บทสรุปประเด็นสำคัญของการประชุม APEC CEO Summit 2022 | Techsauce

บทสรุปประเด็นสำคัญของการประชุม APEC CEO Summit 2022

APEC CEO Summit 2022 เป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมเอเปค 2022 โดยวันนี้ ได้ดำเนินการจบลงแล้ว เวทีแห่งนี้เป็นการเจรจา อภิปราย และแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ผู้นำทางความคิด และนักวิชาการต่างๆ ในประเด็นทางธุรกิจที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญ

ภายใต้แนวทาง "Embrace Engage Enable" บทสนทนาตลอดสองวันที่ผ่านมา ได้ครอบคลุมทั้งประเด็นด้านการขับเคลื่อนทางเศรษกิจ การค้า และการลงทุน ที่จะส่งเสริมการเจริญเติบโตของชุมชนเอเชียแปซิฟิกของเรา เช่นเดียวกับวันนี้ ที่มีบทสนทนาอันทรงพลังจากทั้งผู้นำเอเปค,ผู้นำทางความคิด และซีอีโอชั้นนำร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีความหมายยิ่ง และจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในอนาคต โดยมีรายละเอียดดังนี้

บทสรุปสำคัญของการประชุม APEC CEO Summit 2022 วันแรก

ประเด็นที่ 1: ผู้นำเขตเศรษฐกิจและผู้นำทางธุรกิจเห็นพ้องกันว่าจำเป็นต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อส่งมอบการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมสำหรับอนาคต

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนสีเขียว หรือ BCG ซึ่งประเทศไทยได้นำมาเป็นวาระแห่งชาติและเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวในคำปราศรัยที่เตรียมไว้ว่า การเปิดกว้างเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความก้าวหน้า ในขณะที่การขัดขวางห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นในเอเชียแปซิฟิก จะขัดขวางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จีนมุ่งมั่นที่จะ 'ส่งเสริมการสร้างชุมชนเอเชียแปซิฟิกที่มีอนาคตร่วมกัน'

นายจอห์น เดนตัน เลขาธิการสภาหอการค้านานาชาติ กล่าวว่าการหลอมรวมภาคธุรกิจเข้ากับการกำหนดนโยบายเป็นจุดแข็งที่สำคัญของเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก และความร่วมมือนี้มีความจำเป็นในอนาคต ด้วยเป็นภูมิภาคที่สร้างความยืดหยุ่นด้านห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของพลังงานและคาร์บอน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สะท้อนความรู้สึกดังกล่าว โดยกล่าวว่า การดำเนินการและความร่วมมือร่วมกันเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำเศรษฐกิจไปสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน และให้ความสำคัญกับ 'การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม'

ศาสตราจารย์เคล้าส์ ชวาป ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก เรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ โอบรับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัล การคิดเชิงกลยุทธ์ และแนวคิดเรื่องเงินทุนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างความไว้วางใจจากสาธารณะ

ประเด็นที่ 2: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความครอบคลุม และความยั่งยืน จะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายและบริษัทต่างๆ

นายเหวียน ซวน ฟุก  ประธานาธิบดีเวียดนาม กล่าวว่า การลงทุนทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการดูแลสุขภาพและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถูกกำหนดให้เป็นตัวขับเคลื่อนกระแสการลงทุนจากต่างประเทศในอนาคต

นายแฟร์ดินันด์ โรมูอัลเดซ มาร์โคส จูเนีย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เห็นพ้องต้องกันว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพ และความมั่นคงทางอาหารเป็นความท้าทายสำคัญที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญ และเรียกการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศว่าเป็น 'ความท้าทายที่กดดันที่สุดต่อความอยู่รอดในยุคสมัยของเรา’

นายโรเบิร์ต มอริทซ์ ประธานบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส (PwC) กล่าวว่า ความยืดหยุ่น ความยั่งยืน และความคล่องตัว จะมีความสำคัญต่อการเติบโตในอนาคต เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากสาธารณชน ผู้ประกอบการธุรกิจต้องมีความสามารถในการกำหนดแนวทางและดำเนินงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต   

นายกาบริเอล โบริก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐชิลี กล่าวว่าการปฏิรูปสังคมเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมและสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม

นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา รองประธานาธิบดีคนที่ 1  สาธารณรัฐเปรู  ได้เห็นด้วยต่อประเด็นก่อนนี้ โดยเสริมว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นมีสามมิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกล่าวว่าความท้าทาย คือการตอบสนองความต้องการในปัจจุบันโดยไม่ประนีประนอมกับอนาคต

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวว่าการเติบโตจำเป็นต้องมีความครอบคลุม และไม่ทิ้งกลุ่มผู้ด้อยโอกาสไว้เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ธุรกิจขนาดเล็ก หรือชนพื้นเมือง เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในช่วงการระบาดของโควิด-19

บทสรุปสำคัญของการประชุม APEC CEO Summit 2022 วันสุดท้าย

ประเด็นที่ 1:  สันติภาพ เสถียรภาพ และความร่วมมือ คือกุญแจสู่ความเจริญรุ่งเรือง

  • นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้เรียกร้องให้ยุติสงคราม และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ กลับมาเคารพกฎระเบียบระหว่างประเทศ และสนับสนุนกลไกพหุภาคีเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของโลก ตลอดจนเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม เพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมและความไร้เสถียรภาพ
  • นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เน้นย้ำถึงพันธสัญญาของสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และความเป็นหุ้นส่วนอย่างทั่วถึงในภูมิภาค นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังมุ่งมั่นที่จะเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการไหลเวียนของเงินทุนอย่างเสรี และเรียกร้องให้เขตเศรษฐกิจต่างๆ สร้างความมั่นใจว่าการเติบโตจะเท่าเทียมกันทั่วทั้งสังคม
  • นายกฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่านโยบายปกป้องทางการค้าและปัญหาการแบ่งแยกของระบบการเงิน จะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อเศรษฐกิจโลก
  • ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าความร่วมมือกันจากใจและความเป็นหุ้นส่วนกัน คือปัจจัยที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่พอสำหรับการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนในเชิงนโยบาย

ประเด็นที่ 2: การเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

  • นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ Executive Director, APEC CEO Summit 2022 กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อและราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น อาจนำไปสู่ความไม่สงบในสังคม และสร้างความตึงเครียดทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนโยบายทางการเงินและงบประมาณการคลังมีความเข้มงวดขึ้น
  • นายกฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า เมื่อโลกเผชิญกับ “มรสุมที่สมบูรณ์แบบ” ของความขัดแย้งทางการเมือง อาหาร สุขภาพ รวมถึงวิกฤตพลังงาน ผู้กำหนดนโยบายต้องไปให้ไกลกว่าการแก้ปัญหาระยะสั้น และต้องรับมือกับความท้าทายต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การผลักดันด้านนโยบาย ความร่วมมือข้ามพรมแดน และการส่งเสริมด้านนวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อช่วยจัดการกับความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารและพลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืน
  • เทคโนโลยีสามารถเป็นเครื่องมือที่ยิ่งใหญ่ในการช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงตลาดและโอกาสใหม่ๆ ได้ แม้ว่าความรู้ด้านดิจิทัล มาตรฐานระหว่างประเทศ และความปลอดภัยทางไซเบอร์จะเป็นประเด็นที่น่ากังวล

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ส่องเส้นทางเทคฯ KBTG จากยุคปรับตัว สู่ผู้นำ Agentic AI กับยุทธศาสตร์ Human-First x AI-First พลิกโฉมธุรกิจ

เจาะลึกกลยุทธ์ KBTG กับการนำไทยเข้าสู่ยุค Agentic AI 2025 ผ่าน Human-AI Integration เพื่ออนาคตที่ล้ำลึกและยั่งยืน...

Responsive image

โซลูชัน Technology Business Management เปลี่ยนต้นทุน IT ให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจด้วยการปลดล็อกศักยภาพด้านการบริหารจัดการต้นทุน IT ด้วยข้อมูลเชิงลึก

การบริหารต้นทุนด้านเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ Technology Business Management เป็นกรอบการจัดการช่วยให้ผู้บริหารสามารถควบคุมและบริหารต้นทุน IT ได้อย่างแม่...

Responsive image

เจาะเบื้องหลังดีล Zipevent และ Link Station Group สู่การขยายธุรกิจอีเวนต์ในภูมิภาค SEA

การเข้าซื้อกิจการระหว่าง Zipevent แพลตฟอร์มจัดการอีเวนต์และจำหน่ายบัตรออนไลน์ในประเทศไทย กับ Link Station Group บริษัทญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบจำหน่ายบัตร (Ticketing System) ถือเ...