ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเนื้อหอมในสายตาชาวโลก เนื่องจากมีเทคสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมากมาย จากเทรนด์ ‘E-commerce’ ก็เป็น ‘Fintech’ และเริ่มฉีกแนวออกไปเป็น ‘Sports Tech Startups’ (เทคสตาร์ทอัพด้านกีฬา) ซึ่งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนานักกีฬาให้เล่นได้เร็วขึ้น ดีขึ้น แข็งแกร่งขึ้น นำไปสู่การพัฒนาวงการกีฬาได้ทั่วโลก
รายได้จากอุตสาหกรรมกีฬาก็ไม่ได้สร้างกำไรน้อยไปกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยในปี 2015 มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมกีฬาทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะสร้างรายได้สูงถึง 27.5 พันล้านดอลลาร์ เอเชียจึงเป็นตลาดสำคัญในการสร้างสื่อ เรียกความสนใจจากสปอนเซอร์ การสนับสนุนการขายเครื่องแต่งกาย และความต้องการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและการวิเคราะห์ด้านต่างๆ
ในที่นี้จึงขอยก 4 เคสที่ใช้เทคโนโลยีพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงวงการกีฬาในแง่มุมต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจและมีนัยสำคัญ ดังนี้
ในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มี leAD Sports Accelerator โปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพใหม่ที่สร้างขึ้นโดยทายาทรุ่นหลานของ Adi Dassler ผู้ก่อตั้ง Adidas ซึ่งนอกจากจะมองหาตลาดลูกค้าชาวยุโรป อเมริกาเหนือ ยังมองมายังสตาร์ทอัพในอาเซียนที่อยากจะเข้าไปร่วมลงทุนและต้องการขยายตลาดไปยังยุโรปด้วย
ภาพจาก leAD Sports Accelerator
Fee Beyer ผู้ฝึกสอนนักกีฬา ผู้เชี่ยวชาญด้าน Sports Tech และเมนเทอร์ของ leAD Sports Accelerator มุ่งสร้างคอนเน็คชันระหว่างสตาร์ทอัพกีฬากับเมนเทอร์และผู้ก่อตั้งในอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงต้องการให้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของนักกีฬาให้มากขึ้น สิ่งที่เธอทำก็เช่น สังเกตการณ์ชมรมนักกีฬาอาชีพในลีกฟุตบอลเยอรมันที่ใช้เทคโนโลยีในการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย เพื่อลดอาการบาดเจ็บและเพิ่มประสิทธิภาพการเล่นกีฬา โดยพบว่าการใช้ GPS อุปกรณ์ตรวจจับอัตราการเต้นของชีพจร เครื่องชั่งน้ำหนักอัจฉริยะ เครื่องมือประเมินข้อมูล ซึ่งเป็น Active Wear นั้นมีศักยภาพที่จะช่วยวิเคราะห์สารอาหาร วิเคราะห์ท่าทางของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซ็นเซอร์ที่ฝังไว้ในร่างกายซึ่งตรวจจับสัญญาณภายในได้นั้นก็เวิร์ก
Stephen Curry นักบาสเก็ตบอลที่ยิ่งแม่นที่สุดในประวัติศาสตร์ ลองสวมแว่นตา goggles ซึ่งใช้เทคโนโลยี Strobing Effects โดยแว่นนี้บังคับให้เขามองเห็นภาพแค่บางส่วน และ Curry ก็ตอบสนองข้อมูลได้บางส่วนเช่นกัน แต่ทำให้เขาเข้าใจการเคลื่อนไหวร่างกายของคู่ต่อสู้ได้ดียิ่งขึ้น
Stephen Curry ขณะสวมแว่น goggles
กับอีกคน Kobe Bryant นักบาสเก็ตบอลที่ได้ใช้สนามบาสอัจฉริยะ โดยพื้นสนามนี้มี 4 เลเยอร์ซ้อนกันอยู่ มี Motion Sensor ที่สามารถติดตามกับ Identify ตัวนักกีฬาได้ และแสดงการเคลื่อนไหวของผู้เล่นผ่าน LEDs
ภาพจาก The Washington Post
การใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลยังสามารถสร้างความสัมพันธ์กับแฟนกีฬาได้อีกขั้น หากเป็นแพลตฟอร์มคลาวด์ นักวิเคราะห์ด้านกีฬาสามารถสร้างโพรไฟล์ตามเซ็กเมนต์ของกลุ่มแฟนๆ ติดตามการใช้สื่อสังคมออนไลน์ กิจกรรมบนสังคมออนไลน์ และการซื้อสินค้าแบบออฟไลน์ได้ แล้วพัฒนาการทำตลาดเฉพาะบุคคล ต่อยอดสู่การสร้างรายได้ได้ด้วย เช่น ทีมฟุตบอลที่ได้รับฉายาว่า ราชันชุดขาว Real Madrid จากสเปน ซึ่งร่วมกับไมโครซอฟท์สร้างสรรค์โพรไฟล์แฟนคลับของทีมขึ้นมา โดยแยกเก็บข้อมูลเป็นรายคน แล้วนำข้อมูลนั้นมาสร้าง ‘ส่วนลดส่วนบุคคล’ ผ่าน QR Code หรือส่งเป็นข้อความให้
ขณะที่ทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปมีแบรนด์สินค้ากีฬาที่ดูแข็งแกร่งกว่าในเอเชีย แต่ในเอเชียตะวันออกได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของวัฒนธรรมแฟนคลับที่มีสูงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกีฬา ‘เบสบอล’ อย่างในญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน มองว่ากีฬาเบสบอลเป็น ‘งานอดิเรกแห่งชาติ’ และผู้ชมที่ชื่นชอบการชมเชียร์ลีดเดอร์ก็จะสร้างจังหวะเคาะขึ้นมาเพื่อเพิ่มความตื่นเต้นในสนาม
ภาพโดย Guttenfelder / AP.
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลจาก Neilsen พบว่า ผู้หญิงในทวีปเอเชียสนใจกีฬามากขึ้น เช่นในสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ อินเดีย อินโดนีเซีย โดยมีผู้หญิงมากกว่าครึ่งที่ดูการแข่งขันกีฬา ซึ่งส่วนมากดูผ่านโทรทัศน์ และในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับอินเดียนั้นมี Gap (ช่องว่าง) ระหว่างเพศชายและเพศหญิงที่สนใจกีฬาต่างกันน้อยที่สุด ขณะที่ผู้หญิงญี่ปุ่นนั้นสนใจดูกีฬามากกว่าค่าเฉลี่ย
จึงไม่น่าแปลกใจที่การสร้างความสัมพันธ์กับโซเชียลและแอปพลิเคชันทายผลการแข่งขันจะได้รับเงินสนับสนุนในเอเชีย ยกตัวอย่างแอป Rooter โซเชียลเชื่อมสัมพันธ์ของแฟนกีฬาคริกเก็ตในอินเดีย ซึ่งได้ระดมทุนไปแล้ว และนอกเหนือจากคริกเก็ตที่เป็นกีฬาเด่นในอินเดีย สตาร์ทอัพมุมไบผู้คิดค้น Rooter ยังดึงดูดผู้ที่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล เทนนิส บาสเกตบอลเข้ามารวมไว้ในที่เดียวกัน และตอนนี้อยู่ในระหว่างรวมการแข่งขัน F1 เข้ามาในโซเชียลนี้ด้วย
ภาพจาก Rooter
ส่วนที่สิงคโปร์ก็มี SportsHero แพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมที่เปิดให้ทายผลการแข่งขันได้ โดยระดมทุนไปแล้ว 2.5 ล้านดอลลาร์ในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
บางคนอาจจะมองว่า E-sports (การแข่งขันเกมส์คอมพิวเตอร์) ไม่ใช่กีฬา แต่นั่นไม่จริง เพราะ E-sports ก็มีองค์ประกอบของการแข่งขัน การวางกลยุทธ์ ความกดดันจากการแข่งขัน ผู้ชม และกฎที่มีความเคร่งครัดเหมือนการแข่งกีฬาตามปกติ โดย Neilsen พบ Crossover Effect (ผลแบบไขว้) จากการเปรียบเทียบระหว่างคนทั่วไปประการหนึ่งว่า แฟนๆ บาสเก็ตบอล NBA มีแนวโน้มที่จะมาเป็นแฟน E-sports มากกว่า 114%
ยกตัวอย่าง Razer แบรนด์เกมมิงเกียร์ที่เข้ามาเขย่าวงการกีฬาด้วยการออก Razer Synapse ซอฟต์แวร์ที่ติดตามผู้เล่นระหว่างเล่นเกม วิเคราะห์การเคลื่อนไหวร่างกายในเกมได้ ผ่าน Heat Maps (แผนที่ความร้อน) และปุ่มกด ซึ่งคล้ายกับเซ็นเซอร์ในเสื้อกีฬาที่ติดตามการเคลื่อนไหวและสถิติของผู้เล่นได้ นอกจากนี้ Razer ยังเข้าไปเป็นสปอนเซอร์แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาและสนับสนุนทีมกีฬาทั้งหมด 14 ทีม โดยเป็นทีมที่อยู่ในเอเชีย 6 ทีม
ภาพจาก Razerzone
ภาพรวมของ Sports Tech Startups ส่วนใหญ่ยังมุ่งไปทาง Wearable Tech (อุปกรณ์สวมใส่ติดตัวอัจฉริยะ) ซึ่งในสายเทคสตาร์ทอัพด้านกีฬาก็กำลัง Disrupt กันด้วย เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อเข้ากับการทำงานของระบบสมอง เช่นที่มีผลิตภัณฑ์ Headphones กระตุ้นสมองออกมา ซึ่งไม่ใช่แค่นักกีฬาเท่านั้นที่ใช้เพื่อพัฒนาการฝึกฝนร่างกาย แต่หน่วยซีลของกองทัพเรือสหรัฐก็ใช้สิ่งนี้ด้วย
ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสุขภาพในเอเชียก็กำลังเติบโตขึ้น โดยคาดการณ์ในเอเชียแปซิฟิกว่าอุตสาหกรรมยาที่ใช้สำหรับรักษานักกีฬาจะสูงถึง 9.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2024 เพิ่มขึ้นจาก 3.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016 จากการบาดเจ็บของนักกีฬาในจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บวกกับอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าและปัญหาที่สัมพันธ์กับอายุอย่างโรคข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์ ซึ่งเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน
ที่มาของข่าวและภาพ TechInAsia
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด