อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรในโลกยุคโลกาภิวัตน์? เนื่องด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพมหาศาล การดึงดูดและรักษาบุคลากรด้านเทคโนโลยีนำมาซึ่งทั้งโอกาสอันน่าตื่นเต้นและความท้าทายที่สำคัญ
ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะทำให้ประเทศไทยสามารถวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันระดับโลก
ในบทความนี้ Techsauce จะมาสรุป Session: Home for Tech Talent: Driving Mobility in a Globalized World จากงาน Techsauce Global Summit 2024 โดยดร. สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษา กมธ. AI, ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษา FutureTales Lab, MQDC และคุณปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ Accenture ประเทศไทย
ร่วมหารือเกี่ยวกับนโยบายที่มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับแรงงานดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสำรวจกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อดึงดูดและรักษาผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีชั้นนำ ตลอดจนวิธีพัฒนาบุคลากรที่เป็นที่ต้องการในยุค AI ให้พร้อมสำหรับอนาคต
"การมีแรงงานโลกไม่ใช่แค่สิ่งที่ดีที่ควรมี แต่นี่คือยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม" ดร. สันติธาร กล่าวว่าประเทศไทยกำลังประสบความท้าทายกับปัญหาแรงงานขาดแคลน โดยคาดการณ์ว่าปริมาณแรงงานไทยจะหดตัวลงถึง 10 ล้านคนภายในอีก 20-25 ปีข้างหน้า ดังนั้นการดึงดูดแรงงานจากต่างประเทศจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งและควรเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมแรงงานไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานโลกได้เช่นกัน ซึ่งช่วยให้แรงงานไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะตลาดต่างชาติ และยังสามารถนำประสบการณ์อันมีค่ากลับมาสู่ประเทศไทย
ปัจจุบันเกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในหลากหลายพื้นที่ ทำให้เงินทุนและแรงงานมีการขยับขยายและเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ไทยต้องแสดงศักยภาพเพื่อดึงดูดแรงงานเข้ามาในประเทศ
ดร.การดี กล่าวว่าเมื่อพิจารณาจากหลายๆ เมืองในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต และพะงัน ล้วนติดในสิบอันดับเมืองที่เหมาะสมสำหรับ Digital Nomad ทั้งด้านความปลอดภัย ความสะดวกสบาย ค่าครองชีพที่ไม่สูงมากเกินไป และมีโครงสร้างพื้นฐานอย่างอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมทั่วประเทศ หากว่าประเทศไทยสามารถที่จะเปิดกว้างและพัฒนาเพิ่มเติมในการดึงดูด Tech Talent ไม่เพียงแค่บริษัทใหญ่ แต่รวมถึง SME และ Startup จากทั่วโลกได้ จะยิ่งส่งเสริมศักยภาพของประเทศที่จะเป็น Tech Talent Hub ได้อย่างแน่นอน
คุณปฐมา กล่าวว่าหากประเทศไทยมีการปรับตัวให้ทันต่อความต้องการของตลาดแรงงานโลก ประเทศไทยจะสามารถก้าวเป็น Tech Talent Hub ได้ เหมือนอย่างที่ Accenture สามารถดึงดูด Tech Talent รุ่นใหม่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาทำงานได้เป็นจำนวนมาก
ดร. สันติธาร กล่าวว่าเราต้องมองไกลกว่าการหาคนมาเติมเต็มช่องว่างแรงงานที่ขาดแคลน แต่เราต้องดึงดูดแรงงานความสามารถสูงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถในระยะยาว ภาครัฐควรจัดทำ One Stop Service สำหรับการขอวีซ่า การทำงาน และการใช้ชีวิตเข้ามาทำงานในประเทศไทย ลดความยุ่งยากด้านเอกสารและกฎระเบียบที่ขัดแย้งกันในแต่ละหน่วยงาน
นอกจากนี้สิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือด้านคุณภาพชีวิตแบบองค์รวม ทั้งด้านข้อได้เปรียบด้านภาษี สวัสดิการ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การศึกษาสำหรับผู้ติดตาม และโอกาสในการพัฒนาตัวเองของแรงงาน ถือเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น อีกทั้งประเทศไทยควรส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติ เข้ามาตั้งฐาน Reginal Hub ในประเทศไทย เพื่อเพิ่มตำแหน่งงานที่ใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อดึงดูดความสนใจของ Tech Talent ทั่วโลกได้มากยิ่งขึ้น
ดร.การดี เสนอมุมมองว่าจะต้องมองภาพกว้างๆ ในอีกสิบปีข้างหน้า โดยออกแบบนโยบายที่ยึด Tech Talent เป็นศูนย์กลางและเน้นย้ำว่าภาครัฐจะต้องสร้างกฎระเบียบที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านภาครัฐยังคงมองในมุมของตัวเองแต่ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่แรงงานต้องการมากพอ
อีกสิบปีข้างหน้าจะเป็นยุคที่คน GenZ และ GenAlpha มีบทบาทในโลกการทำงานมากขึ้น ดังนั้นจะต้องคำนึงสิ่งที่พวกเขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางการเงิน สถานที่ทำงานที่เปิดกว้างและยืดหยุ่น การทำงานที่เป็นอิสระที่มากกว่าการเลื่อนตำแหน่ง Work-Life Integration รวมถึงการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
คุณปฐมา กล่าวว่าเนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่จะสามารถดึงดูด Tech Talent ได้คือการส่งเสริมการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะปรับการเรียนรู้ให้เป็นการปฏิบัติจริง ปลูกฝัง Growth Mindset ให้แรงงานเปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และไม่หยุดพัฒนาตัวเอง รวมถึงสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นอกจากนี้ต้องสร้าง Workplace ที่ดีและตอบโจทย์กับความต้องการของคนรุ่นใหม่ โดยแบ่งออกเป็นสามข้อได้แก่
"เราไม่สามารถเล่นเกมใหม่ ด้วยกฎเก่าๆ ได้อีกต่อไป" ดร.การดีกล่าว ประเทศไทยมีศักยภาพก้าวเป็น Tech Talent Hub หากทุกฝ่ายร่วมมือกัันปรับปรุงจุดอ่อนและไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและประชาชน เพื่อพัฒนา Ecosystem เปิดกว้าง เข้าใจและตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของแรงงานทุกระดับ นอกจากนี้การสร้างค่านิยมการเป็นพลเมืองโลกที่เปิดกว้าง ยอมรับความแตกต่างในความหลากหลายและพร้อมทำงานร่วมกับผู้อื่น
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด