อดีตสาวออฟฟิศผู้มาปลูกฝันแบบ Smart Farmer | Techsauce

อดีตสาวออฟฟิศผู้มาปลูกฝันแบบ Smart Farmer


Smart Farmer เช่น นวลลออ เทอดเกียรติกุล ผู้ปลูกฝันบนผืนดินของ Aromatic Farm ซึ่งเป็นสวนมะพร้าวน้ำหอมที่จัดการด้วยนวัตกรรมทั้งฝั่งบริหารข้อมูลเพาะปลูกและกลยุทธ์การตลาด ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าการเกษตรของไทยมีอนาคตไกลกว่าเดิม ภายในปีหน้าพร้อมยกระดับพัฒนาฐานข้อมูลให้ชาญฉลาดและสร้างผลผลิตให้ตรงโจทย์กว่าเดิมด้วย AI

Aromatic Farm (ฟาร์มที่ปลูกพืชที่มีกลิ่นหอมจากธรรมชาติ) ที่ดำเนินกิจการภายใต้บริษัท อะโรแมติก ฟาร์ม จำกัด เป็นสวนมะพร้าวน้ำหอมซึ่งปลูกแบบอินทรีย์ 100 % เพื่อให้ได้ผลผลิตดีที่สุดอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ปรุงแต่งปุ๋ยเคมี ฮอร์โมนใด ๆ ลงไปเลย บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ ที่ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 4 จังหวัดของไทยที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมได้มีคุณภาพดีที่สุดในโลก นอกเหนือจากสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม ตลอดจนยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยมีผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่าย 6 ประเภท ได้แก่ 1. มะพร้าวน้ำหอมผลควั่นสด 2.น้ำมะพร้าวน้ำหอมพร้อมดื่มในรูปแบบน้ำผลไม้สดและรูปแบบเครื่องดื่มปั่น 3. น้ำมะพร้าวน้ำหอมสำหรับเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร 4. เนื้อมะพร้าวน้ำหอมพร้อมรับประทานและเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร 5. วุ้นมะพร้าวน้ำหอม และ 6. พันธุ์มะพร้าวน้ำหอม

ก่อนที่นวลลออจะเลือกหาเลี้ยงชีพในฐานะเกษตรกรเจ้าของสวนมะพร้าวน้ำหมอนั้น เธอเคยผ่านประสบการณ์ทำงานในองค์กรขนาดใหญ่มาแล้ว ไม่ว่าจะในฐานะ Personal Assistance ของกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ บมจ. การบินไทย ที่กินเวลายาวนานราว 10 ปี แล้วตามมาด้วยบทบาทสาวออฟฟิสครั้งสุดท้ายในตำแหน่ง Business Analyst ด้าน Manufacturing บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด

แต่ด้วยเป้าหมายในชีวิตที่มุ่งเป็นเจ้าของกิจการคือ passion ที่นวลลออวางไว้สำหรับอนาคตนับแต่เธออายุ 19 ปี จึงเป็นรากฐานให้เธอออกไปค้นหาความชื่นชอบของตัวเองระหว่างที่ยังเป็นพนักงานประจำอยู่สม่ำเสมอ จึงไม่เคยปล่อยเวลาให้ว่างไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นครูสอนพิเศษ เรียนทำขนม และอื่น ๆ

แต่จุดเปลี่ยนที่แท้จริงเกิดขึ้นในวันหนึ่ง เมื่อเธอได้เห็นรถซาเล้งขายมะพร้าวน้ำหอมที่คนขายไม่ใช่คนไทย แต่กลับเป็นพ่อค้าแม่ค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนคนซื้อคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้นวลลออเริ่มค้นหาข้อมูลแล้วพบว่าธุรกิจค้ามะพร้าวน้ำหอมมีอัตราการเติบโตของตลาดสูงถึง 300% และมองว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับคนไทยทุกคน จึงตัดสินใจที่จะทำกิจการสวนมะพร้าวน้ำหอม แม้ว่าตัวเองจะไม่เคยมีพื้นฐานมาก่อนก็ตาม

“คนไทยทำการเกษตรได้ทุกคน ส่วนจะดีหรือไม่ก็ขึ้นกับความพยายามเรียนรู้ จึงตัดสินใจที่จะทำสวนมะพร้าวน้ำหอมแม้ไม่เคยมีพื้นฐานมาก่อนเลย”

smart farmer-aromatic-farm

หยั่งราก Aromatic Farm

แรกเริ่มเดิมทีพื้นที่เพาะปลูกของ Aromatic Farm เป็นสวนมะพร้าวน้ำหอมที่ถือครองและให้เช่าโดยนายทหารท่านหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งหลังจากที่นวลลออตัดสินใจยุติวิถีชีวิตมนุษย์เงินเดือนมาตามฝัน เธอจึงเริ่มออกค้นหาแหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอม กระทั่งเจอสวนแห่งนี้ที่ผ่านการคัดสรรจากปัจจัยต่าง ๆ ดังที่นวลลออวางไว้ เช่น ระบบน้ำ ระบบไฟ ถนน เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่วัด

สุดท้ายจึงเลือกที่จะซื้อสวนมะพร้าวน้ำหอมแห่งนี้และเข้าสู่เส้นทางเกษตรกรแบบเต็มตัวเมื่อปี 2560 ด้วยเงินลงทุนราว 1 ล้านบาท (จากทั้งเงินเก็บส่วนตัวและระดมทุนจากญาติผู้ใหญ่) หรือตอนที่เธอมีอายุ 40 ปีตามที่วางแผนชีวิตไว้

แม้เราจะเป็นเกษตรกรมือใหม่ แต่ก็ตัดสินใจซื้อสวนมาเป็นของตัวเอง ด้วยหลักคิดที่ว่าถ้าลาออกจากงานเมื่อไรก็จะมีรายได้จากการปลูกมะพร้าวน้ำหอมมาทดแทนเลย แต่ปักธงไว้แล้วว่าจะใช้เวลาเรียนรู้ด้านการเกษตรให้จบภายใน 6 เดือนแรก

อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นเจ้าของสวนแล้วแต่ในช่วงแรกนวลลออก็ยังไม่ได้ลาออกจากงานในทันที แต่จะมาสวมบทบาทเกษตรกรแค่ในวันเสาร์ก่อน ปรากฏว่าแม้ยังไม่ได้พัฒนาปรับปรุงอะไรเพิ่มเติม แต่ Aromatic Farm ก็สามารถทำรายได้จากเพียงแค่ 4 เสาร์ต่อเดือนได้สูงกว่างานประจำของเธอเสียอีก ยิ่งเป็นสัญญาณกระตุ้นให้นอลลออปรับแผนใหม่ที่เคยตั้งใจว่าจะลาออกจากงานตอนอายุ 45 ปีเป็นลาออกทันทีในวัย 40 ปี แทน

เธอเล่าถึงช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตว่า แม้ผู้คนรอบข้างเกือบทั้งหมดจะไม่เห็นด้วยกับการหันหลังให้เส้นทางอาชีพสายเก่า แต่เมื่อเธอนำแผนงานไปกางให้ดูในตอนที่ขอระดมเงินทุน รวมถึงด้วยประวัติในอดีตที่ผ่านมาเธอมีแบบแผนการใช้ชีวิตที่ไม่ประมาทมาโดยตลอด จึงทำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และญาติใหญ่ยอมให้กับสนับสนุนในที่สุด

ถ้ารู้จักตัวเองได้เร็วแล้วจะเป็นผู้ใหญ่เร็ว พ่อแม่ก็ย่อมจะไว้ใจและปล่อยให้เราตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตด้วยตัวเอง

แต่โลกที่แท้จริงของผู้ประกอบการสวนมะพร้าวน้ำหอมก็ไม่ได้สวยงามเหมือนในวันที่ยังทำงานเพียง 4 เสาร์ต่อเดือน เพราะเมื่อมีสถานะชาวสวนเต็มตัวเธอต้องคิดเรื่องงานและแก้ไขสารพัดปัญหาแทบตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้ทำให้ท้อถอยด้วยเชื่อมั่นในการคลี่คลายปมปัญหาด้วยตัวเอง

ทว่าก็มีหลายความท้าทายที่เธอเองก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เช่น การถูกต่อต้านหรือถูกตั้งคำถามจากคนในชุมชมในช่วงแรก ๆ ที่ยังไม่เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการทำ Aromatic Farm แต่เธอก็เลือกตั้งรับด้วยความอ่อนน้อมและค่อย ๆ พิสูจน์ให้ผู้คนรับรู้ถึงรูปแบบการทำวิชาชีพเกษตรกรรมในแนวทางของเธอ จึงทำให้เป็นที่ต้อนรับในที่สุด

อีกปัญหาที่เธอต้องเผชิญคือการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากบุคลากรที่ทำอาชีพชาวสวนมะพร้าวในละแวกใกล้เคียงส่วนใหญ่จะมีพื้นที่เพาะปลูกของตัวเองอยู่แล้ว หรือหากเป็นฝ่ายรับจ้างก็มักมีงานป้อนตลอดเวลา ทำให้ต้องหาทางออกโดยว่าจ้างแรงงานชาวเมียนมาแทน รวมถึงเสริมด้วยนักศึกษาฝึกงานอีกบางส่วน แต่ภายหลังจึงเริ่มมีผู้คนในชุมชนสนใจมาร่วมงานด้วยเพิ่มขึ้น

smart farmer-aromatic-farm

Smart Farmer สร้างมูลค่า

แนวทางการทำธุรกิจแบบ Smart Farmer ด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อยกระดับผลิตผลทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้นนั้น เริ่มจากที่ต้องรู้จักลูกค้าเป้าหมายให้แน่ชัดก่อน ดังที่นวลลออย้ำว่า

ไม่ได้ขายมะพร้าวให้คนทั้งโลกแต่ขายให้แก่ผู้ที่เห็นคุณค่าในผลิตผลของเรา

สำหรับกระบวนการที่จะสร้างให้มะพร้าวน้ำหอมมีมูลค่าเพิ่มได้นั้น ต้องเริ่มจากรู้จักมะพร้าวทุกต้นที่ปลูก จึงต้องมีการเก็บข้อมูลคุณลักษณะในด้านต่าง ๆ ของแต่ละต้น จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ คอ โคน ใบ ขน และอื่น ๆ

ในช่วงแรกนอกจากตั้งชื่อให้มะพร้าวแต่ละต้นแล้วเธอยังใช้วิธีการจดบันทึกข้อมูลลงสมุดก่อน ซึ่งพบว่าเมื่อมีข้อมูลมากขึ้นทำให้การดึงข้อมูลมาใช้หรือย้อนกลับไปดูยุ่งยาก ต่อมาจึงใช้วิธีสร้าง QR Code ที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลใน Google Drive เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การจัดเก็บและเรียกดูข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น โดยจะเก็บข้อมูลของมะพร้าวในทุกวันอังคารของแต่ละสัปดาห์

“ตอนนี้ยังเป็นเหมือนแค่ e-book แต่ภายในปีหน้าจะพัฒนาให้เป็นโปรแกรมที่นำ AI มาใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้ลงลึกมากขึ้น เช่น อีก 7 เดือนถ้าต้องการให้ต้น B8 ออกผลผลิตได้เหมือน B9 ต้องมี factor อะไรบ้าง นั่นคือเพื่อจะได้รู้ว่าต้องทำอะไรบ้างจึงจะทำให้ทุก ๆ ต้นให้ผลผลิตดีเหมือน ๆ กันได้”

ในแง่การทำตลาด นวลลออทำความรู้จักลูกค้าให้ถ่องแท้ด้วยการขับรถกระบะไปส่งมะพร้าวน้ำหอมให้ถึงมือลูกค้าด้วยตัวเองอยู่ 3 เดือน กระทั่งค้นพบว่าฐานลูกค้าหลักของเธอคือผู้หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นผู้บริโภคและสามีคือผู้ที่ซื้อมะพร้าว และด้วยความพยายามครั้งนั้นทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ของไทยในช่วงเวลานั้นจำนวน 168,522 คนคือฐานลูกค้าหลักของ Aromatic Farm

อีกทั้งเพื่อยกระดับให้ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าได้สูงกว่าเดิมจนสามารถกำหนดราคาขายปลีกได้ถึง 50 บาทต่อลูกนั้น เธอจึงนำนวัตกรรมเกี่ยวกับการออกแบบแพ็คเกจให้พิเศษกว่ามะพร้าวน้ำหอมที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วไป โดยการบอกเล่าเรื่องราวและข้อมูลต่าง ๆ ก่อนจะเกิดเป็นมะพร้าวน้ำหอมสักหนึ่งลูกขึ้นมา นับแต่การเลือกสายพันธุ์แท้ การเพาะปลูกแบบร่องสวน การมี QR Code เพื่อจำแนกมะพร้าวแต่ละต้น วิธีการเก็บเกี่ยวด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน และการปลอก

แรงบันดาลใจที่ทำแพ็คเกจแบบนี้ เพราะต้องการให้คนรู้ว่ามะพร้าวน้ำหอมหนึ่งลูกที่คุณดื่มมีที่มาอย่างไร ซึ่งเมื่อรู้กระบวนการแล้วก็จะยิ่งเห็นถึงคุณค่าจนยินดีจ่าย 50 บาท แต่หากเป็นกลุ่มคนที่ไม่อยากรู้ว่ามะพร้าวที่ดีที่สุดในโลกมาจากไหนก็ไม่ใช่ฐานลูกค้าของเรา

นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์จาก social network อย่าง Facebook เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้ความรู้เกี่ยวกับสวนมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ของ Aromatic Farm รวมถึงช่องทางวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์จะมีเครือข่ายโรงแรมและกลุ่มร้านอาหารเป็นหลัก ซึ่งต่างก็มีส่วนช่วยทำการตลาดให้ด้วย

สำหรับแผนงานในอนาคตเพื่อให้กิจการเติบโตอย่างยั่งยืน คือการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนจากการใช้แสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้า ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวันนี้แต่จะช่วยตอบโจทย์ในแง่การลดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมจากกระบวนการทำสวนมะพร้าวน้ำหอมได้ หรือแม้แต่นำวัสดุเหลือใช้จากผลผลิต เช่น เปลือกมะพร้าวไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานชีวภาพในส่วยของการผลิตวุ้นมะพร้าวหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่นเดียวกับที่จะปลูกพืชขึ้นมาทดแทนเพื่อชดเชยกับที่ปล่อยคาร์บอนออกมาด้วย

สุดท้ายแล้วนวลลออฝากถึงคนที่มี passion อยากเป็นเผู้ประกอบการรุ่นใหม่ว่า

ถ้าเรารู้จักตัวเองเร็วจะทำให้มีเวลามากพอไปถึงเป้าหมายและปักธงได้ชัดเจน ที่สำคัญคือให้มีความเพียรจึงจะอดทนฝ่าฟันอุปสรรคจนทำสำเร็จได้

 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แจก 4 ฟีเจอร์ AI ออกแบบใน Microsoft Designer แอปคล้าย Canva ผสม Midjourney

บทความนี้ Techsauce จึงอยากพามาทำความรู้จักกับ Microsoft Designer กันอีกสักครั้ง ว่าผ่านไป 2 ปี แพลตฟอร์มนี้มีอะไรเพิ่มมาใหม่บ้าง...

Responsive image

ท่องเที่ยวไทยมีดี แต่ SME ยังไม่พร้อม ?

ธุรกิจท่องเที่ยวจะปรับตัวยังไง เมื่อเจอความท้าทายรุมล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปรับใช้เทคโนโลยีในธุรกิจ การรับมือธุรกิจจีนที่เข้ามารุกตลาด และการสร้างบริการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์นักเดินทาง...

Responsive image

อินโดนีเซีย เปิดรับเทคโนโลยีอย่างไร เพื่อสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ ถอดบทเรียนจากงาน Bali International Airshow

อินโดนีเซีย กลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่บิ๊กเทคฯ ต่างประเทศแห่เข้าไปลงทุนมากมาย ซึ่งหากนับแค่ช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เพียงปีเดียวอินโดนีเซียสามารถสร้างมูลค่าถึง 34,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ...