เผยเบื้องหลังความสำเร็จ Startup ไทยบนเวทีระดับภูมิภาค Singtel Group–Samsung Regional Mobile App Challenge | Techsauce

เผยเบื้องหลังความสำเร็จ Startup ไทยบนเวทีระดับภูมิภาค Singtel Group–Samsung Regional Mobile App Challenge

SocialGiver_winner

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมามีงานแข่งขันของ Startup ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง Singtel Group และ Samsung Asia ซึ่งตัวแทนจากประเทศไทยในโครงการ AIS The StartUp ที่เข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้คือ SocialGiver และ FlowAccount วันนี้เราจะไปพูดคุยกับ Startup ทั้ง 2 กับประสบการณ์บนเวทีระดับภูมิภาค รวมถึง Head of AIS The StartUp ดร.ศรีหทัย พราหมณี ถึงโครงการนี้

ก่อนอื่น ช่วยเล่าถึงโครงการการแข่งขันดังกล่าว

ดร. ศรีหทัย: การแข่งขันในครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันของโอเปอเรเตอร์ใน Singtel Group ทั้งหมด 7 บริษัทด้วยกันค่ะ ประกอบด้วย

  • Globe : ฟิลิปปินส์
  • AIS : ไทย
  • Optus : ออสเตรเลีย
  • TELKOMSEL : อินโดนีเซีย
  • Airtel : อินเดีย
  • Airtel : แอฟริกา
  • Singtel : สิงคโปร์

นอกจากนี้ผู้ให้บริการทั้งเจ็ดรายยังร่วมกับซัมซุงเอเชีย เพราะเรามองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะผลักดัน Startup ไม่ใช่กับแค่ในกลุ่มของโอเปอเรเตอร์ แต่ยังสามารถต่อยอด โดยการผูกบริการเข้ากับอุปกรณ์สื่อสาร และจำหน่ายออกไปทั่วภูมิภาคได้นี้

ซึ่งโครงการนี้ ผู้ให้บริการเครือข่ายจะคัด Startup ชั้นนำของแต่ละประเทศ มาประเทศละ 2 ทีม ทั้งหมด 7 ประเทศ รวม startup ที่เข้าแข่งขันทั้งหมดเป็น 14 ทีม โดยทั้ง 14 ทีมจะได้ร่วมกิจกรรมแบ่งเป็น 2 ช่วง

ช่วงแรกคือ mentorship program ที่ประเทศสิงคโปร์ ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อเรียนรู้ความต้องการของตลาดทั้งภูมิภาคแบบเจาะลึกจากผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 7 พร้อมทั้งรับโจทย์เพื่อนำไปปรับปรุงผลงานให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศ ช่วงที่ 2 เป็นการแข่งขันจริงถูกจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตาในวันที่ 8 ธันวาคม 2015 ซึ่งเป็นครั้งที่สองในการจัดแข่งขันระดับภูมิภาค การแข่งขันครั้งนี้มีเกณฑ์การคัดเลือกทีมที่ยากขึ้น และทั้ง 14 ทีมล้วนแล้วแต่มีศักยภาพกันทั้งนั้นเลย

โดยตัวแทนทีมจากประเทศไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ได้แก่ Socialgiver และ FlowAccount และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ Socialgiver ของประเทศไทยได้รับรางวัล Grand Winner Award ในการแข่งขัน Singtel Group Samsung Regional Mobile App Challenge

นอกจากนี้ Startup ของต่างประเทศมีทีมไหนที่น่าสนใจบ้าง

ดร. ศรีหทัย: จริงๆ ทุกทีมน่าสนใจหมด แต่ถ้าให้ยกตัวอย่างทีมที่เข้าตาก็มี ทีม MyMic จากประเทศออสเตรเลีย พวกเขาพัฒนาแอปฯ ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาของผู้จัดงาน Event เวลาประสบปัญหาขาดแคลนไมโครโฟนในงานสัมมนาใหญ่ๆ ลองคิดดูว่าถ้ามีผู้เข้ารับฟังการบรรยายถึงหลักพันคน เวลาที่จะถามตอบกันคงไม่ง่ายนัก ถ้าทีมงานต้องวิ่งเอาไมโครโฟนไปให้แต่ละท่าน ในเมื่อเราทุกคนก็มีโทรศัพท์มือถือ ทำไมไม่แปลงมือถือให้เป็นไมโครโฟนในงานสัมมนา จะได้ไม่เสียเวลาในจุดนี้ และมีระบบหลังบ้านในการจัดคิวคนถาม

ส่วนอีกทีมที่เราคิดว่าน่าสนใจก็คือทีม OTTO จากประเทศออสเตรเลียเช่นกัน พวกเขาพัฒนาแอปฯ ระบบสั่งการด้วยเสียง ความพิเศษของแอปฯ นี้ก็คือ ความแม่นยำในการฟังเสียง และเน้นเรื่องการสั่งด้วยเสียงขณะขับรถ เพราะพวกเขาคิดว่าสิ่งที่ควรคำนึงของการขับรถก็คือความปลอดภัย ดังนั้นความถูกต้องและแม่นยำของเสียงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในตอนนี้รองรับภาษาอังกฤษ และในอนาคตตั้งเป้าไว้ว่าจะรองรับได้ถึง 86 ภาษาเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังเปิด API ให้สามารถเชื่อมต่อกับโซลูชั่นอื่นๆ อีกด้วย

อีกทีมทางเราเห็นว่าน่าสนใจคือ JoomaJam จากประเทศฟิลิปปินส์ เป็น Content-based Education พวกเขาเอาเพลงเข้ามาช่วยให้เด็กได้ศึกษาภาษาอังกฤษ ซึ่งถ้าพูดถึงตลาดการศึกษายังคงเป็นตลาดที่มีความต้องการอยู่เรื่อยๆ สิ่งที่ทำให้พวกเขาโดดเด่นก็คือคนทำเป็นนักร้องมาก่อน และยังเป็นผู้ปกครองของลูกๆ ที่เข้าใจความต้องการของเด็กๆ ทำให้สามารถผสมผสานไอเดียออกมาได้ดี

กระบวนการแข่งขันมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?

ดร. ศรีหทัย: แต่ละทีมจะมีเวลานำเสนองานหรือ Pitching ทั้งหมด 4 นาทีค่ะ โดยนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการ และ Product Head รวมถึง Top Management ของโอเปอร์เรเตอร์ชั้นนำทั่วภูมิภาค และ ยังมีสื่อมวลชลจากหลากหลายประเทศ ซึ่งระหว่างการ pitching ทุกๆ ทีมจะต้องสาธิตการใช้งานของผลิตภัณฑ์ด้วย จากนั้นจะมีช่วงเวลาถามตอบอีก 3 นาที การ Pitching ครั้งนี้จะแตกต่างจากการแข่งขันทั่วไปตรงที่ว่า เราเน้นเรื่องของการ Implement Commercial ได้จริง โดยเกณฑ์การให้คะแนนจะมุ่งเน้นไปที่ 1. ทีม 2. ผลิตภัณฑ์ 3. รูปแบบธุรกิจ ที่จะเชื่อมโยงกับโอเปอเรเตอร์ในระดับภูมิภาคได้ และอีกส่วนหนึ่งก็คือคะแนนในเรื่องการนำเสนองาน

ขอแสดงความยินดีกับทีมผู้ชนะเลิศ Socialgiver อีกครั้ง คิดว่าอะไรคือ หัวใจความสำเร็จที่เอาชนะใจกรรมการได้ เพราะเราไม่ค่อยเห็น Social Enterprise ในเวทีนี้สักเท่าไหร่

ดร. ศรีหทัย: Socialgiver อาจจะไม่ได้หวือหวาในเชิงเทคโนโลยี แต่ Socialgiver สามารถผสมผสานทั้งธุรกิจ เทคโนโลยีในเชิงอีคอมเมิร์ซ และสังคมได้ดี ซึ่งหน้าที่ส่วนหนึ่งของโอเปอเรเตอร์ก็คือช่วยเหลือสังคมเหมือนกัน อีกหนึ่งอย่างคือ Socialgiver มีโอกาสสามารถสร้าง Traction หรือการใช้งานและสร้างรายได้ที่เกิดจากลูกค้าได้จริงๆ ทั้งในประเทศไทย และ ต่างประเทศ

อลิสา นภาทิวาอำนวย (Socialgiver): จริงๆ แล้วก็ประหลาดใจเหมือนกันค่ะ ที่ได้รับรางวัล เพราะทีมอื่นที่เข้ามาแข่งต่างก็มีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจกันทั้งนั้น แต่เหตุผลที่ทำให้เราชนะใจกรรมการ อาจจะเป็นเพราะสิ่งที่เราทำมันถือว่าใหม่ และยังไม่มีคนทำ ตั้งแต่ช่วงแรกเรามีการบันทึกย้อนหลังถึงความสำเร็จ ตั้งแต่ตัวเบต้าจนกระทั่งเปิดใช้งานจริง แต่ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ยังใหม่ เราอาจต้องใช้เวลาสอนผู้ใช้งานให้เข้าใจถึงระบบมากขึ้น

มาฟากของ FlowAccount บ้าง คณะกรรมการเห็นอะไรในทีม FlowAccount พวกเขาได้ feedback อะไรกลับมาบ้าง?

ดร. ศรีหทัย: ในเรื่องบัญชีที่เป็น Pain สำหรับ startups และ SME นั้นมีตลาดอยู่จริงๆ สิ่งที่ FlowAccount ทำได้ดีและโดนใจกรรมการก็คือเรื่องของการนำเสนอ สามารถแสดงให้พวกเราเห็นถึงความต้องการในตลาดอย่างแท้จริง และยังนำเสนอโอกาสทางธุรกิจให้เห็นภาพ กับทางโอเปอเรเตอร์อีกด้วย

IMG_6815 ถามทีม FlowAccount คิดว่าอะไรเป็นจุดเด่นของตัวเองที่ทำให้คณะกรรมการสนใจ?

กฤษฎา ชุตินธร (FlowAccount) : โอเปอเรเตอร์ เขาก็มองหาคนที่จะมาเป็น Business Partnership อยู่ และแอปพลิเคชันของเราสามารถช่วยเหลือ SME ซึ่งก็เป็นฐานลูกค้าสำคัญของ โอเปอเรเตอร์อยู่แล้ว มันจึงไปด้วยกันได้ครับ

ก่อนจะเข้าแข่งขัน โครงการ AIS The StartUp มีกระบวนการสนับสนุน startups ในเชิงให้คำแนะนำอย่างไร

ดร. ศรีหทัย: Startup ทั้งคู่ล้วนมีพรสวรรค์อยู่แล้วเขามีความสามารถด้วยตัวของเขาเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือส่งเสริมให้พวกเขาเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด เพื่อที่จะดึงความสามารถของเขาออกมาใช้ให้ได้มากที่สุด ในฐานะ mentor เราต้องเอาความมุ่งหวังของ startup เป็นที่ตั้ง ดูว่าพวกเขาต้องการอะไร และเราจะไม่นำความคาดหวังของเราเองไปกดดันให้กับทีมงาน เพราะสิ่งที่ Mentor อยากได้อาจไม่ตรงกับจุดประสงค์ของทาง Startup ก็ได้

ก่อนอื่นเลยเราจะหาจุดยืนของแต่ละทีมก่อนว่า ภายในการ pitch 4 นาที พวกเขาต้องการได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้ เพราะนอกจากคณะกรรมการที่นั่งฟัง ยังมี Product Head ที่นั่งฟังด้วย Product head เหล่านั้นคือกลุ่มคนที่มีอำนาจการตัดสินใจว่าจะเลือกใครไปต่อยอดทางธุรกิจ ยกตัวอย่าง FlowAccount พอลงจากเวที ก็มีคนจาก Globe เข้ามาคุยว่าจะขยายธุรกิจในฟิลิปปินส์อย่างไร

จริงๆ แล้ว Startup ของเราไม่ค่อยเหมือนทีมอื่นๆ จากต่างประเทศเท่าไหร่ เพราะไม่ได้เน้นชูด้านเทคโนโลยี ต่างประเทศจะมีพวกที่ทำ IoT อะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นก่อนเข้าแข่งขัน ทีมงาน AIS The StartUp จะทำการบ้าน ไม่ว่าจะย้อนกลับไปดูงานเก่าๆจากประเทศอื่น แล้วหาว่าอะไรเป็นจุดเด่นที่สร้างความแตกต่างให้กับ Socailgiver และ FlowAccount ที่สามารถชูให้กรรมการเห็น ซึ่งเห็นได้ชัดว่า Startup ของเรามีจุดแข็งอยู่ที่การผสมผสานรูปแบบธุรกิจเข้าด้วยกัน พวกเราจึงแนะนำให้ทั้ง 2 ทีม ชูจุดเด่นของตัวเองที่ตอบสนอง commercial

อะไรเป็นจุดเด่นของ Startup ไทย และอะไรที่ควรจะเสริม

ดร. ศรีหทัย: ที่ผ่านมา Startups ไทยมีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดจากประสบการณ์ที่เจอโดยตรง เราสัมผัสได้ว่าคนไทยมีความอดทนและความตั้งใจในตัว จะพยายามสู้ให้ถึงที่สุด

ในส่วนด้านที่ควรเสริมก็คงจะเป็นเรื่องของธุรกิจ ซึ่งคนไทยยังขาดประสบการณ์ และโอกาสในการเข้ามาสู่ตลาดจริง ซึ่งการพาร์ทเนอร์ร่วมกับโอเปอเรเตอร์ จะช่วยตรงนี้ได้โดยตรงค่ะ

อลิสา นภาทิวาอำนวย (Socialgiver) : สิ่งที่ชอบใน Startup ไทยก็คือความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ที่เราเริ่มออกมาทำแรกๆ ก่อนหน้านี้อลิสเคยทำงานบริษัทเอกชนมาก่อนค่ะ แล้วเราอยากที่จะทำงานอาสาก็เลยเปลี่ยนมาเป็น Social Enterprise แล้วค่อยมาเป็น Social Startup อีกที เรารู้สึกได้ว่าผู้คนที่รายล้อมเรา พร้อมที่จะให้คำแนะนำเสมอ ทำให้เราได้เรียนรู้ไวมากขึ้น

กฤษฎา ชุตินธร (FlowAccount) : Startupsไทย มีสภาพแวดล้อมและสังคมที่ดี ข้อดีของการทำ Startup ที่ประเทศไทยก็คือพฤติกรรมของคนบ้านเรา แตกต่างจากที่อื่น เวลาทำอะไรก็จะมีความแตกต่างอยู่เสมอ มากไปกว่านั้นเราซึ่งเป็นคนไทยจะเข้าใจความต้องการของตลาดได้ดีที่สุด แต่มันก็เป็นข้อเสียไปในตัวด้วย เพราะคนอื่นๆ ก็อาจจะสงสัยในความเป็นไปได้ของเรา ในการขยายออกต่างประเทศ ซึ่งในความเป็นจริง คุณก็ต้องทำตลาดในไทยให้เกิดก่อน

อีกปัญหาในบ้านเราก็คือยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก Startup มาก เราต้องให้เวลาคนที่จะศึกษา และเรียนรู้เกี่ยวกับ Startup มากขึ้น สังคมนี้ก็จะได้รับการสนับสนุนจริงจัง และสามารถพัฒนาต่อไปได้ครับ

อยากให้ทั้ง 2 ทีมช่วยแนะนำจากประสบการณ์ตรงที่ได้ทำ Startup มาสักระยะ

กฤษฎา ชุตินธร (FlowAccount): อยากแนะนำไปถึงคนที่จะเริ่มทำ Startup ให้ถามตัวเองก่อนว่า เราเริ่มทำสิ่งนี้เพราะอะไร ไม่งั้นเวลาที่เราเหนื่อยเราก็จะเลิกทำ ทำต่อไปก็มีแต่เสียเงิน หาเงินไม่ได้ก็เลิกทำ หรือเจอความลำบากก็เลิก ถ้าเหตุผลในการทำของเรามันไม่ดีพอ เราก็จะทำมันไม่ได้ยาว

และเมื่อคุณเริ่มพร้อม อยากให้มองเรื่องพาร์ทเนอร์เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจด้วยนะครับ ไม่ใช่แค่พัฒนาแต่ผลิตภัณฑ์อย่างเดียว ด้วยความที่ประเทศในแถบอาเซียนมีวัฒธรรม ภาษาและการเป็นอยู่ไม่เหมือนกัน แตกต่างจากประเทศในแถบยุโรป ที่พอจะมีอะไรคล้ายๆ กันอยู่บ้าง การที่จะขยายบริษัทไปในประเทศที่เราไม่เคยไป ภาษาที่เราไม่เคยพูดและวัฒธรรมที่ไม่คุ้นเคย ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก แต่ถ้าเรามีพาร์ทเนอร์ทีดีก็จะขับเคลื่อนให้เราไปได้เร็วมากขึ้นนะครับ อย่าง AIS ยกตัวอย่างเราบอกว่าอยากขยายธุรกิจในฟิลิปปินส์ AIS ก็ช่วยจัดการเรื่องนัดกับคนที่โน่น แล้วให้เราบินไปคุยกับเขาเอง ได้เรื่องหรือไม่ได้อย่างไร แค่นี้ก็ถือว่าเป็นความช่วยเหลือที่เพียงพอแล้ว

อลิสา นภาทิวาอำนวย (Socialgiver): สำหรับ Startup ทุกรายนอกเหนือจากความอดทนแล้ว อยากจะแนะนำว่าต้องมีความถึกด้วย (หัวเราะ) ถึงแม้ว่าเราจะล้มซักกี่ครั้งก็ลุกขึ้นมาสู้ต่อได้ และต้องมีความสุขอยู่กับสิ่งที่ทำด้วย ยืนหยัดกับความเชื่อของเราถึงแม้คนอื่นจะมองว่าบ้าก็ตามที ถ้าเรารู้แล้วว่าเราทำสิ่งนี้เพราะอะไร หลังจากนั้นเราจะรู้เองว่าต้องทำอย่างไรต่อจากนี้ มากไปกว่านั้น เราควรจะมองหาพาร์ทเนอร์ที่มีมุมมองคล้ายๆ กับเรา อย่าถามว่าพาร์ทเนอร์ จะให้อะไรกับเรา เราควรจะคิดด้วยว่าเราจะให้อะไรตอบแทนพวกเขาได้บ้าง

สำหรับ Startup ที่อยาก Scale ในการที่จะขยายตลาดออกต่างประเทศ เราควรต้องสามารถครองตลาดในไทยให้ได้ก่อน มันจะเป็นเหมือนภูมิคุ้มกันให้ผลิตภัณฑ์เรา แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ต้องมีการปรับเปลี่ยนเมื่อออกสู่แต่ละตลาด พยายามเรียนรู้ประสบการณ์ผ่าน partnership เพราะแน่นอนว่าเขาก็ต้องอยากให้เราประสบความสำเร็จ

ดร.ศรีหทัยกล่าวทิ้งท้ายว่า ชอบแนวคิดของ Startup ทั้งสองด้วย ตอนที่พวกเขามาประกวด AIS The StartUp สิ่งที่สัมผัสได้คือพวกเขาไม่ได้ต้องการมาแข่งขัน แต่ทั้งสองรายมองว่า อยากเปิดโอกาสให้กับตัวเองมากกว่า แค่มีโอกาสได้นำเสนอผลงานจาก Startup ให้กับผู้บริหารองค์กรใหญ่ ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ แล้ว ซึ่งไม่ได้หาได้ง่ายๆ ที่เหลือก็อยู่ที่ความสามารถของตัวทีมงานเอง ว่าจะไปสู่ก้าวต่อไปได้อย่างไร

บทความนี้เป็น Advertorial

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...

Responsive image

กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม

AI กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และต้องถูกจับตาดูโดยหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง ‘กระทรวง AI’ ที่มีอำนาจ และความสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่น ๆ แต่ทำไม AI ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ? กร...