โอกาสการเติบโตของ Startup บนสมรภูมิการสร้าง Ecosystem | Techsauce

โอกาสการเติบโตของ Startup บนสมรภูมิการสร้าง Ecosystem

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกวด Tech Saucier of The Year 2018  เขียนโดย รวินท์ ศรีอริยวัฒน์ ขอบคุณภาพประกอบจาก Rawpixel

อะไรคือ Startup และอะไรคือมูลค่าที่ซ่อนอยู่ในนั้น

Startup คือบริษัทเล็กๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสร้างสินค้าและบริการ มูลค่าที่ซ่อนอยู่ภายในบริษัท ไม่ใช่แค่จำนวนรายได้ จำนวนลูกค้า รวมทั้งไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์หรือบริการเท่านั้น แต่มูลค่าจริงๆ ที่ซ่อนอยู่คือ ความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ปริมาณข้อมูลของผู้บริโภค ความสามารถในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค หรือแม้แต่ความสามารถที่จะเข้าถึงการให้บริการอะไรบางอย่างที่มีความจำเป็น เช่นการที่ Alibaba เข้าซื้อ Ant Financial เป็นเพราะ Alibaba จำเป็นต้องมีบริการการชำระเงินที่เป็นของตัวเอง ซึ่ง Ant Finanacial มีใบอนุญาตที่ทำให้ Alibaba สามารถเปิดบริการด้านการชำระเงินได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย เป็นต้น

การเติบโตของ Startup

บริษัท Startup มักประสบกับปัญหาอย่างหนึ่งอยู่เสมอ นั่นคือปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ธนาคารไม่สามารถตีมูลค่าของ Startup เพื่อให้สินเชื่อได้ เพราะ Startup มักเป็นบริษัทขนาดเล็ก ไม่มีที่ดิน ไม่มีโรงงาน ไม่มีเครื่องจักร จะมีก็แต่ คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ และแพลตฟอร์มที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งไม่อาจใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ ดังนั้น บ่อยครั้ง ที่ธนาคารมักปฏิเสธการขอสินเชื่อจากบริษัทเหล่านี้

แต่การที่บริษัท Startup จะเติบโตได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีเงินทุนเพื่อนำมาลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้มีความสามารถในการสร้างสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ได้ เพราะเหตุนี้ บริษัท Startup จึงหันมาใช้การแบ่งจำนวนหุ้นออกมาขายให้กับนักลงทุนที่คาดหวังความเติบโตของบริษัท เมื่อก่อนเราเรียกวิธีนี้ว่าการทำ Private Equity หรือการขายหุ้นแบบปิดให้นักลงทุนรายใหญ่ แต่พอต่อมา เมื่อวิธีการนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงมีบริษัทที่เรียกตัวเองว่า Venture Capital หรือ VC เกิดขึ้น เพื่อลงทุนใน Startup โดยเฉพาะ และโมเดลการลงทุนแบบ VC ก็กลายเป็นสิ่งที่แพร่หลายไปแล้วในปัจจุบันนี้

เมื่อการเติบโตของ Startup กลายเป็นโอกาสการขยายธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่กว่า

ในขณะที่บริษัท Startup เองมีการเติบโต บริษัทใหญ่ในกลุ่มเทคโนโลยีเองก็มีการเติบโตเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเงินทุนที่มีมากกว่า ทำให้บริษัทใหญ่มีศักยภาพที่จะขยายธุรกิจได้แบบก้าวกระโดดโดยการทำตัวเป็นผู้เข้าไปลงทุนในบริษัทเล็กเสียเอง บางครั้งทำแค่ถือหุ้นส่วนหนึ่ง บางครั้งหากต้องการอำนาจบริหารด้วย ก็ขอซื้อหุ้นในสัดส่วนที่เกินกึ่งหนึ่ง หรือบางครั้ง ถ้าบริษัทใหญ่มองเห็นศักยภาพของบริษัทเกิดใหม่เหล่านี้ ที่จะมาเสริมแก่นของธุรกิจเดิมให้แข็งแกร่งกว่าเดิม ก็จะทำการเข้าซื้อบริษัทไปเลย

การเข้าไปลงทุน หรือเข้าไปซื้อกิจการนั้น หลายๆ ครั้ง เราเรียกมันว่าเป็นการสร้าง Ecosystem ซึ่งตอนนี้ บริษัทใหญ่ต่างก็มีนโยบายขยาย Ecosystem ด้วยการเข้าลงทุน ร่วมทุน หรือเข้าซื้อบริษัทขนาดเล็กด้วยกันทั้งสิ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือบริษัท Softbank ที่ก่อตั้ง Vision Fund ซึ่งเป็นกองทุนมูลค่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเข้าลงทุนในบริษัท Startup โดยเฉพาะ หรือ Google ที่ก่อตั้ง Google Ventures ขึ้น เพื่อเข้าลงทุนในกลุ่ม Startup เป็นต้น

ขอบคุณภาพจาก Rawpixel

ประโยชน์ของการเข้าซื้อกิจการ Startup ของบริษัทขนาดใหญ่

นอกจากนโยบายการเข้าลงทุนแล้ว นโยบายการเข้าซื้อบริษัทก็เป็นนโยบายสำคัญที่บริษัทใหญ่เลือกใช้เพื่อขยายอาณาจักรของตนเอง การเข้าซื้อ Startup ก็เปรียบเสมือนการซื้อข้อมูล เข้าซื้อเทคโนโลยี เข้าซื้อสิทธิบัตร หรือเข้าซื้อใบอนุญาตการประกอบกิจการเฉพาะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากบริษัทใหญ่ต้องมาสร้างเองนั้น จริงอยู่ว่าอาจจะใช้เงินน้อยกว่า แต่บนเวลาที่เสียไป มันอาจจะไม่คุ้มค่าเท่ากับการซื้อ Startup ที่มีทรัพยากรต่างๆ พร้อมอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การมัวแต่เสียเวลาสร้างทุกอย่างด้วยตัวเอง อาจจะส่งผลต่อการพลาดโอกาสทางธุรกิจ รวมไปถึงอาจจะต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเลยก็ได้

การไล่หลังของบริษัท Tradition ขนาดใหญ่ ที่กำลังทำ Digital Transformation

อีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญนอกบริษัทเทคโนโลยี คือเหล่าบริษัทใหญ่ที่เคยครองตลาดด้วยวิธีการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม ซึ่งบริษัทเหล่านี้ บ้างก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการทำ Digital Transformation แล้ว บ้างก็ยังไม่ได้เริ่ม อย่างไรก็ดี บริษัทเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เหล่า Startup นั้นเติบโตไปข้างหน้า เพราะความรู้ทางด้านการใช้เทคโนโลยีนั้นไม่ได้สร้างขึ้นมาง่ายๆ บริษัทดั้งเดิมขนาดใหญ่มีความจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้จาก Startup ดังนั้น เราจะเห็นได้จากในประเทศไทยเอง ที่บริษัทใหญ่เริ่มมีการสนับสนุน Startup มากขึ้น เมื่อเม็ดเงินไหลมาสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากขึ้น เหล่า Startup ก็มีจำนวนมากขึ้นและเติบโตขึ้นตามไปด้วย

สมรภูมิการสร้าง Ecosystem

ในวันนี้ ไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่อีกต่อไปที่ใช้วิธีการเข้าซื้อกิจการเพื่อพัฒนา Ecosystem ของตัวเอง แม้แต่บริษัท Startup ก็เริ่มใช้โมเดลนี้ในการขยายอาณาจักรแล้ว เช่น Uber เข้าซื้อ Jump ซึ่งเป็น Startup ด้าน Bike Sharing และเข้าซื้อ Otto บริษัทพัฒนารถบรรทุกไร้คนขับ หรือ Circle บริษัทด้าน Blockchain ที่ให้บริการทางการเงิน เข้าซื้อ SeedInvest ซึ่งเป็นบริษัททำแพลตฟอร์ม Crowdfunding เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า บนสมรภูมิการขยาย Ecosystem หรือการขยายบริษัท ในปัจจุบันนี้ถือได้ว่ามีความดุเดือดมากกว่าเมื่อก่อนมาก ทำให้บริษัทเล็กๆ ที่มีอนาคต มีโอกาสทำเงินจำนวนมหาศาลจากการขายบริษัทมากขึ้น

แต่ว่าไม่ใช่บริษัทเล็กทุกบริษัทจะมีความต้องการทำเงินจากการขายธุรกิจของตนเสมอไป บนโลกแห่งการแข่งขันเพื่อขยายอาณาจักรธุรกิจ เอื้ออำนวยให้ทุกคนมีโอกาสขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วผ่านการควบรวมบริษัททั้งสิ้น แม้แต่บริษัทขนาดเล็ก หากมีกลยุทธ์ทางการเงินและมีผู้สนับสนุนที่ดี ก็สามารถขยายธุรกิจได้เหมือนรายใหญ่เช่นกัน

บนการแข่งขันที่รุนแรงในโลกเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้เอง ได้ผลักดันให้ทุกคนต้องรีบสร้าง Ecosystem ของตัวเองให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว ดังนั้น แม้ว่าในตอนนี้จะเป็นยุคที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของ Startup มากที่สุด ในขณะเดียวกัน กลับเป็นยุคที่บริษัทเล็กมีโอกาสถูกควบรวมกับบริษัทที่ใหญ่กว่ามากที่สุดเช่นกัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายของผู้ก่อตั้ง Startup ที่ต้องการสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างแท้จริง ว่าจะสามารถสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งไปพร้อมๆ กับรักษาความเป็นเจ้าของบริษัทได้หรือไม่ ในยุคที่สมรภูมิการสร้าง Ecosystem กำลังดุเดือดอย่างที่สุดแบบนี้

Cover Photo by Alex Kotliarskyi

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ตะลุย Davos ส่อง 5 ประเด็นหลัก ใน World Economic Forum

สำรวจประเด็นสำคัญจากงาน World Economic Forum 2025 ที่ Davos เวทีประชุมระดับโลกที่รวมผู้นำหลากหลายวงการ เพื่อหารือเรื่องเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม พร้อมบทบาทไทยในเวทีนานาชาติ...

Responsive image

สรุป AI อดีต ปัจจุบัน อนาคต โดย Eric Grimson ศาสตราจารย์จาก MIT

ภายในงาน MIT Bangkok Symposium - Unleashing AI: Transforming Industries, Empowering Futures ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ศาสตราจารย์ ดร. Eric Grimson อธิการบดีฝ่ายวิชาการ จากสถาบันเทคโนโลย...

Responsive image

รู้จักเทรนด์ Brand Chem กลยุทธ์ TikTok 2025 การตลาดที่ต้อง ‘เป็นเพื่อน’ กับผู้บริโภค

สำรวจ TikTok What's Next Report 2025 และแนวคิด Brand Chem ที่เปลี่ยนการตลาดด้วยความร่วมมือระหว่างแบรนด์ ครีเอเตอร์ และชุมชน TikTok พร้อมเทรนด์สำคัญที่ขับเคลื่อนปี 2025...