คุยเรื่อง 'ภาษี' กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย | Techsauce

คุยเรื่อง 'ภาษี' กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

นโยบายด้านภาษีได้กลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆทั้งในไทยและทั่วโลก ในยุคที่บริษัทต่างต้องก้าวข้ามพรมแดนเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ และรัฐบาลต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในบริบทของเศรษฐกิจดิจิทัล ประเด็นเรื่องภาษีก็ยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา The Economist Corporate Network (ECN) ผู้ให้บริการด้านการทำวิจัยทางธุรกิจ จึงจัดบรรยายและเสวนา ในหัวข้อ Taxing times: ความสัมพันธ์ระหว่างภาษี การลงทุนขององค์กร เศรษฐกิจดิจิทัล และภูมิศาสตร์การเมืองในภูมิภาค” โดยมีตัวแทนผู้บริหารระดับอาวุโสจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และสื่อมวลชน ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบของนโยบายภาษีที่มีต่อบริษัทและองค์กรสาธารณะในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย

นายโรเบิร์ต เคปป์ ผู้อำนวยการ อีซีเอ็น สาขาฮ่องกง กล่าวว่า “นโยบายด้านภาษีเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและ ECN ไม่ได้สนับสนุนนโยบายรูปแบบใดๆ แต่เราต้องการจะให้ข้อมูลที่มีประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างเสริมความเข้าใจที่รอบด้านขึ้น โดยข้อสังเกตหลักๆ จากคำแนะนำขององค์กรด้านเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลระดับโลก เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD และผลสำรวจความคิดเห็นของผู้นำในธุรกิจดิจิทัลก็คือ

อัตราภาษีของแต่ละประเทศถูกมองว่ามีความสำคัญน้อยกว่านโยบายด้านภาษีที่มีความแน่นอนและการบังคับใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ธุรกิจที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งล้วนมีเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศในหลากหลายภาคส่วนมากขึ้นทุกวันๆ นั้น ไม่เห็นด้วยกับการแยกจัดเก็บภาษี (ring-fence) หรือการกีดกันบริษัทที่อยู่ในภาคดิจิทัล

เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสในการขยายกิจการ ตลอดจนเป็นผลเสียต่อการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของประเทศ ในขณะที่หลายบริษัทมีความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยทางภูมิศาสตร์การเมือง และเห็นว่าธุรกิจของตนตกอยู่ภายใต้กลยุทธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งสนธิสัญญาและข้อตกลงด้านภาษีน่าจะเป็นการแก้ปัญหาได้ดีกว่า”

ในทางเดียวกัน นายโฮซุก ลี-มากิยามา ผู้อำนวยการ สถาบันเศรษฐกิจการเมืองนานาชาติแห่งทวีปยุโรป กล่าวว่า “ความเชื่อที่ว่าบริษัทข้ามชาติด้านเทคโนโลยีจ่ายภาษีน้อยกว่าบริษัทในประเทศนั้นไม่เป็นความจริง แต่โดยแท้จริงแล้วธุรกิจข้ามชาติเหล่านั้นจ่ายภาษีส่วนใหญ่ในประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของตน ดังนั้น ถ้ารัฐบาลพยายามจะแก้กฎหมายภาษีเพื่อบีบให้บริษัทข้ามชาติจ่ายภาษีให้กับประเทศไทยเพิ่มขึ้น ก็เท่ากับว่าผู้ส่งออกผ้าของไทยก็ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลในตลาดส่งออกของตน แทนที่จ่ายภาษีให้กับประเทศไทย และในฐานะประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกมากกว่าการนำเข้า ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้ไปโดยอัตโนมัติ”

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ พาร์ทเนอร์และประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ จำกัด สาขากรุงเทพฯ ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปกฎหมายภาษีอย่างมีประสิทธิภาพว่า “ในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการพูดคุยในเรื่องการปฏิรูปกฎหมายภาษีที่ครอบคลุมในทุกมิติ ไม่ใช่แค่เพียงการแก้กฎหมายเป็นจุดๆ ไป นอกจากนี้ แม้ว่าอัตราภาษีและสิทธิประโยชน์ทางภาษีสามารถช่วยส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติได้ แต่อีกสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กันก็คือนโยบายที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ส่งเสริมให้ทั้งบริษัททั้งดั้งเดิมและดิจิทัลมีการจ่ายภาษีอย่างเป็นธรรมให้กับประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจและก่อให้เกิดรายได้”

“เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนจากการเติบโตของเศรษฐกิจดิทัล โดยบทวิเคราะห์ล่าสุดจาก The Economist Intelligence Unit ระบุว่า อัตราผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรของประเทศไทยนั้นสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่มีคุณภาพ และมีประชากรจำนวนมากอาศัยอยู่บนแผ่นดินเดียวกัน ซึ่งถือเป็นสภาพภูมิประเทศที่ส่งผลดีเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นเกาะ เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ E-Commerce ของประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ ทำให้ต้องพึ่งพาการลงทุนและร่วมทุนจากต่างประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยหากนโยบายด้านภาษียังไม่มีความโปร่งใส่ แน่นอน และเป็นธรรมต่อธุรกิจดิจิทัล ความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายโรเบิร์ต กล่าวเสริม

“กิจกรรมของ ECN จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย และสื่อมวลชน ได้ร่วมพูดคุยอย่างเปิดเผยและสร้างสรรค์ในประเด็นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระดับโลก โดยงานบรรยายและเสวนา Taxing times ในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อนโยบายด้านภาษีที่เป็นธรรม ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” นายโรเบิร์ตกล่าวสรุป

ความคิดเห็นกองบรรณาธิการ

เรื่องภาษียังคงเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยีใหญ่ๆจากต่างประเทศที่เข้ามาเติบโตในไทย ไม่ว่าจะเป็น Facebook , Line , Google ซึ่งได้รายได้มหาศาลจากผู้ใช้งาน ยังไม่รวมธุรกิจออนไลน์ในไทยทั้ง E-Commerce และร้านค้าออนไลน์ต่างๆ  ที่ยังคงค้างคากับประเด็นการจัดเก็บภาษีและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทางออกอาจเป็นการนั่งหารือกันทุกฝ่ายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากเป็นรัฐหรือกรมสรรพากรด้านเดียว อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจออนไลน์ในไทยได้ และควรเร่งหาข้อสรุปที่ชัดเจนเพราะธุรกิจออนไลน์กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การมีกรอบที่ชัดเจนและทุกฝ่ายยอมรับได้จึงอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...