Smart City คือคำที่ถูกพูดถึงกันมานานในช่วงหลายปีมานี้ พร้อมกับเทคโนโลยีในด้านๆต่างที่ออกมารองรับโลกของ Smart City ที่เกิดขึ้น แม้หลายๆเมืองทั่วโลกกำลังจะขับเคลื่อนเมืองไปสู่ Smart city เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย แต่ก็ยังไม่มีประเทศไหนที่สามารถเป็นต้นแบบของ Smart City ได้อย่างแท้จริง บทความนี้พาท่านผู้อ่านมาทำความเข้าใจกับคำว่า Smart city ทั้งในไทย และปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลให้ Smart city ประสบความสำเร็จ
Techsauce ได้สัมภาษณ์คุณ มุกุนด์ ชรีดาร์ หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ประจำภูมิภาคเอเชีย แมคคินซีย์ แอนด์ คอมปะนี ถึงเรื่องราวของ Smart City ที่ถูกขับเคลื่อนและผลักดันอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมปัจจัยแห่งความสำเร็จ
คุณให้คำนิยามของ 'Smart City' ว่าอย่างไร
Smart City ในนิยามของเราคือเมืองที่บูรณาการข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาของส่วนรวมและทำให้สภาพแวดล้อมของเมืองน่าอยู่ ยั่งยืน และก่อให้เกิดผลผลิตมากขึ้น
เมืองที่ยังอยู่ในระยะลงทุนและพัฒนาระบบพื้นฐานและบริการสาธารณะสามารถใช้ smart solution เข้ามาช่วยเพื่อขยายขีดความสามารถและเพิ่มอายุการใช้งานให้กับสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โครงสร้างพื้นฐานใดบ้างที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิด Smart City ขึ้นอย่างแท้จริง
เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยแล้วขยายตัวเร็วกว่าเมืองในภูมิภาคอื่นทั้งในเอเชียและทั่วโลก ไม่เพียงเท่านั้น ความสามารถของภาครัฐในการวางแผนและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่างๆ ก็ล้ำหน้าไปกว่าภูมิภาคอื่นๆ เช่นกัน ด้วยเหตุนี้หน่วยงานฝ่ายปกครองของเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงต้องลงมือคว้าโอกาสต่างๆอย่างรวดเร็ว ลักษณะเฉพาะของแต่ละเมืองเป็นตัวแปรที่ทำให้ smart solution เดียวกันสามารถส่งผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไปได้ในแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ไม่ใช่ทุกเมืองที่ต้องเริ่มต้นพัฒนา Smart City จากศูนย์ เพราะ solution บางชนิดไม่ต้องอาศัยเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ช่วยผลิตมากนัก สามารถนำไปใช้ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วได้เลย
นอกจากนี้ เมืองต่างๆ อาจใช้วิธีนำร่องติดตั้ง solution ในบางพื้นที่ก่อนที่จะขยายการใช้งานให้ครอบคลุมทั่วทั้งเมืองในภายหลัง โดยความรวดเร็วในการติดตั้งระบบและการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดจาก solution นั้นขึ้นอยู่กับบริบทเฉพาะของแต่ละเมือง นับตั้งแต่เรื่องของคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไปจนถึงระดับความร่วมมือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จากงานวิจัยของเราพบว่า solution ที่ประสบความสำเร็จและยั่งยืนนั้นมีองค์ประกอบบางอย่างที่เหมือนกัน เช่น วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจในความต้องการของพลเมือง และความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน
ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ Smart City ประสบความสำเร็จ
Smart City ไม่ใช่นโยบายที่ดำเนินด้วยการบริหารจากบนลงล่าง (top down) แต่เป็นการที่องค์กรต่างๆ และผู้คนในเมืองรวมพลังกันเพื่อทำให้ระบบโดยรวมมีประสิทธิภาพ
- หน่วยงานปกครองมี 2 บทบาทสำคัญที่ต้องทำควบคู่กัน คือนอกจากจะต้องปรับการทำงานให้เป็นดิจิทัลและติดตั้ง smart solution ภายในหน่วยงานของตนเองแล้ว ยังมีทำหน้าที่ผลักดันให้ระบบนิเวศของ Smart City ขยายตัวในวงกว้างอีกด้วย หน่วยงานปกครองมีบทบาทในการจัดหาและติดตามข้อมูล จัดให้มีการรวมตัวของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงเข้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ
- บริษัทต่างๆ จะต้องมีใจรักในการบริการผู้คน ไม่ใช่แค่ดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อตลาดเพียงอย่างเดียว โดยบริษัทมีหน้าที่คิดค้นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในเมืองให้ดียิ่งขึ้น
- หากกลยุทธ์เกี่ยวกับ Smart City ถูกดำเนินอย่างหมาะสม ประชาชนจะเป็นผู้มีอำนาจหลักในการพัฒนา ท้ายที่สุดแล้วความสำเร็จของโครงการต่างๆ ที่ดำเนินโดยภาครัฐและภาคเอกชนดูได้จากว่าประชาชนนำกลยุทธ์เหล่านั้นไปบูรณาการในชีวิตประจำวันของตัวเองอย่างไร
รายงานของเราระบุถึง 3 ขั้นตอนสำคัญที่จะหล่อหลอมการพัฒนา Smart City ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1. วางแผน (plan)
- ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องออกแบบ solution Smart City ที่เหมาะกับความต้องการของประชาชน วัตถุประสงค์ของการวางแผนคือเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความประสงค์ของผู้อยู่อาศัยให้มีประสิทธิภาพและราบรื่นยิ่งขึ้น ทุกการวางแผนต้องเริ่มต้นให้ความสำคัญที่คนก่อนเสมอ ไม่ใช่เทคโนโลยี โครงการ Smart City หลายแห่งต้องประสบความล้มเหลวเนื่องจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากกว่าความต้องการและพฤติกรรมของคน
- แต่ละเมืองต้องเลือกสรรเทคโนโลยีอัจฉริยะให้สอดคล้องกับนโยบายและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของเมือง ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีอัจฉริยะจะไม่สามารถใช้ทดแทนเม็ดเงินได้ แต่ก็สามารถช่วยให้การลงทุนคุ้มค่ายิ่งขึ้นได้ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถใหม่ๆ เข้าไป ซึ่งเป็นการยกระดับความสามารถของโครงสร้างนั้นๆ
- นอกจากร่างวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์สำหรับอนาคตแล้ว การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีก็ทำให้หน่วยงานปกครองต้องเปิดใจทดลองสิ่งใหม่ๆ และรู้จักปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานแบบเดิมๆ การใช้วิธีนำข้อมูลมาเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตช่วยให้เมืองต่างๆ สามารถติดตามความคืบหน้าของเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงช่วยในการบริหารจัดการการทำงานและจัดลำดับความสำคัญของขั้นตอนต่างๆ
2. จัดหา (provide)
- หน่วยงานปกครองไม่สามารถมองว่าข้อมูลและเทคโนโลยีเป็นเพียงแค่การลงทุนที่สิ้นเปลืองได้อีกต่อไป เนื่องจากทั้งสองสิ่งเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนา Smart City
- ในกรณีที่งบประมาณมีอยู่จำกัด ก็สามารถออกแบบและดำเนินวิธีการอื่นๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนา Smart City ขึ้นได้ เช่น นำข้อมูลมาสร้างรายได้ มอบสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่ ปรับเปลี่ยนข้อจำกัดในการแบ่งโซน หรือคิดค้นวิธีการใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับภาคเอกชน การกำหนดให้ “รัฐบาลเป็นผู้ซื้อ” ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่หน่วยงานปกครองสามารถนำมาใช้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นได้
- ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ในการใช้งานจริงมากกว่าเทคโนโลยีที่เน้นเรียกความสนใจ เช่น การติดตั้งระบบจัดการจราจรดิจิทัลอาจก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าการติดตั้งจอสัมผัสบนท้องถนน
3. หาพันธมิตร (partner)
การร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล บริษัทเอกชน สถาบันต่างๆ และประชาชน อย่างสร้างสรรค์และสมัครสมานกันจะช่วยให้เกิดการสร้าง solution และมูลค่าที่ดียิ่งขึ้นในการพัฒนา Smart City สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นถือสิ่งที่สำคัญมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความสำคัญตรงนี้อาจลดลง
- ยกตัวอย่างกรณีเช่น ภูเก็ต อีเกิ้ล อายส์ (Phuket Eagle Eyes) เป็นเทคโนโลยีที่รวบรวมภาพวิดีโอจากเครือข่ายกล้องวงจรปิด CCTV กว่า 700 ตัวของหน่วยงานภาครัฐ (ตำรวจและองค์กรท้องถิ่น) และในอนาคตอาจมีการนำภาพวงจรปิดจากระบบความปลอดภัยของภาคเอกชนมาใช้ประกอบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเทคโนโลยี
- หน่วยงานปกครองต้องเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้พร้อมและบังคับใช้นโยบายเพื่อเปิดชุดข้อมูล จัดหาเครือข่ายและแพลตฟอร์มพื้นฐาน รวมทั้งขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและเรียนรู้ทักษะที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หน่วยงานปกครองไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ออกทุนหรือดำเนินการบริการและระบบโครงสร้างฝ่ายเดียวเสมอไป ที่จริงแล้ว ในแง่ของเทคโนโลยีนั้น หน่วยงานปกครองไม่ได้มีความพร้อมเพียงพอเสียด้วยซ้ำ ในกรณีเช่นนี้หน่วยงานปกครองควรถอนตัวออกมาและเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นที่มีศักยภาพมากกว่า เช่น บริษัทร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หน่วยงานสาธารณูปโภคของรัฐ บริษัทขนส่ง มหาวิทยาลัย มูลนิธิ และองค์กรไม่แสวงผลกำไร เข้ามาทำหน้าที่แทน
- การที่เมืองเมืองหนึ่งจะก้าวไปเป็น Smart City ได้นั้น ภาคประชาชนต้องรับเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในชีวิตประจำวันและธุรกิจ วิธีนี้จะช่วยหล่อหลอมให้ประชาชนรู้จักแนวทาง ลักษณะ และการใช้ทรัพยากรในสมาร์ทซิตี้
- ความร่วมมือในระดับภูมิภาคช่วยให้เมืองต่างๆ สามารถระบุองค์ประกอบที่แต่ละเมืองมีอยู่ร่วมกันมาใช้พัฒนาต่อยอด โดยถอดบทเรียนต่างๆ ออกมาเพื่อนำไปใช้ในอนาคต
- ก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดตัวเครือข่าย อาเซียน Smart City (ASEAN Smart Cities: ASCN) ซึ่งมี 26 เมืองร่วมเป็นสมาชิก โดยเครือข่ายอาเซียน Smart City เป็นเครือข่ายสำคัญในการสร้างรากฐานความร่วมมือที่แข็งแกร่งของทั่วภูมิภาค
ภาพโดย The Nationคุณมีความเห็นต่อ Smart City ในประเทศไทยอย่างไร
งานวิจัยของเราระบุว่าการพัฒนา Smart City ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันไปในแต่ละเมือง โดย Smart City สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ Smart City Sandbox, Prime Mover, Emerging Champion และ Agile Seedbed
- กรุงเทพมหานครจัดอยู่ในกลุ่ม “Prime Mover” เช่นเดียวกับอีกหลายๆ เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัวลาลัมเปอร์ จาการ์ตา และมะนิลา โดยเมืองในกลุ่ม Prime Mover คือเมืองที่ระบบโครงสร้างทางกายภาพและสังคมส่วนใหญ่มีความพร้อมอยู่แล้ว แต่มักถูกใช้งานเกินขีดความสามารถ สำหรับปัญหาเกี่ยวกับความไร้ประสิทธิภาพที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เมืองเหล่านี้สามารถนำเอา smart solution มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ ความพร้อมของเมืองในกลุ่ม Prime Mover ช่วยให้โครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Smart City สัมฤทธิ์ผลได้อย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ Prime Mover ต้องทำเป็นอันดับแรกคือขยายระบบและบริการให้ตอบสนองต่อผู้คนจำนวนมากขึ้น รวมถึงแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมด้วยการสนับสนุนกลุ่มประชาชนที่ยังขาดความเข้าใจและโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้มีโอกาสมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องวางแผนล่วงหน้าสำหรับรองรับการเจริญเติบโตในอนาคตด้วย
- สำหรับ Smart City อีกหนึ่งแห่งของไทยอย่างภูเก็ตถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Agile Seedbed ด้วยจำนวนประชากรที่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคน ภูเก็ตและเมืองต่างๆ ในกลุ่ม Agile Seedbed จึงมีความคล่องตัวในการนำร่องและขยายการพัฒนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Smart City ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนในแต่ละปีกว่า 8 ล้านคน เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 97 ของ GDP ในเกาะภูเก็ต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบริหารจัดการการเติบโตของเมืองอย่างระมัดระวัง
- ในฐานะ Smart City แห่งแรกในประเทศไทยที่มีการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลัก ภูเก็ตได้ร่างแผนปฏิบัติการ Smart City Action Plan ขึ้นมาซึ่งครอบคลุมทั้งในเรื่องการท่องเที่ยว ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การจัดการปกครอง การศึกษา และการดูแลสุขภาพ การวางแผนไว้เช่นนี้ช่วยให้ภูเก็ตสามารถจัดลำดับความสำคัญของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ
- ภูเก็ตถือเป็นเมืองนำร่องให้กับเมืองอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โดดเด่นในด้านการท่องเที่ยวเป็นพิเศษจนมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆ
- หนึ่งในขั้นตอนแรกๆ ในการพัฒนาเป็น Smart City ของภูเก็ต คือการติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ต Wi-Fi ฟรีในที่สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันมีบัญชีผู้ใช้งานกว่า 1.3 ล้านราย และการร่วมมือกับบริษัทเอกชน สร้างเครือข่ายกล้องวงจรปิดทั่วพื้นที่ภายใต้ชื่อ “อีเกิ้ล อายส์” เครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้ทำให้ภูเก็ตสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปใช้พัฒนาแอปพลิเคชั่นต่างๆ และวิเคราะห์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างพันธมิตรเพื่อขยายขีดความสามารถให้ก้าวล้ำไปจากที่ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมสามารถทำได้
- งานวิจัยของเราพบว่า การติดตั้งระบบ solution Smart City ในประเทศไทยก่อให้เกิดประโยชน์โดยสังเขป ดังนี้
- ลดจำนวนชั่วโมงแรงงานที่เสียไปกับการเดินทางถึง 380,000 ชั่วโมง
- ลดค่าครองชีพได้สูงถึง 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ลดการปล่อยการ์ดคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 28,000 กิโลตัน
- ป้องกันการเสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติได้ถึง 300 กรณี
- พัฒนาสุขภาพ ลดการสูญเสียปีสุขภาวะ (Disability-Adjusted Life Year) ได้ถึง 450,000 ปี
- เพิ่มตำแหน่งงานให้ประชากรกว่า 42,000 ตำแหน่ง
ภาพโดย TechOhioคุณคิดว่าประเทศใดเป็นกรณีศึกษาด้าน Smart City ที่ดีที่สุด
จากการศึกษาของเราพบว่า ลักษณะที่โดดเด่นของเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้สามารถจำแนก Smart City ออกได้เป็น 4 กลุ่มหลักๆ หนึ่งในนั้นคือ “Smart City Sandbox” ซึ่งเป็นเมืองที่มีเครือข่ายการสื่อสารความเร็วสูงที่ทนทานและครอบคลุม รวมทั้งมีการพัฒนาและใช้งานแอปพลิเคชั่นกว่าหลายสิบแอปฯ เพื่อตอบสนองต่อทุกด้านของการใช้ชีวิต ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นเมืองเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในโลกที่เข้าข่ายเมืองในกลุ่ม Smart City Sandbox
อย่างไรก็ตาม รายงานของเราไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดอันดับ เราทำการศึกษาวิจัยเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่เพื่อต้องการหาผู้ชนะ แต่ต้องการหาองค์ประกอบร่วมต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด และถอดบทเรียนออกมาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับเมืองอื่นๆ ในอนาคต
หากประเทศไทยนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย จะส่งผลต่อ Smart City อย่างไร?
เครือข่ายการสื่อสารที่ครอบคลุมเป็นหัวใจสำคัญของ Smart City ทุกแห่ง ในความเป็นจริง โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่าง 4G หรือบรอดแบนด์ นั้นก็เพียงพอต่อการเริ่มต้นพัฒนา Smart City แล้ว เมืองต่างๆ สามารถริเริ่มการพัฒนา Smart City ด้วยโซลูชั่นที่มีอยู่ในมือได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องรอเทคโนโลยีในรุ่นต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้น เทคโนโลยี 5G มีข้อดีคือสามารถรองรับการดำเนินการที่ต้องอาศัยแบนด์วิธสูงๆ และการตอบสนองที่รวดเร็วได้ (เช่น ยานพาหนะไร้คนขับ) รวมถึงเหมาะกับการดำเนินการที่ต้องอาศัยการเชื่อมต่อระยะไกลและอัตราการกินพลังงานที่ต่ำ
ภาพ Cover โดย National Strategies