล่นจะมีเวลาพักผ่อน ได้ปลีกตัวออกจากเกม แล้วกลับมาเล่นกันในอีกวันหนึ่ง 

แต่ในเกมที่ไม่มีขอบเขตจะไม่มีการหมดเวลา ในธุรกิจอาจจะมีการวัดผลตามไตรมาสแต่มันก็ไม่ใช่ตัวบอกว่าเกมได้จบลงแล้ว มันเป็นเพียงจุดๆหนึ่งในเกม สิ่งที่จะหมดลงได้คือเวลาของผู้เล่น ผู้เล่นบางคนอาจจะออกจากเกมเมื่อขาดแคลนทรัพยากรที่ใช้เล่นหรือหมดแรงที่จะเล่นเกมต่อไป ซึ่งในทางธุรกิจเราจะเรียกว่าล้มละลายหรือบางทีก็ควบรวมหรือซื้อกิจการ

Sinek พบว่าผู้นำส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเล่นเกมแบบไหนอยู่ 

พวกเขามักจะพูดถึง “ชัยชนะ” 

พวกเขามัวแต่หมกมุ่นอยู่กับการ “จัดการคู่แข่ง” 

พวกเขาประกาศว่าตัวเองนั้น “ดีที่สุด” 

พวกเขาตั้งวิสัยทัศน์ว่าจะเป็น “หมายเลขหนึ่ง” 

ความคิดเหล่านี้ใช้สำหรับคนที่เล่นในเกมที่มีขอบเขต แต่ถ้าเป็นเกมที่ไม่มีขอบเขตล่ะก็ สิ่งที่พวกเขาพูดล้วนแล้วเป็นไปไม่ได้ และถ้าเอาความคิดที่ใช้กับเกมที่มีขอบเขตมาใช้กับเกมที่ไม่มีขอบเขตล่ะก็ มีปัญหาแน่ เพราะพวกเขาจะคิดว่าเมื่อเป็นอันดับหนึ่ง เกมก็จบแล้ว ไม่มีอะไรให้เล่นอีก ความกระตือรือร้นจะหายไป ความเฉื่อยชาจะเข้ามาแทนที่ การพัฒนาจะหยุดลง ไม่คิดถึงการปรับตัว 

เป็นไปได้ว่าบริษัทที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตที่ได้ล้มหายไปก็คงเป็นเพราะไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเล่นอยู่ในเกมแบบไหน 

Sinek กล่าวว่าในการที่จะประสบความสำเร็จในการเล่นเกมที่ไม่มีขอบเขต คุณต้องปรับ mindset ใหม่ โดยหยุดคิดเรื่องใครเป็นผู้ชนะ ใครดีที่สุด แต่คุณต้องคิดว่าคุณจะสร้างองค์กรยังไงให้แข็งแรงและสุขภาพดีพอที่จะอยู่ในเกมและส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปได้ 

Sinek ยกตัวอย่าง Victorinox บริษัทสัญชาติสวิสที่ทำมีดสำหรับกองทำสวิตเซอร์แลนด์ที่โด่งดัง มีช่วงหนึ่งที่หลายบริษัทกำลังตกอยู่ในมรสุมครั้งใหญ่เพราะเกิดเหตุการณ์ 9/11 Victorinox ก็เห็นว่าถ้าไม่ทำอะไรซักอย่างก็คงได้รับผลกระทบไปด้วย พวกเขาจึงต้องแก้ปัญหา 

Victorinox

บริษัทส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะป้องกันตัว มีการลดต้นทุน มีการไล่พนักงานออก แต่ Victorinox กลับทำตรงข้ามซึ่งเป็นความคิดของคนที่เล่นเกมที่ไม่มีขอบเขต พวกเขาใช้แผนเชิงรุก ไม่มีการไล่พนักงานออก มีแต่การเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาสินค้าตัวใหม่และกระตุ้นพนักงานให้จินตนาการถึงวิธีการใช้แบรนด์ในการรุกเข้าตลาดใหม่ 

Carl Elsener ซึ่งเป็น CEO กล่าวว่า “เมื่อคุณมองไปที่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก คุณจะเห็นว่ามันเป็นแบบนี้เสมอ เสมอเลย! และในอนาคตมันก็จะเป็นแบบนี้อีก มันจะไม่มีทางเติบโตตลอดไป มันจะไม่มีทางตกต่ำตลอดไป มันจะขึ้นและลง ขึ้นและลง... เราจะไม่มองแบบรายไตรมาส แต่เราจะมองแบบยุคสมัย”

การคิดแบบ Victorinox ทำให้บริษัทอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมทั้งปรัชญาและการเงินที่จะเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นอีก และตอนนี้บริษัทก็มีความแข็งแกร่งขึ้นมาก มีดที่เคยเป็นรายได้ 90% ของบริษัทตอนนี้มีสัดส่วน 35% ของรายได้รวม ยอดขายที่เหลือมาจากอุปกรณ์การเดินทาง นาฬิกา และน้ำหอมที่ช่วยเพิ่มยอดขายเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดเหตุ 9/11 

Victorinox ไม่ใช่บริษัทที่มัวแต่คงสภาพเดิม แต่เป็นบริษัทที่มีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้

===============

การทำธุรกิจแล้วไม่ให้คิดเรื่อง ชัยชนะ การจัดการคู่แข่ง การเป็นหมายเลขหนึ่ง อาจจะขัดกับความรู้สึกของเราไปบ้าง แต่ถ้าลองคิดในมุมการใช้ขีวิตเราอาจจะเห็นได้ชัดขึ้น 

การที่เราใช้ชีวิตก็ถือว่าเราอยู่ในเกมที่ไม่มีขอบเขต เราคงไม่ได้เกิดมาแล้วอยากจะใช้ชีวิตเพื่อเอาชนะใครบางคนตลอดเวลา เราแค่อยากที่จะมีชีวิตที่ดี แข็งแกร่งพอที่จะเอาตัวรอดในช่วงที่ชีวิตขึ้นๆลงๆ และส่งต่อสิ่งดีๆให้กับคนรุ่นต่อไป 

ถ้าคิดแบบนี้เราอาจจะมีธุรกิจที่อยู่รอดและแข็งแกร่งเกิดขึ้นมากมายก็ได้ 

===============

ข้อมูลอ้างอิง :

https://marker.medium.com/business-is-an-infinite-game-you-cant-win-it-with-a-finite-mindset-c924b4754160


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...