Education Disruption ครูจะปรับตัวอย่างไรในโลกที่เปลี่ยนแปลง

Education Disruption ครูจะปรับตัวอย่างไรในโลกที่เปลี่ยนแปลง

ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงและมีความท้าทายอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นการเตรียมเหล่าเจเนอเรชั่นในอนาคตให้มีความพร้อมอยู่เสมอ บทบาทและความสำคัญของคุณครูได้เปลี่ยนแปลงอย่างไร ทักษะสำคัญที่ทุกคนต้องพัฒนามีอะไรบ้าง ความท้าทายในวงการศึกษาไทยตอนนี้คืออะไร เราขอสรุปไว้ให้สั้นๆ ดังนี้
  • ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ครูมีความสำคัญอย่างมากในการเป็นแบบอย่างให้เด็กมีความรักที่จะเรียนรู้ และอยากที่จะพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
  • การที่ครูได้เล็งเห็นและยอมรับในความแตกต่างของเด็กแต่ละคน และสามารถดึงศักยภาพสูงสุดของแต่ละคนให้แสดงออกมา ยังคงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดในการศึกษา แม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีผลกระทบแค่ไหนก็ตาม
  • Hard Skills หรือทักษะด้านความรู้มีความสำคัญก็จริง แต่จะเป็นในช่วงที่อยู่ในระบบการศึกษา และในช่วงระยะแรกหลังจบการศึกษา เมื่อเข้าสู่โลกของการทำงาน Soft Skills เป็นทักษะที่สำคัญ โดยเฉพาะในด้านการทำงานเป็นทีม
  • วงการเทคโนโลยีได้มีการพัฒนาทักษะ AI ให้เก่งขึ้น เราไม่ควรจะสร้างคนให้เป็น Robot อีก สิ่งที่ หุ่นยนต์ไม่มีคือทักษะด้าน Soft Skills มนุษย์ยังคงมีทักษะที่เหนือกว่า AI ในงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์อยู่ ดังนั้นเราควรที่จะสร้างเด็กให้รู้จักแก้ปัญหา คิดนอกกรอบ รู้จักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
  • ประเทศไทยยังมีความท้าทายในเรื่องความเหลื่อมลํ้าและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องช่วยกันผลักดันและพัฒนาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม

Techsauce ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเสวนาเปิดตัวงาน EDUCA 2018 หรือ มหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด “Value of Teachers : คุณค่าของครู”  โดยในครั้งนี้ คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด, คุณฐานิตา ภูวนาถนรานุบาล ผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 2 ที่ปรึกษาด้านหลักสูตรสำหรับ Girl Rising Thailand  ผู้แทนจากมูลนิธิ Teach for Thailand (TFT) และคุณกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช) ได้มาพูดคุย แลกเปลี่ยน ถึงบทบาทของครูในโลกที่เปลี่ยนไป

ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์ ผู้ทำหน้าที่เป็นพิธีกรนำการเสวนาในครั้งนี้

ทักษะสำคัญที่คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องพัฒนาเพื่อเตรียมพร้อมในการเข้าสู่โลกอนาคตมีอะไรบ้าง

คุณอรนุช ถือว่าเป็นผู้ที่ทำงานในแวดวงเทคโนโลยีและมีโอกาสได้ทำงานกับคนรุ่นใหม่มาเป็นเวลานาน ได้แชร์มุมมองในเรื่องของการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคตว่า

คุณอรนุช : จากการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่พบว่า ชุดของทักษะหรือ skill set ที่พบในคนรุ่นใหม่ๆ เมื่อเทียบกับตัวเองในช่วงที่เรียนอยู่นั้นค่อนข้างมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ส่วนตัวมองว่าตัวเองถูกเน้นสอนให้มีทักษะด้าน Hard Skills หรือทักษะทางด้านวิชาการค่อนข้างมาก แต่ความรู้ที่จำเป็นต่อการทำงาน หรือ Soft Skills นั้นไม่ได้มาจากห้องเรียน ทำให้ค่อนข้างท้าทายเมื่อต้องเข้าสู่โลกของการทำงาน

Hard Skills หรือทักษะด้านความรู้นั้นแน่นอนว่ามีความสำคัญ แต่จะเป็นในช่วงที่อยู่ในระบบการศึกษาและในช่วงระยะแรกหลังจบการศึกษา เมื่อเข้าสู่โลกของการทำงาน ทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและการทำงานหรือ Soft Skills เป็นทักษะที่สำคัญ โดยเฉพาะทักษะในด้านการทำงานเป็นทีม

เพราะไม่ว่าเด็กจะจบการศึกษาด้วยผลการเรียนยอดเยี่ยมแค่ไหน พอเข้าสู่โลกของการทำงานจะไม่สามารถทำงานคนเดียวได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นการฝึกเรื่องของการทำงานเป็นทีมจึงสำคัญ ซึ่งทักษะนี้สามารถทำการปลูกฝังได้ตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก

ในปัจจุบันได้มีกิจกรรมที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกการทำงานเป็นทีม เช่น การแข่ง Hackathon ฝึกให้เด็กได้มีทักษะในการแก้ปัญหาจากชุดความรู้และประสบการณ์ที่มี ให้พวกเขารู้จักตั้งคำถาม ค้นคว้าหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งการที่พวกเขาจะทำงานสำเร็จลุล่วงได้นั้น แน่นอนว่าต้องอาศัยทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นสำคัญ

คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด

โลกการเรียนรู้ของเด็กในห้องเรียนสมัยนี้เมื่อเทียบกับสมัยก่อนมีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

คุณฐานิตา จาก Teach for Thailand เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับเด็กในห้องเรียน ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างในห้องเรียนได้อย่างน่าสนใจ

คุณฐานิตา ​: ในเรื่องความแตกต่างของเทคโนโลยีที่เด็กสามารถเข้าถึง เมื่อเทียบกับตัวเองในสมัยเรียนพบว่า มีความต่างกันมาก แต่ไม่ใช่ในเรื่องของการพัฒนา แต่จะเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ได้เห็นมาโดยตลอด

ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยนั้นยังคงพบได้ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ด้วยความที่มีทรัพยากรที่จำกัด ทำให้เป็นอุปสรรคทั้งต่อตัวบุคลากรและนักเรียนในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการเตรียมพร้อมในโลกอนาคต

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทางอพวช.ได้มีการสนับสนุนบทบาทของคุณครูที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

คุณกรรณิการ์ : ปัจจุบันมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากมาย เราได้เล็งเห็นในเรื่องของการพัฒนาทั้งกับคุณครูและเด็กที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้ให้ความตระหนักคือ คุณครูยังมีความสำคัญในการเตรียมเด็กให้พร้อมรับกับโลกในอนาคตอยู่ การที่คุณครูมีความรู้และความเข้าใจในด้านดิจิตัลนั้นแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ เราจะทำอย่างไรให้เด็กยุคใหม่มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และสามารถใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีในการแก้ปัญหาแก้ปัญหา โดยเฉพาะในเรื่องการทำงานเป็นทีม นอกจากนี้การยอมรับในเรื่องความหลากหลายก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ การที่คนรุ่นใหม่สามารถยอมรับในความคิดเห็นที่หลากหลาย แล้วใช้ความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอด ใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาได้นั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการเห็นมากขึ้น

นอกจากนี้คือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ความคิดนอกกรอบ เพราะในอนาคตเรื่อง Disruption นั้นไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว อีกทั้งการเรียนรู้นั้นไม่ได้จบเพียงแค่ในระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ยังต้องต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นทักษะการแสวงหาความรู้ตลอดชีวิตหรือ Lifelong learning ก็เป็นอีกทักษะที่สำคัญเช่นกัน

คุณกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์  องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช)

ในการเตรียมเด็กให้พร้อมในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้ คุณครูจะทำอย่างไรให้เด็กมีความรู้สึกอยากที่จะเรียนรู้ และจะผลักดันให้พวกเขากล้าที่จะตั้งคำถามได้อย่างไร

คุณฐานิตา : จากประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับเด็กพบว่า เด็กส่วนใหญ่มักจะประเมินศักยภาพของตัวเองค่อนข้างต่ำ ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง คุณครูจึงมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปทำให้เด็กเห็นว่าพวกเขาก็มีศักยภาพเช่นกัน

คุณครูมีบทบาทสำคัญในการทำให้เด็กได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของตัวเอง และศักยภาพนั้นแม้ว่าจะแตกต่างจากสิ่งที่บรรทัดฐานทางวิชาการ หรือจากบรรทัดฐานทางสังคมกำหนด ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีศักยภาพ การที่ครูจะเข้าไปกระตุ้นให้เด็กเห็นคุณค่าของตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ยังคงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดในการศึกษา แม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีผลกระทบอย่างไรก็ตาม

นอกจากนี้คุณครูในปัจจุบันอาจจะไม่ต้องเน้นเลกเชอร์เหมือนแต่ก่อน แต่จะทำอย่างไรให้เด็กอยากเรียนรู้ จะผลักดันให้พวกเขาค้นพบตัวเองว่าชอบอะไรได้อย่างไร คุณครูมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปส่งเสริมในการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งในห้องเรียนนอกห้องเรียน และการเป็นต้นแบบให้เด็กๆ ในการเป็นผู้รักเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเป็นการเตรียมพร้อมเหล่าเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ให้พร้อมเข้าสู่โลกในอนาคตได้

คุณฐานิตา ภูวนาถนรานุบาล ผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 2 ที่ปรึกษาด้านหลักสูตรสำหรับ Girl Rising Thailand  ผู้แทนจากมูลนิธิ Teach for Thailand (TFT)

แล้วคุณครูต้องทำอะไรเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในที่เปลี่ยนไปในอนาคต

คุณฐานิตา : การมีความรักในการเรียนรู้ การทำเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตอยู่ตลอดเวลา ตั้งคำถามที่จะส่งเสริมความคิด การวิเคราะห์ของนักเรียน ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นในลูกศิษย์ สนับสนุนสิ่งที่พวกเขาอยากจะเป็น ไม่ว่าพวกเขาอยากจะเป็นอะไรก็ตาม คุณครูมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้พวกเขาเชื่อว่าทุกสิ่งนั้นเป็นไปได้

อยากเห็นระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างไรในอนาคต?

คุณกรรณิการ์ : การมอบโอกาสให้ผู้ที่มีความใฝ่ที่จะเรียนรู้ได้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ อย่างเท่าเทียม ให้แต่ละคนได้มีโอกาสในการพัฒนาตัวเองไปในทิศทางที่แต่ละคนสนใจ เมื่อทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา คุณครู ทั้งในระดับโรงเรียนและในระดับมหาวิทยาลัย หากมองและให้ความใส่ใจในตรงนี้มากขึ้น จะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสในการเข้าถึงความรู้อย่างเท่าเทียม

คุณอรนุช : ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าคนในวงการเทคโนโลยีได้มีการพัฒนาทักษะ AI ให้เก่ง แต่เราไม่ควรที่จะสร้างให้คนเป็น Robot ไปอีก สิ่งที่ AI และ Robot ไม่มีก็คือทักษะในด้าน Soft Skills และทักษะในหลายๆ อย่างที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้ เช่น งานดีไซน์ งานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ มนุษย์ยังคงมีทักษะที่เหนือกว่า AI ในงานเหล่านี้อยู่ เราควรที่จะสร้างให้เด็กรู้จักที่จะแก้ปัญหา คิดนอกกรอบ รู้จักการคิด สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อยากจะเห็นในวงการศึกษาไทย

นอกจากนี้ อย่าคิดว่า coding คือทักษะของคนที่จะเรียนสายวิทย์อย่างเดียว จริงๆ คือ พื้นฐานสำหรับทุกคน การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล, การแก้ปัญหา การรับมือ เราจึงเริ่มเห็นทักษะนี้เริ่มสอดแทรกตั้งแต่หลักสูตรวัยเด็ก แต่ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้ผู้สอนและตัวบุคลากรเองมีความพร้อมและมีทักษะมากพอที่จะสอนพวกเขาได้ และยิ่งต่างจังหวัดยิ่งมีความเหลื่อมล้ำสูง เพราะขาดทั้งความรู้และเครื่องมือ

หากเรามองย้อนตัวเราในขณะที่เป็นเด็ก เมื่อเรามองไปที่อาจารย์ ในตอนนั้นเราไม่เข้าใจว่าทำไมอาจารย์ถึงไม่เข้าใจเราเลย ในขณะเดียวกัน เมื่อเราโตมาเป็นผู้ใหญ่วันนี้ อยากให้ผู้ใหญ่ย้อนถามตัวเองว่า เราเข้าใจเด็กๆ มากน้อยแค่ไหน? หากเราอยากจะรู้ว่าเขาต้องการอะไร มีปัญหาอะไร เราจะสามารถช่วยแก้ปัญหาอะไรให้เขาได้บ้าง เราก็ต้องพยายามพูดคุยทำความเข้าใจเขาให้มาก

คุณค่าของครูยังมีความสำคัญอยู่ เปรียบเสมือนเป็นไฟส่องสว่าง นำทางให้เขาไปในทางที่ถูกต้อง Robot ไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี คุณครูเท่านั้นที่จะเป็นผู้ที่สามารถชี้นำทางที่ถูกที่ควรให้เด็กได้ และทำงานร่วมกันกับทางผู้ปกครอง อยากจะให้ผู้ใหญ่เข้าไปฟังและคลุกคลีกับเสียงของเด็กๆ มากขึ้น

มนุษย์เราพยายามสร้าง Robot แต่เราก็คงไม่ได้อยากพัฒนาเด็กให้เป็น Robot ด้วยรูปแบบการสอนและกรอบแบบเดิมๆ ดังนั้นการมี Soft Skills, Creativity, Problem Solving Skills, Collaborative Skills ยังคงสำคัญสำหรับเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคตได้

คุณฐานิตา : อยากจะเห็นระบบการศึกษาที่เข้าใจเด็กมากขึ้น ในฐานะที่พวกเขาเป็นบุคคลที่มีความสามารถ มีทักษะที่แตกต่างกันออกไป และช่วยกันดึงศักยภาพเหล่านี้ออกมาขึ้นมาให้ได้อย่างสูงสุด พวกเราอาจจะพอทราบว่า ในโลกอนาคตจะเกิดอาชีพใหม่ๆ กว่า 80 เปอร์เซ็น และด้วยความที่เราไม่สามารถทำการคาดเดาได้ว่างานในอนาคตเหล่านี้จะเป็นงานอะไรบ้าง หน้าที่ของครูที่ทำได้มากสุดในตอนนี้ก็คือ การช่วยดึงศักยภาพของเด็กขึ้นมาให้อยู่ในจุดสูงสุดให้ได้ก่อน เพื่อที่จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ สามารถรับมือกับโลกในอนาคตได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ อยากให้มีพื้นที่ให้ครูสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่ในเรื่องของการเรียนการสอนและการดูแลนักเรียน เราจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันเมื่อเราอยากรู้อะไร เราสามารถค้นหาใน Google ก็จะพบคำตอบ เพราะฉะนั้นคุณครูจะเป็นผู้ที่ถ่ายทอดความรู้อย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอ คุณครูในยุคนี้จะต้องมีการมองตัวเองที่เปลี่ยนไป ในแง่ของการมองเห็นคุณค่าของตัวเองที่มากขึ้น ทำการพัฒนาตัวเอง และระบบก็ควรที่จะเปิดโอกาสให้ครูได้พัฒนาตัวเองด้วย เพื่อที่จะรับมือกับโลกในอนาคตได้

มองสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างไร และอะไรคือความท้าทายในการเปิดพื้นที่ให้ครูได้มาแลกเปลี่ยน พัฒนาตัวเอง และสามารถใช้ประโยชน์เหล่านั้นในการที่จะช่วยเหล่าลูกศิษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

คุณฐานิตา : สถานการณ์ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าครูส่วนใหญ่จะใช้เวลาที่อยู่นอกเหนือการสอนค่อนข้างเยอะ ไปกับงานเอกสาร ทำให้เวลาที่ครูควรจะนำไช้ในการทุ่มกับการเรียนการสอนหรือการดูแลเด็ก ได้ถูกนำไปใช้กับสิ่งอื่นเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราสามารถทำได้คือ หากเราสามารถลดงานเอกสารที่อยู่นอกเหนือจากการสอนให้ได้ก่อน ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ครูมีโอกาสในการทบทวนตัวเองว่าสิ่งที่เขาต้องการที่จะเรียนรู้มีอะไรบ้าง สิ่งที่จำเป็นต้องพัฒนามีอะไรบ้าง การเปิดโอกาสตรงนี้จะสามารถทราบได้เองว่าสิ่งที่ต้องทำคืออะไร เพราะในปัจจุบันได้มีแพลตฟอร์มจำนวนมากที่เป็นพื้นที่ให้ครูได้แลกเปลี่ยนสื่อการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนวิธีการสอนออนไลน์ ซึ่งก็มีครูที่ได้ให้ความสนใจจำนวนมาก แต่เมื่อครูไม่มีเวลาในการค้นคว้าสิ่งเหล่านี้ ต่อให้มีแพลตฟอร์มเยอะขนาดไหน หากไม่มีเวลา ก็จะไม่สามารถนำมันมาใช้ประโยชน์ได้ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

มีแนวทางหรือวิธีการที่จะทำให้สังคมมองเห็นคุณค่าของครูมากกว่าการให้ค่านิยมในของเรื่องสถาบันอย่างไร

คุณกรรณิการ์ : ต้องกลับมาตอบคำถามที่ว่า คนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสถาบันการศึกษาคือใคร จะเห็นได้ว่าคือทางฝ่ายผู้ปกครอง แน่นอนว่าทุกท่านมีความหวังดีต่อเด็กๆ หากเราต้องการทำการเปลี่ยนในตรงนี้ จะต้องเริ่มจากประเด็นที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้ผู้ปกครองมีความมั่นใจได้ว่า เมื่อพาลูกๆ เข้าไปอยู่ในสถาบันการศึกษาใด็ตาม คุณครูจะเป็นผู้ที่พาพวกเขาเดินไปข้างหน้า และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ช่วยให้พวกเขาเป็นบุคลากรที่เข้มแข็งของสังคมต่อไป คุณครูเองก็จะต้องมีส่วนช่วยที่จะสร้างความมั่นใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ด้วยเช่นกัน

คุณอรนุช : อาจจะต้องย้อนกลับมาในเรื่องของการให้คุณค่าของเด็ก เราให้คุณค่าทางวิชาการ การสอบวัดผลต่างๆ เด็กทุกคนมีจุดเด่นของตัวเอง เรากำลังเข้าไปทำการปิดจุดเด่นของพวกเขาหรือเปล่า? เด็กบางคนเก่งในเรื่องวิชาการ แต่อาจไม่ได้เก่งในทักษะที่ไม่ได้ถูกวัดค่า ตามแต่ละทักษะว่าจะมีความสามารถในการเข้าบริษัทใหญ่ๆ ได้มากแค่ไหน เปรียบเหมือนกับการจับลิงไปว่ายน้ำ และจับปลาไปปีนต้นไม้

เด็กทุกคนเป็นที่หนึ่งทั้งนั้น แต่จะเป็นที่หนึ่งในด้านอะไร นั่นเป็นสิ่งที่พวกเราต้องช่วยกันค้นหา

เราอาจจะไม่ต้องเข้าไปแก้ไขในเรื่องการปรับเปลี่ยนเรื่องวิชาการ แต่จะเป็นการทำอย่างไรที่จะเสริมสร้างทัศนคติ การให้คุณค่าและยอมรับในตัวเด็กว่า เด็กแต่ละคนมีทักษะและความเก่งที่แตกต่างกันไป และตรงนั้นจะเป็นช่วยการทำลายกำแพงในเรื่องการให้ค่านิยมในแต่ละโรงเรียนว่ามีความเด่นในเรื่องไหนได้พอสมควร

สรุป

ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงและมีความท้าทายอยู่ตลอดเวลา จึงมีความสำคัญในการที่ครูจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้เด็ก อีกทั้งการเล็งเห็นคุณค่าของตัวเอง มีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ นอกจากนี้การเข้าใจเด็กในฐานะปัจเจก ถึงความแตกต่างของแต่ละคน และที่สำคัญมีใจที่จะดึงศักยภาพสูงสุดของเด็กแต่ละคนออกมา เพราะในโลกที่ไม่แน่นอนนี้ ครูเท่านั้นที่จะเป็นบุคคลที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจและทำให้เด็กเรียนรู้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

นอกจากนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ครูเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่มีบทบาทสำคัญ ผู้บริหารโรงเรียนก็เช่นกัน ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการจัดสรร บริหาร และเลือกสิ่งที่สำคัญที่สุดให้คุณครู ในการจัดการการเรียนรู้ การจัดการการสอน หากสามารถช่วยในการลำดับความสำคัญ ก็จะสามารถช่วยให้ครูได้มีเวลาในการทำเรื่องที่สำคัญที่สุด และสามารถใช้ทุกแพลตฟอร์มการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...