ถอดบทเรียน 'ขอนแก่น Smart City' เมืองคุณภาพสร้างได้ไม่ใช่แค่ฝัน | Techsauce

ถอดบทเรียน 'ขอนแก่น Smart City' เมืองคุณภาพสร้างได้ไม่ใช่แค่ฝัน

Smart City ปัจจุบันถือเป็นคำที่ได้ยินกันอย่างคุ้นหู จากการที่ภาครัฐบาลหันมาผลักดันให้มีการพัฒนาเมือง โดยการใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อน ขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของจังหวัดขอนแก่นเช่นกัน แต่เป็นการเน้นสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ซึ่งให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น รวมไปถึงสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น  ผ่านการบอกเล่า ของ ‘กังวาน เหล่าวิโรจนกุล’ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด 

smart city-Khon Kaen

จุดเริ่มต้นของแนวคิดในการพัฒนาขอนแก่น Smart City

แนวคิดในการพัฒนาเมืองขอนแก่น มาจากการที่เดิมทีขอนแก่น เป็นจังหวัดที่ไม่ได้มีจุดเด่นในด้านการท่องเที่ยว ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สวยงาม ไม่ได้มีนิคมอุตสาหกรรมมาตั้ง ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นจังหวัดที่มีความน่าสนใจที่ทางรัฐบาลจะมีการส่งเสริมงบประมาณพิเศษในการพัฒนาเมืองมาให้เหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ แต่สิ่งที่ขอนแก่นมี คือ การเป็นเมืองที่อยู่จุดศูนย์กลางของภาคอีสาน มีมหาวิทยาลัย และศูนย์ราชการต่าง ๆ ค่อนข้างมาก 

ดังนั้นเนื่องมาจากความไม่มี จึงทำให้เกิดเป็นความร่วมมือกันอย่างเข้มข้นในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น องค์กรภาคเอกชน  ภาคประชาสังคม หอการค้า สภาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย รวมไปถึงภาคท้องถิ่น ได้มีการประชุมเพื่อหารือ และร่วมแสดงความคิดเห็นในการคิดโครงการที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์กับเมืองอย่างต่อเนื่อง 

แต่ในอดีตที่ผ่านมาหลายครั้งจะเห็นได้ว่า แม้ว่าจะมีความร่วมมือกันมากมายแค่ไหน แต่พอไปถึงส่วนกลางกับภาครัฐบาลก็จะต้องมีการตัดสินใจเป็นลำดับขั้น เพราะมีหลายจังหวัดที่ต้องดูแล ฉะนั้นกว่าจะมาถึงขอนแก่นก็ต้องมีขั้นตอนอีกมากมายก็เลยมองว่า ถ้าหากยังเดินแบบเดิมอยู่ก็คงได้การเติบโตในสภาพอย่างที่เห็น จึงทำให้เกิดเป็นการร่วมมือในทิศทางใหม่ขึ้นมา 

ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของหน่วยงานเอกชน จึงได้จัดตั้งเป็นบริษัท ชื่อ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ขึ้นมา เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว โดยเกิดจากการรวมกันของบริษัทของคนในขอนแก่นประมาณ 20 บริษัทรวมเงินกันมา บริษัทละ 10 ล้านบาท  ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทดังกล่าวขึ้น เพื่อระดมความคิด ทำการค้นคว้าวิจัย และหาแนวทางในการทำโครงการที่จะพัฒนาเมืองได้ 

smart city -Khon Kaenสำหรับคอนเซ็ปต์หลักของบริษัท คือ การดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้แข่งกับคนเมือง แต่เป็นธุรกิจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเมืองเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น ระบบขนส่งมวลชน ศูนย์ประชุมต่าง ๆ  การจัดการรูปแบบ แผนผังเมือง การวางแผนพัฒนาพื้นที่เมือง หรือแม้กระทั่งโครงการด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้แนวคิดในตอนแรกต้องบอกว่าไม่ได้มีคำว่า  Smart City อยู่เลย แต่พอคำคำนี้มันเริ่มกระจายในประเทศ จึงได้มีการศึกษาว่ามันคืออะไร ก็พบว่า จริงๆแล้วเป้าหมายหลัก ก็คือ การสร้างเมืองที่ทำให้คนอยู่แล้วมีความสุข โดยการใช้เทคโนโลยีมาเป็นส่วนช่วยในการอำนวยความสะดวก ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่กำลังพยายามทำอยู่ ก็เลยวางเป้าหมายในการพัฒนาขอนแก่นให้เป็น Smart City 

Smart City เป็นโครงการที่ถูกคิดมาแล้วว่าให้มีครบในทุก ๆ ด้าน ดังนั้นขอนแก่นจึงใช้โมเดลนี้ เพราะว่าจะได้ไม่ขาดอะไรไป และที่สำคัญไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งก็จะมีเรื่องของคนและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นี่ก็เลยเป็นที่มาของโครงการนี้

รูปแบบการดำเนินงานเป็นอย่างไร 

จริง ๆ ก็คล้ายกับสิ่งที่เรียกว่า Social Enterprise นั่นคือ การทำธุรกิจที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ ตามคอนเซ็ปต์หลักของเรา คือ การช่วยพัฒนาเมือง ซึ่งอย่างที่บอกว่าไม่ได้ไปทำธุรกิจที่แข่งขันกับคนเมือง แต่สิ่งที่ทำ คือ สิ่งที่คนเมืองต้องการ และเกิดประโยชน์กับคนหมู่มาก ไม่ใช่เกิดประโยชน์กับใครบางคน 

เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชน อย่างรถไฟฟ้ารางเบา แน่นอนว่าการทำระบบนี้มันไม่ได้สมบูรณ์ในสายแรก เหมือนกับกรุงเทพมหานครตอนเริ่มมีรถไฟฟ้า แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นมันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงของเมือง และในอนาคตเมื่อมีการเชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ เข้าด้วยกันกับระบบอื่น ๆ ก็จะมีประโยชน์เกิดขึ้นอย่างมหาศาล สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ค่อนข้างมาก รวมถึงทำให้เมืองกลายเป็นเมืองที่มีศักยภาพที่สูงขึ้น

smart city -Khon Kaenขอนแก่นพยายามสร้างสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เกิดการเติบโตของเมืองในทิศทางที่ถูกต้องตามระบบขนส่งมวลชน โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าหากเมืองมีการเติบโตแบบไร้ทิศทาง รัฐบาลก็จะต้องสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานตาม หาความเจริญนั้น ดังเช่น ในกรุงเทพมหานครที่จะต้องสร้างรถไฟฟ้าเข้าไปหาชุมชนเนื่องจากปัญหารถติด แต่ในทางกลับกันถ้ามีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถเข้าถึงชุมชน โดยมีระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพอยู่แล้ว คนก็จะเข้าไปหาระบบนั้นเอง  เมืองก็จะไม่ต้องมีการเติบโตแบบไร้ทิศทาง 

ฉะนั้นสิ่งที่ตามมา คือ การที่คนสามารถกลับเข้าไปอยู่ในเมืองได้มากขึ้น เหมือนเวลาที่ทุกคนไปต่างประเทศ ที่ไม่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลเลย แต่กลับใช้รถไฟฟ้าบ้าง รถเมล์บ้าง เดินบ้าง ซึ่งสามารถช่วยประหยัดเงินค่อนข้างมาก 

 

เราไม่ได้ต้องการให้คนเดินทางเยอะ ทุกวันนี้คนต้องไปอาศัยอยู่ชานเมือง ทุกเช้าก็จะนั่งรถเข้าเมือง ตอนเย็นก็นั่งรถออกเมือง นี่คือ ปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นไม่ใช่ว่ามีรถไฟฟ้าแล้วจะดีเสมอไป ถ้ามันต้องนั่งในระยะทางที่ไกลมาก ๆ และต้องจ่ายแพงมาก ๆ จริง ๆ มีรถไฟฟ้าควรจะนั่งใกล้ และไม่แพงด้วย นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด

การพัฒนาเมืองขอนแก่นไปสู่ Smart City มีดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง 

ขอนแก่นเน้นการทำโครงสร้างพื้นฐานก่อน โดยเฉพาะในระบบขนส่งมวลชน ปัจจุบันก็มี City Bus ซึ่งเป็นรถบัสแอร์ มี Wifi บนรถ และเชื่อมต่อด้วยระบบแอปพลิเคชันทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่า ตอนนี้รถอยู่ตรงไหนแล้ว ต้องใช้เวลารออีกกี่นาที และที่สำคัญราคาเดียวตลอดสาย เปิดให้บริการมาประมาณ 3 ปีแล้ว 

ซึ่งก็มีปัญหาตรงที่รถบัสยังไม่สามารถให้บริการครอบคลุมทุกสายได้ คนยังต้องต่อรถสองแถวเพื่อไปให้ถึงปลายทาง โดยในระยะถัดไป สิ่งที่จะพัฒนาต่อก็คือต้องพยายามเชื่อมต่อรถบัส กับรถสองแถว ด้วยการทำให้ทั้งสองระบบมีคุณภาพเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้คนเมืองทุกกลุ่มสามารถใช้รถทั้งสองระบบได้ เมื่อเกิดการเชื่อมโยงก็จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดระบบก็จะมีศักยภาพมากขึ้น

smart city -Khon Kaenทั้งนี้ระบบขนส่งทั้ง 2 แบบก็จะกลายเป็นฟีดเดอร์ หรือ ระบบขนส่งมวลชนรอง เพื่อเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งหลัก ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งระหว่างเมือง  รถไฟ และเครื่องบิน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบาขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับบริจาครถรางขนาดย่อม หรือ แทรม มาจากเทศบาลฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นมา 1  ขบวน เพื่อเป็นการนำร่องสร้างรถไฟฟ้ารางเบาในพื้นที่ 

พร้อมกันนี้ได้มีการนำไปให้ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานทำการศึกษาและทดลองสร้างขึ้นมาอีกขบวนเพื่อที่สามารถดำเนินการให้ใช้การได้จริง รวมไปถึงยังมีการทดลองทำระบบรางหลาย ๆ รูปแบบเพื่อศึกษาเรียนรู้ ฉะนั้นขอนแก่นกลายเป็น Lab ในการสร้างการขนส่งระบบรางในประเทศไทย ที่อื่น ๆ ก็สามารถมาดูงานได้จริง ซึ่งเป็นการสร้างการเรียนรู้ และในอนาคตจะเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นได้  

สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จะเป็นการดำเนินงานภายใต้ บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด ซึ่งเป็นการรวมกันของเทศบาลท้องถิ่นในการจดทะเบียนจัดทั้งบริษัทขึ้นมา ตรงนี้ได้มีการดำเนินการผ่านกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นสามารถดำเนินการระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองได้ นั่นคือ ระบบรถไฟ ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณปี 2563 

นอกจากนี้ก็มีโครงการ Medical Hub ซึ่งเป็นระบบพื้นฐานของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ที่จะสามารถเชื่อมกันได้ โดยไม่ว่าผู้ป่วยจากปกติไปโรงพยาบาลไหนประจำ หากเกิดอุบัติเหตุใกล้โรงพยาบาลอื่น ๆ ก็สามารถที่จะขอข้อมูลพื้นฐานได้ พร้อมกันนี้ยังมีโครงการศูนย์เก็บรวบรวมข้อมูลของเมือง (Information Center) ซึ่งจะเป็น Big Data ของเมืองในอนาคต 

และเหนือไปกว่าการทำโครงการต่าง ๆ ที่กล่าวไปนั้น คือ การให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับคนในเมือง ซึ่งได้มีการจัดทีมงานของเทศบาล และมหาวิทยาลัย เข้าไปพูดคุย สร้างความร่วมมือ ชี้แจงให้คนเห็นว่าพื้นที่โซนไหนใช้ทำอะไร ซึ่งทุกอย่างจะต้องมีความเชื่อมโยงกัน 

การสร้าง Smart City ให้เกิดขึ้นได้จริง ในวันนี้เราต้องทำโครงสร้างพื้นฐาน ให้ดีก่อน  ระบบเครือข่ายในเมืองถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็นหรือยัง ระบบขนส่งสาธารณะดีหรือยัง วางผังเมืองสมบูรณ์หรือยัง การเก็บข้อมูล ของเมืองมีหรือยัง นั่นคือสิ่งที่ต้องทำก่อน ส่วนเทคโนโลยี เมื่อทุกอย่างพร้อม แล้วค่อยนำมาใส่ ตรงนี้จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในฐานะนักพัฒนาเมือง มีมุมมองต่อการที่กรุงเทพฯ ประสบปัญหาค่าโดยสาร รถไฟฟ้าที่แพงเกินไป อย่างไรบ้าง

ทุกวันนี้กรุงเทพมหานครมีปัญหาด้านความแอดอัดของสังคมเมืองค่อนข้างมาก แม้ว่าจะมีระบบขนส่งมวลชนที่มีการขยายเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาโดยหลัก ๆ จะเห็นได้ว่าค่าโดยสารค่อนข้างแพง เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ ดังนั้นสิ่งที่ขอนแก่นมองปัญหาดังกล่าว สามารถแบ่งออกเป็นดัชนี 2 อย่าง ได้แก่ ดัชนีที่ต้องจ่ายไปกับค่าที่อยู่อาศัย (Housing) และดัชนีที่ต้องจ่ายไปกับการเดินทาง (Transit) โดยโจทย์หลักในการพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพ คือ ทำอย่างไรให้ดัชนีของทั้ง 2 อย่างต่ำลง

ดังนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการออกแบบเมือง โดยการทำให้คนเดินทางน้อยที่สุด ซึ่งคนก็สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่ในเมือง อย่างน้อยการจ่ายก็ทำให้ค่าเดินทางลดลง ซึ่งกรุงเทพมหานครก็ทำเช่นเดียวกัน จึงได้เกิดเป็นคอนโดมิเนียมในเมือง รอบรถไฟฟ้าขึ้นมา แต่สำหรับขอนแก่นคอนโดมิเนียมก็ไม่ได้ราคาแพงเท่ากับในกรุงเทพ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนเดินทางน้อยลง

อย่างไรก็ตามโมเดลเมืองขอนแก่นที่ทำ จะไม่เหมือนกับกรุงเทพมหานครแน่นอน ที่การเติบโตของเมืองทำให้คนต้องไปอยู่ไกลขึ้น เพราะจะได้จ่ายค่าบ้านที่ถูกลง แต่การแลกกับการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ก็จะกลายเป็นว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่แนวคิดของขอนแก่น คือ ทำอย่างไรให้คนกลับเข้าสู่เมือง เดินทางน้อยลง ดีกว่าไปบอกว่าให้ลดค่าเดินทางให้ถูกลง ตรงนี้แก้ยากกว่า  เพราะทุกอย่างมันมีต้นทุน

smart city -Khon Kaenอย่างเช่นการที่จังหวัดขอนแก่นได้คิดที่จะสร้างรถไฟฟ้ารางเบาขึ้น รู้เลยว่าเก็บเงินเท่าไหร่มันก็ไม่คุ้มค่าก่อสร้าง ดังนั้นจึงต้องมีการอาศัยการพัฒนาพื้นที่โดยรอบระบบขนส่งมวลชนให้มีการผสมผสานระหว่างศูนย์การค้า ที่พักอาศัย ที่ทำงาน (Transit Oriented Development) เข้ามาช่วย ตรงนี้จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่า ซึ่งไม่ได้หมายความแค่ว่าจะทำให้คนมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง แต่รวมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น คนหันมาระบบขนส่งสาธารณะเป็นหลัก 

 Enrique Penalosa อดีตนายกเทศมนตรีนครโบโกต้า ประเทศโคลอมเบีย ได้เคยกล่าวไว้ว่า เมืองที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่เมืองที่คนจนทุกคนมีรถ แต่กลับเป็นเมืองที่คนรวยทุกคนยอมขึ้นระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งตรงนี้มันทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด แล้วก็ลดมลภาวะด้วย

ความคาดหวังต่ออนาคต อยากจะเห็นอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ต้องบอกก่อนเลยว่า หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ถ้าไม่มีการตั้งบริษัท ไม่มีการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนขึ้น รู้เลยว่าวันนี้จะต้องเห็นอะไร ขอนแก่นได้เริ่มต้นพัฒนาอย่างจริงจังมา 4 ปี เราเห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้น ทุกคนที่มาร่วมมือกันมีความรักบ้านเกิดของตัวเอง ต้องการที่จะอยู่ในขอนแก่นต่อไป และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราอยากให้ลูกหลานได้อยู่ในเมืองที่มีความเครียดน้อย ๆ ต่อไปในอนาคต

เรามักจะพูดกันเสมอว่า ให้คิดว่าเราเปรียบเสมือนชายชรา ที่ปลูกต้นไม้ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอาจจะไม่มีโอกาสได้อาศัยร่มเงา ต้นไม้ที่เราปลูกวันนี้มันต้นเล็ก แต่มันจะโตได้ในอนาคต ซึ่งคนที่ได้ใช้ ก็คือ ลูกหลานของเรา

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ถกยุทธศาสตร์ AI ไทย หนทางดึงไทยกลับเวทีโลก ควรเริ่มอย่างไร ?

ค้นพบโอกาสและความท้าทายของ AI ที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมไทย พร้อมกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันโลกในยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน!...

Responsive image

รัฐบาลเวียดนามขยับ SME ได้เวลาทวงคืนตลาดแฟชั่นจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนอย่าง Shein และ TEMU

รัฐบาลเวียดนามเตรียม "บล็อก" แอปพลิเคชันและโดเมนช้อปปิ้งออนไลน์ของจีนอย่าง Shein และ Temu ถ้าไม่จดทะเบียนอย่างถูกต้องก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทวงคืน “อุ...

Responsive image

AI ไม่ได้แทนที่คุณ แต่จะช่วยให้คุณ 'ดีกว่าเดิม'

สำรวจแนวคิด "จิตวิทยาไซบอร์ก" ในการออกแบบระบบมนุษย์-AI เพื่อความรุ่งเรืองของมนุษย์ พร้อมบทบาทของ AI ในการพัฒนาไทยให้เป็น “AI Land” จากมุมมอง ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร ในงาน THE STANDARD ...