ก้าวสู่สังคมสูงวัย เป็นโอกาสทองของไทยหรือความท้าทายที่ต้องเผชิญ ? | Techsauce

ก้าวสู่สังคมสูงวัย เป็นโอกาสทองของไทยหรือความท้าทายที่ต้องเผชิญ ?

ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค "สังคมสูงวัย" อย่างรวดเร็ว ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 ทาง Techsauce ได้ร่วมฟังการเสวนาในหัวข้อ The Critical Shift to a Green and Healthy Economy ก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสุขภาพ โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ทั้งในมิติของความท้าทายและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ซ่อนอยู่ในบริบทของสังคมสูงวัย

จากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในปัจจุบัน ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ไปจนถึงการลดลงของประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ 

‘สังคมสูงวัย’ ความท้าทายหรือโอกาสของประเทศไทย ?

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งใหญ่ โดยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว สัดส่วนของประชากรสูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราการเกิดลดลง และประชากรวัยทำงานหดตัว ซึ่งมันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างแน่นอน

จากการคาดการณ์จากสถาบันการเงินระดับโลก เช่น ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ระบุว่า ภาวะสังคมสูงวัยอาจทำให้ GDP ของประเทศไทยเติบโตช้าลงประมาณ 1% ต่อปี นับเป็นความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างเร่งด่วน

ความท้าทายจากสังคมสูงวัย แรงงานลด ภาระเพิ่ม

  • การขาดแคลนแรงงาน: จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลง ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคส่วนต่างๆ ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิต ฐานภาษี และการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม ภาคธุรกิจอาจประสบปัญหาในการหาแรงงานที่มีทักษะ และต้องปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาใช้ทดแทนแรงงานคน รวมถึงการจ้างงานผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ
  • ภาระการดูแลผู้สูงอายุ: สัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาระในการดูแลทั้งด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคมตกอยู่กับประชากรวัยทำงานมากขึ้น ทั้งในด้านการดูแลโดยครอบครัว และการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐเพื่อดูแลผู้สูงอายุ เช่น เบี้ยยังชีพ บริการสาธารณสุข และสถานสงเคราะห์ ซึ่งอาจกระทบต่อฐานะทางการเงินของครัวเรือนและภาครัฐ
  • ต้นทุนทางอ้อมจากปัญหาสุขภาพ: ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเผชิญกับปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง ซึ่งนอกจากต้นทุนในการรักษาพยาบาลที่สูงแล้ว ยังมีต้นทุนทางอ้อมอื่นๆ อีกมาก เช่น การสูญเสียรายได้จากการที่ต้องออกจากงานก่อนวัยเกษียณ ค่าใช้จ่ายในการดูแลระยะยาว และผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและครอบครัว

ดร.ศุภวุฒิ เผยว่า การเตรียมพร้อมรับมือสังคมสูงวัย มี 3 ปัจจัยสำคัญที่เราควรโฟกัส ได้แก่ ารป้องกันและดูแลสุขภาพตั้งแต่วัยทำงาน เป็นสิ่งสำคัญในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน มะเร็ง ความดัน เป็นต้น

และควรที่จะต้องเร่งพัฒนาทักษะและความรู้ของแรงงาน โดยเฉพาะทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัล รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการจ้างงานผู้สูงอายุ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและชดเชยการขาดแคลนแรงงานได้

สุดท้ายคือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรด้านบริการสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ และ wellness เช่น การพัฒนาโรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ จะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและรองรับความต้องการของสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อดึงดูดรายได้จากต่างประเทศ

โอกาสในวิกฤต ไทยต้องลุยเศรษฐกิจบริการสุขภาพและ Wellness

ด้าน ดร.ศุภวุฒิ ชี้ว่า แม้สังคมสูงวัยจะนำมาซึ่งความท้าทาย แต่ก็เป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ และ wellness ซึ่งจากข้อมูลการจัดอันดับของ Global Wellness Institute พบว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงในด้านนี้ โดยอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก และอันดับที่ 9 ในภูมิภาค

โดยมีจุดแข็งอยู่ที่บริการที่มีคุณภาพ ต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว และเชี่ยวชาญในบริการแบบ High-touch หรือการให้การดูแลที่เน้นความใกล้ชิดและการปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เช่น สปา การนวดแผนไทย การแพทย์แผนไทย การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้ที่ต้องการบริการด้านสุขภาพจากทั่วโลก

ดังนั้น สังคมสูงวัยของไทยจึงไม่ใช่เพียงความท้าทายที่ต้องแก้ไข แต่เป็นโอกาสครั้งสำคัญในการปรับตัวและสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ทั้งในแง่เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชากรทุกช่วงวัย หากทุกฝ่ายร่วมมือกันขับเคลื่อนแนวทางเหล่านี้ ประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยได้อย่างมีคุณภาพและมั่นคงในระยะยาว

ข้อมูลจาก งาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 ทาง Techsauce ได้ร่วมฟังการเสวนาในหัวข้อ The Critical Shift to a Green and Healthy Economy ก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสุขภาพ โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...

Responsive image

นวัตกรรมใหม่ จะสร้างโอกาส หรือเข้ามา Disrupt ธุรกิจแบบเดิมๆ ? ส่องความเห็นจาก CEO ชั้นนำในยุคนวัตกรรม

อนาคตกำลังมาถึงเร็วขึ้นเรื่อยๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ผุดขึ้นมากมาย และกำลังเปลี่ยนโฉมธุรกิจทั่วโลกอย่างรวดเร็ว แต่คำถามสำคัญคือ นวัตกรรมอะไรบ้างที่กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้? ใครคือผ...