เมื่อ ไต้หวัน เกิดวิกฤตขาดแคลนคนเก่งสูงที่สุดในโลก รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างไร ? | Techsauce

เมื่อ ไต้หวัน เกิดวิกฤตขาดแคลนคนเก่งสูงที่สุดในโลก รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างไร ?

เมื่อนึกถึงโลกาภิวัฒน์ เรามักจะคิดถึงข้อดี ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนสื่อสาร คมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศไร้พรมแดน แต่สิ่งที่ตามมาพร้อม ๆ ไปกับโลกาภิวัฒน์นั้น ก็คือการที่คนเก่ง ๆ ทั่วโลกผู้เป็นมันสมองสำคัญของเศรษฐกิจ ต้องการที่จะ ‘ย้ายประเทศ’ เพื่อเสาะหาโอกาสใหม่ให้กับตนเอง 

ผู้นำ , ไต้หวัน

หนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ คือ การได้ทำความรู้จักกับประเทศอื่น ๆ ที่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่า สวัสดิการที่เป็นธรรม รวมไปถึงโอกาสหน้าที่การงานที่มีมากกว่าประเทศของตนเอง ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะคิดถึงกำไรชีวิตที่ได้หากไปประเทศใหม่ และค่าเสียโอกาสหากเลือกอยู่ประเทศเดิมต่อ ปรากฎการณ์ ‘สมองไหล’ (brain drain) จึงเป็นปัญหาสำหรับหลาย ๆประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับโซนเอเชียนั้น เป็นที่น่าแปลกใจว่า รายงาน Global Talent 2021 จาก Oxford Economics  ได้เผยว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่มียอดขาดแคลนคนเก่งสูงที่สุดในโลก (Talent Deficit) แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจของไต้หวันจะดูดีกว่าหลาย ๆประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีสินค้าชูโรงอย่างเซมิคอนดักเตอร์ส่งออกทั่วโลกก็ตาม แต่จำนวนประชากรวัยทำงานของไต้หวันลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำติดอันดับโลก รวมไปถึงอัตราการเสียชีวิตของประชากรมีสัดส่วนที่มากกว่า ทั้งหมดนี้จึงเป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่ส่งผลต่อจำนวนผู้เชี่ยวชาญและการพัมนาเศรษฐกิจในอนาคต 

รัฐบาลไต้หวันรับมือวิกฤตสมองไหลอย่างไร ?

ออกกฎหมายเปิดรับชาวต่างชาติเข้าทำงาน 

รัฐบาลไต้หวันได้รับรู้ถึงปัญหาด้านประชากรวัยทำงานที่ลดลงโดยตลอด ข้อมูลจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติของไต้หวัน (NDC) ประจำปี 2018 เผยคาดการณ์ว่าประชากรอายุตั้งแต่ 15-64 ปี จะปรับลงจาก 72.5% อยู่ที่ราว 48% ในปี 2065 

ภารกิจสำคัญที่ไต้หวันเริ่มทำก่อนเป็นอันดับแรกคือ การผลักดันกฎหมาย Foreign Professional Act เนื้อหาหลักก็จะผ่อนปรนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคนเข้าเมือง วีซ่าทำงาน กฎระเบียบการย้ายถิ่นฐาน และเพิ่มสิทธิพิเศษให้กับผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกทั้ง 8 สาขา เช่น ด้านเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ การศึกษา และการเงิน สามารถยื่นขออนุมัติบัตรทองการจ้างงานได้ (Employment Gold Card) 

เช่นเดียวกันนี้ ยังมีการออกใบอนุญาตทำงานให้กับอาชีพอื่น ๆ อาทิ ศิลปินอิสระ (Work Permit for Foreign Professional Artist) ใบอนุญาตทำงานสำหรับบุตรหลานของผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ (Work Permit for Foreign Professionals Adult Child) และวีซ่ารอการว่าจ้าง (ROC Employment Seeking Visa) 

ผลลัพธ์จากการผลักดันกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ชัดว่ามีชาวต่างชาติจำนวนมาก ล่าสุดในปี 2019 ยอดผู้เชี่ยวชาญต่างชาติปรับขึ้นร้อยละ 9.8 จากปี 2017 ซึ่งช่วยลดช่องว่างบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ ในปี 2020 รัฐบาลไต้หวันยังเปิดแพลตฟอร์ม Contact Taiwan เพื่อดึงดูดนักเรียน นักศึกษาต่างชาติที่เรียนในไต้หวันให้สนใจทำงานต่อในประเทศ ลักษณะแพลตฟอร์มจะคล้ายคลึงกับ LinkedIn จะประกอบด้วยฟีเจอร์ประกาศสมัครงาน และหาคอนเนคชันสำหรับคนทำงาน รวมไปถึงแนะแนวอาชีพการงานให้นักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีกด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลมีแนวโน้มจะผลักดันกฎหมายสำหรับผู้ใช้แรงงานต่างชาติ (blue-collar workers) ในอนาคต 

โครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกให้ชีวิตการทำงาน

สิ่งที่รัฐบาลไต้หวันใช้ดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงานเพิ่มคือโครงสร้างด้านสาธารณูปโภค เนื่องจากไต้หวันตั้งอยู่ใจกลางท่าเรือขนาดใหญ่และเมืองใหญ่ ๆ ในทวีปเอเชีย และมีสนามบินนานาชาติถึง 3 แห่ง  ท่าเรือขนส่งสินค้าอีก 5 แห่ง ภายในประเทศก็มีบริการขนส่งมวลชนที่สะดวกสบายทั้งรถไฟใต้ดิน (MRT) ภายในกรุงไทเปและเมืองเกาสง ยังไม่รวมไปถึงรถไฟความเร็วสูงข้ามเมือง มีความพร้อมด้านระบบประปาและพลังงานสูงกว่า 90% ในประเทศ และมีการเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ทั้งนี้ รัฐบาลไต้หวันได้เปิดรับการลงทุนจากฝ่ายเอกชนและต่างชาติให้เข้ามาขยายกิจการบริษัทข้ามชาติได้ ซึ่งจะช่วยเร่งการเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศได้มากขึ้น 

COVID-19 อีกตัวแปรสำคัญของไต้หวันเพื่อดึงคนเก่งกลับเข้าประเทศ

วิกฤตโรคระบาดCOVID-19 กลับเป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยให้ไต้หวันดึงชาวไต้หวันที่ไปอยู่ต่างประเทศและชาวต่างชาติให้เข้ามาทำงานในไต้หวัน ด้วยศักยภาพของรัฐบาลที่สามารถจัดการโรคระบาดได้ในเวลาอันสั้นจนสำเร็จ 

แม้ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ยังมีอยู่ แต่ค่าเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 10 รายต่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่ต่ำสุดระดับต้น ๆ ของโลก ทำให้ภาพลักษณ์ไต้หวันในสายตาของต่างชาติเป็นประเทศที่ปลอดภัยและมีสภาวะที่มั่นคงต่อการใช้ชีวิต ทำให้นับตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. ปี 2021 มีชาวต่างชาติได้รับอนุมัติบัตรทองการจ้างงานเพิ่มทั้งหมด 2,127 ราย และมีผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอีก 18.8% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 

ความท้าทายหลักที่ไต้หวันยังคงต้องเผชิญ

อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคที่รัฐบาลต้องเผชิญอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ อันดับแรกคือกำแพงด้านภาษา เนื่องจากภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาหลักในการดำเนินการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ทำให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานอาจประสบปัญหาทางการสื่อสารและโอกาสในการหางานอยู่บ้าง นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (Per Capita GDP) อยู่ที่ 28,383 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียกับสิงคโปร์ที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวอยู่ที่ 82,503 ดอลลาร์

ข้อมูลจาก taiwaninsight




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...