ศิลปะกับเทคโนโลยี 2 คำนี้อาจดูไม่เข้ากันเลยสักนิด แต่จริงๆ แล้ว เทคโนโลยีอาจประสบความสำเร็จได้ด้วยการใช้ศิลปะสร้างสรรค์ ดังเช่นที่ Steve Job ไม่ได้ออกแบบ iPhone ด้วยเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ใช้ศิลปะในการออกแบบอุปกรณ์ที่สวยงามนี้มาอยู่ในมือเรา และเทคโนโลยีที่เรากำลังจะพูดถึงจากนี้ ก็ถูกผสมผสานด้วยศิลปะจนออกมาเป็น Solution ที่ตอบโจทย์ได้จริง นั่นคือเทคโนโลยี Sensor หรือ Sensing
Sensor เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนเทคโนโลยี IoT แน่นอนว่าพอเราพูดถึง IoT หลายคนอาจเบื่อกับคำนี้ เพราะถูกพูดถึงมานานแล้ว แต่จริงๆ แล้วเราสามารถนำ Sensor ต่อยอดสู่การคิดค้นใหม่ๆ ที่จะตอบรับเทรนด์การใช้ชีวิตในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ซึ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์จากหลายฝ่าย โดยผลงานที่เกิดขึ้นแล้วและถูกนำมาจัดแสดงในประเทศไทยไม่นานนี้ คือการสร้างกระแสไฟฟ้าจากแบคทีเรียในดินด้วยเทคโนโลยี Sensor รูปแบบการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นถูกจัดแสดงอย่างสวยงามในงาน Bangkok Design Week 2019 ที่ผ่านมา
Kudos ผู้นำธุรกิจอุปกรณ์ในห้องน้ำ ห้องครัว และดิจิตอลล็อคคุณภาพสูง ได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘Super Sensing’ ที่พัฒนาโดยบริษัท Sensingnet ซึ่งเป็นบริษัท Startup ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ Sensor และ AI จากประเทศญี่ปุ่น มาจัดแสดงในงาน Bangkok Design Week 2019 โดยถือเป็นการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งมีทั้งรูปแบบการบรรยายและ Showcase และผลงานนี้ยังเคยถูกจัดแสดงในมหกรรมงาน CES 2019 ที่ผ่านมาอีกด้วย โดยผลงานนี้ชื่อโครงการ Regenerative Sensing Project - Harvesting the Earth’s Energy โดยมีจุดประสงค์ในการหาแหล่งพลังงานที่ยั่งยืนที่มีแหล่งกำเนิดจากธรรมชาติ
แนวคิดของ โครงการ Regenerative Sensing Project คือการสร้างพลังงานที่ยั่งยืนจากแหล่งกำเนิดธรรมชาติ ด้วยการใช้เทคโนโลยี Advanced Sensor ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระแสไฟฟ้าที่ได้จากแบคทีเรียในดิน เนื่องจากแบคทีเรียในดินนั้นสามารถนำมาสร้างพลังงานไฟฟ้าได้และยังสามารถใช้งานได้จริงอีกด้วย ซึ่งจากการทดลองของบริษัท Sensingnet พบว่าการทดลองเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระแสไฟฟ้าที่ได้จากแบคทีเรีย ด้วยการใช้ “Power Booster Chip Technology” (เทคโนโลยีการกระตุ้นเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตพลังงานที่สูงขึ้น) สามารถเพิ่มระดับพลังงานจาก 0.2 โวลต์ไปสู่ 5.5 โวลต์หรือมากกว่านั้นได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยของสภาพแวดล้อมและดิน เทคโนโลยี Super Sensing จึงเป็นเสมือนกุญแจสำคัญสำหรับนวัตกรรมใหม่ของแบรนด์ Kudos
“ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นยุคที่มีการนำ ‘Sensing’ มาใช้กันอย่างแพร่หลาย” คุณซาโตชิ นาคากาว่า ผู้ก่อตั้งบริษัท Sensingnet กล่าว
คุณซาโตชิเผยว่า การพัฒนาให้ Sensor มีความทันสมัยและสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น โดยมีจุดประสงค์ที่จะให้ Sensor เป็นเสมือนตัวกลางระหว่างผู้ใช้งานและสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งอาจจะไม่สามารถสัมผัสหรือมองเห็นได้ โดยใช้ความสามารถของ Sensor ในการแปลงเอาสิ่งที่มองไม่เห็นมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลที่เห็นภาพ และส่งต่อข้อมูลเพื่อไปเก็บในระบบที่เชื่อมต่อกับ internet จากนั้นนำข้อมูลมาพัฒนาไปสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์และหา solution ต่างๆ โดยการทำงานในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการออกแบบที่มีผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ปลดล็อคข้อจำกัดเดิมๆ ในการออกแบบการใช้ Sensor โดยการพัฒนานี้ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มประสาทสัมผัสให้กับมนุษย์ได้อีกด้วย ซึ่งนี่ทำให้เทคโนโลยี Super Sensing จัดเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของมนุษย์
เราไม่สามารถมองเห็น PM 2.5 ได้ แต่ Sensor ก็ช่วยทำให้เรามองเห็น ทำให้เราสามารถวางแผนการใช้ชีวิตที่ดีมีคุณภาพได้
ด้านคุณสันติ ศรีวิชาญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซีไอที จำกัด (Kudos) เผยว่า ญี่ปุ่นมีจุดแข็งในการใช้เทคโนโลยี Sensor ต่อยอดสู่นวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เก้าอี้วัดความเครียด การนำเทคโนโลยีเข้ามาในไทยของเรานั้น เกิดจากความต้องการนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีมากยิ่งขึ้น
“ด้วยแนวคิด Super Sensing ทำให้เราสามารถออกแบบนวัตกรรมใหม่ได้ด้วยเทคโนโลยี Sensors ที่สร้างสรรค์สินค้าหรือบริการที่ไม่เคยมีมาก่อนได้ และเทคโนโลยีเซนเซอร์ที่ทันสมัยเหล่านี้ จะสามารถช่วยปลดล็อคกรอบทางความคิดแบบเดิมๆ โดยใน Show Case ครั้งนี้ เราได้จัดแสดงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแบคทีเรียในดิน จนสามารถเชื่อมต่อกับ Sensor เพื่อวัดค่าต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งตรงนี้จะมาเป็น Game Changer ที่น่าสนใจ สำหรับ Smart Farming และ Indoor & Landscape Design ในประเทศไทย”
ซึ่งในงานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นก้าวที่สำคัญในการต่อยอดนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และ Solution ใหม่ๆ เพื่อรองรับเทรนด์การอยู่อาศัยที่มีความทันสมัย สะดวกสบาย และยั่งยืนในอนาคต เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้สอดรับกับยุคดิจิตอลมากยิ่งขึ้น
คุณพิชิต วีรังคบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนงาน Bangkok Design Week 2019 ครั้งนี้ ได้เปิดเผยว่า มีการพูดคุยกับ Kudos มากว่า 1 ปี และต้องการให้ Show Case ครั้งนี้เกิดขึ้นในงาน ซึ่งคุณพิชิตมองว่าปัจจุบันเราหาคนที่เก่งเรื่องเทคโนโลยีและมีความสร้างสรรค์ด้านศิลปะในคนๆเดียวกันนั้นเป็นเรื่องยาก และเชื่อว่า การจัดงานลักษณะนี้จะทำให้เราสามารถค้นหาคนเก่งที่มีความสามารถทั้ง 2 แขนงนี้ได้ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ไปพร้อมกัน
ในงานนี้ คุณซาโตชิยังได้นำเสนอให้เราเห็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจาก Sensor โดยได้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถช่วยเหลืออาการป่วยของมนุษย์ได้ เช่น WALKPATH นวัตกรรมสายรัดข้อมือที่พัฒนาโดย Universal Studio ในการพัฒนาเพื่อผู้ป่วยโรคพาร์กินสันให้สามารถเขียนหนังสือโดยป้องกันการสั่นได้ นอกจากนี้ยังมี ATAP - ผลิตภัณฑ์ของ Google แค่ขยับตัวก็สามารถรู้ได้เลยว่า บุคคลนั้นกำลังทำอะไรอยู่ ต่อไปสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดกับนวัตกรรมเช่น E-Sport ได้
สำหรับงานในครั้งนี้ มีผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบโดยใช้เทคโนโลยี Super Sensing มาจัดแสดงมากมาย เช่น เก้าอี้ ‘Argus’ ซึ่งเป็นเก้าอี้ที่สามารถวัดค่าความสุขและความรู้สึกของผู้นั่งได้แบบเรียลไทม์ โดยสามารถวัดระดับอัตราการหายใจ และระดับความเครียดได้ สามารถนำไปต่อยอดการจัดบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมในการนั่งหรือทำงาน เพื่อสร้างเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสุขภาพจิตที่ดี นอกจากนี้ยังมีเซ็นเซอร์ที่สามารถแปลงพลังงานความร้อนมาเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้งานโดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ด้วย
จากการ Show Case และฟังเรื่องราวของ Super Sensing ที่คุณซาโตชิได้นำเสนอ อาจพูดได้ว่านี่เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยพลิกโฉมรูปแบบเทคโนโลยี IoT ไปสู่นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่จะเปลี่ยนการใช้ชีวิตเดิมๆของเรา และอย่างที่เราทราบกันว่า Kudos เป็นแบรนด์ที่โดนเด่นด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การเริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับ Super Sensing ก็เป็นที่น่าจับตาว่าจะมีผลิตภัณฑ์ล้ำๆ อะไรออกมาให้เราได้เห็นกันอีก
บทความนี้เป็น Advertorial
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด